ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (47)

1. ประเด็นปัญหาการพนัน นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ได้อภิปรายยกปัญหาในจังหวัดนราธิวาสขณะนั้น มีการเปิดบ่อนเล่นการพนันมอมเมาสังคมอย่างเปิดเผย ไม่เกรงกลัวกฎหมายของบ้านเมืองแม้แต่น้อย คราวแถลงนโยบายของรัฐบาลพล.อ. ชาติชายฯ ไม่ปรากฏว่า รัฐบาลจะปราบปรามการเล่นการพนัน ทั้งนี้เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร แถลงต่อสื่อว่า มีนโยบายที่จะเปิดบ่อนคาสิโนในประเทศไทย จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างขนานใหญ่ มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในพรรคชาติไทย แต่ต่อมาเมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการการกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ มีนโยบาย ไม่เห็นด้วยกับการเปิดบ่อนคาสิโนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนเก่าคือ พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร จึงได้แถลงประกาศต่อหน้าสื่อมวลชนว่า หากท้องที่ใดมีการเปิดเล่นการพนัน ตำรวจต่างท้องที่ไปจับได้ ตำรวจเจ้าของท้องที่จะต้องโดนย้ายออกจากพื้นที่ทันที คือ พูดอย่างเข้าใจอย่างง่ายๆ ว่าจะมีการลงโทษทางวินัยอย่างเคร่งครัดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบ แต่การแถลงประกาศทางสื่อเป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น ปรากฎการณ์ที่เป็นอยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ยังเปิดการบริการเล่นการพนันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งขณะนั้นมีแหล่งบ่อนการพนันใหญ่ๆ ถึง 12 แห่ง มีทั้งประเภทเล่นไพ่ แทงจับยี่กี แทงหวย อย่างสนุกสนาน ดังตัวอย่างในเขตพื้นที่อำเภอสุไหงโกลก  มีการเปิดบ่อนแทงหวยเล่นจับยี่กีวันละ 4 เวลา คือ เวลา  11.00 น. เวลา 14.00 น. เวลา 18.00 น. และเวลา 21.00 น. คนที่ติดการเล่นการพนัน แทบไม่ต้องทำมาหากินอะไร วันๆ มัวแต่นอนเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าฝัน จะดลใจเห็นตัวเลขสวยๆ  จึงกลายเป็นคนฝากความหวังไว้กับโชคลาภและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้นแล้ว การพนันยังได้ระบาดออกไปสู่ชนบทในรูปแบบการพนันเคลื่อนที่ คล้ายๆ กับอำเภอเคลื่อนที่ เกษตรเคลื่อนที่ และสาธารณสุขเคลื่อนที่ การพนันเคลื่อนที่มักจะออกไปเล่นตามหมู่บ้าน ภายหลังจากชาวไร่ชาวสวนได้เงินจากการขายสินค้าทางการเกษตร ทำให้ชาวไร่ชาวสวนกลายเป็นบุคคลมีหนี้สินอย่างน่าสงสาร

2. ประเด็น ปัญหายาเสพติด นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ได้อภิปรายยกปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในจังหวัดนราธิวาส เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด รัฐบาลมัวแต่ชื่นชมกับการจับกุมยาเสพติดที่ลักลอบออกไปสู่ต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลงานของรัฐบาลสร้างความเชื่อถือกับต่างชาติมหาอำนาจ ไม่ใช่สร้างความเชื่อถือกับประชาชนภายในชาติ ตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่นายอารีเพ็ญฯเป็นทนายความ ยาเสพติดระบาดไปทั่วเยาวชนตามหมู่บ้านจำนวนมากตกเป็นทาสยาเสพติด ยาเสพติดถูกลำเลียงมาทางภาคเหนือของประเทศไทยมุ่งสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจะลำเลียงต่อออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ แต่เมื่อถูกสกัดกั้นจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างหนัก จนไม่สามารถเล็ดลอดไปได้ ทำให้ยาเสพติดติดค้างไว้ตามแนวตะเข็บชายแดน ส่งผลให้จังหวัดที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นแหล่งระบายยาเสพติดจำหน่ายให้กับเยาวชนในพื้นที่ใครเป็นผู้จำหน่ายทางเจ้าหน้าที่รู้กันดีแต่ไม่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดีแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกับเยาวชนที่เสพยาเสพติดคนละหลอดสองหลอดกลับถูกเจ้าหน้าที่กวดขันจับกุมดำเนินคดีอย่างจริงจัง โดยเฉพาะสถิติคดีอาญาในจังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่ปี 2527 จำนวนผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับยาเสพติดมีจำนวน 35 %ของ      ผู้ต้องขังทั้งหมดในเรือนจำ ปี 2528 เพิ่มขึ้นเป็น 46 % ปี 2529 เป็นปีที่นายอารีเพ็ญฯเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาสครั้งแรก เพิ่มขึ้น 56 % และจนถึงปี 2533 เพิ่มขึ้นเป็น 60 % ตามอัตราเพิ่มคดียาเสพติดดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเยาวชนไทยที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตข้างหน้า ปัญหานี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะรับผิดชอบเพียงใดและอย่างไร ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีที่เคยได้แถลงต่อสื่อว่าจะปราบปรามยาเสพติดให้โทษอย่างเด็ดขาด อันเป็นคำประกาศที่เป็นสัญญาประชาคม

