ในการก่อตั้งหน่วยงานภายในองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนเกือบทั้งหมด ล้วนแล้วแต่จัดตั้งฝ่ายบริหารในลักษณะจากบนลงล่าง (top down) ทั้งสิ้น หน่วยงานเหล่านี้จึงมีจุดกำเนิดที่ชัดเจน โดยเฉพาะวันสถาปนาที่คล้ายวันก่อกำเนิดของหน่วยงาน ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมฉลอง และร่วมรำลึกถึงได้
ในขณะที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีที่มาที่แตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆ เพราะมีการเติบโตจากฐานรากสู่ยอด (bottom up) ด้วยทุนวิจัย และความมุ่งมั่นส่วนตัวของอาจารย์มหาวิทยาลัย
เพียง 1 คน ค่อยๆ ก้าวเดินทีละก้าว เติบโตทีละน้อย บางขณะอาจจะชะลอตัวลงบ้างก่อนกลับมาเติบโตอีกครั้ง มากบ้าง น้อยบ้าง ด้วยวิสัยทัศน์ กำลังใจ และแรงสนับสนุนจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ฯ วัน เวลาผ่านไปยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ หากนับจากวันแรกที่ ผศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน (ตำแหน่งทางวิชาการในปี พ.ศ. 2537) กับหน่วยงานเล็กจิ๋วที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 1 คน และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 2 ชิ้น ภายในห้องปฏิบัติการด้านชีวเคมีโภชนาการขนาดพื้นที่รวม 32 ตารางเมตร สู่วันนี้ที่เติบโตขยับขยายมีบุคลากรเกือบ 100 คน พื้นที่รวมสำนักงานต่างจังหวัด 2 แห่งมากกว่า 4,500 ตารางเมตร มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์เกือบ 200 ชิ้น และเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างสมบูรณ์ ประสบการณ์ผ่านร้อน ผ่านหนาวมากมาย ย่อมทำให้ยากที่จะระบุว่า วันใดคือวันก่อกำเนิดหน่วยงาน
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อจำเป็นต้องกำหนดวันใดวันหนึ่งเป็นคล้ายวันสถาปนาองค์กร ทุกฝ่ายที่เข้าใจความเป็นมาของหน่วยงานแห่งนี้เห็นพ้องกันว่า หากปราศจากเหตุการณ์ในวันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 ขาดมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติงบประมาณต่อเนื่อง 3 ปีแก่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินงานโครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล อาจเป็นเรื่องยากที่หน่วยงานซึ่งได้รับการยอมรับในภายหลัง ว่าเป็นสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลกแห่งนี้จะถือกำเนิดขึ้นได้ สามปีแรกภายใต้งบประมาณตามมติคณะรัฐมนตรี และวิสัยทัศน์ผู้นำของ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน เป็นผลให้หน่วยงานเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ค่อย ๆ เป็นที่รู้จัก เชื่อถือและได้รับความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย มีความเข้มแข็งมากพอที่จะก้าวเดินต่อไป แม้จะประสบอุปสรรคมากมายหลายครั้งหลายคราซึ่งก็ถือว่าเป็นความปกติของทุกหน่วยงาน
ด้วยเหตุผลนี้เอง คณะกรรมการบริหารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลอันมีอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประธานจึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2556 วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2556 กำหนดให้วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 เป็นคล้ายวันสถาปนา หรือวันถือกำเนิดของหน่วยงานแห่งนี้ เมื่อนับถึงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2560 จึงเท่ากับมีอายุครบ 14 ปีบริบูรณ์ ถ้าเปรียบเทียบกับมนุษย์เรา ก็เป็นการก้าวย่างสู่วัยหนุ่ม วัยสาว ที่พร้อมจะย่างก้าวสู่วันใหม่ด้วยพลังที่เปี่ยมล้นกับอุดมการณ์ในใจ ที่จะ “เรียนรู้อดีต กำหนดปัจจุบัน วาดฝันอนาคต” นั่นเอง