ณ ท้องสนามหลวงอันเป็นสนามที่ใช้จัดงานพระราชพิธีและงานพิธีการต่างๆ ของราชการ เคยเป็นตลาดนัดประจำสัปดาห์วันเสาร์และอาทิตย์ที่จำหน่ายสินค้าต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและยังเป็นสนามตั้งเวทีประชันฝีปากของบรรดานักการเมืองมาอย่างยาวนาน นับแต่ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย สถานที่แห่งนี้ยังเป็นที่สังเวยชีวิตนักศึกษา นักเรียน และประชาชนที่รักประชาธิปไตยที่ต่อสู้กับเผด็จการมาแล้วหลายยุคหลายสมัย คราใดที่มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลเผด็จการ ณ สนามแห่งนี้ จะมีผู้คนจากหลายสารทิศมาร่วมแรงร่วมใจชุมนุมกันอย่างเหนียวแน่นนับเรือนแสนๆ คน
เฉกเช่นเดียวกัน การชุมนุมประท้วง พล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ผู้มีวลีเด็ดประจำตัวว่า ” เสียสัตย์เพื่อชาติ” จนสถานการณ์บานปลายไปสู่การสลายตัวผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงของเจ้าหน้าที่ทหารในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 มีผลทำให้ผู้ชุมนุมประท้วงเสียชีวิตหลายสิบคนบาดเจ็บนับร้อย อาคารสถานที่ราชการถูกเผาเสียหายหลายหลัง สถานการณ์นี้ถูกเรียกขานจากสื่อว่า “พฤษภาทมิฬ “
การชุมนุมประท้วงรัฐบาลเผด็จการของประชาชนชาวไทย ไม่ว่ายุคใดสมัยใดมักลงเอยด้วยการมีคนกลางมาเป็นกาวใจให้ทั้งสองฝ่ายยุติลงด้วยดีเสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อการประท้วงของประชาชนถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้ออาคารสถานที่ราชการเสียหายถูกวางเพลิงโดยมือที่สามหลายแห่ง ทันใดนั้น พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรี ได้ติดต่อประสานงานกับ พล.อ. สุจินดาฯ และ พล.ต. จำลองฯ ให้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังจิตรลดารโหฐาน หลังจากเข้าเฝ้าแล้ว พล.อ. สุจินดาฯได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.ต. จำลองฯ และกลุ่มชุมนุมประท้วงต่างๆ ก็ยุติการชุมนุมประท้วงในบัดดล สถานการณ์การเมืองได้คลี่คลายไปในทางสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง และเป็นที่คาดหมายของบรรดานักการเมือง นักวิชาการ และประชาชนทั้งหลายว่า ต่อไปนี้ใครจะได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคน ต่อไป
ตามธรรมเนียมปฏิบัติโดยทั่วไปตามระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯถวาย นั่นได้แก่บุคคลที่พรรคร่วมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือก ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายเสียงข้างมากนำโดยพรรคสามัคคีธรรมได้ลงมติเลือกให้ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทยเป็นนายกรัฐมนตรี และเสนอชื่อไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการต่อไป แต่เมื่อมีประกาศชื่อบุคคลที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว กลับกลายเป็น นายอานันนท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้ พล.อ.อ. สมบุญฯ รอคอยเก้ออย่างเสียรังวัด ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมถูกต่อว่าต่อขานจากบรรดา ส.ส. พรรคร่วมเสียงข้างมากอย่างแรง อย่างไรก็ตาม ดร.อาทิตย์ฯกลับได้รับการยกย่องชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสรรเสริญจากประชาชนทั่วไปอย่างขนานใหญ่
เมื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบขัดตาทัพชั่วคราวเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2535 จึงได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีชั่วคราวประกอบด้วยรัฐมนตรีส่วนใหญ่เคยเป็นรัฐมนตรีในชุดสมัย นายอานันท์ฯเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก และจะได้จัดการให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วและได้แก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น นายกรัฐมนตรีมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา จนสำเร็จอย่างรวดเร็ว จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปในวันที่ 13 กันยายน 2535
