ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (50)

คณะรัฐประหารนำโดย พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ เรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์) ผู้บัญชาการทหารบก(พล.อ.สุจินดา คราประยูร) รองผู้บัญชาการทหารบก (พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล)  ผู้บัญชาการทหารเรือ (พล.ร.อ. ประพัฒน์ กฤษณจัทร์) และ อธิบดีกรมตำรวจ (พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ )

เมื่อทำการรัฐประหารสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ตามธรรมเนียมก็ต้องตั้งข้อกล่าวหารัฐบาล เพื่อเป็นเหตุที่จะอ้างการยึดอำนาจได้ด้วยความชอบธรรมและประชาชนเห็นด้วย เหตุผลการยึดอำนาจครั้งนี้ มี

1. พฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง รัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นรัฐบาลบุฟเฟ่ต์คาบิเนต ร่ำรวยผิดปกติ

2. ข้าราชการการเมือง ใช้อำนาจกดขี่ข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต

3. รัฐบาลเป็นเผด็จการรัฐสภา

4. การทำลายสถาบันทางทหาร

5. การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

ห้าเหตุผลเป็นข้อหาที่ฉกาจฉกรรจ์ยิ่งนัก แต่ผลสุดท้ายแล้วคณะรสช. ก็ไม่สามารถหามูลแห่งความผิดมาดำเนินคดีกับรัฐบาล พล.อ.ชาติชายฯ ได้ แม้แต่คดีร่ำรวยผิดปกติศาลก็พิพากษายกฟ้อง 

ภายหลังจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ สำเร็จ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2534 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 และมีคณะบุคคลได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและออกกฎหมายต่างๆ เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในปี พ.ศ. 2535 ในขณะเดียวกันหลังจากนั้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2534 นายเสนีย์ มะดากะกุล  อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส ที่เพิ่งเข้าร่วมกับกลุ่มวะห์ดะห์ได้ถึงแก่อายั้ล (กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ ซ.บ.) ด้วยโรคหัวใจวายอย่างเฉียบพลัน หลังจากเกิดอาการวูบเป็นลมเข้าไปพักรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่ถึงเจ็ดวัน ขณะมีอายุ 56 ปี ศพได้นำกลับสู่บ้านเกิดที่หมู่บ้านกำปงนากอ ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของบรรดามิตรสหายและประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รักใคร่นิยมชมชอบในตัวท่าน เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่สังคมบ้านเราได้สูญเสียนักการเมืองที่มีคุณภาพคนหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้    

นายเสนีย์ มะดากะกุล หรือชื่อที่เรียกขานทั่วไปในหมู่มุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า อาจารย์สะรอนิง เกิด 9 มีนาคม 2478 ถึงแก่กรรมในเดือน พฤศจิกายน 2534 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยการาจี ประเทศปากีสถาน กลับมาเมืองไทยเข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี เริ่มมีบทบาททางสังคมเมื่อเกิดเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ที่ปัตตานี กรณีทหารฆ่า 4 ศพที่สะพานกอตอ มีบทบาทเป็นแกนนำสายข้าราชการมุสลิมประกาศจุดยืนสนับสนุนการประท้วงของมวลชนภายใต้การนำของศูนย์พิทักษ์ประชาชน โดยร่วมกันกับข้าราชการมุสลิมจำนวนหนึ่งหยุดปฏิบัติราชการ จนกว่านายกรัฐมนตรี (ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) จะลงไปปัตตานีพบกับแกนนำศูนย์พิทักษ์ประชาชน จากการเป็นผู้มีบทบาทเป็นตัวตั้งตัวตีคนสำคัญของสายข้าราชการดังกล่าว ทำให้ตกเป็นเป้าสายตาของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย เมื่อการประท้วงยุติลง นายเสนีย์ถูกสั่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ส่วนกลาง ประจำที่ทบวงมหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2522 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช สั่งให้ ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ ไปเชิญชวน นายเสนีย์ฯ ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดนราธิวาส สังกัดพรรคกิจสังคม พร้อมๆ กับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ลงสมัครที่จังหวัดยะลา

