ราชินี นูร์ จาฮาน ครองจักรวรรดิโมกุลตั้งแต่ปี 1611-1627 (พ.ศ.2154 – พ.ศ.2170) เป็นสตรีโมกุลคนแรกที่เคยทำเช่นนั้น และเป็นผู้ทรงอำนาจอย่างแท้จริง!
ภาพเหรียญที่แสดงนี้เป็นเหรียญเงินของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อ “จักรวรรดิโมกุล” และอย่างที่คุณสังเกตเห็นได้ ไม่ใช่ชื่อของจักรพรรดิจาฮานคีร์ (Jahangir) ที่ถูกประทับอยู่บนเหรียญ แต่เป็นชื่อราชินีของพระองค์ เมื่อสวามีของ “นูร์ จาฮาน” (Nur Jahan) ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ปกครอง เพราะอยู่ในห้วงหลงมัวเมาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และฝิ่น ก็เป็นพระนางที่เข้ามาแทรกแซงปฏิบัติหน้าที่แทนในฐานะราชินีของจักรพรรดิ
ชีวิตของ “นูร์ จาฮาน” ก่อนเข้าราชสำนัก : สตรียิ่งใหญ่ผู้นี้คือใคร?
เดิมเธอชื่อ “เมห์รุนนิสา” (Mehrunnissa) จากครอบครัวชาวเปอร์เซีย อาศัยอยู่ใกล้เมืองกันดาฮาร์ ที่ปัจจุบันอยู่ในอัฟกานิสถาน ต่อมาครอบครัวได้ย้ายไปยังอินเดีย ที่นั่นพ่อของเธอ “มิรซา กิยาซ บายิค” (Mirza Ghiyas Baig) ได้ทำงานในราชสำนักของ “จักรพรรดิอัคบาร์” แห่งโมกุล ด้วยเป็นคนที่ซื่อสัตย์และขยันหมั่นเพียรจึงได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงขึ้นในฐานะมหาเสนาบดี และยังคงดำรงตำแหน่งสำคัญเรื่อยมาจนถึงสมัยของ “จักรพรรดิจาฮานคีร์” (Jahangir)
เมื่ออายุ 17 ปี “เมห์รุนนิสา” ได้แต่งงานกับ “อะลี คูลี คาน อิสตัจลู” ทหารเปอร์เซีย ซึ่งต่อมาสามีของเธอได้รับตำแหน่งขุนนางระดับสูงในเบงกอลและได้รับพระราชทานชื่อจากจักรพรรดิจาฮานคีร์ว่า “ชีร์ อัฟกัน” (Sher Afgan) มาจากภาษาเปอร์เซียแปลว่า ผู้สังหารสิงโต
แต่ไม่นานนักสามีของเธอก็มีปัญหากับจักรพรรดิที่มองว่าเขาไม่ซื่อสัตย์และคิดกบฏ พระองค์ได้สั่งให้พี่ชายบุญธรรมของตน “กูตุบุดดีน” ไปลงโทษ แต่เมื่อกูตุบุดดีนเดินทางไปทำตามคำสั่งนี้เขาก็ถูก “ชีร์ อัฟกัน” ฆ่าตาย และเขาก็ถูกฆ่าโดยทหารของกูตุบุดดีนเช่นกัน จากนั้นทหารก็นำตัวเมห์รุนนิสาซึ่งตอนนี้กลายเป็นม่ายพร้อมกับลูกสาวตัวน้อยของเธอไปยังนครอัคระ (Agra) ในฐานะนักโทษของราชสำนัก
มเหสีที่มีเสน่ห์ที่สุดของจักรพรรดิโมกุล
ในราชสำนัก “เมห์รุนนิสา” เป็นที่รู้จักเพียงแค่ในฐานะสตรีชั้นสูง แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ เธอได้สร้างตัวเองขึ้นอย่างแข็งแกร่งว่าเป็นผู้หญิงที่มีความสามารถและมีการศึกษาดี ที่มีพรสวรรค์โดดเด่นในด้านศิลปะซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมเปอร์เซียของเธอ
