คำจารึกภาษาอาหรับนี้ย้อนกลับไปถึงการต้อนรับอันน่ายินดีที่พระองค์ได้รับหลังจากเสด็จกลับจากการนำกองทัพรุกไล่พวกเซวิลล่า เมื่อฝูงชนคอยต้อนรับพระองค์ด้วยการกู่ร้องว่า ‘อัล-ฆอลิบ’ – ‘ผู้พิชิต’ พระองค์ตอบว่า ‘ไม่มีผู้พิชิตใดนอกจากอัลลอฮ์’ ใครจะคาดคิดว่าจะได้เห็นภาษาอาหรับประโยคเดียวกันนี้ และลานโถงหรูหราแบบเดียวกันที่จำลองแบบมา ในห้าศตวรรษต่อมา โดยผู้รักชาติชาวโปแลนด์ ไททัส เซียลินสกี้ ในปราสาทที่บูรณะขึ้นใหม่ของเขา ในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อคอร์นิค ห่างจากอัลฮัมบราของสเปนไปทางตะวันออกไม่กี่พันกิโลเมตร
เมื่อกลุ่มนักท่องเที่ยวผ่านเข้าไปในปราสาทคอร์นิคในปัจจุบัน ยังมีบางคนที่ถามว่า อะไรทำให้เจ้าของคนสำคัญของสถานที่นี้เลือกรูปแบบอิสลามมาใช้สำหรับที่พักพร้อมห้องสมุดที่บูรณะใหม่ของเขา ผู้เขียนจึงตัดสินใจที่จะค้นหาความเกี่ยวข้องกันระหว่างอัลฮัมบราของชาวมุสลิมยุคกลางในสเปน กับปราสาทคอร์นิคของคริสเตียนศตวรรษที่ 19 ในโปแลนด์ หลังจากหลายศตวรรษแห่งความเจริญรุ่งเรือง รัฐใหญ่ที่สุดในยุโรปสมัยนั้น : เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ก็ได้ สิ้นสุด ลงเมื่อถูกรุกรานโดยเพื่อนบ้านอย่างราชอาณาจักรออสเตรีย, ปรัสเซีย และรัสเซีย เมื่อปี 1795 เป็นเวลา 123 ปี ที่ไม่ปรากฏชื่อโปแลนด์บนแผนที่ทวีปยุโรป ในระหว่างช่วงเวลานั้น ไม่มีรัฐบาลหรือสถาบันเป็นทางการใดๆ ที่จะดูแลมรดกของชาติ
ดังนั้น ครอบครัวชนชั้นสูงของโปแลนด์และลิทัวเนียจึงเข้าครองบทผู้พิทักษ์ประวัติศาสตร์ของชาติและสมบัติของชาติ เหมือนชาวเอมิเรตที่พยายามรักษามรดกทางศิลปะโบราณและวิถีชีวิตดั้งเดิมของบรรพบุรุษไม่ให้ถูกลืมเลือนไปด้วยการสร้างพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว ชาวโปแลนด์ก็มีความเพียรพยายามเช่นเดียวกันนั้นที่จะปกปักรักษาสัญลักษณ์ความเป็นชาติเอาไว้ภายใต้การยึดครองที่ยาวนาน
ในการติดตามหาความยิ่งใหญ่ในอดีตของสาธารณรัฐชาวโปล์ระหว่างช่วงเวลาที่มันตกเป็นของมหาอำนาจต่างชาตินั้น มันได้กลายเป็นหน้าที่ในความจงรักภักดีต่อชาติที่จะต้องเก็บรวบรวมและแสดงต้นฉบับเก่าแก่ และอนุสรณ์ต่างๆ ของบรรพบุรุษ เช่น
ท่านเคาท์ไททัส เซียลินสกี้ ก็เช่นเดียวกัน เขาพยายามหาทางที่จะแสดงชุดสะสมของตัวเองเขาเองในแนวทางที่น่าภาคภูมิที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เขาตัดสินใจที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองของชาติอันยิ่งใหญ่ที่งดงามวิจิตรขึ้นมาใหม่ ด้วยการบูรณะปราสาทโบราณที่เป็นมรดกของเขาเพื่อ ‘รับรองความปลอดภัยของการเก็บรักษามรดกของชาติอย่างแท้จริง เป็นมูลนิธิที่อุทิศเพื่อชาติ’ (ตัดประโยคมาจากจดหมายของ T. Dzialynski แปลโดยผู้เขียน)
การใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การยึดครองของปรัสเซีย นายใหญ่แห่งทรัพย์สินที่ดินคอร์นิคแสวงหาช่องทางที่จะแสดงออกถึงความรู้สึกรักชาติของเขาโดยไม่ทำให้ผู้ยึดครองระคายเคือง ในขณะเดียวกัน เขาพยายามที่จะสร้างกรอบอันทรงคุณค่าสำหรับศิลปวัตถุของเขาเอง สถาปนิกชาวยุโรปที่เด่นๆ ถูกนำมาทำงานเพื่อบูรณะสิ่งปลูกสร้างโบราณและเสริมให้มันทันสมัยขึ้น ดังผลที่ออกมา การผสมผสานกันขององค์ประกอบแนวนีโอโกธิกของอังกฤษกับอาหรับอิสลาม ถูกคัดเลือกมาเพื่อประดิษฐ์เพชรแห่งสถาปัตยกรรมเม็ดล่าสุดนี้
ในการค้นหาสัญลักษณ์ที่เหมาะสม เซียลินสกี้ได้พบกับรูปแบบสถาปัตยกรรมอาหรับโบราณ ตรงนี้เอง วัฒนธรรมอิสลามที่ผ่านมาทางราชอาณาจักรมัวร์จึงดูเหมือนจะเหมาะสมที่สุดกับกรอบงานในชุดสะสมของเขา และเพื่อให้มีความเข้ากันได้ในโครงสร้าง องค์ประกอบด้านตะวันออกของปราสาทคอร์นิคจึงประกอบไปด้วยตัวอย่างแบบอิสลามที่สำคัญๆ สามแห่ง นั่นก็คือ พระราชฐานไลออน คอร์ท แบบมัวร์ ของพระราชวังอัลฮัมบรา (สำหรับห้องโถงของปราสาทคอร์นิคที่ไว้เก็บต้นฉบับอันล้ำค่า, สรรพาวุธต่างๆ และสิ่งสำคัญของชาติในกลุ่มอื่นๆ), มัสยิดสุลต่านฮัซซัน ในกรุงไคโร (สำหรับประตูใหญ่ตรงทางเข้าห้องโถงของปราสาทคอร์นิค) และอนุสรณ์สถานทัชมาฮาล ในเมืองอักรา ประเทศอินเดีย (สำหรับเวิ้งผนังด้านหลังของปราสาทคอร์นิค) นอกจากนี้ พรมของตะวันออกยังเป็นต้นแบบสำหรับพื้นขัดลายไม้เนื้อแข็ง อันสวยงามหรูหรา (พื้นปาร์เกต์) ของปราสาททั้งหลัง เขาได้ด้วยการมอบหมายโครงการแนวตะวันออกอันมีความสลับซับซ้อนสูงของเขาให้แก่ช่างฝีมือชาวโปแลนด์นี้เอง เจ้าของปราสาท ผู้คงแก่เรียนท่านนี้จึงได้ฝากสักขีพยานในฝีมือความชำนาญชั้นสูงของพวกเขาเอาไว้
การเข้ามาในภาคตะวันออกของเซียลินสกี้ เพื่อรักษาบทบาทความรักษาของเขาให้สมบูรณ์เกิดขึ้นจากความสนใจในวัฒนธรรมแบบตะวันออกที่เพิ่มขึ้นในยุโรปโดยทั่วไป เหตุผลสำหรับความสนใจนี้ ซึ่งย้อนกลับไปหลายร้อยปีมีต่างๆ นานา ในด้านหนึ่ง ความสนใจการศึกษาแบบตะวันออกที่กำลังเติบโตขึ้นในชาวคริสเตียนยุโรปได้ทำให้เกิดความเปิดกว้างทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมแบบตะวันออกไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมสำหรับชนชั้นสูงชาวโปแลนด์ผู้นี้ด้วยเช่นกัน ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในศตวรรษที่ 17 และ 18 ว่าสืบเชื้อสายมาจากชาวซาร์มาเทียน ชนเผ่าโบราณเผ่าหนึ่งของชาติพันธุ์อิหร่าน ด้วยการมีต้นกำเนิดของพวกเขาอยู่ในใจ พวกเขาจึงได้ลอกเลียนแบบและนำประเพณีแบบตะวันออก (ประเพณีของเปอร์เซียและตุรกีที่โดดเด่น) และรสนิยมเกี่ยวกับความงามมาใช้ ถึงแม้พวกเขาจะหวาดกลัวพวกออตโตมาน เติร์กก็ตาม
การติดต่อกันอย่างกว้างขวางระหว่างยุโรปตอนกลางกับอาณาจักรออตโตมานในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ส่งผลให้เกิดการแพร่ขยายของสมัยนิยมแบบตุรกีในโปแลนด์ เป็นแบบอย่างในชุดแต่งกายประจำชาติของชนชั้นสูง เช่น เสื้อคลุมและเสื้อนอกยาว, สนามรูปโค้ง และเหนือสิ่งอื่นใดคือรูปแบบชีวิตที่หรูหรา สิ่งนี้ทำให้เพิ่มความต้องการในเครื่องประดับแบบตะวันออก สรรพาวุธและเครื่องแต่งกายหลายชิ้น จนทำให้โรงงานของโปแลนด์เริ่มลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ของตุรกี
