ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (63)

การคมนาคมทางบกเส้นทางที่ยาวที่สุดของประเทศไทย คือ ถนนเพชรเกษมจากกรุงเทพฯ-สุไหงโกลก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา สนใจเป็นพิเศษ จึงเชิญอธิบดีกรมทางหลวงให้มารายงานเส้นทางสี่ช่องทางจราจรจากกรุงเทพฯ-สุไหงโกลก คืบหน้าไปถึงใหนแล้ว ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมทางหลวงว่า โครงการก่อสร้างถนนสี่ช่องทางจราจรตามแผนงานนั้น จากหาดใหญ่-สุไหงโกลก จะเป็นช่วงสุดท้ายที่ได้ตั้งงบประมาณ

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้ฟังการรายงานจากอธิบดีกรมทางหลวงเสร็จแล้ว จึงสั่งการให้อธิบดีปรับแผนงานก่อสร้างถนนสี่ช่องทางจราจรสายใต้เสียใหม่ โดยให้ปรับแผนงานก่อสร้างงบประมาณปี 2539 โดยเริ่มจาก อ. สุไหงโกลก จ. นราธิวาส ขึ้นมาถึง อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา และให้สร้างถนนสองช่องทางจราจรจากบ้านตะโละหะลอ อ. รามัน จ. ยะลา ไปยังปาลอบาตะ อ. ยี่งอ จ. นราธิวาส ซึ่งเส้นทางนี้ผ่านเขตพื้นที่ อ. รือเสาะ ต้องตัดผ่านภูเขาบ้านยือลาแป ต. สุวารี อ. รือเสาะ ทำให้ต้องมีการเวนคืนที่ดินในเขตพื้นที่ ต. ตะโละหะลอ และ ต. สุวารี ชาวประชาราษฎรที่มีที่ดินติดเส้นทางสายนี้ได้รับเงินเวนคืนจากกรมทางหลวงเปลี่ยนแปลงฐานะเศรศฐกิจในครัวเรือนดีขึ้นตามๆ กัน และเส้นทางนี้ย่นระยะจากนราธิวาส-ยะลา จากเส้นทางเดิมประมาณ 20 กม.

จังหวัด นราธิวาส ยะลา และ สงขลา เป็นจังหวัดที่มีเขตแดนติดต่อประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีเขตแดนที่มีช่องผ่านด่านที่จังหวัดนราธิวาส ได้แก่ บูเกะตา อ. แว้ง สุไหงโกลก อ. สุไหงโกลก ตาบา อ. ตากใบ ที่จังหวัดยะลา เบตง อ. เบตง ที่จังหวัดสงขลา ปาดังเบซาร์ อ. สะเดา และด่านนอก อ. สะเดา ท่านวันมูหะมัดนอร์ฯมีแนวความคิดต้องการพัฒนาการขนส่งการคมนาคมระหว่างเขตแดนให้ไปมาหาสู่ของคนสองแดนมีความคล่องตัวและรวดเร็ว จึงได้เดินทางไปพบกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตุนมหาเดร์ มูฮำหมัด หารือการพัฒนาทั้งสองฝั่งประเทศ ให้มีความเจริญก้าวหน้าติดต่อทำธุรกิจการค้าและส่งเสริมการท่องเที่ยวทางฝั่งรัฐกลันตันและจังหวัดนราธิวาส ซึ่งแต่เดิมนั้น รัฐบาลของประเทศมาเลเซียภายใต้แกนนำของพรรคอัมโนที่ได้สืบครองอำนาจปกครองประเทศมาเลเซียมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่มลายูได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2500 เฉพาะรัฐกลันตันรัฐบาลท้องถิ่นอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคพาส ซึ่งเป็นพรรคการเมืองมีอุดมการณ์แนวทางศาสนาอิสลามและเป็นฝ่ายค้านที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรคอัมโนตลอดมา ทำให้รัฐบาลกลางไม่ค่อยให้ความสำคัญที่คิดจะพัฒนารัฐกลันตันแต่อย่างใด รัฐกลันจึงกลายเป็นรัฐทึ่ไม่ค่อยจะเจริญและด้อยกว่ารัฐอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลท้องถิ่นที่ปกครองโดยพรรคร่วมรัฐบาลไม่ว่าทางด้านเศรษฐกิจ การก่อสร้างและการคมนาคม

แต่เมื่อคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไทยภายใต้การบริหารของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งเป็นมุสลิมคนแรกในประเทศไทย ได้ติดต่อเข้าพบนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเพื่อขอเจรจาพูดคุยจะสร้างสะพานข้ามแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียที่ด่านบูเกะตา ต. โละจูด อ.แว้ง จ. นราธิวาส และ บ้านตาบา ต. เจ๊ะเห อ. ตากใบ ทางฝ่ายมาเลเซียได้ต้อนรับด้วยดี ผลการพูดคุยทำให้ นายกรัฐมนตรีตุนมหาเดร์ มูฮำหมัด ได้เดินทางไปดูเขตแดนที่จะสร้างสะพานข้ามคลองที่ด่านบูเกะตาและด่านตากใบ

หลังจากทางมาเลเซียได้ไปสำรวจจุดที่จะสร้างสะพานข้ามแดนที่บ้านบูเกะตาและตากใบแล้ว พอใจกับจุดที่จะสร้างสะพานที่บูเกะตา ส่วนที่ตากใบยังไม่ได้จุดที่เหมาะสม จึงอนุมัติที่จะสร้างที่บูเกะตาก่อน โดยที่ทางกระทรวงคมนาคมของไทยเห็นด้วย ทั้งสองประเทศอนุมัติงบประมาณฝ่ายละครึ่ง มีข้อตกลงให้ทางฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างหาบริษัทของมาเลเซียมาเป็นผู้ก่อสร้าง สำหรับทางที่ดินที่ถูกเวณคืนสร้างตัวสะพานและถนนลาดยางตัดผ่านสะพานนั้น กรมทางหลวงได้จ่ายค่าเวณคืนให้กับเจ้าของที่ดินยังผลให้เจ้าของที่ดินกลับมีชีวิตชีวาดีขึ้นตามๆ กัน สำหรับจุดที่จะสร้างสะพานข้ามที่ตากใบ หลังจากนายกรัฐมนตรี นายบรรหาร ศิลปอาชา ยุบสภาแล้ว ได้รัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศ โครงการสร้างสะพานที่ตากใบก็ค่อยๆ หายไปในที่สุด

ท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังสั่งการให้กรมทางหลวงทำป้ายบอกตำแหน่งที่ตั้งมัสยิดตามถนนหลวงเส้นทางต่างๆ เพื่อให้คนมุสลิมรู้ที่ตั้งมัสยิดบนริมทางหลวง ทำให้สะดวกที่จะทำการละหมาดในระหว่างเดินทาง นอกจากนั้นยังมีแผนจะสร้างท่าเรือน้ำลึกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะผลการสำรวจสถานที่เหมาะสมที่สุดที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกในจังหวัดทางภาคใต้ของบริษัทเนเธอร์แลนด์ที่กระทรวงคมนาคมจ้างตกได้แก่ บ้านบาเฆะ ต. โคกเคียน อ. เมือง จ. นราธิวาส ซึ่งอยู่ห่างไกลจากสนามบินนราธิวาสเพียงไม่เกิน 5 กม. เท่านั้น และจุดนี้สภาพของท้องทะเลเป็นแอ่งก้นกระทะมีความเหมาะสมมากกว่าท่าเรือน้ำลึกสงขลาที่สร้างขึ้นมาแล้วดำเนินการมาขาดทุนเป็นพันล้านบาท และจุดนี้ทางมาเลเซียมีความสนใจ หากสร้างแล้วจะได้ทำแลนด์บริดจ์จากท่าเรือน้ำลึกนราธิวาสไปสู่ท่าเรือน้ำลึกปีนังประเทศมาเลเซีย เรือบรรทุกสินค้าที่จะต้องผ่านช่องแคบมะละกา จะเข้ามาจอดที่ท่าเรือน้ำลึกนราธิวาสแทน และระบายขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือน้ำลึกนราธิวาสไปยังท่าเรือน้ำลึกปีนังไปทางเส้นแลนด์บริดจ์ จะทำให้ทุ่นระยะทาง ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายได้มาก ส่วนสนามบินนราธิวาสมีโครงการจะขยายรันเวย์ให้ยาวไปอีกประมาณ 1000 เมตร โดยจะให้ขยายยื่นออกไปทางทะเลและจะต้องทับเส้นทางถนนนราธิวาส-บ้านทอน ส่วนช่วงถนนที่ถูกทับด้วยรันเวย์นั้นจะได้ทำถนนมุดใต้ดินเป็นอุโมงค์ซึ่งมีความยาวประมาณ 200 เมตร แต่เป็นที่น่าเสียดายอายุการดำรงตำแหน่งของท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา อยู่ได้เพียงหนึ่งปีเศษ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีได้ยุบสภาผู้แทนราษฎรภายหลังที่ถูกพรรคฝ่ายค้านในสภานำโดยพรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะเพิ่งจบไปหมาดๆเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2539 ทำให้โครงการต่างๆ ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้มลายหายสิ้นไปในชั่วพริบตา

รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 ผลการเลือกตั้งทั่วประเทศ พรรคความหวังใหม่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด จำนวน ส.ส. 125 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส. 123 คน พรรคความหวังใหม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองอีก 5 พรรค รวมเป็น 6 พรรค ได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคชาตพัฒนา พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคเสรีธรรม และพรรคราษฎร แต่ก่อนที่ ส.ส. จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา จะต้องเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน เนื่องจากพรรคความหวังใหม่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โควต้าของตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นของพรรคความหวังใหม่

สำหรับผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา ได้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายไพศาล ยิ่งสมาน พรรคความหวังใหม่ นายประเสริฐ พงศ์สุวรรณศิริ พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดปัตตานี นายเด่น โต๊ะมีนา ได้หวนกลับสู่ตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง นายมุข สุไลมาน พรรคความหวังใหม่ นายวัยโรจน์ พิพิธภักดี พ.ต.ท. เจ๊ะอิสมะแอ เจ๊ะโมง พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนจังหวัดนราธิวาส นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ พรรคความหวังใหม่ แพทย์หญิงพรพิชญ์ พัฒนกุลเลิศ พึ่งธรรมเดช นายสุรเชษฐ แวอาแซ นายรำลี มามะ พรรคประชาธิปัตย์

ในที่ประชุมพรรคความหวังใหม่ได้หารือบุคคลที่จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในที่ประชุมได้เลือกนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นบุคคลที่เหมาะสมที่พรรคจะเสนอเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนต่อสภา ไป

ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเพื่อเลือกประธานสภานั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคความหวังใหม่ได้เสนอชื่อนาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา เพื่อให้สภาพิจารณา แต่ทางซีกพรรคฝ่ายค้านไม่ยอมให้ผ่านง่ายๆ พรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอนายพิชัย รัตตกุล ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์กรุงเทพมหานครและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายสมัย เจริญช่าง ส.ส. มุสลิมพรรคประชาธิปัตย์  เขตกรุงเทพฯ เป็นผู้เสนอเป็นคู่แข่ง ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกแล้วว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรหนีไม่พ้นท่านวันมูหะมัดนอร์ฯ อยู่แล้ว ผลการเลือกตั้ง สภาได้ลงมติด้วยเสียงข้างมากเลือกท่านวันมูหะมัดนอร์ฯ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นับว่าเป็นเกียรติประวัติอันใหญ่หลวงที่มีมุสลิมไทยเชื้อสายมลายูคนแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ 

เมื่อท่านวันมูหะมัดนอร์ฯ ได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ไม่เฉพาะเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญในหมู่ประชาชนมุสลิมดังกึกก้องไปทั่วฟ้าเมืองไทยเท่านั้น คนไทยโดยทั่วไปที่เป็นคอการเมือง ได้ชมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในจอโทรทัศน์ ต่างชื่นชมยินดีกันทั่วหน้า เพราะได้เห็นบทบาทและความสามารถการทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมของท่านวันมูหะมัดนอร์ฯ คราวดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรสมัยนายชวน หลีกภัย แล้ว