นายเสนีย์ มะดากะกุล ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ.2522 ครั้งที่สองปี พ.ศ. 2526 ครั้งที่สามปี พ.ศ. 2529 และครั้งที่สี่ปี พ.ศ. 2531 รวมจำนวนติดต่อกันสี่สมัย ก่อนที่ นายเสนีย์จะเข้าร่วมกับกลุ่มวะห์ดะห์เมื่อปี พ.ศ. 2531 นายเสนีย์จัดได้ว่าเป็น      คู่แข่งที่สำคัญและน่ากลัวของกลุ่มวะห์ดะห์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะนายเสนีย์มีความรู้ทั้งด้านศาสนา ประวัติศาสตร์ และ การเมือง เป็นอย่างดี

ศิลปะการปราศรัยหาเสียงบนเวทีเป็นนักการเมืองที่มีฝีปากการปราศรัยที่เฉียบคมหาตัวจับยาก ชาวบ้านได้ฟังเคลิบเคลิ้มเกิดอารมณ์ร่วมฮึกเหิมมีชีวิตชีวาและคล้อยตาม แต่เมื่อเป็นการเลือกตั้งแบบพวงใหญ่เรียงเบอร์ ชาวบ้านเลือกทั้ง ส.ส. ในกลุ่มวะห์ดะห์และนายเสนีย์ฯ ไปด้วยกัน พอหลังจากเลือกตั้งปี พ.ศ. 2531 ผ่านไปไม่กี่เดือน มีการรวมพรรคสี่พรรคเป็นพรรคเอกภาพ ทำให้ความหวังของชาวบ้านที่จะให้เกิดเอกภาพในกลุ่ม ส.ส. จังหวัดชายแดนภาคใต้บังเกิดขึ้นมาได้ ตั้งแต่นั้นมากลุ่มวะห์ดะห์ก็เจริญรุ่งเรืองตามลำดับ                                                            เมื่อสภานิติบัญญัติได้ลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 แล้ว รัฐบาลได้กำหนดให้มีการเลือกต้ังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 22 มีนาคม 2535 ถือเป็นธรรมเนียมของคณะรัฐประหารในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่จะต้องมีพรรคการเมืองชุดหนึ่งที่จะต้องเป็นฐานสำคัญที่จะรองรับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ดังนั้น จึงเกิดพรรคการเมืองใหม่ขึ้นหนึ่งพรรค คือ พรรคสามัคคีธรรม ที่รวบรวมจากนักการเมืองอื่นๆ มาเข้าเป็นสาชิกพรรค เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งที่โอกาสจะมาถึงในอนาคตข้างหน้า ในการนี้ นายณรงค์ วงศ์วรรณ นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเอกภาพ เลขาธิการพรรคเอกภาพ และสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่ง ถือโอกาสลาออกจากพรรคเอกภาพ เข้ามาร่วมกับพรรคสามัคคีธรรม โดยนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค 

สำหรับกลุ่มวะห์ดะห์ เมื่อพรรคเอกภาพเกิดการแตกแยกบางส่วนไปร่วมกับพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. อย่างชัดเจน ยังคงเหลือบุคคลสำคัญบางคนที่ยังอยู่กับพรรคเอกภาพ เช่น นายบุญชู โรจนเสถียร นายอุทัย พิมพ์ใจชน และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนน้อย ประกอบกับขณะนั้นพรรคความหวังใหม่ ที่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2533 โดยมี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรค นายพิศาล มูลศาสตร์สาทร เลขาธิการพรรค มีความสนใจอดีต ส.ส. กลุ่มวะห์ดะห์ ได้ส่งคนมาทาบทามเชิญชวนเข้าพรรค ตั้งแต่ยังไม่มีการทำรัฐประหารด้วยซ้ำ แต่กลุ่มวะห์ดะห์ยังสงวนท่าที เพราะยังไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จะกระทำได้ แต่ในความรู้สึกความชื่นชอบ พล.อ. ชวลิตฯนั้น อยู่ในใจลึกๆ ของสมาชิกกลุ่มวะห์ดะห์อยู่แล้ว 