3. ประเด็น ปัญหาอาชญากรรม นายอารีเพ็ญฯ อภิปรายสะท้อนปัญหาอาชญากรรม นับตั้งแต่รัฐบาลพล.อ. ชาติชายฯ บริหารประเทศ ไม่เคยปรากฎสมัยใดที่มีการฆ่ากันตายที่ใช้อาวุธสงครามที่ร้ายแรง หลายสิบคดีที่ปรากฎขึ้นล้วนแต่ใช้อาวุธสงครามทั้งสิ้น และที่ร้ายแรงกว่านั้น คือการฆ่ากันตายได้พัฒนาถึงขั้นระเบิดสังหารชนิดใช้รีโมทคอนโทรล(Remote Control) สังหารครั้งเดียวตายถึง  12 ศพ ที่ศาลจังหวัดนครราชสีมา ในขณะเดียวกันการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไร้ประสิทธิภาพ ดังตัวอย่างมีคดี 4 คดี ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานแล้วไม่สามารถจับกุมคนร้ายที่แท้จริงได้ เช่น  คดีที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 เกิดเหตุการณ์ก่ออาชญากรรมฆ่าข้าราชการการ ซี 8 สังกัดกรมประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจับผู้ต้องหาได้ 3 คน ผู้ต้องหาซัดทอดถึงบุคคลที่เคยเป็นผู้อำนวยการ ขสมก. เป็นคนจ้างวาน ตำรวจไปจับผู้จ้างวานแล้วออกแถลงข่าวต่อหน้าสื่อต่างๆ อย่างใหญ่โต ประกาศจนทำให้ผู้ต้องหาอดีตผู้อำนวยการ ขสมก. เสียชื่อเสียงถูกเกลียดชังอย่างไม่เป็นธรรม แม้ว่าผู้ต้องหารายนี้ได้ตอบโต้ว่า ไม่เป็นความจริงและตัวเขาเป็นแพะที่ถูกเจ้าหน้าที่จัดฉาก เพียงเพื่อเอาหน้ากับสังคมเท่านั้น แต่แล้วในที่สุดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 อัยการจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกซัดทอดรายนี้ต่อศาลแต่อย่างใด อันเป็นการยืนยันว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง

คดีที่สอง คนร้ายจับตัวผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทยางพาราที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อเรียกค่าไถ่ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถช่วยเหลือผู้ช่วยผู้จัดการได้ ในที่สุดทางญาติๆ ของผู้ถูกเรียกค่าไถ่ได้รวบรวมเงินได้ 300,000 บาท ไปไถ่เหยื่อจากคนร้ายได้สำเร็จ และคนร้ายได้ปล่อยเหยื่อให้เป็นอิสระ คดีนี้ทำให้ประชาชนในเขตอำเภอทุ่งสงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างครึกโครม

คดีที่สาม เกี่ยวกับคดีคนร้ายจับครูปรีชา แซ่ลิ่ม เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2533 และถูกฆ่าตายบนเขาวันที่ 9 พฤษภาคม 2533 ในช่วงนะยะเวลา 4 วัน ก่อนที่ครูปรีชาฯ จะถูกฆ่าทิ้งนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานไม่ประสานงานอย่างเป็นเอกภาพ กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจสายหนึ่งดำเนินการในแนวทางที่จะใช้ความรุนแรงกับคนร้าย แต่อีกสายหนึ่งดำเนินการในแนวทางนิ่มนวลเจรจาต่อรองกับคนร้าย จนในที่สุดทางคนร้าย ไม่มั่นใจในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเอาแนวทางใดกันแน่ จึงฆ่าครูปรีชาฯทิ้งไว้บนเขา และหลบหนีลงจากเขาเพื่อไปหลบกบดานในเขตประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับอำเภอสุไหงโกลกในที่สุด

