พลสไนเปอร์ของกองกำลังอิสราเอลได้สังหารอาสาพยาบาลปาเลสไตน์เมื่อวันศุกร์ ที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในขณะที่เธอพยายามช่วยผู้ประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บที่ชายแดนกาซา
การเสียชีวิตของ “ราซาน อัล-นัจจาร์” (Razan Al-Najar) ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์มีจำนวน 119 รายนับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคมที่การประท้วงประทุขึ้นในฉนวนกาซาซึ่งเป็นเพื้นที่ที่ถูกปิดล้อมมายาวนานโดยอิสราเอลและอียิปต์ จนกล่าวได้ว่าที่แห่งนี้คือ “คุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
ราซานซึ่งเป็นอาสาสมัครวัย 21 ปีถูกยิงขณะที่เธอวิ่งไปทางรั้วชายแดนทางตะวันออกของเมืองข่านยูนิส (Khan Younis) ทางใต้ของกาซาเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ
ในชุดเครื่องแบบสีขาวพร้อมสัญลักษณ์กาชาด “จันทร์เสี้ยวแดง” เธอยกมือขึ้นสูงเพื่อเคลียร์ทางระหว่างเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ แต่ทหารอิสราเอลก็ยังยิงเธอเข้าที่ทรวงอก พยานบอกกับรอยเตอร์
โฆษกทหารอิสราเอลไม่ได้แสดงความเห็นใดเกี่ยวกับการสังหารราซาน แต่ภายหลังได้กล่าวในข้อความที่เขียนว่า ไอดีเอฟ (IDF) จะ ‘ตรวจสอบ’ การเสียชีวิตของราซาน เจ้าหน้าที่ของอิสราเอลเคยกล่าวว่า พลซุ่มยิงมุ่งเป้าไปที่คนที่ทำให้เกิดภัยคุกคาม แต่กระสุนบางครั้งสามารถวิ่งผ่านพวกเขาหรือแฉลบไปถูกผู้อื่นได้
ที่บ้านของเธอในข่านยูนิส แม่ของราซานทรุดตัวลงด้วยความเศร้าโศกขณะที่เธอได้รับเสื้อผ้าของลูกสาวที่ชุ่มเลือด
คำแถลงจากกระทรวงสาธารณสุขกาซาได้ไว้ทุกข์ให้ราซานว่าเป็น “ผู้พลีชีพ” (ชะฮีด) รอยเตอร์เคยสัมภาษณ์เธอในเดือนเมษายนก่อนหน้าที่ถูกยิง เธอบอกว่า เธอจะอยู่ช่วยพยาบาลที่ชายแดนจนกว่าการประท้วงจะยุติ
“ฉันกำลังกลับมา และจะไม่ถอยหลัง” เธอโพสต์ในเฟสบุคสุดท้าย และกล่าวเพิ่มว่า: “ยิงฉันด้วยกระสุนของคุณสิ ฉันไม่กลัว”
ผู้คนหลายพันคนเข้าร่วมงานศพราซานในฉนวนกาซาเมื่อวันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน ซึ่งรวมถึงบุคคลที่เธอเคยให้การปฐมพยาบาลตอนที่พวกเขาได้รับบาดเจ็บในการประท้วงบริเวณชายแดนก่อนหน้านี้ ร่างของเธอถูกคลุมด้วยธงชาติปาเลสไตน์และวางบนเปลแห่ไปตามถนนโดยผู้ร่วมไว้อาลัย
“ด้วยวิญญาณและเลือดของเรา เราจะสืบสานเจตนารมณ์ของคุณ โอ้ชะฮีด (ผู้พลีชีพ) ราซาน” เสียงตะโกนและร้องไห้ขณะที่ศพถูกนำตัวไปที่บ้านของเธอเพื่ออำลาก่อนจะนำไปฝัง
เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของกาซากล่าวว่า ชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 100 คนได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงในวันศุกร์นี้ (1 มิ.ย.)
