อินดีเพนเดนท์ – ในการพูดระหว่างการประชุมด้านการลงทุนที่สำคัญ มกุฏราชกุมารซาอุดิอาระเบีย ได้สัญญาว่า จะนำราชอาณาจักรซาอุฯ กลับสู่ “สิ่งที่เราเคยเป็นมาก่อน – ประเทศมุสลิมสายกลางที่เปิดกว้างต่อทุกศาสนา และเปิดกว้างต่อโลก”
เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน ได้ประกาศแนวคิดดังกล่าวในช่วงต้นของการประชุมด้านการลงทุนในอนาคต ซึ่งจัดขึ้นในกรุงริยาด เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (24 ต.ค.)
ประเทศจะทำมากขึ้นเพื่อรับมือกับความคลั่งไคล้ เจ้าชายกล่าวและว่า “เราจะไม่เสียเวลา 30 ปีในชีวิตของเราเพื่ออยู่กับแนวคิดสุดโต่ง เราจะทำลายมันในวันนี้ “เขาบอกกับผู้สัมภาษณ์
“มันไม่ได้เป็นแบบนี้ในอดีต … เราจะยุติความคลั่งไคล้เร็วๆ นี้” เจ้าชายเสริมด้วยคำวิจารณ์โดยตรงของเขาต่อนักการศาสนาซาอุฯ ที่สร้างแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดขั้วจนถึงปัจจุบัน
ซาอุดิอาระเบียเป็นรัฐในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้รูปแบบทางศาสนาที่เคร่งครัดของชาวมุสลิมซุนนี ในแนวทางที่เรียกว่า “วะฮาบี” (Wahabism) โดยแนวคิดสุดโต่งแบบวะฮาบีได้ถูกตอบรับและกลายเป็นแนวทางหลักของกลุ่มญิฮาดิสต์ เช่น อัลกออิดะห์ และไอซิส
ในช่วงเหตุการณ์ 9/11 เจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียได้ทำงานร่วมกับสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการให้เงินสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงและการก่อการร้าย – แต่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังไม่เพียงพอ
ข้อเรียกร้องเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน สร้างความฉงนต่อนานาชาติ เนื่องจากนักการศาสนาที่มีแนวคิดสุดโต่งของซาอุดิอาระเบียยังคงมีอำนาจและอิทธิพลอย่างมากในประเทศนี้ กลุ่มสิทธิต่างๆ ยังคงประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐซึ่งก่อนหน้านั้นหลายประการมีพื้นฐานอยู่บนการตีความอัลกุรอานในแบบฉบับของซาอุดีอาระเบีย
เจ้าชายบิน ซัลมาน ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สืบราชบัลลังก์โดยกษัตริย์ซัลมาน บินอับดุลซาซิส อัลซาซูด เมื่อต้นปีนี้ ถูกหลายฝ่ายมองว่าจะเป็นผู้นำอาณาจักรซาอุฯ ไปสู่โฉมหน้าใหม่
เจ้าชายวัย 32 เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในผลักดัน “วิสัยทัศน์ 2030” อันเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวของประเทศซาอุดิอารเบียซึ่งออกแบบมาเพื่อลดการพึ่งพิงน้ำมัน และปฏิรูประบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพของประเทศซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับความนิยมอย่างมาก