สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Thai Halal ได้แล้ววันนี้ทั้งบน iOS และ Android ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้ทันทีเพียงกรอกเลขที่รับรองฮาลาล หรือสแกนคิวอาร์โค้ด/บาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งเป็นช่องทางใหม่ให้ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิต โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนสามารถนำผลิตภัณฑ์ของตนเองที่ผ่านการรับรองฮาลาลมาโปรโมทผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ได้อีกด้วย โดยใช้ฐานข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาฐานข้อมูลสนับสนุนการพัฒนาฮาลาลไทย ต่อยอดจากการจัดทำเว็บไซต์ www.thaihalalfoods.com ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเชิงลึกด้านอาหารฮาลาลมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายใต้การดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งนอกจากจะมีการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการกลุ่มหลักคือเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชุนเพื่อเข้าสู่ระบบมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลแล้ว สถาบันอาหารยังมุ่งเน้นไปที่ การพัฒนาศักยภาพการตลาดฮาลาลไทยสู่สากล โดยก่อนหน้านี้ได้พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาฮาลาลไทยผ่านการจัดทำเว็บไซต์ www.thaihalalfoods.com เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเชิงลึกด้านอาหารฮาลาลให้บริการแก่ภาคธุรกิจและผู้ที่สนใจ อาทิ ข้อมูลสถิติการค้า รายงาน บทวิเคราะห์ งานวิจัยตลาด หลักการและแนวทางปฏิบัติการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเป็นผู้ประสานงานให้ผู้ประกอบการที่ต้องการขอรับรองฮาลาลกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้ เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้านอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต
“วันนี้เราได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Thai Halal ขึ้นมา ทั้งระบบ iOS และ Android เพื่อให้ผู้บริโภคดาวน์โหลดมาใช้ สามารถตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้ทันทีว่าได้รับการรับรองฮาลาลจริงหรือไม่ โดยการใส่ข้อมูลเลขที่รั บรองฮาลาล หรือสแกนบาร์โค้ด หรือคิวอาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ จะปรากฎข้อมูลวันที่ขอรับรอง และวันหมดอายุ หากข้อมูลผลิตภัณฑ์ยังไม่เข้าระบบจะแจ้งให้ตรวจสอบเพิ่มเติมที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย”
“นอกจากนี้ Thai Halal ยังเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนสามารถนำผลิตภัณฑ์ของตนเองที่ผ่านการรับรองฮาลาลมาโปรโมทผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ได้อีกด้วย โดยกรอกข้อมูลใบรับรองฮาลาล ข้อมูลผลิตภัณฑ์ และข้อมูลผู้ผลิต รอการตรวจสอบและอนุมัติตามลำดับ ทั้งนี้จะใช้ฐานข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันอาหาร โทร. 02-422-8688 ต่อ 3203, 3204” ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าว
ทั้งนี้สถาบันอาหารระบุว่า สถานการณ์การผลิตรวมทั้งการรับรองอาหารฮาลาลของไทยนั้น พบว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับตลาดฮาลาลมากขึ้น โดยฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลกว่า 5,000 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีสถานประกอบการในประเทศที่ขอรับการรับรองฮาลาล 2,188 ราย หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 ต่อปี ในภาพรวมส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 90 (ผู้ผลิตอาหาร 72%, ร้านอาหาร 13%, โรงเชือดและชำแหละเนื้อสัตว์ 3% และผู้นำเข้าอาหาร 2% โดยประมาณในปี 2554) ส่วนที่เหลืออื่นๆ อีกร้อยละ 10 เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตและนำเข้าสินค้าอุปโภค เช่น ผู้ผลิตเครื่องสำอาง ยาสีฟัน ยาหรือสมุนไพร เป็นต้น ปัจจุบันคาดว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการรับรองฮาลาลสูงกว่า 100,000 รายการ เพิ่มขึ้นจาก 64,588 รายการในปี 2554 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปีโดยประมาณ
ตลาดเอเชียเป็นตลาดอาหารฮาลาลที่มีศักยภาพในการส่งออกสูงสุด จากสัดส่วนประชากรชาวมุสลิมที่มีอยู่ค่อนข้างสูงร้อยละ 32.6 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในภูมิภาค โดยมาเลเซียได้ตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางฮาลาลของโลก (Global Halal Hub) ภายในปี 2563 โดยมีแนวทางการพัฒนาธุรกิจฮาลาลของประเทศแบบองค์รวม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ประกอบกับการสร้างระบบนิเวศฮาลาล (Halal Ecosystem) ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของประเทศอย่างเต็มที่ ทั้งการจัดทำมาตรฐานฮาลาล การให้สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับผู้ประกอบการในอุทยานฮาลาล (Halal Park) และผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ฮาลาลหรือที่เกี่ยวข้อง การลดหย่อนภาษีสองเท่าสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อขอการรับรองมาตรฐานฮาลาล เป็นต้น