วิกฤตและการเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลาง ตอนที่ 3-จบ (วัชระ แววดำ : สหรัฐ อิหร่าน และซาอุ ก้าวอย่างไรจึงจะแก้วิกฤตตะวันออกกลาง)

อ.วัชระ แววดำ กับหัวข้อเสวนา “สหรัฐอเมริกา อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย: ก้าวอย่างไรจึงจะแก้วิกฤตตะวันออกกลาง” บนเวทีเสวนาวิชาการ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโอกาสครบรอบ 30 ปี สถาบันเอเชียศึกษา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558

บนเวทีเดียวกันนี้ ในภาคเช้า ยังมี อ.วัชระ แววดำ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการศึกษาอิสลามและการพัฒนา ที่ร่วมเสวนาในประเด็นอันเกี่ยวข้องกับ 3 มหาอำนาจโลกในปัจจุบันในหัวข้อ “สหรัฐอเมริกา อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย: ก้าวอย่างไรจึงจะแก้วิกฤตตะวันออกกลาง”

วิจารณ์อาหรับสปริง

อ.วัชระ แววดำ บอกว่า ตนถือเป็นคนแรกๆ ที่ได้เคยวิจารณ์ปรากฏการณ์อาหรับสปริงที่มีต้นกำเนิดจากตูนีเซีย และลามไปถึงชาติอื่นของอาหรับ ว่าจะก่อให้เกิดหลายๆ ปัญหาตามมา อย่าง ขบวนการไอซิซ  ซึ่งแม้ว่า มันจะประสบผลสำเร็จในตูนีเซีย แต่ก็ไม่อาจผ่านพ้นไปด้วยดีได้ในชาติอาหรับอื่น ทั้งนี้ด้วยที่ตูนีเซียมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับอาหรับชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวิธีคิดของผู้คน

อ.วัชระ ได้วิเคราะห์ว่า “อาหรับสปริงไม่มีทางที่จะเปลี่ยน หรือ เป็น Revolution หรือ uprising อย่างแท้จริงได้ สาเหตุเป็นเพราะอาหรับสปริงที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2011 นั้นไม่ได้ตอบโจทย์ 3 ข้อที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน”

ซึ่งโจทย์ดังกล่าวก็คือ

1) อาหรับสปริงไม่ได้ตอบเรื่องของ Engagement หรือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญ อันเป็นสิ่งที่นำมาสู่ การล่มสลายของรัฐบาล มูฮัมมัด โมซี่ จากมุสลิมบราเดอฮู้ด ในอียิปต์

2) Education (การศึกษา) โดยข้อนี้ถือสำคัญมากตามทัศนะของอ.วัชระ เหตุเพราะ สิ่งที่ตามมาจากความไม่รู้ คือกลุ่ม extremist  (พวกสุดโต่ง) หรือ islamist (อิสลามแบบสุดโต่ง) ที่จะสามารถเข้ามาสู่อำนาจรัฐได้ โดยผ่านการเลือกตั้ง และเมื่อได้อำนาจรัฐแล้ว ก็จะละทิ้งแนวทางต่างๆ ที่ประสานประโยชน์จากกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายในสังคม

3) และสุดท้ายคือ Empowerment อีกโจทย์ใหญ่ที่คนนอกมุสลิม ต่างได้ตั้งคำถามกับมุสลิมมาโดยตลอด โดยเฉพาะในเรื่อง สิทธิสตรี

“อาหรับสปริงไม่ได้ตอบโจทย์เหล่านี้เพียงสักข้อเดียว ด้วยเหตุนี้เอง อาหรับสปริงจึงล่มสลายลง ไม่ว่าจะเป็นในซีเรีย อียิปต์ หรือลิเบีย และเช่นกัน คือจุดนี้เอง ที่ส่อแววปัญหา Sectarian อันเป็นปัญหาที่ยิ่งตอกลิ่มความขัดแย้งในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก” อ.วัชระ กล่าว

เมื่อสุญญากาศทางอำนาจ พบกับ มุสลิมที่ไม่เข้าใจศาสนาอย่างถ่องแท้

อาจารย์ได้ชี้แจงต่อในเรื่องของปัญหาที่ตามมาจากอาหรับสปริง อันก่อให้เกิดความวุ่นว่ายทั่วตะวันออกกลางในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่าน ว่าเป็นผลพวงจากการที่ สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของโอบามา ถอนทหารออกจากอิรัก ซึ่งนักวิชาการหลายๆ คนก็ลงความเห็นตรงกันในข้อนี้

“แม้การเข้าไปแทรกแซงอิรักของสหรัฐฯ จะเป็นการเข้าไปเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ จนเป็นที่มาของกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ อย่างไรก็ตาม เมื่อโอบามา ต้องการจะลบตราบาปที่ จอร์จ บุช เคยทำไว้นี้ ด้วยเพราะไม่คุ้มเสียกับเม็ดเงินที่ลงทุนเข้าไป ประกอบกับชีวิตคนอเมริกันที่ต้องสละชีวิตกับ ผลตอบแทนที่ถือว่าขาดทุน โดยขอกำหนดนโยบายใหม่ใน 2-3 ปี ให้หลัง เลือกการลงทุนในเอเชีย เพราะผลตอบแทนกับความเสี่ยงมันคุ้มค่ากว่ามาก ทว่า ก็กลับมีแนวคิดหนึ่งที่แย้งขึ้นมาว่า สหรัฐฯควรจะกลับเข้าไปในตะวันออกกลางต่อ ถึงแม้ว่า 2 สาเหตุหลักที่ทำให้สหรัฐฯต้องเข้าไปในตะวันออกกลางจะลดบทบาทลงไปมากแล้วก็ตาม อันได้แก่ 1) เพื่อคุ้มครองอิสราเอล ในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตย ประเทศเดียวในตะวันออกกลาง และเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นที่สุด ซึ่งพบว่าไม่มีความจำเป็นแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากอิสราเอลสามารถดูแลตัวเองได้ 2) ด้วยความต้องการให้แหล่งทรัพยากรน้ำมันไหลออกจากอ่าวเปอร์เซียเข้าสู่ตลาดโลก เพื่อล่อเลี้ยงเศรษฐกิจโลก ซึ่งเห็นว่าไม่มีความจำเป็นแล้วเช่นกัน ด้วยสัดส่วนการตลาดของประเทศนอกโอเปก ณ วันนี้ มีสูงมากกว่าประเทศ โอเปก แล้ว โดยประเทศโอเปกสามารถผลิตน้ำมันได้เพียง 1 ใน 3 ของโลกเท่านั้น อันทำให้วันนี้สหรัฐมีอิสรภาพทางพลังงานมากขึ้”

ทั้งนี้อ.วัชระ ระบุว่า ปัจจัยหลักที่สนับสนุนแนวคิดที่สหรัฐฯ ควรกลับเข้าไปในตะวันออกกลาง นั้นเป็นเพราะ “ทันทีที่สหรัฐฯถอนตัวออกมาเร็วเกินไป ได้ทำให้ อิรักต้องกลายมาเป็นสุญญากาศทางอำนาจ เกิดปัญหา Proxy War – Sectarian สงครามผ่านตัวแทน ระหว่าง อิหร่าน กับ ซาอุฯ ซึ่งตรงนี้นี่เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ ไอซิซ”

อย่างไรก็ดี อ.วัชระ ได้ให้ความเห็นว่า ไอซิซ เป็นเพียงปรากฏการณ์ภูเขาน้ำแข็ง ที่วันหนึ่งก็จะร่วงโรยไปเหมือนกับอัลกออิดะห์ แต่เช่นเดียวกัน ย่อมจะมีองค์กรอื่นเกิดขึ้นตามมา  “ตราบใดก็ตามที่ 1) คนที่ไม่ใช่มุสลิม ไม่เข้าใจมุสลิม และ 2) คนที่เป็นมุสลิมไม่เข้าใจอิสลามอย่างถ่องแท้” ซึ่งอ.วัชระ ถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะไอซิซที่มีมาถึงทุกวันนี้ได้ ก็เพราะความเป็นกลุ่มที่ไม่เข้าใจอิสลามอย่างถ่องแท้ อันเป็นบ่อเกิดของความแตกแยกระหว่างนิกาย ที่รังแต่จะทำให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันและกันเอง ตามที่อ.วัชระได้อธิบายว่า “เห็นได้จากการขึ้นพูดเทศนาของ อบูบักร อัลบัคดาดี้ ซึ่งไม่ใช่การเทศนาที่แท้จริง แต่เป็นการแสดงละคร”