เมื่อประกาศกำหนดวันเลือกตั้งเป็นการแน่นอนแล้ว บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ได้กำหนดตัวบุคคลลงรับสมัคร ส.ส.ในเขตพื้นที่ต่างๆ อย่างรีบเร่ง สำหรับผู้ท่ีเป็น ส.ส. มาแล้วในช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อครั้งเลือกตั้งวันที่ 5 มีนาคม 2535 พรรคจึงเสนอตัวให้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง เช่น พรรคความหวังใหม่ในเขตเลือกตั้งจังหวัดทางภาคใต้ได้เสนอตัวอดีต ส.ส. ทั้งหมดและผู้สมัครเดิมที่ไม่ได้รับเลือกตั้งลงสมัครอีกครั้งหนึ่ง เช่น จังหวัดนราธิวาส เขต 1 นายพิศุทธิ์ หะยีดิน
การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคความหวังใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเน้นการปราศรัยบนเวทีใหญ่ๆ ระดับจังหวัดเป็นหลัก บุคคลสำคัญของพรรคอย่างหัวหน้าพรรค พล. อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางทั่วทั้งสี่ภาคแบบมาราธอน คือ ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ สำหรับทางภาคใต้กระแสนิยมพรรคประชาธิปัตย์เริ่มแผ่กระจายไปทั่วทั้งภาค ทั้งนี้เพราะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายชวน หลีกภัย เป็นชาวใต้ จังหวัดตรัง กระแสอยากได้คนใต้เป็นนายกรัฐมนตรีดังกระหึ่มไปทั่ว รูปภาพใบปลิวหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์มีรูป นายชวน หลีกภัย อยู่เต็มหราสะดุดตาผู้คนทั่วไป ตามถนนสายหลักได้มีการติดตั้งรูปนายชวนฯ พร้อมกับมีดอกไม้ธูปเทียนบูชาตั้งอยู่ใกล้ๆ ดูแล้วช่างพิศวงยิ่งนัก แต่สำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส และ ยะลา อิทธิพลบารมีของนายชวนฯ ยังไม่น่าเป็นห่วงนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเป้าหมายมุสลิม แต่ในหมู่บ้านไทยพุทธปรากฎการณ์ของกระแสนิยมนายชวนฯ ให้เลือกผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ต่างไปจากพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ตอนกลาง ตอนบน และเขตอันดามัน วลีเด็ดที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์เอาเสาไฟฟ้าลงสมัครคนใต้ก็เลือกเริ่มมีมาตั้งแต่บัดนั้น
ผลการเลือกตั้งทางภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์ชนะอย่างถล่มทลาย ยกเว้นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัด ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส พรรคความหวังใหม่ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. 6 ที่นั่ง จาก 9 ที่นั่ง ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ชนะยกทีม 3 ที่นั่ง นายเด่น โต๊ะมีนา นายสุดิน ภูยุทธานนท์ และ นายมุข สุไลมาน จังหวัดยะลา ชนะยกทีม 2 มี่นั่ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และ นายไพศาล ยิ่งสมาน จังหวัดนราธิวาส ได้ที่นั่งเดียว นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อีก 3 ที่นั่งเป็น ส.ส. หน้าใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ แพทย์หญิงพรพิชญ์ พัฒนกุลเลิศ เขต 1 นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ และ นายรำรี มามะ เขต 2
ผลการเลือกตั้งทั่วไปทั้งประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมาก ได้เป็นแกนนำรวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ มีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติไทย พลังธรรม ลงมติเสนอชื่อ นายชวน หลีกภัย ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายมารุต บุนนาค)เพื่อนำชื่อ นายชวนฯขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2535 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของประเทศไทย
พรรคร่วมรัฐบาลภายใต้แกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการหารือจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีตามสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วม พรรคความหวังใหม่ได้โควต้าตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆหลายตำแหน่ง เช่น รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ฯ ในที่ประชุม ส.ส. พรรคความหวังใหม่เพื่อพิจารณาคนที่จะทำหน้าที่ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรในโควต้าของพรรค ในที่ประชุมได้เสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพียงผู้เดียวปราศจากคู่แข่ง ในที่ประชุมปรบมือแสดงความยินดีต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ด้วยเสียงดังสนั่นกึกก้องห้องประชุม นายวันมูหะมัดนอร์ฯ แสดงขอบคุณในที่ประชุมที่มอบความไว้วางใจให้ท่านรับตำแหน่งรองผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติและให้คำสัญญาว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรมซื่อสัตย์สุจริตเพื่อรักษาชื่อเสียงของพรรคให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป ในส่วนของ ส.ส. กลุ่มวะห์ดะห์ มีความรู้สึกดีใจอย่างมากที่ทางกลุ่มได้รับเกียรติตำแหน่งที่สำคัญทางการเมืองอีกหนึ่งตำแหน่ง อย่างไม่คาดคิดมาก่อน ลำพังตำแหน่งฝ่ายบริหารตำแหน่งเดียวตามสัดส่วนของ ส.ส. จำนวน 6 คน ในกลุ่มก็รู้สึกดีใจไม่น้อยแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบเลยว่า จะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงใด
ระหว่างที่พรรคความหวังใหม่ยังไม่ได้เสนอรายชื่อบุคคลที่พรรคจะเสนอแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯนั้น มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันต่างๆ นานาในแวดวงการเมืองและสื่อบางฉบับกล่าวถึง นายเด่น โต๊ะมีนา ส.ส. ปันตานี หัวหน้ากลุ่มวะห์ดะห์ว่า นายเด่นฯคงไม่มีโอกาสจะได้เป็นรัฐมนตรีตามที่วงการเมืองและประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้คาดหวังนัก ทั้งนี้แหล่งข่าวลืออ้างว่า เพราะนายเด่นฯ เป็นลูกชายหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีข้อหาฐาน กบฎแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับตำแหน่งฝ่ายบริหารระดับเสนาบดี เกรงว่า หากอยู่ในตำแหน่งนี้แล้วจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ความลับสำคัญๆ ของรัฐบาลไทย จะแพร่งพรายไปสู่ฝ่ายที่มีความคิดต่างกับรัฐไทยที่มักก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนพาคใต้มานับสิบๆ ปีมาแล้วในอดีต
ท่ามกลางเสียงโจษจันในทางลับเรื่องการจัดตำแหน่งรัฐมนตรีภายในพรรคความหวังใหม่ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส. จังหวัดนราธิวาส และ นายมุข สุไลมาน ส.ส. จังหวัดปัตตานี กลุ่มวะห์ดะห์ ได้หารือกันว่า จะทำอย่างไรที่จะให้มีความชัดเจนและมั่นใจในในตำแหน่งรัฐมนตรีที่เป็นโควต้าของกลุ่ม เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองแล้ว หากกลุ่มได้จำนวน ส.ส.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 5 ที่นั่ง จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งที่นั่ง แต่ในครั้งนี้กลุ่มวะห์ดะห์ได้จำนวน ส.ส. 6 ที่นั่ง แม้ทางกลุ่มได้ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังไม่ถือว่าเป็นโควต้าทางฝ่ายบริหาร เป็นตำแหน่งที่พรรคให้กับผู้ที่มีความเหมาะสมมากกว่า
ดังนั้น นายอารีเพ็ญฯและนายมุขฯตัดสินใจจะเข้าพบ พล.อ. ชวลิตฯหัวหน้าพรรค ณ ที่ทำการพรรค เพื่อยื่นหนังสือที่อ้างว่าเป็นมติของกลุ่มวะห์ดะห์เกี่ยวกับตำแหน่งรัฐมนตรี
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์