ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (48)

และเหตการณ์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 ยามวิกาล ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกลาดตระเวณในพื้นที่อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ได้พบชายผู้หนึ่งระหว่างทาง เจ้าหน้าที่เรียกให้ชายผู้นั้นหยุดเพื่อจะตรวจค้น แต่ชายผู้นั้นหวาดกลัวไม่ยอมหยุด และหันหลังจะวิ่งหนี เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยิงร่างของชายผู้นั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อชาวบ้านออกมามุงดูและบอกเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า คนที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บนั้นเป็นคนสติวิปลาส แทนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะแสดงความรับผิดชอบ สำนึกผิด กลับนำผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาล แถมยังใส่กุญแจมือผู้บาดเจ็บผูกคล้องติดไว้กับเตียงคนไข้อย่างไร้ความปรานีี ทั้งๆ ที่เป็นการกระทำผิด โดยสำคัญผิดว่าชายสติวิปลาสจะเป็นคนร้ายก็ตาม และอีกกรณีหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงผู้เข้าร่วมประท้วงที่มัสยิดกรือเซะ ซึ่งบุคคลผู้นี้ทำหน้าที่บริการน้ำอาหารแก่ผู้มาร่วมประท้วงและเป็นช่างไฟดูแลเครื่องเสียงบนเวทีปราศรัย กล่าวคือ ภายหลังจากการประท้วงที่มัสยิดกรือเซะยุติลงสองสามวัน บุคคลผู้นี้กำลังขับขี่จักรยานยนต์มีเพื่อนนั่งซ้อนท้าย วิ่งบนท้องถนนในหมู่บ้านกรือเซะตามปกติ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถยนต์ตามหลังมาประกบแล้วยิงเข้าใส่จนเสียชีวิต ส่วนเพื่อนที่นั่งซ้อนท้ายได้รับบาดเจ็บ ด้วยอาการตกใจและเกรงกลัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงไม่กล้าเป็นพยานในคดีนี้ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า มัจจุราชผู้ปลิดชีวิตเพื่อนและตัวเองได้รับบาดเจ็บนั้น ไม่ใช่อื่นไกล แต่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่นเอง

การอภิปรายของนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ จบลงด้วยใช้เวลาเพียงสี่สิบนาทีหลังจากนั้น สมชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีลำดับจะอภิปรายต่อไป ก็ได้ทยอยอภิปรายจนครบทุกคน จนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2533 ก่อนเที่ยงคืนประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ขอมติในที่ประชุม ผลปรากฎว่า เสียงส่วนใหญ่มีมติให้ความไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ

ความจริงแล้ว เหตุการณ์สำคัญในจังหวัดชายแดนใต้อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ดำเนินการต่อเนื่องตั้งสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ จนถึงสมัยรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ระหว่าง พ.ศ. 2530 – 2533 คือ การประท้วงที่มัสยิดกรือเซะ ประท้วงกรณีกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนมัสยิดกรือเซะเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2478 โดยไม่อนุญาตให้บุคคลใดเข้าไปทำกิจกรรมใดๆ ในมัสยิด แต่เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2530 มีกลุ่มมุสลิมประมาณ 600 คน นำโดยนายสรยุทธ์ สกุลนาสันติศาสน์ หรือ อีกนามหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “หมอดิง” ได้เข้าไปละหมาดเนื่องในวันฮารีรายาอิดิลอัฎฮา เป็นครั้งแรก และในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 หมอดิงได้เชิญชวนพี่น้องมุสลิมในบริเวณใกล้เคียงมัสยิดและจากหมู่บ้านอื่นหลายหมู่บ้านมาร่วมละหมาดวันอิดิลอัฎฮาเป็นครั้งที่สอง และได้พูดจาปราศรัยให้ชาวมุสลิมร่วมกันบูรณะมัสยิดให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยสามารถประกอบ   ศาสนกิจทุกเวลาและเข้าทำกิจกรรมในมัสยิดได้ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบกฎหมายของกรมศิลปากร และได้เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เพิกถอนทะเบียนโบราณสถานที่กรมศิลปากรได้จดทะเบียนเป็นโบราณสถานเสีย

ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์การประท้วงที่มัสยิดกรือเซะด้วยพลังของประชาชนนับจำนวนพันนั้น หมอดิงและชาวบ้านประมาณสามสิบกว่าคนได้เข้าไปทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในมัสยิด เช่น เข้าไปทำความสะอาด ใช้เป็นสถานที่ละหมาดตามวักตูต่างๆ จนถึงขั้นไปนอนในมัสยิดเวลากลางคืน ในขณะเดียวกันได้เปิดเวทีปราศรัยย่อยๆ เปิดประเด็นลบล้างตำนานความเชื่อที่ถูกปลูกฝังจากผู้หวังผลประโยชน์จากธุรกิจการท่องเที่ยวที่เขียนประวัติศาสตร์มัสยิดกรือเซะอันเป็นเท็จ ที่อ้างว่า มัสยิดสร้างไม่แล้วเสร็จ เพราะถูกต้องคำสาปของหญิงชาวจีนชื่อลิ้มกอเหนี่ยวจากแผ่นดินใหญ่ที่ตามหาพี่ชายที่มาอาศัยอยู่ในเมืองปาตานีและเป็นช่างสร้างมัสยิดกรือเซะให้กลับสู่บ้านเกิด แต่พี่ชายชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยมไม่ยินยอมกลับตามคำขอร้องของน้องสาว ด้วยความเสียใจปนความแค้นพี่ชายที่ลืมชาติกำเนิดมาตุภูมิ จึงผูกอาฆาตพยาบาทฆ่าตัวตายด้วยการผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ริมชายหาดตันหยงลูโล๊ะ แต่ก่อนจะปลิดชีพตัวเองได้สบถลั่นวาจาสาปแช่งมิให้พี่ชายสร้างมัสยิดให้แล้วเสร็จ โดยให้มีเหตุฟ้าผ่าทุกครั้งที่มีการก่อสร้าง จึงกลายเป็นตำนานเล่าสืบต่อกันมาช้านาน จนในที่สุดมีคนจีนสมองใสได้สร้างศาลเก๋งเล็กๆ ณ จุดที่อุปโลกว่าเป็นสถานที่เจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยวแขวนคอตาย ซึ่งอยู่ใกล้ๆมัสยิดอยู่ทิศทางกิบลัตของมัสยิดพอดี

เมื่อหมอดิงเปิดประเด็นอำนาจของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวอยู่เหนืออำนาจของอัลลอฮ(ซ.บ.)แล้ว จึงกลายเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพมาก ถนนทุกสายคราครำ่ด้วยมวลชนตามท้องที่ต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดใกล้เคียง มุ่งสู่มัสยิดกรือเซะ ทุกคืนมีการปราศรัยอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ท่ามกลางมวลชนเกือบจำนวนหมื่นคนฟังด้วยความหึกเหิมอย่างมีอารมณ์ ความแตกต่างด้านความเชื่อถือในแนวทางชีอะห์สุนหนี่ ไม่ปรากฎให้เห็นเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนการชุมนุมประท้วงแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่ผู้นำการประท้วงไม่ว่า นายสรยุทธ์       สกุลนาสันติศาสตร์ หรือ หมอดิง นายไพโรจน์ ศาสนภิบาล หรือ ยาซีน นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ นายอดุลย์ เจ๊ะมะ หรือหะยีแม บือติง นายอับดุลรอมันหรือหะยีแม  ดูวา นับถือศาสนาอิสลามสายสุนหนี่ (คณะเก่า)และอีกหลายๆ คน เช่น นายดอเลาะ อับดุลเลาะมัน นายมะแอ อับดุลเลาะมัน นายอาแวสะแต กาซา และ นายสุดิง มะโนนากอ ล้วนแต่นับถือแนวทางสุนหนี่คณะเก่า ต่างมีความสมานสามัคคี กลมเกลียว กอดคอกันต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวแทบเป็นเนื้อเดียวกัน จนในที่สุดผู้นำการประท้วงสายชีอะห์และสุนหนี่ ต่างประสบชะตากรรมเดียวกัน คือ ถูกดำเนินคดีติดคุกติดตาราง บางคนอพยพโยกย้ายจากมาตุภูมิของตน ไปอาศัยผืนแผ่นดินของอัลลอฮ. ณ ต่างแดน

