เมื่อกล่าวถึงสงครามจิตวิทยาสะท้านโลก คงไม่มีใครไม่นึกถึงสงครามเย็น (Cold War) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับโซเวียต หรือที่หลายคนมองว่าเป็นการแข่งขันต่อสู้กันทางอุดมการณ์ทางการเมือง เป็นความขัดแย้งของสงครามตัวแทนที่แพร่กระจายไปทั่วโลก บรรยากาศเต็มไปด้วยความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน มองอีกฝ่ายเป็นภัยคุกคามที่ต้องกำจัด เกิดการแบ่งแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันทั้งในระบบระหว่างประเทศและระบบสังคมภายในรัฐ โดยมีการใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาหรือการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เป็นอาวุธหลักในการทำร้ายหรือทำให้ฝั่งตรงข้ามอ่อนกำลังลง ซึ่งเป็นกลไกปกติของการเมืองโลกอยู่แล้ว
แต่อย่างไรก็ตามยังมีวิถีวิเคราะห์อื่นที่ไม่ได้มองว่าสงครามเย็นเป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างโลกเสรีประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ แต่แท้ที่จริงแล้วใจกลางของความขัดแย้งคือ อำนาจ ผลประโยชน์ และการช่วงชิงความเป็นเจ้า ไม่ต่างอะไรกับความขัดแย้งและสงครามในยุคก่อนหน้านั้น ความเป็นเสรีประชาธิปไตยหรือคอมมิวนิสต์ของรัฐต่างๆในขณะนั้นก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ต่อมหาอำนาจหรือรัฐต่างอุดมการณ์เสมอไป แต่ถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขด้านทรัพยากรและผลประโยชน์เสียมากกว่า
ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือการใช้สงครามจิตวิทยาและการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม ฉายภาพความชั่วร้ายของศัตรูเพื่อลดความน่าเชื่อถือให้ได้มากที่สุด ดึงรัฐต่างๆเข้าร่วมเป็นพันธ์มิตรของตนหลังจากที่รัฐเอกราชทั้งหลายถูกทำให้สะพรึงกลัว (terrorize) ว่าอำนาจอื่นที่ได้รับการหนุนหลังจากมหาอำนาจ จะมาท้าทายและล้มระบอบหรือโครงสร้างอำนาจรัฐของตนเอง ไม่ต่างจากการถ่วงดุลอำนาจกันไปมาของรัฐในยุโรปสมัยก่อนสงครามนโปเลียนระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศล เป็นวัฎจักรเดิมๆ ของการเมืองโลกในระบบพันธมิตร ที่การแบ่งขั้วเป็นกลยุทธ์การโค่นล้มอีกขั้วหนึ่งมาโดยตลอด ต่างแค่เหตุผลเชิงสัญลักษณ์ในการแบ่งของแต่ละสถานการณ์เท่านั้นเอง
การจัดระเบียบโลกใหม่หลังสงครามเย็น
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคหลังสงครามเย็น ( Post-Cold War) และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต นักวิเคราะห์มองการเปลี่ยนแปลงของระบบโลกในลักษณะที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า โลกหลังสงครามเย็นเป็นระบบหลายขั้วอำนาจหรือมีเพียงสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจขั้วเดียว แต่แน่นอนว่าในโครงสร้างใหม่นี้สหรัฐอเมริกามีอำนาจที่เหนือกว่ากลุ่มก้อนอื่นๆ และเป็นผู้นำแห่งโลกเสรีประชาธิปไตยและศูนย์กลางทุนนิยมที่กำลังเติบโตอย่างไร้ขอบเขต กระทั้ง Francis Fukuyama มองว่าเป็นจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ (End of History) ที่เป็นชัยชนะของประชาธิปไตยและระบบทุนนิยมซึ่งจะขับเคลื่อนโลกสมัยใหม่ ในขณะที่ Samuel P. Huntington นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ทำนายอนาคตโลกว่าความขัดแย้งหลังจากนี้จะเป็นการปะทะกันทางอารยะธรรม (clash of civilization)
โลกหลังสงครามเย็น คือ ความพยายามในการจัดระเบียบโลกใหม่ ( New World Order ) ภายใต้การผลักดันของสหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติ โดยสาระสำคัญคือความเป็นประชาธิปไตย ( Democracy ) สิทธิมนุษยชน ( Human Rights ) สิ่งแวดล้อม ( Environment ) การค้าเสรี ( Free trade ) ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร (Copyright) แต่ระเบียบเหล่านี้กลับกลายเป็นเครื่องมือของสหรัฐฯและพันธมิตรในการแสวงหาประโยชน์จากประเทศต่างๆมาโดยตลอดโดยเฉพาะความเป็นประชาธิปไตยที่พบว่าข้อเท็จจริงคือสหรัฐไม่ได้ยึดมั่นในคุณค่านี้หรือผลักดันโลกสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างเท่าเทียมแต่อยู่ที่ผลประโยชน์ของสหรัฐฯเป็นตัวตั้ง ยกตัวอย่างท่าที่สหรัฐฯต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยไทยและอียิปต์ที่ผ่านมา
การจัดระเบียบโลกใหม่เป็นเพียงวาระที่มหาอำนาจใช้เป็นเครื่องมือในการครองสถานะความเป็นเจ้าผ่านสาระดังกล่าว ในขณะเดียวกันนักวิเคราะห์แนวระบบที่มองว่าสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียว แต่ยังมีกลุ่มก้อนหรือรัฐอื่นๆ ที่พยายามถ่วงดุลอำนาจอยู่อย่าง จีน อียู หรือการรวมกลุ่มภูมิภาคอื่นๆ อีกทั้งยังมีรัฐที่ไม่ยอมรับสถานะความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ อยู่จำนวนหนึ่ง และไม่ยอมให้มหาอำนาจมีอิทธิพลเหนือนโยบายของตน กล่าวคือไม่ยอมปรับตามวิถีของระเบียบโลกใหม่ ซึ่งโดยมากจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามประชาธิปไตยหรือไม่ก็เผด็จการและมีลักษณะความสัมพันธ์ที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐอเมริกา อาทิ เกาหลีเหนือ เวเนซุเอลา อิหร่าน อิรัก ลิเบีย ซีเรีย อัฟกานิสถาน พม่า เป็นต้น (แต่สำหรับบางประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เสรี แต่ให้ผลประโยชน์กับสหรัฐฯ กลับมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสหรัฐฯ อาทิ ปากีสถานในยุคประธานาธิบดีมุชาร์ราฟ ซาอุดีอาระเบีย และอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง)
ระเบียบโลกใหม่ ระบบโลกเก่า ใครมาแทนที่โซเวียต
นอกจากค่ายเสรีประชาธิปไตยที่ขยายตัวภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ที่อ่อนกำลังลง ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่จัดได้ว่าเป็นตัวแสดงสำคัญหลังสงครามเย็นคือกลุ่มประเทศมุสลิมทั้งหลาย โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ตอบสนองนโยบายสหรัฐฯ ซึ่งถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ปรับตัวสู่สังคมการเมืองสมัยใหม่ (ตามแนวคิดของ Fukuyama) หรือเป็นปัจจัยสำคัญของความขัดแย้งและการปะทะกันทางอารยะธรรมตะวันตกกับอิสลามในโลกหลังสงครามเย็น (ตามแนวคิดของ Hantington)
