“อิหร่าน” ตบหน้า “ซีไอเอ” เจาะระบบสื่อสารสายลับง่ายๆ ด้วย “กูเกิล”

รายงานของยาฮูนิวส์ (Yahoo News) แฉความล้มเหลวด้านข่าวกรองครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ เมื่อการสนทนาลับของหน่วยข่าวกรองถูกเปิดเผยตัวตนโดยฝีมือของหน่วยข่าวกรองอิหร่าน

ยาฮูนิวส์  รายงานอ้างแหล่งข่าวจากหน่วยสืบราชการลับและแหล่งข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่งว่า ระบบการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตที่ “ซีไอเอ” ใช้เพื่อสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานทั่วโลกถูกเปิดเผยโดยชาวอิหร่านซึ่งแค่ใช้การค้นหาด้วย “กูเกิล” 

อย่างไรก็ตามตามรายงานชิ้นนี้ก็ระบุว่า ช่องโหว่ของเครือข่ายสื่อสารดังกล่าวได้รับการตรวจพบเมื่อหลายปีก่อน ก่อนการพัฒนามาใช้งานดังกล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2008 มีรายงานว่า “จอห์น เรดี้” (John Reidy) บุคลากรสัญญาจ้างดูแลด้านระบบป้องกัน ซึ่งมีหน้าที่ในการระบุ ติดต่อ และจัดการด้านทรัพยากรบุคคลของ “ซีไอเอ” ที่ปฏิบัติการในอิหร่าน ได้ออกมาโพนทะนาเตือนเกี่ยวกับ “ความบกพร่องของหน่วยสืบราชการลับขนาดใหญ่” ที่เกี่ยวข้องกับ “การสื่อสาร” กับสายลับ

ซีไอเอสามารถป้องกันความบกพร่องนี้ได้โดยใช้คำเตือนของเขา แต่หนึ่งปีหลังจาก “สถานการณ์ฝันร้ายนี้” เขากล่าวว่าความจริงเขาถูกไล่ออกจากตำแหน่ง เพราะสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาของเขากล่าวว่า “เป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์” ขณะที่เขาเชื่อว่าเหตุผลเบื้องหลังการไล่เขาออกคือการแก้แค้น

เออร์วิน แมคคอลลา (Irvin McCullough) นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงแห่งชาติจาก สำนักงานความรับผิดชอบรัฐบาล (Government Accountability ) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร กล่าวกับ Yahoo News ว่า “นี่เป็นหนึ่งในความล้มเหลวที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ 11 กันยายน และซีไอเอลงโทษผู้ที่ไขปัญหาได้”

การเปิดเผยนี้อ้างว่า ชาวอิหร่านสามารถเอาชนะระบบข่าวกรองของสหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้สามารถต้านทานต่อความพยายามในการตอบโต้ข่าวกรองที่ซับซ้อน โดยไม่มีปัญหาใดๆ

“มันไม่ได้ถูกออกแบบมา หมายถึง การที่จะใช้ในระยะยาวสำหรับคนที่จะพูดคุยกับแหล่งข่าว ปัญหาคือการทำงานได้ดีเป็นเวลานานเกินไป กับคนจำนวนมากเกินไป แต่นี่เป็นระบบแค่พื้นฐาน” อดีตเจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยชื่อบอกกับยาฮู

รายงานชิ้นนี้อ้างถึงคนวงในที่ระบุว่า ในความเป็นจริงเครือข่ายการสื่อสารถูกบุกรุกก่อนหน้านี้ในประเทศจีน แต่ความเสี่ยงที่เกิดจากระบบดูเหมือนจะถูกมองข้ามเนื่องจากการใช้งานได้ง่าย

โดยในปี 2010 เตหะรานได้ดำเนินการเปิดเผยและระบุตัวตนสายลับของซีไอเอชุดหนึ่ง และอีกหนึ่งปีต่อมา เจ้าหน้าที่ของอิหร่านก็ประกาศว่า พวกเขาได้ทำลายเครือข่ายสอดแนมของซีไอเอ และเปิดเผยชื่ออดีตสายลับเพิ่มอีก 7 คน

ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ได้เขียนว่า ในปี 2011 มีการออกอากาศทางโทรทัศน์ของอิหร่านระบุว่า สายลับสหรัฐฯ ได้สร้างเว็บไซต์บริษัทปลอมหลายเว็บไซต์เพื่อรับสมัครสายลับในอิหร่านโดยสัญญาว่าจะให้รางวัลมากมาย รวมทั้งงาน วีซ่า และการศึกษาในต่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงพวกเขาก็ลงเอยด้วยการประชุมกับเจ้าหน้าที่ซีไอเอที่ต้องการจ้างพวกเขาเป็นสายลับ

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อีกรายหนึ่งบอกกับยาฮูนิวส์ว่า นั่นสร้าง “ความตกใจและความกลัว” ต่อซีไอเอเกี่ยวกับวิธีง่ายๆ ของอิหร่านในการเข้าประชิดพวกตน

แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าชาวอิหร่านแทรกซึมเข้าไปอยู่ในเครือข่ายใดก็ตาม แต่อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐสองคนบอกกับยาฮูว่า พวกเขาได้สร้าง “สายลับสองหน้า” (double agent) ไว้ ซึ่งท้ายที่สุดสายลับสองหน้านี้ก็จะนำชาวอิหร่านที่แทรกซึมไปสู่ระบบการสื่อสารที่เป็นความลับของซีไอเอ และนำไปสู่การเปิดเผยตัวในที่สุด

รายงานชิ้นนี้ของยาฮูนิวส์อ้างว่า อิหร่านนั้นใช้เพียงกูเกิล (Google) เพื่อระบุเว็บไซต์ที่ซีไอเอใช้เพื่อติดต่อกับสายลับของตน และใช้ประโยชน์จากฟังก์ชันของเครื่องมือค้นหานี้มากที่สุดเพื่อแยกแยะและแยกเว็บไซต์ที่มีตัวบ่งชี้ดิจิทัลแบบเดียวกัน

จากนั้นหน่วยข่าวกรองอิหร่านก็สามารถติดตามผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์เหล่านี้ได้ และในที่สุดก็ค้นพบเครือข่ายซีไอเอ รายงานดังกล่าวระบุ

หน่วยข่าวกรองสหรัฐไม่แน่ใจว่าอิหร่านและจีนร่วมมือกันหรือไม่ หรือต่างฝ่ายต่างจัดการในการแกะรอยเครือข่าย แต่ระบบที่ใช้ในทั้งสองประเทศมีความคล้ายคลึงกัน

ยาฮูเขียนว่า ซีไอเอปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว ขณะที่ทูตอิหร่านประจำสหประชาชาติก็ไม่ยอมตอบกลับคำขอข้อมูลในเรื่องนี้

คลิ๊กอ่านรายงานฉบับเต็มภาษาอังกฤษจาก Yahoo News