ผู้นำฝ่ายค้านมาเลย์ โยงกลุ่ม LGBT ว่าเป็นสาเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิที่ปาลู อินโดฯ

อะหมัด ซาเฮด ฮามีดี ประธานพรรคอัมโน และ ผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซีย

malaysiakini/thestar/says – อะหมัด ซาเฮด ฮามีดี ประธานพรรคอัมโน และ ผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซีย โยงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่มีผู้เสียชีวิต 1,900 คน ในปาลู ประเทศอินโดนีเซีย เข้ากับกิจกรรมของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือในภาษาอังกฤษย่อว่า LGBT 

เขาเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของชาวมาเลเซียว่าจะต้องเผชิญกับความโกรธของพระเจ้าเนื่องจากการกระทำของชุมชนเลสเบียนเกย์ ไบเซ็กชวล และบุคคลข้ามเพศ (LGBT) ที่นี่

“เราเป็นห่วงเพราะเรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในปาลูเมื่อไม่นานมานี้ สถานที่ซึ่งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ ซึ่งเชื่อกันว่ามีสมาชิก (LGBT)  มากกว่า 1,000 คนเข้าร่วมกิจกรรมที่นั่น”

ประธานพรรคอัมโน และ ผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซีย กล่าวหาว่าแผ่นดินไหวในปาลู อินโดนีเซีย เพราะเป็นการลงโทษจากอัลเลาะห์

“พื้นที่ทั้งหมดถูกทำลายลง โดยเป็นส่วนหนึ่งของการลงโทษของพระเจ้า” เขากล่าว

เขายังตั้งคำถามถึงความสำเร็จของโครงการรักษาและ “ฟื้นฟู” ชาว LGBT ของมาเลเซีย ที่ชื่อโครงการมูกัยยัม (Mukhayyam) 

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการศาสนาอิสลามมาเลเซีย “มูญาฮิด ยูซุฟ ราวา” ได้ออกมาตอบโต้ว่า ชาวมุสลิมไม่ควรใช้ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นตัวอย่างเพื่อพิสูจน์ในเรื่องนี้

เขากล่าวว่า แม้ว่าปัญหา LGBT จะเป็นปัญหาทางสังคมในประเทศ แต่สถานการณ์ก็อยู่ภายใต้การควบคุม

เขากล่าวว่า มุมมองของรัฐบาลเกี่ยวกับวัฒนธรรม LGBT มีความชัดเจนว่าไม่เป็นที่ยอมรับ แต่รัฐบาลจะใช้แนวทางต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“ในฐานะชาวมุสลิมเราเชื่อว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนั้นเกิดตามธรรมชาติ โดยได้รับการอนุมัติจากพระเจ้า” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการศาสนาอิสลามมาเลเซียกล่าว

ตามความเห็นของเขา รัฐบาลตระหนักว่าพฤติกรรมของชุมชน LGBT อาจทำให้พวกเขาถูกกีดกันจากวัฒนธรรมหลักมากยิ่งขึ้น

“ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่ามีบุคคลข้ามเพศจำนวน 20,000 คน และมากกว่า 80% เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมทางเพศ”

“Jakim เป็นหน่วยงานในระดับรัฐบาลกลาง ได้ริเริ่มที่จะติดต่อกับชุมชนนี้ รวมทั้งเชิญพวกเขากลับมามีส่วนร่วมในโครงการการรักษาและฟื้นฟูโดยสมัครใจ ผ่านทางโครงการมูกัยยัม (mukhayyam) ตั้งแต่ปี 2100 (พ.ศ.2554)”

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ได้ดำเนินการไปพร้อม ๆ กับหน่วยงานด้านศาสนาอิสลามของรัฐที่เกี่ยวข้องอื่นๆ และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)