อิรักประกาศกร้าว จะไม่ยอมให้มี “รัฐอิสราเอลที่สอง”  หลังชาวเคิร์ดชุมนุมหนุนแยกประเทศ

ฝุงชนชาวเคิร์ดออกมาเฉลิมฉลองเพื่อแสดงการสนับสนุนการลงประชามติประกาศเอกราชที่จะมีขึ้นใน 25 กันยายน 2560 นี้ © Ari Jalal / Reuters

ฝูงชนเต็มท้องถนนของเมืองหลวงชาวเคิร์ดในอิรัก หลังออกมารวมตัวกันสนับสนุนการลงประชามติแยกประเทศในเดือนนี้ ขณะที่บางคนได้โบกธงของอิสราเอลซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของชาวเคิร์ด ด้านรัฐบาลกลางแบกแดดกล่าวว่าจะไม่ยอมให้มีการสร้างรัฐ “อิสราเอลที่สอง” บนดินแดนอิรัก

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (16 ก.ย.) ที่เมืองเออร์บิล (Erbil) เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน ของอิรัก ได้มีฝูงชนนับพันคนที่ออกมาชุมนุมเพื่อสนับสนุนการประการเอกราชก่อนที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 25 กันยายนนี้ ธงของชาวเคิร์ดถูกโบกสะบัดเหนือฝูงชนที่ร่วมเต้นและเชียร์ที่งานมโหรีใน ชานิดาร์ ปาร์ค (Shanidar Park) รวมทั้งมีการจุดพลุไฟส่องสว่างขึ้นบนท้องฟ้า อาร์ทีสื่อรัสเซียรายงาน

ขณะเดียวกัน เคียงกับธงหลากสีสันของชาวเคิร์ด ก็สามารถพบเห็นธงชาติอิสราเอลอยู่ท่ามกลางฝูงชน

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (13 ก.ย.) นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลได้ออกมาประกาศว่า อิสราเอลสนับสนุน “ความพยายามที่ถูกทำนองคลองธรรมของชาวเคิร์ดในการบรรลุในการมีรัฐของตัวเอง”

อย่างไรก็ตามคำกล่าวของเนทันยาฮูก็ไม่ได้ดึงดูดความสนใจของรัฐบาลกลางแบกแดด ซึ่งต่อต้านรัฐบาลชาวเคิร์ดในการจัดตั้งรัฐอิสระ

“เราจะไม่อนุญาตให้มีการสร้างอิสราเอลที่สองขึ้นบนดินแดนทางตอนเหนือของอิรัก” รองประธานาธิบดี นูรี อัลมาลีกี กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (17 ก.ย.) ตามที่เอเอฟพีรายงาน

รัฐบาลท้องถิ่นของแคว้นเคอร์ดิสถานจะต้อง “ยุติการลงประชามติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ได้สร้างผลประโยชน์ใดๆ ต่อประชาชนชาวอิรัก ไม่แม้กระทั่งผลประโยชน์เฉพาะของชาวเคิร์ดก็ตาม” อัลมาลิกีกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีอิรัก นายไฮเดอร์ อัลอาบาดี ได้เตือนถึงการแยกประเทศของชาวเคิร์ดว่าเป็นการตัดสินใจที่ “อันตราย” และเรียกมันว่าเป็น “การเล่นกับไฟ”

นายกรัฐมนตรีอิรักกล่าวว่า แบกแดด “จะเข้าแทรกแซงทางทหาร” หากชาวอิรักถูก “ถูกคุกคามจากการใช้กำลังนอกกฏหมาย”

สหรัฐฯ ก็เช่นกัน เรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นของชาวเคิร์ด “ยุติการลงประชามติและเข้าสู่การเจรจาอย่างจริงจังและยั่งยืนกับกรุงแบกแดด”

ด้านรัสเซียยังตั้งอยูบนความหวังว่า ความปราถนาของประชาชนชาวเคิร์ดจะถูกนำพาไปด้วยความสันติ โดยการพิจารณาทั้งทางด้านภูมิศาสตร์การเมือง ประชากร และเศรษฐกิจ

“ปัญหาชาวเคิร์ดจะทอดข้ามพรมแดนอิรักและขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน” นายเซอร์เก ลารอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวและว่า “”แรงบันดาลใจที่เป็นไปตามสิทธิตามกฎหมายของชาวเคิร์ด ก็เสมือนกับประชาชนอื่นๆ ที่ควรจะปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ”