เมื่อวันที่ 13 มี.ค.58 เวลา 16.00 น. ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นต่อผลของการไม่ดำเนินการปฏิรูประบบภาษีและชะลอการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะปานกลาง (3-5 ปี) และ ในระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) ประสบปัญหาทั้งในมิติความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มิติประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรโดยเฉพาะที่ดิน มิติการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน (ไม่มีเงินเพียงพอลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจสำคัญ) ปัญหาการวางผังเมืองและการทำโซนนิ่ง รวมทั้งปัญหาฐานะทางการคลังและหนี้สาธารณะ เนื่องจากการจัดเก็บจะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้าหากมีการผ่านกฎหมายนี้มาบังคับใช้ในปีนี้ จึงไม่ได้มีผลโดยตรงต่อภาวะเศรษฐกิจในเวลานี้ การเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มต่างหาก (หากตัดสินใจเก็บเพิ่มในเดือนกันยายนเพราะรายได้รัฐไม่เพียงพอต่อรายจ่ายและมีการเลื่อนการจัดเก็บมาหลายครั้งแล้ว) จะมีผลกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง
หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ขยายตัวตามเป้าหมายในระดับเฉลี่ย 4% ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2563 การไม่ปฏิรูประบบภาษีและพลักดันภาษีทรัพย์สินตั้งแต่วันนี้ จะทำให้ไทยไม่สามารถทำตามกรอบแผนความยั่งยืนทางการคลังได้ (ตามแผนต้องทำงบประมาณสมดุลปี 2560) และจะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขึ้นไปแตะระดับ 54.4% ในปี พ.ศ. 2562 (แผนบริหารหนี้สาธารณะเดิมอยู่ที่ 43.9%) ซึ่งเป็นระดับที่น่าเป็นห่วงและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
โครงสร้างภาษีของไทยนั้นขึ้นอยู่กับฐานรายได้และฐานบริโภคมากเกินไป ขณะที่ภาษีทรัพย์สินเป็นสัดส่วนรายได้ของภาครัฐน้อยมาก หากเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นควรลดภาษีบริโภคกระตุ้นการใช้จ่าย ลดภาษีเงินได้เพื่อคนจะได้ขยันทำงานมากขึ้น เพิ่มภาษีทรัพย์สิน (ภาษีที่ดินและภาษีมรดก) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำกระจายความมั่งคั่งและการถือครองที่ดิน
ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในระดับรุนแรงมากๆเนื่องจากกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุดมากถึง 325 เท่า นอกจากนี้กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกนี้ยังถือครองที่ดินคิดเป็น 80% กว่า และ คนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศนี้ 10% แรกถือครองที่ดินเกือบ 90% ของทั้งประเทศ นอกจากนี้จากผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินยังพบว่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือการกระจายการถือครองที่ดินสูงถึง 0.89 การที่ค่า Gini Coefficient มีค่าสูงเกือบ 0.9 สะท้อนถึงความไม่ธรรมและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่รุนแรง
ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคอย่างรุนแรงเช่นนี้แก้ไขได้ด้วยกลไกภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าสำหรับผู้ที่ถือครองที่ดินตั้งแต่ระดับพันไร่ขึ้นไปหรืออาศัยอยู่ในบ้านราคาตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนประชาชนโดยทั่วไปที่มีรายได้น้อยและอาศัยอยู่ในบ้านที่มีมูลค่าไม่ถึง 5 ล้านบาทไม่ต้องเก็บภาษีเลย ส่วนบ้านราคาตั้งแต่ 5-20 ล้านบาท เก็บไม่เกิน 0.01% การเก็บภาษีตามข้อเสนอข้างต้นจะไม่กระทบกับประชาชนโดยทั่วไปที่มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางเลย ส่วนประเด็นบ้านหรือที่ดินอยู่อาศัยของชนชั้นกลางที่ซื้อมาด้วยการเก็บออมอย่างยากลำบากและเป็นมนุษย์เงินเดือนเสียภาษีเงินได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว ทำไมต้องมาเสียภาษีที่อยู่อาศัยอีกหรือที่ดินหรือบ้านที่ได้มรดกจากบรรพบุรุษใจกลางเมือง มีมูลค่าสูงตามความเจริญทางเศรษฐกิจ ประเด็นพวกนี้ต้องไปดูแลให้เกิดความเป็นธรรม
แต่ไม่ควรยกเลิกภาษีทรัพย์สิน เพราะการจัดเก็บโดยหลักการแล้วจะเป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวมและการจัดเก็บโดยทั่วไปก็ยึดหลักความสามารถในการจ่ายอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่รายละเอียด บ้านประเภทไหน ที่ดินประเภทควรได้รับการยกเว้น และการชี้แจงสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจ
นอกจากนี้ภาษีที่ดินยังช่วยทำให้การจัดรูปที่ดิน การบริหารจัดการและพัฒนาที่ดินดีขึ้น นอกจากการใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น การมีผังเมืองและระบบโซนนิ่ง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าที่ดิน กฎหมายการควบคุมการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เป็นต้น
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ยังวิเคราะห์อีกว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่เหมาะสมยังทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งมากขึ้นเพราะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณไปพัฒนาพื้นที่ สามารถทบทวนและยกเลิกภาษีโรงเรือนที่ล้าสมัยมีอัตราสูงเกินไปได้ และหากมีการใช้เงินจากภาษีที่ดินอย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่โปร่งใสย่อมทำให้ประชาชนในพื้นที่และผู้มีสิทธิเลือกตั้งตรวจสอบได้ง่าย นอกจากนี้ยังสามารถนำเงินรายได้จากภาษีมาพัฒนาประเทศด้านต่างๆซึ่งน่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท หรือนำเงินงบประมาณมาจัดตั้งธนาคารที่ดิน และ โฉนดชุมชนนำมาแจกให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกิน
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวทิ้งท้าย ในฐานะ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และ กรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราไม่สามารถพลักดันการปฏิรูประบบภาษีที่จะเป็นประโยชน์ต่อความเข้มแข็งทางการเงินการคลังของประเทศในระยะปานกลางและระยะยาวได้ ไม่สามารถส่งเสริมให้ความเป็นธรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศมากขึ้นได้ด้วยกลไกภาษี อยากเรียกร้องให้คนไทยที่พอมีศักยภาพช่วยกันเสียสละให้ประเทศชาติ ให้สังคม เราก็จะอยู่ในสังคมที่แบ่งปันช่วยเหลือกัน สันติสุขก็จะเกิดขึ้นได้ ส่วนใครกังวลว่า เงินภาษีที่เสียไปจะถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือมีการทุจริตรั่วไหล เราก็ต้องทำให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราจะได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้งบประมาณผ่านช่องทางต่างๆมากขึ้น
ผมคิดว่าคนที่มีฐานะร่ำรวยมากๆต้องเสียสละบ้าง เพราะทรัพย์สินเงินทอง ที่ดินที่ท่านถือครองอยู่มากจนล้นเกินมากๆนั้น หากท่านจากโลกนี้ไปแล้วก็ไม่สามารถเอาอะไรไปได้เลย