นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ กับ นายมุข สุไลมาน ได้ทำหนังสือนำไปพบ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ณ ที่ทำการพรรค ยื่นหนังสือต่อ พล.อ. ชวลิตฯ ขณะนั่งรับประทานอาหาร ในหนังสือมีใจความย่อๆ ว่า กลุ่มวะห์ดะห์ปรึกษาหารือแล้วมีมติให้ นายเด่น โต๊ะมีนา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อต้องการแก้ปัญหาเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ. ชวลิตฯ เปิดอ่านแล้ว เงยหน้ามองดู นายอารีเพ็ญฯ และนายมุขฯ พร้อมๆกับพูดขึ้นมาว่า “เอาอย่างนี้เหรอ” นายมุขฯ ตอบว่า ครับ !
เมื่อยื่นหนังสือให้กับ พล.อ. ชวลิตฯ แล้ว นายอารีเพ็ญฯ และนายมุขฯ ไม่ค่อยแน่ใจเท่าใดนักว่า พล.อ. ชวลิตฯ จะเห็นชอบด้วยหรือไม่ แต่ก็ยังมีความหวังอยู่ว่า แม้ไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อย่างน้อยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งคงจะอยู่ในหัวใจของท่านหัวหน้าพรรคอยู่แล้ว
และแล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2535 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดที่ 50 รัฐบาลชวน 1 ปรากฎชื่อ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเด่น โต๊ะมีนา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) ท่ามกลางความปลื้มปิติยินดีอย่างยิ่งของบรรดาชาวประชาจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ แต่เป็นที่ตกตะลึงจังงังของบรรดาคอการเมืองไทยและชนส่วนน้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปรากฎมีชื่อ นายเด่นฯ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยกับเขาด้วย ทั้งๆ ที่คนบางกลุ่ม สบประมาทว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ที่ลูกชายกบฎแบ่งแยกดินแดนจะมีบุญวาสนาได้เป็นเสนาบดีของประเทศไทย
บทบาทและเส้นทางการเมืองที่จรัสแสงของกลุ่มวะห์ดะห์ เริ่มทอแสงประกายให้เห็นเด่นชัดขึ้นทุกขณะในยุคที่สังกัดพรรคความหวังใหม่ที่มี พล.อ. ชวลิตฯ เป็นหัวหน้าพรรค การมอบหมายตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อันเป็นตำแหน่งรองผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติและหมายเลขสองของเสนาบดีฝ่ายบริหารการปกครองภายในประเทศพร้อมๆ กันแก่นักการเมืองกลุ่มวะห์ดะห์ นับเป็นเกียรติอันใหญ่หลวงสำหรับชาวมุสลิมในประเทศไทย อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน นับตั้งแต่ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเป็นเกียรติประวัติสำหรับกลุ่มวะห์ดะห์ที่ได้ร่วมก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 จนถึง พ.ศ. 2535 ช่วงเวลาเพียง 7 ปี
นายเด่น โต๊ะมีนา มท. 2 ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล กรมที่ดิน กรมประชาสงเคราะห์ การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และ การเคหะแห่งชาติ ส่วนการจัดสรรตำแหน่งภายใน ส.ส. กลุ่มวะห์ดะห์ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายปริญญา เจตาภิวัฒน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสุดิน ภูยุทธานนท์ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล
นายเด่น โต๊ะมีนา มท. 2 ได้ให้คำมั่นสัญญาภายใน ส.ส. กลุ่มวะห์ดะห์ ว่า จะขออยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเพียง 2 ปี เท่านั้น แล้วจะเปลี่ยนให้สมาชิกในกลุ่มเข้ามารับช่วงต่อ อันเป็นการให้สัญญาสุภาพบุรุษไม่ได้มีการทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด และสมาชิกในกลุ่มไม่ได้ติดอกติดใจเรื่องการให้คำมั่นสัญญานี้เท่าใดนัก เพราะเป็นเรื่องอนาคต ไม่มีใครคาดเดาเหตุการณ์ทางการเมืองในภายภาคหน้าได้ และเป็นการแสดงความมีน้ำใจอันบริสุทธิ์ของท่านฝ่ายเดียว
