เมื่อครั้งที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการประกาศเกียรติคุณว่า คือ สถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรก ที่ถือกำเนิดขึ้นมา นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียมอบ “รางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมด้านอุตสาหกรรมฮาลาล” ในงานประชุมฮาลาลโลก หรือ World Halal Forum 2006 ใน พ.ศ.2549 เป็นเกียรติต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่แม้มีผู้นับถือศาสนาอิสลามเพียงชนส่วนน้อย แต่กลับพัฒนาวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล หรือวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับหลักศาสนบัญญัติอิสลาม อันยังประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมวลมุสลิม และประชากรศาสนิกต่างๆ ทั่วโลก
ในปัจจุบันที่มีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการต่อการปนเปื้อนสิ่งฮาราม (สิ่งที่ไม่เป็นที่อนุมัติตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม) ของอุตสาหกรรมที่มีค่อนข้างสูง อุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ และศรัทธาของมุสลิมในประเทศ กลับกลายเป็นปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล ที่เริ่มต้นขึ้นอย่างไม่เป็นทางการใน พ.ศ.2537 โดย ดร.วินัย ดะห์ลัน อาจารย์ประจำคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบการณ์สะสมจากการร่วมงานกับองค์กรศาสนา ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมตลอดช่วงเวลานับสิบปี ผนวกเข้ากับทุนวิจัยด้านการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและธุรกิจฮาลาลที่ได้รับจากรัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่ พ.ศ.2546 ส่งผลให้งานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล ซึ่งเป็นวิชาการสาขาใหม่ มีโอกาสพัฒนาขึ้นอย่างรอบด้าน นำไปสู่การจัดตั้ง “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นหน่วยงานเอกเทศ ภายใต้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2547
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศูนย์วิทยาศาสตรฺฮาลาล ได้รังสรรค์ผลงานตามพันธกิจกระทั่งได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย สิ่งสำคัญ คือการพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรศาสนาอิสลาม ที่ทำหน้าที่ดูแลการรับรองฮาลาลตามกฎหมายของประเทศ ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีแนวคิดรับผิดชอบหลักที่ยึดหมั่น “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และบริการฮาลาล ให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้บริโภค
งานวิทยาศาสตร์ฮาลาล พัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบในประเทศไทย ก่อนขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางทั่วพื้นที่ของอาเซียน และภูมิภาคอื่นๆ ทั้งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจฮาลาลซึ่งกำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ต่อประเทศต่างๆ ในโลก ทั้งที่เป็นประเทศมุสลิม และประเทศที่มิใช่มุสลิม
วิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นเสมือนของขวัญที่ประเทศไทย ที่แม้มิใช่ประเทศมุสลิม ได้มอบให้แก่ประชาคมโลกนั่นเอง