เคยเจอคนตั้งคำถามสารพัด เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ฯ จุฬาฯ ตั้งขึ้นมาทำไม? ไม่มีได้มั้ย ? สมัยที่ไม่มีศูนย์ ฯ ยังอยู่กันได้เลย และอื่นๆ อีกมากมาย…..
มีคำตอบแบบง่าย ๆ สำหรับคนที่รู้จักสังเกต ก็ตอบได้ เพราะสมัยก่อนที่สังคมยังไม่ขยายตัวเป็นเชิงอุตสาหกรรม เราทำกับข้าว ทำขนมกินเอง ผู้หญิงเป็นแม่บ้าน ดูแลครอบครัว ไม่ได้ทำงานนอกบ้าน ซื้อเนื้อไก่ ซื้อเนื้อวัว จากร้านอิสลาม (สมัยก่อนจะไม่ค่อยคุ้นกับคำว่า “ฮาลาล”) มาประกอบอาหาร ยิ่งถ้าเป็นตามต่างจังหวัดอาจจะเชือดไก่เองเสียด้วยซ้ำ ถ้าเป็นขนมที่ไม่ใช่มุสลิมทำ ยิ่งเป็นขนมไทยแท้ๆ ส่วนผสมไม่พ้นสารพัดแป้ง เผือก มัน ฟักทอง กล้วย น้ำตาล มะพร้าว ทำขายวันต่อวัน ไม่ใช้สารกันบูด ถ้าสังคมยังเป็นเช่นวันก่อน ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ฯ อาจจะไม่จำเป็นเฉกเช่นทุกวันนี้!
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เพราะปัจจุบันนี้กระบวนการผลิตอาหารในอุตสาหกรรมยุคใหม่ทวีความซับซ้อนมากขึ้น มีการใช้วัตถุดิบและสารเคมีจำนวนมาก แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะได้มีกำหนดมาตรฐานไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ แต่อันตรายจากสิ่งที่ไม่อนุมัติ หรือที่ทางอิสลามเรียกว่า หะรอม สามารถที่จะเจือปนอยู่ได้ ฉะนั้น จึงเป็นการยากสำหรับมุสลิมที่จะทราบได้ว่า สิ่งที่บริโภคเข้าไปฮาลาลหรือไม่ สิ่งที่สามารถนำมาพิสูจน์ได้ ก็คือ การใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเท่านั้น และนี่คือเหตุผลที่จำเป็นต้องมีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล
วิทยาศาสตร์ฮาลาล จึงหมายถึงกระบวนการศึกษาและการสร้างความรู้ เพื่อพิสูจน์ทราบและยืนยัน สิ่งที่เป็นหะรอมอย่างเป็นระบบ รวมถึงการนำเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร และผลิตภัณฑ์ฮาลาล เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคมุสลิมด้วย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ถือเป็นองค์กรที่ดำเนินการด้านวิทยาศาสตร์ ฮาลาลแห่งแรกของโลก
การทำงานของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ฯ ส่วนหนึ่งเป็นการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการหลัก (Main Laboratory) คือตรวจดูว่ามีสารตามข้อห้ามปนเปื้อนอยู่ในอาหารหรือไม่ โดยตรวจทั้งอาหารจากโรงงานผลิตอาหารฮาลาล ตรวจเครื่องปรุงรสที่มาในรูปของเหลว และน้ำจิ้ม ที่อาจเกิดการหมักจนมีแอลกอฮอล์ รวมทั้งขนมที่ผสมเจลาตินซึ่งอาจผลิตจากหนังหรือกระดูกหมู
สำหรับประเทศไทย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน เพิ่มเติมว่า อาหารที่ผลิตออกมาวางขาย มีทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จนถึงผู้ผลิตขนาดย่อม ซึ่งมีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของหะรอมได้มาก หากผู้ผลิตที่ต้องการพิสูจน์ว่าอาหารที่ตนผลิตออกไปนั้นมีสิ่งปนเปื้อนของสิ่งทีไม่ฮาลาลหรือไม่ สามารถนำมายังศูนย์เพื่อขอตรวจสอบได้ ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อยโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
อ่านมาจนจบแล้ว ก็ให้รู้สึกอุ่นใจที่บ้านเรามีกระบวนการตรวจสอบฮาลาลหะรอมที่มีระบบและวางใจได้ สอดคล้องกับสโลแกนที่โดนใจว่า “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ”