“อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์” : สัญญาณการเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองไทย ต่ออนาคตสันติภาพปาตานี

อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์

สรุปประเด็นการนำเสนอ “อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์” รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ในงานเสวนาพิเศษเนื่องในวันประชาธิปไตยสากล หัวข้อ “ สัญญาณการเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองไทย ต่ออนาคตสันติภาพปาตานี” เมื่อวันเสาร์ ที่ 15 กันยายน 2561 ที่จังหวัดปัตตานี

รากเหง้าปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงชายแดนใต้

ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงชายแดนใต้มีรากเหง้ายาวนานมาเป็นร้อยปี และเป็นเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ทั่วโลก การปะทุ การระเบิด การยิงในวันนี้ คือ สิ่งปลายเหตุ แต่ปัญหาต้นเหตุหรือรากเหง้าจริงๆ คือ การเมืองการปกครองซึ่งโยงใยถึงชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ และความเป็นธรรม หากจะแก้ไขก็ต้องยอมรับร่วมกันว่า ประเทศไทยประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ หลายชาติพันธุ์ หลายศาสนา เราต้องเข้าใจความหลากหลาย เข้าใจเรื่องพหุวัฒนธรรม

สำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้คนในชายแดนใต้หรือ “ปัตตานี” อาจแบ่งเป็น 2 แนวทาง แนวทางแรกมองว่า “อำนาจ” ต้องมาจากปากกระบอกปืน ส่วนแนวทางที่สองมองว่า “อำนาจ” สามารถได้มาโดยปลายปากกา ซึ่งในที่นี้ขอตีความ “ปากกา” ว่าเป็นอำนาจที่ได้มาจากประชาชนแบบสันติ ซึ่งรวมถึงนักศึกษาที่เคลื่อนไหวอย่าสันติวิธีด้วย ฝ่ายความมั่นคงของรัฐควรแยกสองแนวทางนี้ให้ออก การมองแบบปะปนกันว่าเป็นปีกซ้ายปีกขวาของ “ขบวนการฯ” อาจไม่นำมาสู่การแก้ปัญหา

ทำไมคนที่นี่ถึงต้องการ “อำนาจ” ส่วนหนึ่งเกิดจากความรู้สึกที่ว่า ผืนดินชายแดนใต้มีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก ถ้าพูดในแง่อิสลาม พระเจ้าได้ให้ความสมบูรณ์กับคนที่นี้มากมาย มีทะเล มีแม่น้ำ มีพื้นที่ราบ มีภูเขา พื้นดินอุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็เติบโตดีโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนที่นี่ยังยากจนมาก (อันนำมาสู่ความคับแค้นใจ)

ในส่วนของการจับอาวุธขึ้นต่อสู้ที่มีมากว่า 60 ปีนั้น เกิดจากการใช้สันติวิธีแล้วไม่ได้ผล จุดปะทุเริ่มต้นก็คือยุคลัทธิชาตินิยมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ต้องการทำให้คนที่แตกต่างหลากหลายมีความเหมือนกันไปหมด

แนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้

อนาคตของรูปแบบการบริหารและการปกครองชายแดนใต้นั้น การปกครองในลักษณะพิเศษ เช่น มหานครปัตตานี นั้นคงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะต้องอาศัยการยอมรับจากคนไทยทั้งประเทศด้วย การยอมรับต้องอาศัยเวลาและความเข้าใจในเรื่องพหุวัฒนธรรม

ในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ โดยทั่วๆ ไป รัฐมักเน้นนโยบายแก้ปัญหาการศึกษา เศรษฐกิจปากท้อง สาธารณสุข ฯลฯ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ปกติที่รัฐบาลต้องบริการประชาชน แต่นี่ไม่ใช่หัวใจหลักของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ที่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธ เพราะสิ่งที่ฝ่ายต่อสู้ด้วยอาวุธต้องการนั้นคืออำนาจ นี่คือการต่อสู้ในเชิงของการเมืองซึ่งต้องแก้ด้วยวิธีทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองจะยุติได้โดยผลประโยชน์การเมืองที่ลงตัว ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นหัวใจสำคัญ (เพราะประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการต่อรองและการจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรม– แอดมินอธิบายเพิ่มเติม)

การต่อสู้ทางอุดมการณ์ด้วยอาวุธโดยลำพังโดยไม่มีฐานประชาชนจะไม่มีทางทำได้สำเร็จ และเรื่องก็มักจบลงที่ว่าเมื่อผู้นำขบวนการฯ มีอายุมากขึ้นก็จะยอมเข้าหมอบตัว ดังนั้น เราต้องเข้าใจพื้นฐานหัวใจของคนชายแดนใต้หรือ “ปาตานี” ว่าเป็นอย่างไร เขารักอะไรระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย

ตนเชื่อมั่นว่าคนชายแดนใต้หรือคน “ปาตานี” ต้องการประชาธิปไตย โดยดูจากเรื่องราวทั้ง 4 เรื่องที่เคยเกิดขึ้น

เรื่องแรกคือ การที่ลูกหลานเจ้าเมืองเดิมที่ลี้ภัยไปอยู่ที่กลันตันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้แสดงความจำนงต่อคณะราษฎรหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ว่าเต็มใจที่จะกลับมาอยู่ประเทศไทย เพราะประเทศไทยได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่เนื่องจากประชาธิปไตยไทยไม่มีความมั่นคง มีการรัฐประหาร ยึดอำนาจ พวกเขาก็เลยกลับไปอยู่ที่มาเลเซียอีก

เรื่องที่สอง เหตุการณ์ประท้วงใหญ่ที่จังหวัดปัตตานีเมื่อปีปลายปี พ.ศ. 2518 ถึงต้นปี พ.ศ. 2519 จากเหตุที่ทหารฆ่าคนมลายู 5 คนแล้วทิ้งศพลงแม่น้ำ นักศึกษาในเวลานั้นได้ตั้ง “กลุ่มพิทักษ์ประชาชน” ขึ้น การประท้วงดำเนินไป 45 วัน 45 คืน มีผู้คนออกมาร่วมประท้วงนับแสน น่าสนใจว่า ในครั้งนั้นไม่มีสักครั้งเดียวเลยที่ผู้ชุมนุมจะก่อเหตุวุ่นวายหรือสร้างความเสียหาย ปิดสถานที่ราชการ นั่นหมายความว่า ผู้ที่มาชุมนุมเป็นคนที่รักประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น

เรื่องที่สาม ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 75% ซึ่งมากกว่าในกรุงเทพมหานคร ที่คนมีฐานะทางเศรษฐกิจและการศึกษาดีกว่า โดยคนกรุงเทพฯ ออกไปใช้สิทธิแค่ราว 50% เท่านั้น ทั้งนี้ คนชายแดนใต้มีฐานะยากจน มีชีวิตที่ยากลำบาก แต่พวกเขาก็ยังออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเยอะ นี่ก็เป็นเพราะพวกเขาฝากความหวังไว้กับระบอบประชาธิปไตย

เรื่องที่สี่ เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่รับรองรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วยเสียงท่วมท้น พวกเขารู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง พวกเขารู้ทั้งๆ ที่รัฐปิดกั้นการนำเสนอและอภิปรายเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญอย่างเข้มงวด

สี่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนชายแดนใต้รักประชาธิปไตย เราจึงต้องเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยให้พี่น้องประชาชนเป็นผู้ชี้ขาด แทนที่จะเปิดพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งระหว่างรัฐกับฝ่ายที่ต่อสู้ด้วยอาวุธเท่านั้น เราต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความต้องการ พรรคประชาชาติก็เป็นพื้นที่ทางการเมืองหนึ่งของประชาชน

ในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ระบบรัฐสภานั้นจำเป็นและต้องอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยเท่านั้น ที่สำคัญ ประชาธิปไตยต้องควบคู่กับสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นที่น่าสังเกตว่าภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ศาสนามักถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อขยายความขัดแย้ง นำมาสู่การต่อต้านการสร้างมัสยิดในภาคอีสาน การต่อต้านโรงงานอาหารฮาลาลในเชียงใหม่ และการโจมตีบางศาสนาด้วยความเกลียดชังในโลกออนไลน์ หากเป็นในช่วงประชาธิปไตย เราก็จะแก้ปัญหานี้ด้วยการคุยกัน รวมทั้งเราอาจออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองความเป็นพหุวัฒนธรรม คุ้มครองคนที่มีความแตกต่างในเรื่องความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ รวมถึงชนพื้นเมืองด้งเดิม

สุดท้ายนี้ ประชาธิปไตยที่มั่นคงจะทำให้สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นได้จริง ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง จะเป็นพื้นที่ให้ฝ่ายสุดโต่งทั้งในฝ่ายรัฐและฝ่ายที่ต่อสู้ด้วยอาวุธ ได้มาบรรจบกัน และมานั่งพูดคุยกัน อันจะนำมาสู่สันติภาพที่ยั่งยืน

Source : https://www.facebook.com/PrachachatPeopleNation/posts/2167194903539201