ในช่วงเวลาที่ ส.ส. สมาชิกกลุ่มวะห์ดะห์ทำหน้าที่ทั้งทางฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอยู่นั้น ได้สร้างชื่อเสียงและความเชื่อถือในการทำหน้าที่ได้ดีมาก ท่านวันมูหะมัดนอร์ฯ ได้ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ส.ส. อย่างมีประสิทธิภาพ เรียบร้อย รวดเร็ว ยุติธรรม เสมอภาคระหว่าง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่านค้าน จนได้รับความเชื่อถือและให้เกียรติจากพรรคการเมืองต่างๆ ในสภาทุกครั้งที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม สำหรับท่านเด่นฯ ในฐานะกำกับดูแลงานที่ได้รับมอบหมาย ก็ได้มีการมอบนโยบายและติดตามงานในส่วนที่รับผิดชอบทั้งตรวจเยี่ยมในหน่วยงานและออกไปตรวจงานตามท้องที่จังหวัดต่างๆ หลายจังหวัด อย่างขยันขันแข็ง
การเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนตามจังหวัดต่างๆ สร้างความปลื้มปิติยินดีและประทับใจให้กับพี่น้องมุสลิมในจังหวัดนั้นๆ เป็นอย่างมาก เพราะทุกครั้งที่จะไปเยี่ยมที่จังหวัดใด ทางผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องแจ้งไปยังจังหวัดนั้นให้ประสานงานกับองค์กรหรือผู้นำชุมชนมุสลิมในจังหวัดนั้นเตรียมอาหารที่ฮาลาลทุกมื้อ มีผลทำให้พี่น้องมุสลิมในจังหวัดดังกล่าวใกล้ชิดสนิทสนมกับรัฐมนตรีและส.ส. กลุ่มวะห์ดะห์มากขึ้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ข้าราชการในจังหวัดยังรู้จักสนิทสนมเอาใจใส่ดูแลชุมชนมุสลิม อีกด้วย
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยที่คนไทยมุสลิมชาติพันธ์ุมลายู นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้รับตำแหน่งรองผู้นำฝ่ายนิติบัญัติ และได้จัดสถานที่ห้องละหมาดในอาคารรัฐสภาชั้นสองให้กับสมาชิกรัฐสภาและข้าราชการที่นับถือศาสนาอิสลามใช้เป็นที่ละหมาด ส่วนตำแหน่งบริหารระดับเสนาบดีนั้น เคยมีคนไทยมุสลิมชาติพันธุ์มลายูได้รับมาก่อนหน้าแล้ว เช่น พระยาสมันตรัฐ บุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลลาห์) รัฐมนตรีที่ไม่ประจำกระทรวง 3 สมัย และนายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ รัฐมนตรีไม่ประจำกระทรวง พ.ศ. 2491 นายสิดดิก สารีฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2519
ยุคสมัยกลุ่มวะห์ดะห์ได้รับตำแหน่ง ผู้บริหารระดับเสนาบดีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ถือว่าเป็นตำแหน่งสำคัญที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นชาติพันธุ์มลายูมีความคาดหวังสูงว่าเสนาบดีชาติพันธุ์เดียวกันกับตน สามารถพัฒนาให้เกิดความสงบสุขความเจริญก้าวหน้าในดินแดนแถบนี้ได้และยังสามารถขจัดปัดเป่าความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่กลุ่มชนของตนได้รับจากเจ้าหน้าที่รัฐมาอย่างยาวนาน
นับแต่นาทีแรกที่ท่านเด่นฯ ย่างก้าวเข้าสู่ประตูกระทรวงมหาดไทย เรื่องแรกที่ค้างติดอยู่ในสมองท่านตลอดมาตั้งแต่เป็นส.ส.