คำถามก็คือ เมื่ออเมริกาเป็นตัวสร้างปัญหาเช่นนี้แล้ว จะแก้ปัญหาได้อย่างไรดี? ควรจะไปในทิศทางใด? โดยปัญหาที่ใหญ่สุดในทัศนะของอาจารย์ ก็คือเรื่องของซีเรีย และได้แจงว่า “แผนการที่สหรัฐฯ มี คือ การนำเอาโมเดลที่เคยใช้ กับ บอสเนีย เมื่อตอนที่ยูโกสลาเวียแตก มาปรับใช้กับซีเรีย ขณะที่บอสเนีย จบลงด้วยการที่สหรัฐฯเข้าไปฝึก และส่งอาวุธต่างๆให้กับกองกำลังโครแอท และบอสเนีย จนกระทั่งเซอร์เบียรู้สึกเสียเปรียบกว่า จึงยอมเจรจาด้วย เพราะการเจรจามันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายรู้ว่า รบยังไงก็ไม่ชนะ แต่ตราบใดที่ยังรู้สึกได้เปรียบอยู่ การนั่งเจรจาก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด เช่นในกรณีของ บาซัรในวันนี้”

ซึ่งด้วยประการฉะนี้เองที่อ.วัชระเห็นว่า ขบวนการไอซิซจึงได้ถือกำเนิดขึ้น ทั้งนี้เพราะบอสเนียมีปัญหาอย่างเดียว คือ เรื่องเชื้อชาติ ไม่มีเรื่องศาสนา จึงเป็นปัญหาที่แก้ง่าย ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับกรณีของซีเรีย

ศึกสองด้าน ความขัดแย้งระหว่างมิตร กับหนทางสู่การเจรจาที่สุกงอม

อีกประเด็นหนึ่งที่อ.วัชระ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในจุดนี้ คือ “จะเป็นไปได้หรือที่อเมริกาจะยอมกลับเข้าไปในตะวันออกกลางอีกครั้ง และโอบามาที่กำลังขออำนาจจากสภาคองเกรส เพื่อส่งทหารภาคพื้นดิน ท้ายที่สุดแล้วจะกล้าส่งเข้าไปจริงหรือ? เพราะจะถือเป็นการเปิดศึก 2 ด้าน เนื่องว่า หากทหารอเมริกาที่เข้าไปในแผ่นดินซีเรียทำการรบกับ ไอซิซ ก็เท่ากับว่าเป็นการส่งเสริมให้ อัสสาด มีความเข้มแข็งขึ้น เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า หากสามารถโค่นล้ม อัสสาดได้จริง ดังนั้นแล้วจะทำอย่างไรที่ไม่ให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจ เหมือนกรณีของอิรัก? อเมริกาต้องตอบให้ได้ว่า จะแบ่งซีเรียเป็นชิ้นๆอย่างไรที่จะทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจ?”

อย่างไรก็ดี อ.วัชระระบุว่า เรายังคงมีแสงสว่างอยู่ที่ปลายทาง ตามที่อาจารย์แสดงความเห็นว่า “ไอซิซ ไม่ได้ถือเป็นประเด็นหลักในตะวันออกกลางอีกต่อไปแล้ว ณ วันนี้ ประเด็นหลักอยู่ที่แนวโน้มการเจรจาระหว่างกลุ่มมหาอำนาจ” ซึ่งจะต้องได้ข้อตกลงที่เป็นหลักการภายในวันที่ 31 มีนา นี้ ตามที่หลายฝ่ายเชื่อ ด้วยสาเหตุปัจจัยหลายประการที่ว่า ไม่มีช่วงไหนที่การตกลงกันจะสุกงอมได้เท่ากับช่วงนี้ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่มีความขัดแย้งในเรื่องปัญหาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์อีกแล้ว

ปัจจัยสำคัญที่ อ.วัชระ ชี้ให้เห็นก็คือ “สหรัฐฯ รู้อยู่แล้วว่า หมากที่จะเดินเกมการเมืองในตะวันออกกลางมีจำกัด วันนี้ ซาอุฯไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอเมริกาเหมือนวันวานแล้ว นับตั้งแต่ การที่สหรัฐแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับซาอุ กรณีสนับสนุน ฮอสนี มูบารัค หรืออีกกรณีที่ สหรัฐฯ เคยขีดเส้นแดงเรื่องอาวุธเคมีของซีเรีย แต่สุดท้ายก็ลบมันออก จนทำให้ซาอุไม่ไว้วางใจมาโดยตลอด”

