เมื่อมุสลิมจชต.อยากเรียนแพทย์และสามัญที่ อัลอัซฮัร อียิปต์

ภาพประกอบจาก https://www.facebook.com/shukur.dina/posts/10217178748121213

ในขณะนักเรียนมัธยมทั่วประเทศกำลังเริ่มเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสถาบันต่างๆ ของประเทศไทย (หลังมหาวิทยาลัยไทยเริ่มเปิดภาคเรียนและรับน้องใหม่)

แต่สำหรับนักเรียนมุสลิมภาคใต้ ดูเหมือนจะมีทางเลือกมากกว่านักเรียนทั่วไปแม้สถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาการมุสลิมในประเทศจะมีอยู่เพียง 3 แห่ง เท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะนักเรียนส่วนหนึ่งกำลังหาที่เรียนในต่างประเทศ  สถาบันหนึ่งที่นักศึกษามุสลิมใต้หรือทั้งประเทศต้องการไปเรียนมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร (AL-Azhar) ประเทศอียิปต์  สถาบันวิชาการศาสนาของโลกมุสลิม ซึ่งก่อตั้งมานานนับพันปี เรียกได้ว่าเก่าแก่กว่ามหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ของอังกฤษเสียอีก (โปรดดูรายละเอียดจากผู้เขียนใน http://oknation.nationtv.tv/blog/shukur/2008/05/18/entry-1)

ความเป็นจริงมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีการจัดการเรียนทุกสาขาอาชีพรวมทั้งแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์เพียงแตกต่างจากที่อื่นคือเป็นสถาบันที่บูรณาการกับหลักคำสอนศาสนาอิสลามกล่าวคือทุกคนต้องท่องพระมหาคัมภีร์กุรอาน วจนะศาสดาและเรียนวิชาวิถีศาสนธรรมอิสลามเพื่อนำหลักธรรมไปดำเนินชีวิตตอนทำงาน ดังนั้นจึงทำให้มุสลิมทั่วโลกเช่นกันอยากไปศึกษาที่นี่รวมทั้งนักเรียนไทย

วันที่ 26-27 กรกฎาคม 2561 ที่โรงแรมเซาเทิร์นวิว ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีการรวมพลคนอัล อัซฮัร กล่าวคือ มีการรวมพลศิษย์เก่า มหาวิทยาลัย อัซฮัรและผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านการรับรองวิทยฐานะ (มูอาดาละห์) มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ จำนวน 250 คนเข้าร่วมในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านการรับรองวิทยฐานะจากมหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ประจำปี 2561 จัดโดยสำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (ศอ.บต.) เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการศึกษาต่อต่างประเทศของโรงเรียนที่ผ่านการรับรอง พร้อมทำความเข้าใจและขับเคลื่อนงานด้านทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ให้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่เข้าใจถึงหลักเกณฑ์ ระเบียบบังคับของการสมัครทุนเพื่อง่ายและสะดวกต่อการสมัครรับทุน เพราะในแต่ละปีจะมีเยาวชนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สมัครทุนจำนวนมากและเป้าหมายที่สำคัญคือระดมสมองเพื่อทราบความต้องการที่แท้จริงว่ามีเรื่องใดบ้าง ซึ่งปรากฎว่ามีมากมายแต่ที่จุดที่ทุกคนเห็นร่วมกันคือสนับสนุนให้โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือทั้งประเทศ ดำเนินการจัดทำใบรับรองวิทยฐานะ (มูอาดาละห์) เพิ่มเติมในด้านสายสามัญ เพื่อความหลากหลายของการศึกษาที่จะกลับมาพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะแพทย์ศาสตร์เพราะปีหนึ่งๆมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรมอบทุนการศึกษาด้านนี้แก่เด็กไทยไม่ต่ำกว่าสิบทุนแต่เด็กไทยที่จบสถาบันในประเทศไปเรียนต่อไม่ได้เพราะยังไม่ได้ใบรับรองวิทยฐานะด้านนี้ในขณะที่นักเรียนไทยหากจบจากมาเลเซียไปเรียนต่อได้  (โปรดดู http://spmcnews.com/?p=8453)

หากสถาบันต่างๆในประเทศไทยได้รับใบรับรองวิทยฐานะด้านนี้ด้วยจะทำให้นักเรียนไทยสามารถไปต่อมหาวิทยาลัยนี้ไม่ว่าผ่านทุนการศึกษาหรือทุนส่วนตัว  ต่อไปนักเรียนไทยจะไปเรียนที่นี่ก็จะไม่ไปเรียนด้านศาสนาอย่างเดียวแต่จะไปเรียนสามัญด้วยเป็นการตอบโจทย์การศึกษาและความมั่นคงรวมทั้งสันติภาพอย่างยั่งยืนเพราะจะช่วยชาติผลิตบุคคลากรในสาขาที่ขลาดแคลนโดยเฉพาะมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในการระดมสมองครั้งนี้ยังมีข้อเสนอแนะให้มีการยกระดับพัฒนาการศึกษาด้านภาษาอาหรับ ดังนี้

– จัดตั้งคณะกรรมการเป็นคณะขับเคลื่อนงานเป็นส่วนกลางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สมาคมฯ) ร่วมกับภาครัฐและเอกชน

-คณะกรรมการสามารถเตรียมความพร้อมในด้านข้อมูลเก่าและปัจจุบัน เพื่อปรับการใช้งานในยุคปัจจุบันกับโรงเรียนและนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศไทย

-คณะกรรมการร่วมพบปะหารือกับหน่วยงานหลักคือสถานทูตอียิปต์ประจำประเทศไทยเพื่อหารือแนวทางการขับเคลี่อนเทียบวุฒิการศึกษาของนักเรียนไทย

-ศอ.บต. และกระทรวงศึกษาธิการหรือศึกษาธิการส่วนหน้าร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านทุนการศึกษาการศึกษาต่อต่างประเทศและร่วมพบปะหารือหาแนวทางการขับเคลื่อนอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับการพัฒนาทักษะภาษาอาหรับเพื่อต่อยอดในระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยดำเนินการ

– ปรับปรุงหลักสูตรภาษาอาหรับให้สอดคล้องกับการต่อยอดการศึกษาระดับอุดมศึกษา

-พัฒนาครูเพื่อสามารถจัดการเรียนรู้สอดคล้องกับศตวรรษที่21

-จัดค่ายภาษาอาหรับสี่ระดับหนึ่งระดับโรงเรียนคือนำร่องให้กับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านการรับรอบวิทยฐานะ สองระดับจังหวัด  สามพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่ระดับชาติ

-ร่วมมือกับศูนย์ภาษาอาหรับในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  นราธิวาสราชนครินทร์และฟาตอนีรวมทั้งศูนย์อิสลามศึกษาของสำนักงานการศึกษาเขต8 จังหวัดยะลา

ดังนั้นจึงฝากไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  การศึกษาส่วนหน้า  กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงต่างประเทศและรัฐบาลไทย   ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งรีบทำเรื่องการรับรองวิทยาฐานะหลักสูตรสามัญระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

หน่วยงานของรัฐที่กล่าวมาแล้วข้างต้นในนามรัฐบาลไทยหากสามารถดำเนินการได้อย่างมีคุณภาพรวดเร็ว เป็นทางการกับรัฐบาลอียิปต์และมหาวิทยาลัยอัซฮัรก็จะสำเร็จเร็วขึ้น (ซึ่งในอดีตผู้เขียนทราบมีการดำเนินการอยู่แล้วเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาในนามรัฐบาลไทยกับมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร)