ธ.ออมสินจับมือไอแบงก์ ป้องกันฟอกเงิน ขณะที่ไอแบงก์เผย หลังกฎหมายผ่านสภา สนช.คลัง-แบงก์รัฐช่วยเติมทุน 18,100 ล้านบาท เดินเครื่องแผนฟื้นฟูกิจการปล่อยสินเชื่อใหม่หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมาได้มีพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้ความช่วยเหลือทางด้านการกำกับการปฏิบัติงาน การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ระหว่าง ธนาคารออมสิน กับ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมี นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และ นายวิทัย รัตนากร กรรมการและรักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ข้อตกลงฉบับนี้จัดทำขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือเพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างสถาบันการเงินรัฐ โดยธนาคารออมสินจะส่งเสริมและสนับสนุนธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาการดำเนินงานด้านการกำกับการปฏิบัติงาน การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้ตกลงร่วมกันในการกำหนดรายละเอียดและแนวทางปฏิบัติของการให้ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นบรรลุวัตถุประสงค์การทำบันทึกข้อตกลงต่อไป
“ความร่วมมือกันในครั้งนี้ จะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานด้านการสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงาน และมีการกำกับดูแลการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในสายตาของนานาชาติ” นายชาติชายกล่าว
ด้าน นายวิทัย รัตนากร กรรมการและรักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ กล่าวว่า ไอแบงก์ ตระหนักดีว่า ธนาคารออมสิน เป็นสถาบันการเงินของรัฐขนาดใหญ่ เป็นผู้นำด้านการกำกับการปฏิบัติงานที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในวันนี้ที่ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคาออมสิน โดยเป็นการให้ความช่วยเหลือทางด้านการพัฒนาการดำเนินงานในด้านการกำกับการปฏิบัติงาน ในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) และการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA)โดยในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย(AML/CFT)เป็นสิ่งที่ธนาคารมีความจำเป็น ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปรามปราบการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2556 รวมทั้งกฎกระทรวง ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง โดยธนาคารต้องมีหน่วยงานดูแล ควบคุม เพื่อให้การปฏิบัติงานต่างๆภายในธนาคารเป็นไปตามกฎเกณฑ์ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการประสานงานการให้คำปรึกษาแนะนำแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการปฏิบัติตามกฎหมายการฟอกเงินและด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับในเรื่องการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ(ITA)เป็นเครื่องมือที่ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)กำหนดขึ้นในการดำเนินการเกี่ยวกับการดำเนินงานที่มีคุณธรรมและความโปร่งใส การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามจรรยาบรรณ การบริหารงานอย่างมีจริยธรรม ตลอดจนการจ่ายหรือเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ และเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ได้รับทราบแนวทางในการปรับปรุง หรือพัฒนาในเรื่องคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจที่ต้องการ ส่งเสริมให้ธนาคาร มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินงาน การมีจิตสำนึกในสิทธิและหน้าที่ในการปฏิบัติงานของผู้บริหารและพนักงาน จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องผลักดันให้องค์กรเจริญก้าวหน้า เป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อ มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 เรื่องนั้น ล้วนมีความสำคัญต่อการดำเนินงานของธนาคารเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องร่วมการบูรณาการทำงานในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง
“ความร่วมมือในครั้งนี้ ระหว่าง ธนาคารออมสิน และไอแบงก์ เป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างสถาบันการเงินภาครัฐ เพื่อยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการให้บริการแก่พี่น้องประชาชน ยังประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง” นายวิทัย กล่าว
กรรมการและรักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) กล่าวถึงสถานการณ์ของธนาคารด้วยว่า หลังจากผลประกอบการเดือนมกราคมมีกำไรสุทธิเพิ่ม จึงเดินหน้าแผนฟื้นฟูและควบคุมความเสี่ยงได้มากขึ้น ขณะนี้ขั้นตอนแก้ไขกฎหมายไอแบงก์อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา สนช.วาระ 2 คาดว่าช่วงส้ินเดือนมีนาคมน่าจะแล้วเสร็จ เพื่อเปิดทางให้กระทรวงคลังถือหุ้นในแบงก์เกินร้อยละ 49 เป็นการชั่วคราว จากนั้น จะเพิ่มทุนได้ต้นเดือนเมษายน จำนวน 18,100 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณจากคลัง 2,000 ล้านบาท เงินจากกองทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 16,1000 ล้านบาท เมื่อเพิ่มทุนได้แล้วจะทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง BIS 8.5 เท่า ตามมาตรฐาน ธปท. จากนั้นจะเร่ิมดึงพันธมิตรเข้าร่วมทุนได้ ขณะนี้สรุปชัดเจนได้แล้ว 1 ราย อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสาร คาดว่าเดือนมีนาคมนี้จะสรุปพันธมิตใหม่ชัดเจน คาดว่าส้ินนี้่ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เดินหน้าปล่อยสินเชื่อออกสู่ระบบ