นอกเหนือจากนั้น เป็นการสมควรที่จะกล่าวถึงว่า ตุรกี ออตโตมานในศตวรรษที่ 19 ไม่รับรองการแบ่งแยกของโปแลนด์ และปล่อยให้ตำแหน่งทูตของโปแลนด์ในอิสตันบูลเป็นที่ว่างอยู่เสมอ ยิ่งกว่านั้น สงครามครีมีน (Crimean War) ในช่วงปี 1850s ซึ่งตุรกีได้รับการสนับสนุนโดยอังกฤษ พยายามที่จะต่อกรกับรัสเซีย เป็นโอกาสที่น่าจดจำในประวัติศาสตร์ของประชาชนชาวโปแลนด์ที่จะได้กอบกู้ประเทศชาติ คณะทำงานชาวโปแลนด์หลายคนได้เข้าร่วมกับอิสตันบูลด้วยความหวังว่าจะเสริมการสนับสนุนเพื่อความเป็นอิสรภาพจากการยึดครองของรัสเซีย และลูกเลยของท่านเคาท์เซียลินสกี้เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
ในยุโรปตะวันตก ความกลัวต่อเพื่อนบ้านอย่างอาณาจักรออตโตมัน ยังค่อยๆ เปิดทางไปสู่ความอยากรู้อยากเห็นอีกด้วย ประจวบกับความสนใจของชาวยุโรปที่เพิ่มมากขึ้นต่อความอุดมสมบูรณ์ของตะวันออก สายลับจึงถูกส่งออกไปเพื่อสำรวจดินแดนแห่งนิทานนี้ เรื่องราวพื้นบ้านอันลี้ลับของชายหนุ่มสองหน้า วีรบุรุษแปลกประหลาดและน่าเศร้า ผู้ซึ่งจะยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อภารกิจ ‘อันสูงส่ง’ ของเขา เริ่มสร้างความตื่นเต้นให้กับกวีชาวโปแลนด์ในศตวรรษที่ 19 ที่มีหัวใจรักวรรณคดี ตัวละครเหล่านั้นเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบของวีรบุรุษในวรรณคดีชวนฝันที่แสดงให้เห็นแรงบันดาลใจที่จะปลดปล่อยชาติให้เป็นอิสระ
ในทางตรงข้าม เทพนิยายชวนฝันอันโด่งดังของชาวมัวร์ Granada ได้สร้างความประทับใจให้กับชาวโปแลนดืผู้รักชาติที่มีการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ราชอาณาจักรอาหรับที่เจริญรุ่งเรืองได้ปลุกความทรงจำถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศของตนก่อนที่เพื่อนบ้านจะเข้ามารุกราน ในขณะเดียวกันส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมของคฤหาสน์แนวตะวันออก รวมถึงพระราชวัง อัลฮัมบรา ได้รับความนิยมในยุโรปตะวันตกด้วยวิธีการจากหนังสือแบบโครงสร้าง
ถึงกระนั้น แบบจำลองของพระราชวัง อัลฮัมบราอันโอ่อ่า สามารถหาชมได้ที่นิทรรศกาลโลกในกรุงลอนดอนเมื่อปี 1851 ด้วยการมีชีวิตอยู่ในภาวะทางประวัติศาสตร์และสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาที่นายใหญ่แห่งทรัพย์สินที่ดินของคอร์นิคที่จะต้องรับเอารูปแบบของตะวันออกมาใช้ในระหว่างการบูรณะเคหาสน์ของเขา ด้วยเหตุนี้ หอนิทรรศการสองชั้น ที่เรียกว่า Moresque Hall จึงถูกสร้างขึ้น ซุ้มโค้งประตูโบกปูสทัคโคอันงดงาม เช่นที่จะเห็นได้ในพระราชฐานไลออนคอร์ท ของพระราชวังอัลฮัมบรา เสริมด้วยชั้นที่ลดหลั่น และสลักลวดลายดอกไม้ประดับประดาการตกแต่งภายในห้องโถงนิทรรศการ ทั้งสองแห่งมีห้องสมุดอยู่ห้องหนึ่ง ซึ่งเก็บรวบรวมหนังสือที่มีค่ามากที่สุดเอาไว้ ห้องสมุดของเซียลินกี้มีหนังสือมากถึง 320,000 เล่ม ซึ่งเจ้าของห้องสมุดได้ออกแบบชั้นวางหนังสือที่เหมาะสม แยกออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ เช่น วรรณคดี, ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์ เป็นต้น
เซียลินสกี้เก็บสะสมต้นฉบับหนังสือที่หายากจำนวนมาก เล่มที่เก่าแก่ที่สุดเป็นต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสจากศตวรรษที่ 9 หรือ 10 ตัวอย่างหนังสือล้ำค่าอื่นๆ รวมถึงสำเนาหายากของคัมภีร์ไบเบิลจากศตวรรษที่ 13 ที่ถูกแปลเป็นแปดภาษา
อย่างไรก็ตาม บางทีอัญมณีที่ไม่คาดฝันที่สุดในชุดสะสมของคอร์นิคนี้อาจจะเป็นต้นฉบับคัมภีร์อัล-กุรอานจากศตวรรษที่ 15 และ 17 ก็เป็นได้ ฉบับที่เก่าแก่กว่าเป็นฉบับที่งดงามเป็นพิเศษจากปี ค.ศ.1470-71 (ฮ.ศ.874) “ขนาดเล่ม 15 x 12 เซนติเมตร เขียนบนกระดาษสีขาว ด้วยตัวอักษรภาษาอาหรับ ‘นาชี’ มันเย็บติดกันในแผ่นหนังที่จารึกลวดลายทรงกลม เขียนด้วยลายมือสวยงามด้วยหมึกสีดำ ตัวหนังสือล้อมด้วยกรอบสามชั้นสีทองและน้ำเงิน แถวแรกและแถวสุดท้ายของแต่ละหน้าเขียนด้วยตัวอักษรสีทอง เสริมด้วยสระสีดำ ชื่อของบทอัล-กุรอาน (ซูเราะฮ์) ล้อมกรอบในการตกแต่งเป็นสีทองบนพื้นหลังสีน้ำเงิน สีของมันดูเหมือนได้รับการเก็บรักษาเป็นอย่างดี”
นอกเหนือจากส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมแล้ว พื้นห้องที่หรูหราอย่างยิ่ง และหนังสือตำราชุดสะสมพิเศษ นักสะสมศิลปะแนวตะวันออกจะพบบว่าชุดสะสมของเซียลินสกี้ยังมีภาพวาดในแนวตะวันออกอีกจำนวนมาก ในจำนวนนั้นยังมีภาพวาดขนาดเล็กของเปอร์เซียและตุรกีอีกมากมาย ภาพวาดสีน้ำมันบนแผ่นไม้ขนาดเท่าไปรษณียบัตรแสดงภาพคนชั้นสูงของตะวันออกในชุดแต่งกายสำหรับงานรื่นเริงของพวกเขา ภาพวาดขนาดเล็กที่มีความพิเศษเป็นภาพของหญิงสาวตะวันออกคนหนึ่งที่กำลังสูบ ชิชา หรือไปป์น้ำ แสดงให้เห็นถึงหญิงชาว ตะวันออกที่เป็นอิสระในยุคที่การสูบยังไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่สุภาพสตรีชาวยุโรป
ปราสาทคอร์นิคยืนเด่นอย่างภาคภูมิเป็นตัวอย่างล้ำเลิศของความโก้หรูทางสถาปัตยกรรมและความสวยงามที่ควบคู่ไปกับประโยชน์ในการใช้สอยได้จริง ปราสาทแห่งนี้ถูกอุทิศให้แก่ชาติโปแลนด์ในปี 1924 ในรูปแบบของมูลนิธิคาร์นิค แหล่งสะสมต้นฉบับหนังสือที่หายาก, แม่พิมพ์เก่าแก่ และหนังสือหายากแห่งนี้ เป็นสถานที่หนึ่งที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโปแลนด์ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปชมได้
เขียนโดย : มัลการ์ซาตา เดอะ ลาทัวร์-อับดุลลา
แปล : เยาฮาเราะห์ ยอมใหญ่
ข้อมูล : http://muslimheritage.com
ที่มา : นสพ.พับลิกโพสต์ ฉ.34 พ.ย.- ฉ.35 ธ.ค. 53
นักแปล, โต๊ะข่าวต่างประเทศ