ในช่วงเทศกาลใหญ่ครั้งหนึ่งของจักรวรรดิ เธอถูกจับตามองจากจักรพรรดิจาฮานคีร์ที่สูญเสียตัวตนจากความชื่นชมในความงามที่ไร้ที่ติของเธอ พระองค์ประกาศการแต่งงานกับนางในปีเดียวกันนั้น ซึ่งเป็น 3 ปีให้หลังจากสามีเสียชีวิต จักรพรรดิจาฮานคีร์พระราชทานนามใหม่ให้เธอว่า “นูร์ จาฮาน” (Nur Jahan) ที่มีความหมายว่า “แสงสว่างแห่งพิภพ” ตั้งแต่นั้นมาคนเรียกเธอว่าเป็นมเหสีที่มีเสน่ห์ที่สุดของจักรพรรดิ
ในความเป็นจริงความสัมพันธ์ระหว่าง “จักรพรรดิจาฮานคีร์” กับ “นูร์ จาฮาน” ถือเป็นเรื่องอื้อฉาวในยุคนั้นเพราะการเป็นหญิงม่าย พระนางเป็นมเหสีคนที่ 20 และคนสุดท้ายของจักรพรรดิจาฮานคีร์
ทั้งนี้บางคนเชื่อว่าจักรพรรดิได้หลงรัก “นูร์ จาฮาน” มาก่อน ไม่ใช่เพิ่งจะมาสนใจเธอในเทศกาล บางคนถึงขนาดอ้างว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับการตายของสามีคนแรกของนูร์ จาฮาน เป็นแผนการที่จัดฉากโดยจักรพรรดิเองเพื่อทำให้เธอพร้อมสำหรับการแต่งงานกับพระองค์ แม้ว่าทฤษฎีนี้จะขาดหลักฐานสนับสนุนที่น่าเชื่อถือก็ตาม
ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ระหว่างการใช้ชีวิตคู่นั้น “นูร์ จาฮาน” ได้ยึดครองหัวใจของผู้ปกครองโมกุลไว้ด้วยพรสวรรค์โดยธรรมชาติของเธอในการสนทนา ความรู้หลายภาษา ปัญญา และความเฉลียวฉลาด จักรพรรดิจาฮานคีร์รักเธอมากจนโอนอำนาจการปกครองให้กับเธอ ทำให้โดยทางพฤตินัยเธอคือจักรพรรดินีคนแรกของจักรวรรดิโมกุล
ผู้ปกครองหญิงคนแรกที่มีอิทธิพลของจักรวรรดิโมกุล
หลังจากแต่งงานกับจักรพรรดิจาฮานคีร์ “นูร์ จาฮาน” ก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างรวดเร็ว ด้วยบุคลิกที่เข้มแข็ง มีเสน่ห์ และมีการศึกษา ทำให้พระนางเป็นผู้หญิงที่มีอำนาจมากที่สุดและมีอิทธิพลต่อราชสำนักในช่วงเวลาที่จักรวรรดิโมกุลอยู่ในจุดสูงสุดของอำนาจและความรุ่งโรจน์
พระนางมีความเด็ดขาดและกระตือรือร้นกว่าพระสวามี โดยนักประวัติศาสตร์ถือว่าพระนางคือผู้ทรงอำนาจที่แท้จริงเบื้องหลังพระราชบัลลังก์นานมากกว่า 15 ปี “นูร์ จาฮาน” ได้รับเกียรติและสิทธิพิเศษบางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับราชินีโมกุลไม่ว่าจะก่อนหรือหลังจากนั้นก็ตาม
เคียงข้างกับพระสวามีและด้วยความสามารถที่พิเศษ “นูร์ จาฮาน” ใช้อำนาจทางการเมืองของตนในการบริหารการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม จนเมื่อถึงปี ค.ศ. 1620 จักรพรรดิได้ห่างหายจากการปกครองเนื่องจากหลงมัวเมาอยู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และฝิ่น จนไม่สามารถบริหารแผ่นดินได้อีกต่อไป “นูร์ จาฮัน” รับภาระหน้าที่มาอยู่ในมือของพระนางกระทั่งกลายเป็นผู้มีอำนาจมหาศาลในราชสำนัก ในช่วงเวลาอันสั้น อิทธิพลของเธออยู่ในฐานะผู้ปกครองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จของจักรวรรดิโมกุล แม้กระทั่งเหรียญเงินในเวลานั้นก็ตีประทับในชื่อพระนาง
