ภายหลังจากคนร้ายฆ่าครูปรีชาแล้ว คนร้ายพยายามจะหลบหนีเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีแกนนำในหมู่บ้านขับรถพาคนร้ายหลบหนีไปทางอำเภอสุไหงโกลก แต่หนึ่งในคนร้ายไม่กล้าที่จะเข้าไปในเขตพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีคดีติดตัวในประเทศนั้น จึงได้หลบซ่อนในเขตพื้นที่อำเภอสุไหงโกลก แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถหลบหนีเงื้อมมือเจ้าหน้าที่ได้ จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 คนร้ายรายนี้ชื่อ นายแวยูโซ๊ะอยู่ที่หมู่บ้านไอสะเตีย ตำบลบูกิต อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับครูปรีชานั้นเอง
ตลอดช่วงสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2531 จนถึง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เป็นเวลานานสองปีครึ่งนโยบายแปลงสนามรบเป็นสนามการค้า ของรัฐบาล ไม่เพียงทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศ พม่า กัมพูชา และ ลาว เท่านั้น ที่กระเตื้องขึ้นอย่างรวดเร็ว คนไทยที่อยู่ติดชายแดนประเทศแถบนั้น ยังนอนตาหลับสนิท ไม่หวาดผวาดังที่เป็นไปในอดีตอีกต่อไป
สำหรับพื้นที่ทางใต้ นับตั้งแต่จังหวัดชุมพรจนถึงใต้สุดที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และ สงขลา ยังได้รับอานิสงส์จากโครงการเชาท์เทิร์น ซีบอร์ด (Sounthern Seaboard) คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เป็นโครงการยักษ์ที่สร้างความฮือฮาเป็นข่าวเกรียวกราวในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ที่ดินแถบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ราคาพลิกฟื้นกันอย่างมโหฬาร จากราคาไร่ละไม่กี่พันบาท กลับขยับขึ้นมาเป็นไร่ละ 3-4 หมื่นบาท ในชั่วพริบตาเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินแถบชายทะเลตั้งแต่จังหวัดปัตตานีจรดไปถึงอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้เป็นเพราะเป็นที่ดินชายทะเลที่อยู่ไม่ไกลพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นบริเวณเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยตอนล่างที่ไทยและมาเลเซียอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน มีเนื้อที่ประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร และเป็นบ่อก๊าซที่ยิ่งใหญ่มหึมา
ขอย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2532 ก่อนที่กลุ่มวะห์ดะห์จะเข้าเป็นสมาชิกพรรคเอกภาพทางพล.อ. ชาติชายฯ ได้เชิญกลุ่มวะห์ดะห์เข้าไปเป็นสมาชิกพรรคชาติไทย แต่กลุ่มวะห์ดะห์ยังยืนยันว่าจะเข้าสังกัดพรรคเอกภาพร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ยังเหลืออยู่ในพรรคประชาชน แต่กระนั้น อยู่มาวันหนึ่งคุณเด่น โต๊ะมีนา ได้ชวนนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ไปบ้านพล.อ. ชาติชายฯ ที่ซอยราชครู เพื่อฟังข้อเสนอของพล.อ. ชาติชายฯ ว่าจะมีอะไรบ้าง จากการพูดคุยในวันนั้นพล.อ. ชาติชายฯ ยื่นข้อเสนอจะให้คุณเด่นเป็นรัฐมนตรี เพื่อมอบหมายให้กำกับดูแลโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แต่เมื่อกลับมาปรึกษาหารือกับสมาชิกในกลุ่มแล้ว สรุปว่า จะขออยู่ในพรรคเอกภาพ เพราะชื่อของพรรคยังมีความหมายตรงกับชื่อกลุ่มวะห์ดะห์ ซึ่งมีความหมายว่า เอกภาพอยู่แล้ว สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ทำให้นายทุนจากส่วนกลางระดมทุนไปกว้านซื้อที่ดินติดชายทะเลตั้งแต่ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี จนถึงอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะมีการคาดการณ์และเสียงเล็ดลอดจากฝ่ายการเมืองว่า รัฐบาลมีแผนจะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแยกก๊าซที่ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส แล้วต่อท่อก๊าซลากยาวไปถึงอำเภอสุคิรินทร์ แล้วข้ามไปยังรัฐเปรัคประเทศมาเลเซีย ซึ่งการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแยกก๊าซที่ตำบลไพรวันนี้จะย่นระยะทางที่สั้นที่สุดจากเขตพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ในทะเลขึ้นสู่ฝั่งไทย ห่างกันเพียง 150 กิโลเมตร เท่านั้น แต่แผนงานของรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงในยุครัฐบาล นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2535-2538 โดยมีการเปลี่ยนไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแยกก๊าซขึ้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเขตพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ในทะเล เป็นระยะทาง 260 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะเศรษฐกิจในยุครัฐบาล พล.อ. ชาติชายฯ มีผลทำให้ประชาชนชาวไทยทั่วหน้าต่างร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสุข และมีความหวังกับชีวิตใหม่ แต่ความสงบสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังมีปัญหาอยู่ไม่เสื่อมคลาย เช่น มีการจับครูฟอง เพชรบุญ ที่จังหวัดยะลา และจับครูปรีชา แซ่ลิ่ม ที่จังหวัดนราธิวาส แม้แต่เหตุการณ์ในคดีโจรกรรมเครื่องเพชรราชวงศ์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบีย พ.ศ. 2532 ซึ่งคดีดังกล่าวมีจุดเริ่มต้น จากการที่ นายเกรียงไกร เตชะโม่ง แรงงานไทยจากจังหวัดลำปาง ได้เดินทางไปทำงานยังประเทศซาอุดิอาระเบีย และถูกจัดให้เข้าไปทำงานในพระราชวังของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียในช่วงเดือน สิงหาคม 2532 นายเกรียงไกรได้ขโมยเครื่องเพชรของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด บิน อับดุลอาซิซ (Prince Fisal Bin Fahud Bin Abdul Aziz) ถึง 2 ครั้ง โดยที่ด่านศุลกากรของทั้งสองประเทศ ไม่สามารถตรวจสอบได้ เครื่องเพชรดังกล่าวถูกนำไปยังจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของนายเกรียงไกร หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ประสานมายังรัฐบาลไทย ขอให้ติดตามเครื่องเพชรประจำราชวงศ์ส่งคืนกลับไป
การสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยขณะนั้น พล.ต.อ. ประทิน สันติประภพ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท. ชลอ เกิดเทศ นายตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ ออกติดตามเครื่องเพชรและได้จับกุมตัวนายเกรียงไกรและได้รับสารภาพว่าตนเองได้ขโมยเครื่องเพชรของราชวงศ์ไฟซาลจริง และให้การพาดพิงไปถึงบุคคลรับซื้อเครื่องเพชรไป เนื่องจากทางการไทยเกรงว่า หากส่งตัวนายเกรียงไกรไปให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียแล้ว โทษฐานลักทรัพย์ที่เป็นของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย อัตราโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิตด้วยการแขวนคอสถานเดียว จึงฟ้องนายเกรียงไกรต่อศาลไทย ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกนายเกรียงไกรในข้อหาลักทรัพย์ 7 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ลดโทษเหลือจำคุก 3 ปี 6 เดือน
ในช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยกำลังหมกมุ่นกับการสอบสวนหาผู้กระทำความผิดฐานรับซื้อเครื่องเพชร อันเป็นความผิดรับซื้อของโจรอยู่นั้น ยังมีนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นพระญาติใกล้ชิดกับราชวงศ์ ได้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อสืบสวนหาเครื่องเพชรดังกล่าว แต่บุคคลผู้นี้ถูกลักพาตัวไปและถูกฆ่าตาย อีกสามเดือนต่อมาเจ้าหน้าที่สถานฑูตซาอุดิอาระเบียสามคนถูกยิงเสียชีวิตตายอย่างปริศนา