คือ การปรับปรุงแก้ไขระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม เพราะระเบียบและกฎหมายดังกล่าวใช้มานานห้าสิบกว่าปีแล้ว ไม่ทันการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยและโลกที่รุดก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว อีกทั้งสังคมมุสลิมในประเทศไทยมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 6 ล้านคน นับว่าเป็นจำนวนที่มากกว่าประชากรประเทศมุสลิมบางประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงบริหารกิจการศาสนาอิสลามให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยะประเทศ โดยยกเลิกระเบียบและกฎหมายเก่า และร่างกฎหมายใหม่ออกมาที่ทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน แล้วเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ระเบียบและกฎหมายเก่าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามที่ใช้อยู่ขณะนั้นมีด้วยกันสามฉบับ คือ
1. พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490
2. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488
3. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยศาสนูปถัมภ์(ฉบับที่ 2)ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2491
กฎหมายทั้งสามฉบับนี้จะร่างใหม่ให้อยู่ในฉบับเดียวกัน ดังนั้นท่านเด่นฯได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) ในฐานะเจ้ากระทรวงที่รักษาการกฎหมายทั้งสามฉบับนี้ ซึ่งพล.อ. ชวลิตฯ เห็นด้วยและได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยดำเนินการต่อไป แต่เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องของศาสนาอิสลามเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องใช้ความรอบคอบและระมัดระวังเป็นพิเศษ จำเป็นต้องฟังความเห็นของผู้นำศาสนาอิสลามทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากระดับผู้นำองค์กรระดับล่างได้แก่มัสยิดต่างๆ ในประเทศไทยที่มีจำนวนประมาณ 3,000 มัสยิด มีอิหม่ามเป็นผู้นำ
ดังนั้น เพื่อให้การปรับปรุงแก้ไขระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามเป็นไปตามเจตจำนงร่วมกันของผู้นำศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ในประเทศไทย จำเป็นต้องจัดการสัมมนาผู้นำศาสนาอิสลามระดับมัสยิดทั่วประเทศมาระดมสมอง จำนวนประมาณ 3,000 คน ท่านเด่นฯ จึงกำหนดวันสัมมนาระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม 2536 รวม 6 ครั้ง ได้แก่จังหวัด ปัตตานี ยะลา สงขลา นครศรีธรรมราช กระบี่ และ กรุงเทพฯ สรุปผลการสัมมนาแล้ว 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยสนับสนุนให้มีการแก้ไขระเบียบกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามที่ใช้อยู่ขณะนั้น
ประมวลจากเนื้อหาสาระจากการสัมมนาผู้นำศาสนาอิสลามทั้ง 6 ครั้ง ได้รวบรวมข้อมูลให้กับกรมการปกครอง เพื่อจัดการร่าง พ.ร.บ. การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม เสนอต่อคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญๆเปลี่ยนแปลงไปจากกฎหมายที่ใช้อยู่เดิมดังนี้
1. คณะกรรมการบริหารกิจการศาสนาอิสลามทุกระดับมีวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีวาระ คือ
– คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอยู่ในวาระ 6 ปี
– คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดอยู่ในวาระ 4 ปี
– จุฬาราชมนตรีอยู่ในฐานะประมุขและดำรงตำแหน่งตลอดชีพเป็นไปตามกฎหมายเดิม
2. กระจายอำนาจกรรมการคัดเลือกมากขึ้น ที่สำคัญคือ การคัดเลือกตำแหน่งจุฬาราชมนตรี กฎหมายเดิมให้สิทธิเฉพาะตัวประธานคณะกรรมการอิสลาม 28 จังหวัดเท่านั้นเป็นผู้คัดเลือก แต่ตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ของมหาดไทย ขยายฐานผู้เลือกมากขึ้น โดยให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัด 28 จังหวัด จำนวน 391 คน เป็นผู้คัดเลือก
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์