พบ “วาฬสเปิร์ม”หรือวาฬหัวทุย ตัวหนึ่งเสียชีวิตในประเทศอินโดนีเซีย ด้วยถ้วยพลาสติก 115 ชิ้น และถุงพลาสติก 25 ใบในกระเพาะอาหาร สร้างความห่วงใยในหมู่นักสิ่งแวดล้อม
ชิ้นส่วนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของขยะพลาสติกเกือบ 6 กิโลกรัม ที่ค้นพบในซากวาฬ 9.5 เมตร (31 ฟุต) เมื่อมันถูกพัดขึ้นฝั่งในอุทยานแห่งชาติวาคาโทบี (Wakatobi) ทางตะวันออกเฉียงใต้ในจังหวัดสุลาเวสี เมื่อวันจันทร์ (19 พ.ย.)
เศษซากขยะอื่นๆ ได้แก่ รองเท้าแตะและผ้าใบที่ฉีกขาด เป็นต้น เอเอฟพีรายงาน
กลุ่มอนุรักษ์ WWF ของอินโดนีเซียกล่าวในสื่อโซเชียลว่า ยังพบขวดพลาสติก 4 ขวดและเศษเชือก 3.26 กิโลกรัม รวมทั้งถุงพลาสติกและถ้วย
สาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิตของวาฬตัวนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีสัญญาณว่า “ขยะพลาสติกอาจเป็นต้นเหตุได้” ผู้ประสานงานด้านการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเลของ WWF ประเทศอินโดนีเซียกล่าวกับเอเอฟพี
อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ประกอบด้วย 4 เกาะ ที่มีแนวประการังขนาดใหญ่ล้อมรอบ มีชื่อเสียงในหมู่นักประดาน้ำ
ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ภาพสลดใจนี้ผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมทั้งระบุว่า
ข่าววาฬสเปิร์มตายที่อินโดนีเซีย กำลังดังไปทั่วโลก เพราะในท้องพบขยะพลาสติก 6 กิโลกรัม เหตุการณ์นี้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับวาฬนำร่องที่ตายในเมืองไทย ผมจึงขอสรุปให้เพื่อนธรณ์ทราบ
หากนับเฉพาะข่าวดังเรื่องวาฬกับขยะพลาสติก วาฬตัวนี้ถือเป็นกรณีที่สามในรอบปี
เริ่มจากวาฬที่สเปนตอนต้นปี วาฬนำร่องของไทยตอนกลางปี และวาฬที่อินโดนีเซีย
วาฬตายใกล้เกาะ Sulawasi อินโดนีเซีย ซึ่งก็อยู่ในทะเลในเขตเชื่อมต่อกับทะเลไทย ที่วาฬนำร่องตายแถวสงขลา
บริเวณนี้ถือเป็นเขตที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทางทะเลสูงที่สุดในโลก ยังเป็นเขตอยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหายากจำนวนมาก
แต่บริเวณนี้เป็นเขตที่ได้รับผลกระทบจากขยะทะเลสูงมาก
เพราะ 5 ใน 10 ประเทศของอาเซียน ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลติดอันดับ 1-10 ของโลก
อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟีลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย คือประเทศเหล่านั้น
ยังหมายถึงแม่น้ำโขงถูกระบุว่าเป็นแม่น้ำปล่อยขยะลงทะเลมากที่สุด 1 ใน 10 แม่น้ำของโลก
ขยะที่พบในท้องน้องวาฬมีหลากหลาย ทั้งถุงพลาสติก รองเท้าแตะ แก้วและขวดพลาสติก เศษอวน ฯลฯ
นักวิทยาศาสตร์พบว่า วาฬตัวนี้ผอมกว่าปรกติมาก
จึงคาดว่าสาเหตุการตายอาจเกิดจากปัญหาที่ระบบทางเดินอาหาร เพราะไม่สามารถย่อยขยะพลาสติกในท้องได้
ปัจจุบัน น่าจะมีขยะพลาสติกอยู่ในทะเลมากกว่า 150 ล้านตัน
ในแต่ละปี มนุษย์ปล่อยขยะลงทะเลมากกว่า 8 ล้านตัน และตัวเลขอาจเพิ่ม 3 เท่าใน 10 ปีต่อจากนี้ (world economic forum)
การตายของน้องวาฬสเปิร์มที่อินโดนีเซีย ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของมนุษย์ไม่ว่าประเทศไหน
แต่แน่นอนว่าสายตาคนทั้งโลกย่อมมองมาที่ประเทศในเขตอาเซียน
จึงเชื่อได้ว่า รัฐบาลอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอีกหลายชาติ จะเร่งเครื่องมาตรการจัดการพลาสติกใช้แล้วทิ้ง และขยะทะเล
ในเมืองไทยมีการดำเนินงานที่รุดหน้าไปหลายเรื่อง เช่น
การห้ามนำพลาสติกบางประเภทเข้าไปในเขตอุทยาน
การยกเลิกพลาสติกหุ้มฝาขวด
การประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศของคณะกรรมการปฏิรูป ฯลฯ
กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ได้ศึกษาจนสามารถระบุแม่น้ำสายสำคัญที่ปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเล
โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาปล่อยขยะลงมากที่สุด คิดแล้วมากกว่า 50% (จากแม่น้ำที่ศึกษา 5 สาย)
กรมทะเลกำลังเตรียมติดตั้งข่ายดักขยะ 10 แห่ง ตามแม่น้ำสำคัญ เพื่อลดขยะลงสู่ทะเล
ภาคเอกชนมีบทบาทอย่างยิ่งในการจัดการปัญหาขยะพลาสติก
เราเริ่มเห็นการดำเนินงานมาโดยตลอด เช่น การประกาศของห้างร้านต่างๆ ที่จะไม่แจกถุง ลดการใช้ถุง ฯลฯ
ยังรวมถึงการผลักดัน Circular Economy ของ GC และ SCG ที่จะช่วยรีไซเคิลพลาสติกได้เป็นจำนวนมาก
แม้แต่ไอคอนสยามก็มีศูนย์นวัตกรรมรีไซเคิลขยะพลาสติกของอาจารย์สิงห์
วันศุกร์มีงานเกี่ยวกับการลดขยะ 2 แห่งรวด เขาเชิญผมไปทั้งสองแห่ง ตอนเช้าและตอนบ่าย ผมจะนำมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง
แต่ตอนนี้ มองแก้วพลาสติกที่เรากำลังจะถือ…
หลอดพลาสติกที่เรากำลังจะดูด…
ถุงพลาสติกที่เรากำลังจะหิ้ว…
จากนั้นมองภาพน้องวาฬสเปิร์มที่เพิ่งตายไป…
ทุกคนช่วยวาฬ ช่วยเต่า ช่วยโลมา ช่วยปะการัง ช่วยสรรพสัตว์ทั้งท้องทะเลได้
นับตั้งแต่วินาทีนี้ครับ