ในแถลงการณ์ของทหารอิสราเอลกล่าวว่า กองทัพของตนได้ดำเนินการเพื่อสลาย “ผู้ก่อการจลาจลหลายพันคน” ในห้าพื้นที่
“รถของ IDF (กองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล) ถูกยิง และผู้ต้องสงสัยถูกระบุว่าข้ามรั้วรักษาความปลอดภัยในทางเหนือของฉนวนกาซา และฝังระเบิดซึ่งก็ระเบิดขึ้นขณะที่เขากลับไปที่ฝังกาซา”
ไม่มีชาวอิสราเอลเสียชีวิตในระหว่างการเผชิญหน้าที่ชายแดน แต่อิสราเอลได้รายงานความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เพาะปลูกจากว่าวบรรจุนำ้มันที่ปล่อยมาจากฉนวนกาซา
ชาวปาเลสไตน์ได้เรียกร้องสิทธิในการกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของตนที่ถูกอิสราเอลยึดครองนับตั้งแต่มีการก่อตั้งรัฐยิวทับพื้นที่ของปาเลสไตน์ในปี 1948 อิสราเอลเรียกการประท้วงนี้ว่า เป็นวิธีที่จะฝ่าฝืนแนวชายแดนและหันเหความสนใจของฮามาสจากจากการปกครองที่กำลังประสบปัญหา
หลังจากยึดครองฉนวนกาซาในปี 1967 อิสราเอลได้ถอนตัวออกจากสถานที่แห่งนี้ในปี 2005 แต่หลังจากที่ฮามาสชนะเลือกตั้งในปี 2006 อิสราเอลได้กำหนดมาตรการให้มีการปิดล้อมดินแดนแห่งนี้อย่างผิดกฎหมายและไร้มนุษยธรรม ซึ่งยังคงดำเนินต่อไปจนถึงทุกวันนี้
หากแต่เสมือนแค่นั้นยังไม่เพียงพอ
อิสราเอลยังได้รุกรานฉนวนกาซาอย่างเลือดเย็นอีกถึง 3 ครั้ง ในปี 2008-2009, 2012 และ 2014 ซึ่งทำให้ประชาชนนับพันเสียชีวิต และสร้างความเสียหายอย่างประเมินมิได้ต่อโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจของกาซา
การปิดล้อมและการโจมตีได้ทิ้งพื้นที่นี้ไว้ท่ามกลางซากปรักหักพัง ทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่ง รายงานของสหประชาชาติระบุว่า กาซาจะเป็นสถานที่ไม่เอื้ออำนวยให้อยู่อาศัยภายในปี 2020
ในทุกปี ของวันที่ 30 มีนาคม ชาวปาเลสไตน์จะจัดชุมนุมประท้วงใหญ่ในนาม ”การเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่เพื่อหวนคืนมาตุภูมิ” หรือ Great March of Return เพื่อทวงคืนดินแดนที่ยิวไซออนิสต์เข้าไปยึดครองดินแดนทั้งในฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ รวมทั้งเรียกร้องสิทธิในการหวนกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน
ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ชาวปาเลสไตน์นับหมื่นมุ่งสู่ชายแดนที่อิสราเอลได้สร้างรั้วกีดขวางเพื่อไม่ให้พวกเขาได้ออกไป โดยในปีนี้นับว่ารุนแรงกว่าครั้งก่อนๆ เนื่องจากสหรัฐได้ประกาศให้นครเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล
นายกรัฐมนตรีเบนยามิน เนาทันนยาาฮู ของอิสราเอล พูดกับฝูงชนที่ยืนอยู่หน้าสถานทูตสหรัฐฯ ที่เพิ่งเปิดใหม่ในกรุงเยรูซาเล็ม ว่านี่เป็น “วันอันรุ่งโรจน์!” และ “จงจดจำช่วงเวลานี้ไว้!”
นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา หนึ่งวันก่อนครบรอบ 70 ปี “วันนักบา” หรือวันแห่งหายนะของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งกองกำลังไซออนิสต์ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวปาเลไลสไตน์เพื่อเปิดทางไปสู่การสร้าง “รัฐยิว”
ในช่วงปี 1947-1949 ชาวปาเลสไตน์ 750,000 คน ถูกขับออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน และรัฐอิสราเอลก็กำเนิดมาแทนที่
หนึ่งในเหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดของนักบา คือการสังหารหมู่ซึ่งกองกำลังไซออนิสต์ได้เข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 107 คนในหมู่บ้านเดียร์ยัสซิน
และในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเนทันยาฮู ห่างออกไปไม่ถึง 100 กิโลเมตรจากแท่นโพเดียมที่เขายืนอยู่ ทหารไซออนิสต์ก็กำลังหมุนกงล้อประวัติศาสตร์ ภายในวันเดียวนั้นพวกเขาเข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์เป็นจำนวน 58 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 27,00 คนบริเวณชายแดนฉนวนกาซ่า
และการประท้วงนี้ไม่ใช่แค่เกี่ยวกับสิทธิในการกลับสู่มาตุภูมิ แต่ยังเป็นประท้วงต่อต้านสภาพความเป็นอยู่ที่น่าสยดสยองของชาวกาซาส่วนใหญ่
อาวุธเดียวที่ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ใช้คือ ระเบิดขวดน้ำมันเบนซิน หนังสติ๊ก และว่าว สิ่งเหล่านี้เทียบไม่ได้กับคลังสรรพาวุธของกองทัพอิสราเอล
กองกำลังอิสราเอลได้รับอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงกับผู้ประท้วงที่เข้าใกล้รั้วเขตแดนในระยะ 300 เมตรหากผู้ประท้วงมีอาวุธ และ 100 เมตรหากไม่มีอาวุธ
คำสั่งนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะสถานการ์ปัจจุบันเท่านั้น แต่ในทุกสถานการณ์ ก่อนหน้านี้ทหารอิสราเอลได้ยิงชาวนาและชาวบ้านอิสราเอลที่เข้าใกล้รั้วมากเกินไป
นับตั้งแต่มีการชุมนุม Great March of Return ในปีนี้ มีชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารไปแล้ว 119 คนเป็นอย่างน้อย มีคนถูกยิงด้วยกระสุนปืน 3,400 คน ผู้ได้รับบาดเจ็บโดยรวมอยู่ที่ 13,000 คนเป็นอย่างน้อย