ชื่นชม! ไทยร่วมนานาชาติโหวตต้านทรัมป์รับรองเยรูซาเล็มเมืองหลวงยิว ไม่สนสหรัฐขู่ตัดเงิน

ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 128 ประเทศที่ลงมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติให้คำประกาศรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลของสหรัฐฯ เป็น ‘โมฆะและไม่มีผลทางกฎหมาย’ ไม่สนแม้ทรัมป์ ขู่ตัดความช่วยเหลือทางการเงิน

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติให้คำประกาศรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ “เป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมาย” โดยสำหรับประเทศไทย ก็ได้ออกเสียงสนับสนุนมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งนี้ด้วย  แม้ก่อนหน้านั้นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกมาขู่ว่าจะตัดความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศที่โหวตสนับสนุนข้อมตินี้ก็ตาม

ร่างมติดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจาก 128 ประเทศ  ขณะที่ 9 ประเทศออกเสียงคัดค้าน และอีก 35 ประเทศงดออกเสียง โดยมี 21 ประเทศขาดประชุมจึงไม่ได้ลงคะแนน

ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า วันที่ 22 ธ.ค. น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงกรณีไทยโหวตหนุนร่างข้อมติของสหประชาชาติหรือยูเอ็นให้สหรัฐยกเลิกการรับรองเมืองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของประเทศอิสราเอลว่า ท่าทีไทยในการสนับสนุนร่างข้อมติเป็นท่าทีที่ไทยยึดมั่นมาโดยตลอด ตามพื้นฐานของข้อมติสหประชาชาติ และเป็นเรื่องของหลักการ

“ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯครอบคลุมหลายมิติ ประเทศไทยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯมาหลายปีแล้ว เพราะสถานะระดับการพัฒนาของไทย ส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือผ่านโครงการระดับภูมิภาค ” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว ตามที่ข่าวสดรายงาน

ท่าทีของไทยในครั้งนี้ได้รับความชื่นชมจากชาวมุสลิมไทยและนักวิชาการเป็นจำนวนมาก

“ดร.ศราวุฒิ อารีย์” นักวิชาการมุสลิมและผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟสบุคส่วนตัวว่าเป็นการตัดสินใจของไทยครั้งนี้เป็นสิ่งถูกต้อง โดยให้เหตุผล 4 ประการว่า

1. ในการโหวตเสียงครั้งนี้ไทยได้แสดงให้โลกเห็นว่า ไทยได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มีความคงเส้นคงวา อันเนื่องจากไทยได้โหวตรับรองสถานะรัฐปาเลสไตน์ในเวทีสหประชาชาติไปแล้วในปี 2012 ซึ่งก็เท่ากับว่าไทยได้ยอมรับว่าสถานะของกรุงเยรูซาเล็มจะต้องได้รับการแก้ไขผ่านกลไกการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง ไม่ใช่เป็นการดำเนินการแต่ฝ่ายเดียวของสหรัฐ การโหวตใน UNGA ครั้งนี้ไทยจึงต้องแสดงจุดยืนเดิม อันถือเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่คงเส้นคงวา ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามการกดดันขมขู่ของมหาอำนาจ

2. การตัดสินใจของไทยครั้งนี้ถือเป็นทำงานทางการทูตที่ยึดหลักการตามกฏหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้โลกให้การยอมรับแนวทางการแก้ปัญหาปาเลสไตน์แบบ “ทวิรัฐ” หรือ two states solution แต่การดำเนินการลงนามให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงอิสราเอลของทรัมป์ ถือเป็นการทำลายแนวทางแก้ปัญหาที่โลกต่างมีฉันทามติร่วมกัน อีกทั้งดินแดนเวสต์แบงก์ที่มีเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ถือเป็นดินแดนภายใต้การยึดครองของอิสราเอล หรือ occupied territory ที่ตามมติของสหประชาชาติ อิสราเอลจะต้องคืนให้กับชาวปาเลสไตน์ เพราฉะนั้นการประกาศของทรัมป์ให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลจึงขัดต่อกฏหมายระหว่างประเทศ ไม่เป็นไปตามมติของสหประชาชาติ การที่ไทยโหวตสนับสนุนมติสหประชาชาติในครั้งนี้จึงถือได้ว่าเป็นการทำงานทางการทูตโดยยึดหลักการและคำนึงความถูกต้องเหมาะสม

3. ไทยได้แสดงให้โลกเห็นถึงความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เพราะก่อนหน้าที่จะมีการโหวตใน UNGA รอบนี้สิ่งที่ไม่เป็นปรกติคือคำขู่ของสหรัฐฯที่จะงดให้เงินสนับสนุนประเทศที่โหวตสวนทางกับสหรัฐฯ และอาจมีมาตรการกดดันอื่น ๆ ตามมา แต่ทั้ง ๆ ที่ไทยมีความใกล้ชิดกับสหรัฐ มีผลประโยชน์ร่วมกันมากมาย แต่ไทยก็แลกที่จะแสดงความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และแลกโหวตไปตามความถูกต้องโดยยึดในหลักการเป็นสำคัญ

4. คือการตัดสินใจโหวตสนับสนุนมติของสหประชาชาติครั้งนี้ของไทยถือเป็นการดำเนินการทางการทูตที่ชาญฉลาด เพราะอาจล่วงรู้อยู่แล้วว่าสมาชิกมากกว่า 2 ใน 3 จะโหวตสนับสนุน โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจใหญ่ ๆ ของโลก หรือแม้แต่พันธมิตรใกล้ชิดสหรัฐฯในยุโรป สหรัฐฯคงไม่สามารถทำตามคำข่มขู่ได้ง่าย ๆ เรื่องการตัดเงินช่วยเหลือว่ากันตามจริงแล้ว มันคงต้องขึ้นกับมติของสภาคองเกรส และอีกอย่างประเทศพันธมิตรที่พึ่งพาสหรัฐมากกว่าไทยอย่างอียิปต์ ซาอุฯ ประเทศในอ่าวเปอร์เซีย ฯลฯ ก็ยังลงมติสวนทางกับสหรัฐฯ