ในช่วงรัชสมัยของพระจักรพรรดินีนัวร์ จาฮาน พระนางได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในกิจการสตรี และจะให้สินสอดทองหมั้นและที่ดินแก่เด็กกำพร้า พระนางค้าขายกับชาวยุโรป และเป็นเจ้าของเรือที่พาผู้แสวงบุญและสินค้าไปยังนครเมกกะห์ การบริหารกิจการของพระนางทำให้อัคระเมืองหลวงของโมกุลเป็นเมืองพานิชย์ที่รุ่งเรือง
แต่ในเวลานั้นการเป็นผู้ปกครองถูกถือว่าเป็นสิ่งสงวนไว้สำหรับผู้ชาย ด้วยเหตุนี้ “นูร์ จาฮัน” จึงไม่เคยสั่งการโดยตรงกับเหล่าเสนาบดีในราชสำนักและยังคงอยู่เบื้องหลังฉากของพื้นที่สำหรับสตรี เธอได้เจรจาข้อคิดเห็นและการพิจารณาเฉพาะกับคนที่เชื่อถือได้ของตัวเองซึ่งจะส่งข้อความถึงผู้ชายในราชสำนัก ดังนั้นเธอจึงมักถูกเรียกกันว่า “มัคฟี” (Makhfi : ผู้อยู่ใต้ผ้าคลุม, ผู้ถูกปกปิด) ซึ่งเป็นนามแฝงของเธอทำนองเดียวกับนามแฝงกวี
“มัคฟี” ผู้อยู่ใต้ผ้าคลุม
ด้วยมรดกของชาวเปอร์เซียและมาจากเชื้อสายของกวี “นูร์ จาฮาน” น่าจะเกิดมาพร้อมกับของขวัญแห่งบทกวี พระนางเขียนกลอนของตัวเองในภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซีย และแม้แต่สนับสนุนการเขียนให้กับสตรีในราชสำนัก พระนางได้จัดการประกวดบทกวี และให้การสนับสนุนกวีหญิงที่เธอชื่นชอบในช่วงเทศกาลบทกวี
มีเพียงครั้งเดียวที่ “นูร์ จาฮัน” ออกจากผ้าคลุมของเธอ นั่นคือในปี 1626 (พ.ศ. 2169) เมื่อกบฏจับกุมจักรพรรดิจาฮานคีร์ระหว่างการเดินทางสู่แคชเมียร์ “มะฮับบัต คาน” (Mahabat Khan) ผู้นำกบฏหวังว่าจะทำรัฐประหาร จักรพรรดินี “นูร์ จาฮัน” ได้สั่งการให้เสนาบดีของเธอโจมตีฝ่ายกบฏเพื่อช่วยพระสวามี ในระหว่างการโจมตีนั้นเธอขี่ช้างเข้าต่อสู้ในสมรภูมิด้วยตนเองเพื่อปกป้องจักรพรรดิผู้เป็นดวงใจและจักรวรรดิของพระนาง
“หลุมฝังศพของคนจรผู้ยากไร้คนนี้”
ต่อมาเมื่อจักรพรรดิจาฮานครีร์สิ้นพระชนม์ ตลอดระยะเวลาที่เหลือของ“นูร์ จาฮาน” พระนางอาศัยอยู่กับลูกสาวอย่างสงบ ในช่วงเวลานั้นพระนางสร้างสุสานในอัคระให้บิดาซึ่งบัดนี้เป็นที่รู้จักในชื่อหลุมศพ “Itmad-ud-Daulah”
“นูร์ จาฮาน” สิ้นพระชนม์ในปี 1645 พระนางถูกฝังอยู่ที่เมืองละโฮร์ (Lahore) ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหลุมฝังศพของพระสวามี บนหลุมฝังศพของพระนางคุณสามารถพบจารึกที่เขียนไว้ว่า “บนหลุมศพของคนจรผู้ยากไร้นี้ ไม่ต้องให้มีโคมไฟหรือดอกกุหลาบ อย่าให้ปีกผีเสื้อสองข้างต้องมอดไหม้ทั้งไนติงเกลก็มิต้องขับขาน”
“On the grave of this poor stranger, let there be neither lamp nor rose. Let neither butterfly’s wing burn nor nightingale sing”
เรื่องราวของเธอบ่งบอกว่า แม้ในโลกของผู้ชาย สตรีก็สามารถเล่นบทบาทของเธอด้วยความสามารถที่เท่าเทียมกัน
อ้างอิง