คณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและฝ่ายคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 เริ่มนักแรกใน วันที่26 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ฝ่ายคัดค้านเตรียมเสนอประเด็นในการแก้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม เพื่อเปิดทางเลือกให้ภาครัฐใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ขณะที่ภาครัฐ โดยกระทรวงพลังงานเตรียมรับข้อเสนอมาพิจารณา
การตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการเปิดสัมปทาน ซึ่งกำหนดให้เอกชนยื่นสำรวจในวันที่ 16 มี.ค.นี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2
การเลื่อนเปิดสัมปทาน สำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ในฐานะเจ้าภาพประจำกระทรวง มองว่าการเลื่อนออกไปอีก 3 เดือน ไม่กระทบต่ออุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ เพราะการเลื่อนเวลาไม่ได้นานเกินไปจากนี้จะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ ปิโตรเลียมให้มีความรัดกุม และมีเงื่อนไขที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ให้มีการแบ่งส่วนแบ่งผลผลิต
นายณรงค์ชัย ให้เหตุผลว่าการขุดเจาะหาแหล่งพลังงานยังมีความเสี่ยงสูง อย่างกรณีในพื้นที่ ที 3 ใช้เวลาสำรวจ 8 ปี แต่ยังไม่พบ ใช้เงินเกือบ 500 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการขอสำรวจต่อ โดยในการเปิดประมูลวันที่ 16 มี.ค.นี้ จะไม่มีแล้ว โดยหลังจากนี้ 3-4 เดือนก็จะได้รับทราบกติกาและเปิดประมูลใหม่ ส่วนกติกาใหม่นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงกับกติกาเดิมมากนัก เพียงแต่กำหนดให้มีการแบ่งปันผลผลิตให้ชัดเจน
“กฎหมายเดิมก็ดีอยู่แล้ว และผลในทางปฏิบัติเหมือนกัน เพียงแต่คำไม่โดนใจ การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะเป็นการแก้ไขครั้งที่ 6 แสดงให้เห็นว่ามีการแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น ไม่ได้เป็นเหมือนที่มีการกล่าวว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายโบราณ”
สำหรับบริษัทที่ยื่นข้อเสนอนั้นที่ผ่านมามีการเสนอมา 1 ราย ทางรัฐบาลก็จะนำคืนเอกสารที่ยื่นเสนอคืนกับผู้ขอประมูล ซึ่งบริษัทคงไม่ฟ้องร้องกับรัฐบาล การเลื่อนประมูลดังกล่าวอาจมีเสียงบ่น เมื่อออกเงื่อนไขใหม่ต้องพิจารณาว่านักลงทุนจะให้ความสนใจมากแค่ไหนต้องดูผลตอบรับเข้ามา
ด้านนางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ย้ำว่าขณะนี้กำลังรอความชัดเจนว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเป็นการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม หรือร่าง พ.ร.บ.ใหม่ให้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ “พีเอสซี” หากเป็นพีเอสซี คาดว่าการประกาศเชิญชวนลงทุนแหล่งปิโตรเลียมจะต้องใช้เวลามากกว่า 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม หากต้องรอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่างกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายใหม่อาจจะต้องประกาศยกเลิกการเปิดสัมปทานรอบ 21 ไปก่อน โดยสามารถดำเนินการได้ เพราะเขียนชัดเจนไว้ในประกาศรอบที่ 21 และเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
แต่ที่เป็นห่วง คือ ความรู้สึกและความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทยและระยะเวลาของเอกสารหลัก ประกันคำขอสัมปทาน ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาชัดเจนแน่นอน ขณะนี้มีเอกชน 1 รายได้ยื่นขอสัมปทานแล้วและมีอีกหลายรายเตรียมจะยื่นภายในวันที่ 16 มี.ค.นี้ แต่เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งชะลอคงต้องรอความชัดเจน แต่เอกสารประกอบคำขอมีอายุครบกำหนดเวลา น่าเป็นห่วงแทนผู้ขอก่อนหน้านี้ เช่น หนังสือบริคณห์สนธิขอคัดไว้ไม่เกิน 3 เดือน หนังสือค้ำประกันจากธนาคารมีระยะเวลาค้ำประกันไม่น้อยกว่า 1 ปี
การเสนอแก้กฎหมายทางกระทรวงพลังงานนั้น มีประเด็นที่จะมีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม 2514 ยังไม่ได้มีการหารือกันในฝั่งของกระทรวงพลังงาน โดยต้องรอดูข้อเสนอจากทางฝั่งภาคประชาชนก่อน ภาคประชาชนต้องการที่จะให้มี การแยกการสำรวจออกมาจากการผลิต และให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการเองนั้น หากมีการแก้ไขกฎหมายจริง จะเป็นปัญหาอย่างมาก เนื่องจากการสำรวจในความหมายที่นักลงทุนเข้าใจ คือการที่รัฐลงทุนเจาะหลุมสำรวจเอง ไม่ใช่กระบวนการสำรวจแบบธรณีวิทยาหรือการทำธรณีฟิสิกส์ วัดความสั่นสะเทือนแบบ3มิติ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่รัฐมีข้อมูลอยู่แล้ว จากการเปิดสัมปทานในรอบที่ผ่านๆมา
จะอย่างไรก็แล้วแต่หากรัฐยัง ยืนยันที่จะสำรวจเอง ก็จะไม่มีบริษัทสำรวจและผลิตรายใด ที่จะมายื่นประมูล เพราะเห็นว่ารัฐเลือกวิธีที่จะลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งในวงการสำรวจและผลิตทั่วโลกนั้นไม่มีบริษัทสำรวจและผลิตรายใด ที่ยื่นขอประมูลผลิตโดยไม่สำรวจเอง เพราะเอกชนเชื่อว่ามีศักยภาพที่จะสำรวจด้วยเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูล ที่ดีกว่าภาครัฐ
“หากการแก้ไขกฎหมาย ยังอยู่ในกรอบเวลา ที่รัฐบาลกำหนด 3 เดือน และไม่ยืดเยื้อต้องเลื่อนระยะเวลาออกไปอีก และรัฐยังคงใช้ระบบสัมปทาน ก็เชื่อว่าเอกชนจะยังคงสนใจที่จะเข้ามายื่นขอสำรวจและผลิต ในขณะที่หากเปลี่ยนมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ภาคเอกชนก็จะต้องรอดูกลไกของรัฐที่จะมารองรับ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ และหากเห็นว่าไม่จูงใจ เอกชนก็จะไม่เข้าร่วมประมูล ”
เชื่อว่าการแก้กำหมายปิโตรเลียมเปิดให้มีการสัมปทานรอบที่21 ถือเป็นการต่อรองผลประโยชน์ ที่สำคัญที่ทางกระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพ ในการสร้างกติกาใหม่ขึ้นมาเท่านั้น แต่จริงเพื่อให้ความเป็นธรรม ที่มีการแบ่งเค้กกันลงตัว
เพราะผลประโยชน์ด้านพลังงานมีมหาศาล แม้ว่าการสัมปทานรอบนี้จะเหลือปิโตรเลียมน้อยกว่าสัมปทานครั้งที่ผ่านมาแล้วก็ตาม