คดีที่สี่ เกี่ยวกับคดีคนร้ายยิงเจ้าหน้าที่สถานทููตซาอุดิอาระเบีย เป็นคดีใหญ่ที่มี        ผลกระทบสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศซาอุดิอาระเบีย ในขณะที่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ. ชาติชายฯอยู่นั่น ในศาลกำลังพิจารณาคดีการสังหารเจ้าหน้าที่สถานฑูตซาอุดิอาระเบีย โดยมี นายสุชาติ ฮาลาบี เป็นจำเลย ทำให้นายอารีเพ็ญฯไม่สามารถที่จะอภิปรายในรายละเอียดของคดีได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อการพิจารณาคดีและหมิ่นเหม่ที่จะล่วงละเมิดอำนาจศาลที่กำลังพิจารณาอยู่ในศาลนายอารีเพ็ญฯ จึงอภิปรายไม่ได้ลงในรายละเอียดเท่าใดนัก แต่ได้อภิปรายไปในทางที่ไม่น่าเชื่อว่า ตำรวจได้จับคนร้ายที่สังหารเจ้าหน้าที่สถานทูตตัวจริง เพราะก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับตัว นายสุชาติ ฮาลาบี ได้นั้น ตำรวจที่รับผิดชอบคดีนี้ระดับนายพลท่านหนึ่ง จะเดินทางไปอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส และพบนายอารีเพ็ญฯ ที่สนามบินหาดใหญ่ นายอารีเพ็ญฯ ได้ถามนายตำรวจผู้นั้นว่า ท่านจะไปใหนหรือ นายตำรวจท่านนั้นบอกว่าจะไปอำเภอสุไหงโกลก นายอารีเพ็ญฯถามต่อว่า จะไปทำภารกิจอะไร นายตำรวจผู้นั้นตอบว่า ท่านจะไปจับมือปืนสองคนที่หลบอยู่ในอำเภอสุไหงโกลก หนึ่งในสองคนนี้เป็นชาวอำเภอสุไหงปาดี นายอารีเพ็ญฯ บอกนายตำรวจผู้นั่นว่าตัวเขาเองเป็นคนอำเภอสุไหงปาดี มีอะไรจะให้ช่วยเหลือได้บ้าง นายตำรวจผู้นี้ได้บอกชื่อคนสองคนที่จะไปจับกุม เพราะมีส่วนพัวพันกับการสังหารเจ้าหน้าที่สถานฑูตซาอุดิอาระเบีย เมื่อนายอารีเพ็ญฯได้ทราบชื่อจากนายตำรวจผู้นี้แล้ว จึงเชื่ออย่างสนิทใจว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบคดีนี้ ตั้งประเด็นเหตุสังหารเจ้าหน้าที่สถานทููตฯ ผิดไป เพราะไปตั้งประเด็นเรื่องความขัดแย้งในลัทธิความเชื่อถือ กล่าวคือ สองคนที่นายตำรวจผู้นั้นบอกชื่อให้กับนายอารีเพ็ญฯนั้น นับถือศาสนาอิสลามสายชีอะห์ ซึ่งเป็นบุคคลที่นายอารีเพ็ญฯคุ้นเคย ไม่น่าเกี่ยวข้องกับคดีนี้ อันแท้จริงแล้วประเด็นที่น่าจะพิจารณาที่น่าเป็นไปได้ที่สุด คือ ประเด็นขัดแย้งผลประโยชน์เรื่องแรงงานที่ส่งไปทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย มากกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ต้องสงสัยสองคนนั้น คนหนึ่งถูกออกหมายจับ แต่ผู้ต้องสงสัยรายนี้ได้เดินทางออกไปต่างประเทศเสียแล้ว สำหรับอีกคนหนึ่งไม่ได้ถูกออกหมายจับแต่อย่างใด ส่วนนายสุชาติ ฮาลาบี เป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชถูกออกหมายจับและถูกจับที่จังหวัดปัตตานี ในขณะไปเยี่ยมญาติที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล จนในที่สุดศาลยกฟ้องพ้นข้อหาไป

4. ประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน นายอารีเพ็ญฯ ได้อภิปรายยกกรณีการใช้อำนาจศาลเตี้ยของเจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2533 ตำรวจ สภ.อ.ระแงะ ได้จับชายคนหนึ่งที่สถานีรถไฟตันหยงมัส พอวันรุ่งขึ้นมีชาวบ้านพบศพชายผู้นี้เสียชีวิตอยู่ข้างทางห่างจาก สภ.อ.ระแงะ เพียง 5 กม. พ่อแม่ของผู้ตายได้ไปแจ้งความร้อยเวร สภ.อ. ระแงะ แต่ได้รับคำตอบจากร้อยเวรว่า ได้ปล่อยผู้ตายให้กลับบ้านตั้งแต่เมื่อเย็นวานแล้ว