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นประดังเข้ามาอย่างกระชั้นชิดในช่วงรัฐบาลของ พล.อ. ชาติชายฯขณะนั้น ทำให้สัมพันธภาพทางการเมืองระหว่างประเทศของประเทศซาอุดิอาระเบียกับประเทศไทยสั่นคลอนอย่างมาก รัฐบาลประเทศซาอุดิอาระเบียถึงกับลดขั้นความสัมพันธ์ทางการฑูตกับประเทศไทย ให้เหลือแค่อุปฑูตเท่านั้น และสั่งห้ามมิให้ข้าราชการและพลเมืองซาอุดิอาระเบียเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยและมิให้วีซ่าแก่ข้าราชและพลเมืองไทยเข้าไปในประเทศซาอุดิอาระเบีย ยกเว้นคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามไปทำฮัจญ์และอุมเราะห์เท่านั้นที่จะได้ประทับตราวีซ่าเข้านครมักกะฮ.และนครมาดินะห์ได้
อย่างไรก็ตามแม้คนไทยมุสลิมจะเข้าไปทำพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ได้ แต่ยังต้องประสบกับปัญหาการถูกกลั่นแกล้งจากชาวซาอุดิอาระเบีย ที่โกรธแค้นเมื่อทราบข่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนายสุชาติ ฮาลาบี ที่จังหวัดปัตตานี ความผิดฐานฆ่า เจ้าหน้าที่สถานฑูตซาอุดิอาระเบีย ชาวมักกะฮ.และมาดินะห์เมื่อเห็นและทราบว่าฮุจญาจคนไหนมาจากประเทศไทย ก็จะถูกด่าว่าอย่างเสียหาย ถูกสาดน้ำใส่ร่างเปียกปอนตามๆ กันและบางคนยังถูกปาด้วยของแข็ง หัวร้างข้างแตกไปก็มี
ในส่วนสถานการณ์ทางสภาผู้แทนราษฎร พรรคเอกภาพในฐานะเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด ได้ยื่นญัตติทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ทั้งคณะ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านร่วมเสนอชื่อจำนวน 126 คน ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2533 เนื้อหาสาระของญัตติเน้นในเรื่องรัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา อาทิเช่น นโยบายด้านสังคม ข้อ 1.1 รัฐบาลจะรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ป้องกันและปราบปรามอาชญกรรมและยาเสพติดให้โทษโดยเด็ดขาด ข้อ 1.3 รัฐบาลจะพัฒนาและปรับปรุงระบบกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพรวดเร็ว ตลอดจนกระจายอำนาจระบบงาน อำนวยความยุติธรรมไปยังประชาชนให้ทั่วถึง…
เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นเสนอรายชื่อในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะมีจำนวนมาก ดังนั้นแต่ละพรรคต้องกำหนดตัวผู้อภิปรายตามสัดส่วนของจำนวนสมาชิกพรรคตามพื้นที่ต่างๆให้เหมาะสมกับเวลาที่รัฐบาลยอมให้เปิดการอภิปรายเป็นเวลา 4 วัน คือ วันที่ 18 – 21 กรกฎาคม 2533 สำหรับพรรคเอกภาพในส่วนของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ทางกลุ่มวะห์ดะห์เลือกตัวแทนของกลุ่มทำหน้าที่อภิปราย 1 คน โดยทางกลุ่มวะห์ดะห์เลือกเสนอ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ เป็นผู้ร่วมอภิปราย
ดังนั้น นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ จึงต้องขวนขวายหาข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆที่รัฐบาลพล.อ. ชาติชายฯบริหารประเทศผิดพลาดไม่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่อันหละหลวมของเจ้าหน้าที่ราชการในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย และการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบด้วยกฎหมายต่อประชาชน ในการอภิปรายครั้งนี้ นายอารีเพ็ญได้รับอนุญาตให้อภิปรายในวันที่ 18 กรกฎาคม 2533 ประเด็นสำคัญๆที่จะอภิปรายมี 5 ประเด็น ได้แก่
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์