นิติภูมิ นวรัตน์ วิเคราะห์ลักษณะของขั้วอำนาจในอดีตและปัจจุบันไว้ว่า “ในอดีตไม่เคยมียุคไหนที่โลกมีมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว อย่างในสมัยที่สหราชอาณาจักร(อังกฤษ) ยิ่งใหญ่ ก็มีฝรั่งเศสเป็นคู่แข่ง หรือสมัยหลังสงครามโลกก็มีมหาอำนาจสองขั้วคืออเมริกาและสหภาพโซเวียต ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลายซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการแพ้สงครามวัฒนธรรม เช่น ชาวโซเวียตนิยมกางเกงยีนส์ของอเมริกา หรือชื่นชอบอาหารอย่างแมคโดนัลด์ของอเมริกา เป็นต้น ……. หลังจากที่อเมริกาขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกเพียงหนึ่งเดียว จึงมองหาคู่ต่อสู้ใหม่ ช่วงแรกมองไปยังจีน แต่จีนในช่วงนั้นยังไม่มีศักยภาพพอที่จะเป็นคู่แข่งกับอเมริกา ดังนั้นอเมริกาจึงหันมาต่อสู้กับโลกอิสลาม และโลกอิสลามเองก็แพ้อเมริกาด้วยอาวุธที่ไม่ใช่อาวุธดังเช่นสหภาพโซเวียต อย่างในปัจจุบันก็แพ้สงครามสื่อ ซึ่งกระแสเกลียดและกลัวอิสลามเพิ่มสูงขึ้น”
สอดคล้องกับความคิดของ Michael Cox ในข้อเขียนของเขา “From the cold war to the war on terror” ในหนังสือ The Globalization of World Politics ซึ่ง Cox แสดงความกังวลว่างานของ Hantington จะไม่ใช่แค่งานวิชาการอย่างเดียว แต่มันจะนำไปสู่ความพยายามของสหรัฐในการหาศัตรูกลุ่มใหม่ที่เป็นประโยชน์และสร้างความชอบธรรมให้กับสหรัฐฯในการรักษาอำนาจนำหรือการครองความเป็นเจ้าหลังยุคโซเวียต
ระเบียบโลกลวงพลาง เมื่อความต่างในอุดมการณ์การเมืองถูกแทนที่ด้วยความต่างทางอารยะธรรม กับความไม่ต่างกันของจักรวรรดนิยม
ระเบียบโลกใหม่หลังสงครามเย็นจึงไม่ได้มีเฉพาะการทำให้เป็นเสรีประชาธิปไตยและทุนนิยมสมัยใหม่ตามแนวคิดของฟูกุยามาเท่านั้น ในทำนองเดียวกับที่สงครามเย็นไม่ได้มีเฉพาะความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่ในระเบียบโลกใหม่ยังแฝงความขัดแย้งที่ถูกนำไปผูกโยงกับความแต่งทางอารยะธรรม (ตามมุมมองการทำนายของ Hantington) ซึ่งในประเด็นการก่อการร้ายสมัยใหม่ ไม่ว่าจะวิเคราะห์ในแบบฟูกูยามาก็จะอธิบายว่าเป็นสาเหตุมาจากการไม่ปรับตัวหรือความล้มเหลวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประเทศมุสลิม รวมทั้งกลุ่มก่อการร้าย มีลักษณะของจารีตนิยมสูง หรือถ้ามองแบบ Hantington คือ การไม่ปรับตัวตามอารยะธรรมตะวันตก (westernization) การวิเคราะห์ทั้งสองแนวมีจุดต่างและจุดร่วมกันพอสมควร คือ แนวหนึ่งเน้นที่โครงสร้างระบอบการปกครองและรูปแบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ อีกแนวเน้นความแปลกแยกแตกต่างทางอารยะธรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนปัญหา แต่มีจุดร่วมคือ มองความไปกันไม่ได้ของประเทศมุสลิมและอิสลามกับโลกสมัยใหม่ (Modernization หรืออาจเรียกว่า Americanization) และอารยะธรรมตะวันตก (Western civilization) โดยมีจุดอ่อนร่วมกันอยู่ที่การละเลยหรือตัดตอนอดีตที่เป็นปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ดินแดน รากเหง้าประวัติศาสตร์ สงคราม การกดขี่ ความอธรรมที่ผ่านๆมา ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคหลังสงครามเย็น (ซึ่งจะได้กล่าวถึงโดยละเอียด) นอกจากนี้ ยังตัดขาดปัจจัยการแทรกแซงจากภายนอกหรือนโยบายมหาอำนาจที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาคต่างๆ อย่างตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ เป็นต้น