แต่หลังจากการทำรัฐประหาร อดีต ส.ส. กลุ่มวะห์ดะห์ได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการของพรรคการเมืองหลายพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลสำคัญในคณะ รสช. ที่มีสถานที่ทำการอยู่แถวดอนเมือง ได้เชิญนายเด่น โต๊ะมีนา และ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่มวะห์ดะห์ไปพบกันที่ทำการของตนแถวย่านดอนเมือง ได้มีการเจรจาหว่านล้อมให้สมาชิกในกลุ่มวะห์ดะห์เข้ามาอยู่ในสังกัดพรรคสามัคคีธรรม แต่ทั้งสองท่านยังไม่ให้คำตอบ เพราะจะต้องปรึกษาหารือให้ครบทั้งสามจังหวัด(ขณะนั้นนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนายปริญญา เจตาภิวัฒน์ ไม่ได้ไปพบด้วย) หลังจากพูดคุยเจรจากันพอสมควรแล้ว นายเด่นฯและนายวันมูหะมัดนอร์ฯขอตัวกลับ แต่ก่อนที่จะขึ้นรถ ได้มีทหารคนนสนิทของเจ้าของที่ทำการได้ขอให้นายเด่นเปิดท้ายรถ เมื่อเปิดท้ายรถแล้วทหารผู้นั้นได้เอาถุงกระสอบแป้งที่มีสิ่งของบรรจุอยู่ข้างในและตัวเองหิ้วอยู่หย่อนใส่ลงท้ายรถนายเด่นฯและปิดประตูท้ายรถลงอย่างหน้าตาเฉย เมื่อออกจากที่ทำการของบุคคลสำคัญคณะ รสช.แล้ว นายเด่นฯและนายวันมูหะมัดนอร์ฯได้กลับไปยังบ้านนายเด่นฯที่ถนนประชาชื่น และในเย็นวันเดียวกันได้นัดนายอารีเพ็ญฯไปหารือกันที่บ้านนายเด่น และเย็นวันนั้นได้มีการหารือกันอย่างละเอียดรอบคอบ ในที่สุดสรุปว่า กลุ่มวะห์ดะห์ไม่อาจอยู่ในสังกัดพรรคสามัคคีธรรมได้ เพราะเมื่อได้ชั่งน้ำหนักระหว่างพรรคความหวังใหม่กับพรรคสามัคคีธรรมแล้ว กลุ่มวะห์ดะห์เห็นว่า ทั้งตัวบุคคลหัวหน้าพรรคความหวังใหม่และนโยบายพรรคต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรงกับอุดมการณ์และนโยบายของกลุ่มวะห์ดะห์ มากที่สุด โดยเฉพาะคำว่า “ฮารัปปันบารู” ภาษามลายูตามความหมายภาษาไทยว่า “ความหวังใหม่” นั้นคุ้นหูและเป็นที่จดจำอยู่ในใจของชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด เพราะตั้งแต่ พล.อ. ชวลิตฯดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้กำหนดนโยบายและนำโครงการฮารัปปันบารูลงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดขณะที่อยู่ในตำแหน่ง สร้างความพึงพอใจและประทับใจแก่ประชาชนอย่างมาก เมื่อ พล.อ. ชวลิตฯลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกโดยยังไม่เกษียณอายุราชการ เพื่อมาทำงานทางการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างมีสปิริตหัวใจเป็นนักประชาธิปไตยเต็มร้อย ย่อมเป็นที่คาดหวังของประชาชนชาวไทยที่รักประชาธิปไตยทั้งปวง ดังนั้นอดีต ส.ส. กลุ่มวะห์ดะห์ จึงสรุปขอเลือกพรรคความหวังใหม่ เป็นมุ้งใหญ่ของกลุ่ม และนำถุงแป้งที่บรรจุธนบัตรใบละพันสามสี่มัด (น่าจะมัดละหนึ่งล้าน) คืนแก่ผู้มอบให้อย่างไม่เสียดาย ทั้งๆ ที่ในวงการการเมืองไทยแล้วเงินจำนวนนี้เป็นเงินซื้อใจโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไรเลย

กลุ่มวะห์ดะห์ จึงได้คัดตัวบุคคลที่เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้สมัครหน้าใหม่ เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคความหวังใหม่ เพื่อเตรียมการลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 22 มีนาคม 2535 ได้แก่ (ต่อฉบับหน้า)