ช่วงตอนปลายการประท้วงประมาณต้นเดือน มิถุนายน 2533 บรรยากาศและอุณหภูมิการประท้วงเริ่มร้อนระอุ เมื่อ พ.ต.ท. ประเสริฐ สัสดีพันธ์ุ นายตำรวจในท้องที่การประท้วง ได้ออกไปตรวจตราความสงบเรียบร้อยในค่ำคืนหนึ่ง ปรากฎว่าถูกทำร้ายจากกลุ่มบุคคลในที่ชุมนุมประท้วงที่กำลังฟังการปราศรัย จึงเกิดชุลมุนอลหม่านทั่วบริเวณ แต่โฆษกบนเวทีได้ป่าวประกาศให้ผู้ชุมนุมอยู่ในอาการสงบ ห้ามก่อเหตุใดๆ ที่จะนำไปสู่ความรุนแรงกระทบกระทั่งกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่รักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณชุมนุม จนเหตุการณ์คืนสู่ความสงบ พ.ต.ท. ประเสริฐฯ ถูกนำตัวไปรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาล ผู้ชุมนุมประท้วงต่างกลับไปสู่หมู่บ้านของตนเอง แกนนำชุมนุมประท้วงต่างแยกย้ายหลบหน้าเจ้าหน้าที่ไปคนละทิศคนละทาง จนสถานการณ์กลับไปสู่ความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจและอำเภอได้เข้าเคลียร์พื้นที่ตลอดจนถึงขึ้นวันใหม่

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2533 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงทั้งหมด 8 คน บางคนถูกข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการปราศรัยบนเวที บางคนถูกข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน  ดังรายชื่อต่อไปนี้

1. นายสรยุทธ์ สกุลนาสันติศาสน์

2. นายไพโรจน์ ศาสนภิบาล

3. นายมะแอ อับดุลเลาะมัน

4. นายนายดอเลาะ อับดุลเลาะมัน

5. นายอดุลย์ เจ๊ะมะหรือหะยีแม บือติง

6. นายอับดุลรอมัน ยูโซ๊ะ หรือหะยีแม ดูวา

7. นายอาแวสะแต กาซา

8. นายสุดิง มะโนนากอ

นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงที่มัสยิดกรือเซะตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว แต่ในทางสายงานความมั่นคง ไม่แคล้วถูกรายงานไปตามความคาดหมายของสายข่าวความมั่นคง กล่าวคือ ตั้งแต่ประเทศอิหร่านได้เปลี่ยนรัฐบาลและการเมืองการปกครองไปสู่สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านเมื่อปี 2522 โดยโค่นล้มราชบัลลังค์ของพระเจ้าชาร์ โมฮัมหมัด เรซาร์ ปาเลวีห์ ได้สำเร็จ โลกทั้งโลกต่างตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ในประเทศอิหร่าน ยิ่งในโลกมุสลิมแถบตะวันออกกลางด้วยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ปกครองด้วยระบบเจ้า ต่างอยู่ในอาการร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กัน ไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงในอิหร่านจะบานปลายขยายไปถึงตะวัออกกลางเมื่อใด แม้กระทั่งฝ่ายความมั่นคงของประเทศไทยเอง ได้สอดส่องติดตามการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมมุสลิมหัวก้าวหน้าในประเทศไทยอย่างไม่ลดละตาแทบไม่กระพริบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องด้านศาสนา จึงไม่แปลกแต่อย่างใด ในช่วงเวลาเริ่มมีการชุมนุมประท้วงที่มัสยิดกรือเซะ สายข่าวฝ่ายความมั่นคงทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครอง ต่างรายงานขึ้นสู่หน่วยเหนือว่า การชุมนุมประท้วงที่มัสยิดกรือเซะได้รับอิทธิพลทางความคิดจากการปฏิวัติอิสลามอิหร่านโดยผู้นำสูงสุดอยาตุลลอฮ โคมัยนี ขวัญใจของหนุ่มสาวมุสลิมหัวก้าวหน้าทั้งภายในและนอกประเทศขณะนั้น นอกจากนั้น สายข่าวความมั่นคงทุกสายต่างปล่อยข่าวในหมู่บ้านชุมชนมุสลิมสายสุนหนี่เป็นระลอกๆว่า การเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงที่มัสยิดกรือเซะนั้น เป็นแผนการของกลุ่มมุสลิมสายนิกายชีอะห์ที่จะเผยแพร่ลัทธินิกายชีอะห์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้เพื่อต้องการตัดเส้นสายกำลังเสริมของผู้ที่จะเข้าไปร่วมชุมนุมที่มัสยิดกรือเซะ แต่ความพยายามของสายความมั่นคงไม่ประสบผลสำเร็จ ตรงกันข้ามกลับทำให้มีผู้คนเข้าไปร่วมชุมนุมมากขึ้น

ภายหลังการสลายการชุมนุมประท้วงที่มัสยิดกรือเซะแล้ว แกนนำประท้วงคนสำคัญๆต่างแยกย้ายหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ แต่ในที่สุดหมอดิงถูกจับกุมที่ประเทศเพื่อนบ้านและถูกส่งตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย หะยีแม ดูวา หะยีแม บือติง ถูกจับตัวดำเนินคดี ส่วนยาซีนได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปประเทศอิหร่าน จึงรอดตัวไป