การทำให้เป็นประชาธิปไตยและระบบทุนนิยม จึงเป็นระเบียบโลกใหม่ที่ชุมชนระหว่างประเทศให้ความสนใจและปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสภาพอนาธิปไตยของสังคมโลก แต่ระเบียบโลกใหม่ที่ว่าด้วยความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากันระหว่างอารยะธรรม โดยเฉพาะตะวันตกกับอิสลาม ดูคล้ายจะถูกทำหรือถูกมองว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือเป็นไปตามคำทายของฮันติงตัน (หรือแม้แต่ฟูกูยาม่า) เมื่อพิจารณาจากปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลกของความขัดแย้งว่าจะต้องมีมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จนอาจนำไปสู่การตั้งสมมุติฐานของคนจำนวนไม่น้อยว่าอิสลามเป็นศาสนาที่นิยมความรุนแรง ไม่มีความอดกลั้น สุดโต่ง และเข้ากันไม่ได้กับอารยะธรรมของสังคมสมัยใหม่ ในขณะที่อีกชุดความคิดหนึ่งที่มีสมมุติฐานที่ลึกลงไปและมีการตั้งข้อสังเกตว่า ในความขัดแย้งและความรุนแรงต่างๆดังกล่าว เหตุใดจึงไม่มีการพิจารณาถึงที่มาและสาเหตุ แล้วเหตุใดปัญหาเหล่านั้นถึงโยงใยกับมหาอำนาจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ประเด็นนี้กลับไม่ได้รับความสนใจ สื่อมีอิทธิพลอย่างไร ดังกล่าวนี้จึงกลายเป็นสองชุดความคิดที่ดำรงอยู่ท่ามกลางปัญหาความรุนแรงและการก่อการร้ายในปัจจุบัน โดยชุดแรกอาจเรียกได้ว่าเป็นชุดความคิดกระแสหลัก และชุดหลังคือชุดความคิดนอกกระแสที่ไม่ได้ถูกผลักดันจากสื่อ
นักวิเคราะห์บางคนมองระเบียบโลกใหม่ของการปะทะกันทางอารยะธรรม คือการแบ่งโลกออกเป็นสองฝั่งใหญ่ๆ คือ ค่ายตะวันตกสมัยใหม่ (The Modern West) กับอิสลามหัวรุนแรง (Radical Islam) ซึ่งเหตุการณ์ 9/11 คือการเริ่มต้นเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สาม โดยที่ฝ่ายแรกเรียกมักถูกนำเสนอให้เข้าใจผ่านสื่อตะวันตกว่าเป็นกลุ่มตะวันตกสมัยใหม่ ที่รวมถึงกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกหรือแม้กระทั้งประเทศมุสลิมแต่ดำเนินนโยบายสอดรับกับตะวันตก กับอีกฝ่ายหลังที่ถูกจัดขั้วและนำเสนอให้เป็นกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง ที่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะประเทศมุสลิมหรือกลุ่มมุสลิมที่ต่อต้านตะวันตกหรือนโยบายมหาอำนาจ หรือกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มติดอาวุธมุสลิมที่เคลื่อนไหวทั่วโลก แต่ยังหมายถึงรัฐหรือกลุ่มต่างๆที่ไม่ใช่มุสลิมแต่ให้การสนับสนุนหรือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มนี้ หรือเพิกเฉยเมื่อสหรัฐและตะวันตกเรียกร้องให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง
การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเช่นนี้ หรือความพยายามในทางอ้อมและผลพวงของการจัดขั้วดังกล่าวเห็นได้ชัดตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา (จะได้กล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป) แต่ที่น่าสังเกตคือ มันทำให้เห็นว่าการแบ่งขั้วหรือการจัดระบบพันธมิตรนั้นมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่สมัยอังกฤษกับฝรั่งเศลยุคสงครามนโปเลียน สงครามโลกครั้งที่หนึ่งระหว่างฝ่ายพันธมิตรกับฝ่ายอำนาจกลาง