ความพยายามของชาวเคิร์ดในอิรักที่จะแยกประเทศและประกาศอิสรภาพไม่ได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติเท่าใดนัก แต่ในวันพุธที่ผ่านมา (13 ก.ย.) นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า อิสราเอลสนับสนุนการแยกประเทศเคอร์ดิสถาน ซึ่งทำให้รัฐบาลของเขาเป็นเสาหลักของการสนับสนุนชาวเคิร์ด
อิสราเอล “สนับสนุนความพยายามที่ถูกต้องตามกฎหมายของชาวเคิร์ดเพื่อให้มีรัฐของตัวเอง” สำนักงานนายกรัฐมนตรีกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันพุธ เจ้าหน้าที่อิสราเอลอาวุโสคนอื่นๆ รวมถึงรัฐมนตรีและนายพลชั้นนำได้ออกเสียงสนับสนุนการลงประชามติเพื่อแยกประเทศของชาวเคิร์ดในวันที่ 25 กันยายนนี้ด้วย
แม้ว่าการลงประชามติจะไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย แต่ผู้สนับสนุนหวังว่าจะช่วยให้เคอร์ดิสถานสามารถเจรจากับรัฐบาลกลางในอนาคตได้ การประกาศในเดือนมิถุนายนเกี่ยวกับกำหนดวันลงประชามตินำมาซึ่งความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานและรัฐบาลแบกแดดในเรื่องอาณาดินแดน รายได้จากน้ำมัน และอำนาจทางทหาร
สำหรับอิสราเอลที่สนับสนุนให้เคอร์ดิสถานแยกประเทศนั้น สื่อ เดลี่ ซาบาห์ (Daily Sabah) ของตุรกี ระบุว่าเพราะ “อิสราเอลใช้เวลาหลายปีในการประจบพันธมิตรที่ไม่ใช่อาหรับในภูมิภาคนี้ และในทศวรรษที่ผ่านมานี้ชาวเคิร์ดอิรักได้สร้างเกียรติภูมิในฐานะนักรบที่ยากรับมือ สัปดาห์นี้ นายพลอิสราเอลระดับสูงรายหนึ่งกล่าวถึงเคอร์ดิสถานโดยระบุว่าเป็น “พัฒนาการในเชิงบวกเพียงอย่างเดียวที่เกี่ยวกับโชคชะตาของตะวันออกกลาง”
แต่การลงประชามติของชาวเคิร์ดได้สร้างความวิตกให้เกือบทุกฝ่าย – รวมทั้งประเทศที่เคยจับมือทำงานร่วมกันมือในภาคเหนือของอิรัก เช่นเยอรมนี ตุรกี และสหรัฐอเมริกา
ในระหว่างการไปเยือนนายมัสอูด บาร์ซานี ประธานาธิบดีเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานเมื่อเดือนสิงหาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นายเจมส์ แมตติส ได้กระตุ้นให้เขาเน้นเรื่องการสู้รบกับไอซิสและไม่ปล่อยให้ประเด็นอื่นมาหันเหความสนใจจากเป้าหมายดังกล่าว
เขาบอกกับผู้สื่อข่าวในเมืองเออร์บิล เมืองหลวงของเคอร์ดิสถาน ว่า “ประเด็นของเราตอนนี้คือเน้นให้ความสำคัญเสมือนลำแสงเลเซอร์ในเรื่องความพ่ายแพ้ของไอซิส”
สหภาพยุโรปและทางการตุรกีได้เรียกร้องให้รัฐบาลเคอร์ดิสถานงดลงประชามติด้วยเช่นกัน สหภาพยุโรปกลัวว่าการลงประชามติอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายต่ออิรัก ในขณะที่ตุรกีซึ่งมีประชากรชาวเคิร์ดจำนวนมากเห็นว่ารัฐเคอร์ดิสถานในอิรักเสมือนกล่องแห่งความชั่วร้าย (Pandora’s box) ซึ่งอาจนำความยุ่งเหยิงมาสู่ชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดของตน (กลัวอุดมการณ์เรียกร้องดินแดนของชนชาติเดียวกัน -irredentism- ว่าจะลามเข้าไปยังตุรกีข้ามผ่านชายแดนซีเรีย)
ในทางตรงกันข้าม อิสราเอลได้แลกเปลี่ยนข้อมูลลับทางการทหาร หน่วยสืบราชการลับ และความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับชุมชนชาวเคิร์ดในอิรักตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยเริ่มต้นในฐานะปราการต้านฝ่ายอาหรับคู่อริทั่วทั้งภูมิภาค
“นี่วางอยู่บนนโยบายเก่าที่อิสราเอลเรียกว่า “นโยบายอาณาบริเวณรอบนอก” (periphery policy) นาธาน แซคส์ (Natan Sachs) ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายตะวันออกกลาง แห่งสถาบันบรูคกิ้งส์ (Brookings Institution) กล่าว “เนื่องจากอิสราเอลเผชิญความเกลียดชังจากโลกอาหรับ จึงมองหาพันธมิตรที่ไม่ใช่อาหรับในภูมิภาคนี้ ชาวเคิร์ดเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้” เขากล่าว
พลังดังกล่าวยังคงขับเคลื่อนมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้ปรับดีขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นาธาน แซคส์ ระบุ
สำหรับตุรกีนั้นมี “บทบาทจำเพาะ” สำหรับสถานการณ์เช่นนี้
แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ (อิสราเอล-ตุรกี) จะดีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ – หลังจากความขัดแย้งในฉนวนกาซา 2008-2009 ทำให้ความสัมพันธ์ตึงเครียด และการโจมตีกองเรือช่วยเหลือปาเลสไตน์ของตุรกีโดยอิสราเอลในปี 2010 ก็ยิ่งทำให้เกิดร้อยร้าว – แต่พวกเขายังคงเป็นแข็งทื่อเป็นหินและไม่สามารถคาดเดาได้
ถึงตอนนี้ นายเนทันยาฮู พบว่าตัวเองกำลังถ่วงสมดุลความสัมพันธ์ของประเทศตนกับทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ อิสราเอลรู้สึกเหมือนว่าตนขาดทุนน้อยลงหากอังการาจะขึ้งโกรธขึ้นมา
“ก่อนหน้านี้อิสราเอลไม่ได้ทำเช่นนี้ [รับรองการลงประชามติ] หรืออย่างน้อยก็จะต้องระมัดระวังอย่างมากเกี่ยวกับความคิดเห็นของตุรกี” แซคส์กล่าว “ตอนนี้เมื่อความสัมพันธ์กลับมาสู่ระดับปกติแล้วก็ไม่มีความคาดหวังอะไร”
แปล/เรียบเรียงจาก foreignpolicy