ด้วยประการฉะนี้ หากสหรัฐฯสามารถตกลงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่านได้ ปัญหาซีเรียก็อาจจะมี Political solution (ทางออกทางการเมือง) ที่มากขึ้นได้ เนื่องด้วย ความเข้มแข็งที่บาซัรมีอยู่ในทุกวันนี้ ก็มาจาก 1) อาวุธจากรัสเซีย 2) เงินทุนจากอิหร่าน 3) กองกำลังจากฮิซบุลลอฮ ดังนั้นแล้ว เมื่ออิหร่านถอนการสนับสนุน ชะลอ หรือ ชะงักการส่งความช่วยเหลือให้บาชัร บาชัรก็จะอ่อนแอลง กระทั่งสามารถดึงกลับสู่โต๊ะเจรจาได้

“หนทางที่ดูเหมือนจะเป็นไปได้มากที่สุดที่จะแก้ปัญหาตะวันออกกลาง คือ การเจรจาเรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์ ระหว่างอเมริกา กับ อิหร่าน” ด้วยกับปัจจัยหลายประการ จนอาจารย์ต้องบอกว่า “บรรยากาศไม่เคยเอื้ออำนวยถึงขนาดนี้” โดยเฉพาะเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ รมต. ต่างสหรัฐ กับ รมต. ต่างประเทศอิหร่านไปพบกันที่เจนิวา สิ่งสำคัญก็ คือ รมต. ว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ และผู้อำนวยการสำนักงานนิวเคลียร์แห่งชาติอิหร่านก็ไปในงานนี้ด้วย ขณะที่หลายฝ่ายต่างคาดว่า ปัญหา ณ ตอนนี้ อยู่ที่ว่า โอบามาจะสามารถกลับไปเจรจาที่วอชิงตันโดยเฉพาะพับลิกันให้ยอมความกันมากน้อยแค่ไหน หรือ อิหร่านจะกลับไปเตหะราน คุยกับกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ และผู้นำสูงสุดให้ยอมรับ การเจรจาได้มากน้อยเพียงใด

บรรยากาศไม่เคยเอื้ออำนวยขนาดนี้ ก็เป็นเพราะ เรื่องของราคาน้ำมันที่ลดลง อันส่งผลกระทบต่ออิหร่านเป็นอย่างมาก เพราะอิหร่านไม่อาจเข้าไปลงทุนทั่วโลก เพื่อลดความเสี่ยงในวันที่ราคาน้ำมันลดลงได้ ด้วยความที่ถูกแซงชั่นจากสหประชาชาติ และสหรัฐฯ โดยไม่อนุญาตให้ผู้ใดสามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับอิหร่าน จึงทำให้เม็ดเงินที่ได้จากการขายน้ำมันที่น้อยอยู่แล้ว ไม่สามารถนำไปลงทุนอะไรที่ทำให้ผลิ ดอกออกผลได้ หนำซ้ำยังต้องใช้จ่ายไปในการสนับสนุนนอกประเทศ ทั้งฮิซบุลลอฮในเลบานอน ฮามาสในปาเลสไตน์ หรือ ในซีเรีย”

ส่วนคำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าสหรัฐฯ กับอิหร่านตกลงกันได้ แล้วอีกหนึ่ง มหาอำนาจ อย่างซาอุจะว่าอย่างไร ในส่วนนี้ อ.วัชระทิ้งคำตอบให้สั้นๆ ว่า  “ก็คงต้องถามว่า วาฮาบี จะว่าอย่างไร” เพราะถือเป็นตัวที่ควบคุม ซาอุฯ ขณะที่เดิมซาอุฯก็มีความขัดแย้งอย่างแข็งขันกับอิหร่าน ซึ่งอ.วัชระได้แนะว่า เราควรจะละทิ้งมายาคติเรื่องนิกายนี่เสีย

“ณ วันนี้ เรากำลังถูกมายาคติ ครอบงำ ที่สร้างว่า อาหรับคืออิสลาม อิสลามคืออาหรับ จนเกิดเป็นปัญหา ชีอะฮ์ -ซุนนี ที่ยิ่งตอกย้ำความขัดแย้งเข้าไปอีก” อ.วัชระ กล่าว