สงครามโลกครั้งที่สองระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ สงครามเย็นระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับค่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งฝ่ายที่ชนะมักมีจุดร่วมกันคือความเป็นทุนนิยมและการล่าอาณานิคม (จักรวรรดินิยม) ส่วนฝ่ายที่แพ้คือฝ่ายที่มีแนวคิดขัดแย้งและเป็นอุปสรรคต่อระบบทุนนิยมด้วยภาพลักษณ์ของเผด็จการและความไม่เป็นประชาธิปไตย ความบังเอิญที่อาจไม่ได้บังเอิญ คือ อิสลามและกลุ่มประเทศมุสลิมในโลกหลังสงครามเย็นถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไปกันไม่ได้กับความเป็นสมัยใหม่ของตะวันตกด้วยกับอิทธิพลของสื่อ ในขณะที่กลุ่มตะวันตกสมัยใหม่ หรือ The Modern West ส่วนใหญ่ก็เป็นศูนย์รวมของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและจักรวรรดินิยมที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่ยุคหลังสงตรามนโปเลียนแล้วก็ชนะสงครามติดต่อกันมาหลายยุค แต่มายุคหลังสงครามเย็นอิสลามถูกทำให้มีปัญหากับโลกตะวันตก
ในประเด็นนี้ John Andrew Morrow นักวิชาการแคนาดา มองว่า “อิสลามไม่ได้ต่อต้านประชาธิปไตย โลกวิสัย และเสรีภาพในการพูด ในความหมายที่แท้จริงของคำพวกนี้ อิสลามส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมมาตั้งแต่อดีต………หากอิสลามจะถูกสร้างภาพให้เป็นศัตรูที่ฉกาจของอารยะธรรมและค่านิยมตะวันตก นั้นเป็นเพราะอิสลามเป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงที่ขวางทางผลประโยชน์ของเจ้าจักรวรรดินิยม……. มีเพียงอิสลามเท่านั้นที่กำลังยืนขวางทางอยู่ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมชนชั้นสูงของโลกจึงร่วมรณรงค์เพื่อแผนใช้ ‘อิสลาม’ ปลอมไปทำลายอิสลามที่แท้จริง”
ดังนั้น การแบ่งโลกในระเบียบโลกใหม่หลังสงครามเย็นบนพื้นฐานความต่างทางอารยะธรรมก็อาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเป็นการปะทะกันของผลประโยชน์ที่ใช้ความแตกต่างทางอารยะธรรมเป็นทั้งเครื่องมือและเป้าหมายสู่การได้มาซึ่งผลประโยชน์นั้น โดยใช้การหลักกลยุทธ์การแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายไม่ต่างจากอดีต การแบ่งโลกเป็นสองฝ่าย เห็นได้จากคำพูดหรือท่าทีของผู้นำสหรัฐหลังเหตุการณ์ 9/11 ในหลายต่อหลายครั้ง หรือพิจารณาจากปรากฏการณ์เสรีนิยมสุดโต่งที่ต่อต้านโจมตีและดูหมิ่นทางศาสนาในรูปแบบต่างๆ การก่อการร้ายของกลุ่มที่อ้างศาสนา ตลอดจนกระแส Islamophobia การเลือกปฏิบัติ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนสอดรับกับระเบียบโลกดังกล่าว ซึ่งเป็นโลกในบรรยากาศการเมืองเดิมๆ ของความหวาดระแวงและความเกลียดชังที่นำไปสู่การแข่งขันต่อสู้กันในลักษณะของการจับขั้วที่มีธรรมะกับอธรรมชัดเจน เหมือนเช่นครั้งหนึ่งที่โลกถูกแบ่งออกเป็นค่ายประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ ที่อ้างว่าเป็นความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ทางการเมืองแล้วใช้ความต่างนี้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายตรงข้ามและสร้างแนวร่วมพันธมิตรในการขยายอำนาจการครอบงำเหนือรัฐอื่น
—
โปรดรออ่านต่อตอนต่อไป
ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