“พล.อ.สุรยุทธ์” เปิดงาน “สัมมนาอิสลามนานาชาติ” มอ.ปัตตานี ชี้ภัยคุกคามสันติภาพและความมั่นคงโลกคือ “ความสุดโต่ง” ไม่ใช่อิสลาม

นักวิชาการมุสลิมกว่า 500 คนจาก 25 ประเทศ ร่วมสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 3 ที่ มอ.ปัตตานี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ เปิดงาน ชี้ ภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลกไม่ใช่อิสลาม แต่คือความสุดโต่ง และต้องเอาชนะความคิดสุดโต่งเหล่านั้นด้วยการก้าวไปสู่อิสลามที่แท้จริง

วานนี้ (23 มี.ค.) ที่ห้องประชุมวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนานานาชาติอิสลามศึกษา ในหัวข้อ “ค่านิยมอิสลามในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง” (Islamic Values in a Changing World 2015) ซึ่งงานจัดระหว่างวันที่ 23-25 มี.ค. โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นนักวิชาการ นักการศาสนา ผู้นำอิสลาม ฯ กว่า 500 คน จาก 25 ประเทศ  เพื่อร่วมระดมสมองในการกำหนดความท้าทายที่สำคัญ ทั้งดุลยภาพ ความเป็นสายกลาง และการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ในสังคมพหุวัฒนธรรม

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานเปิดการสัมมนา กล่าวบนเวทีว่า “การสัมมนาครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะกำหนดความท้าทายที่สำคัญต่อหลักคำสอนศาสนาอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นความดุลยภาพ ความเป็นสายกลาง และการอยู่ร่วมกันในความสงบ ร่วมรักสามัคคี ดังนั้นการที่ทุกท่านได้มารวมกัน ณ สถานที่แห่งที่นี้ เพื่อร่วมค้นหา พูดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับค่านิยมสากลเหล่านี้ นับเป็นความพยายามที่ล้ำค่ายิ่ง เชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะทำให้เรามีวิธีที่ดีที่สุดที่จะเผชิญและแก้ไขปัญหาความท้าทายที่สุด ซึ่งทำให้เราสามารถทำความเข้าใจแนวคิดดุลยภาพ (wassatiyah) หรือนำหลักคำสอนของศาสนาอิสลามสู่การปฏิบัติในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน”

“เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ในหลายปีที่ผ่านมากระแสความตื่นตัว และความสนใจในศาสนาอิสลามเกิดขึ้นทั่วโลก ความสนใจดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาอิสลาม ทั้งทางด้านแนวความคิดและการเรียนการสอน และไม่กี่ปีนี้เริ่มมีแนวโน้มการใช้กรอบแนวคิดใหม่ๆในการทำความเข้าใจของปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มีอิทธิพลจากศาสนาในสังคมมุสลิม”

พลอ.สุรยุทธ์ กล่าวอีกว่า “เรารู้ว่าภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลกไม่ใช่อิสลาม แต่คือความสุดโต่ง ความอคติ ความรุนแรง ผลลัพธ์จากคำสอน การส่งเสริม หรือการปลุกปั่นเหล่านั้น ล้วนอยู่นอกเหนือมโนธรรมและความเชื่อ พวกเขาละเมิดคำสอนของอิสลาม แบบอย่างของท่านศาสนทูตมูฮัมมัด และหลักการของกฎหมายอิสลามโดยสิ้นเชิงดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแสวงหาดุลยภาพ การต่อสู้กับความสุดโต่ง ซึ่งไม่ใช่เป็นการต่อสู้ระหว่าง มลายูกับสยาม หรือ คริสเตียนกับมุสลิม แต่คือการต่อสู่ระหว่างดุลยภาพและความสุดโต่งของทุกศาสนา ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องประสานพันธมิตรแห่งดุลยภาพ ผู้ที่พร้อมจะเรียกคืนศาสนาของพวกเขาและดำเนินตามแนวทางนั้นไปสู่สันติสุข”

“การที่ความสันติสุขและความปรองดองจะชนะผู้นิยมความสุดโต่งได้นั้น จะต้องไม่เป็นเพียงทำให้พวกเขาพ่ายแพ้ แต่ยังรวมถึงการที่เราต้องเอาชนะความคิดสุดโต่งเหล่านั้นด้วย เราจึงต้องก้าวไปสู่อิสลามที่แท้จริง ศาสนาอิสลามที่ก่อตั้งขึ้นบนหลักการของความสันติ ความอดทน อดกลั้น และความเคารพซึ่งกันและกันตามที่ระบุไว้ในอัลกุรอานและหะดีษ”

“ด้วยเหตุนี้ผมจึงยังคงยืนยันคำเรียกร้องของผมต่อผู้นำในทุกศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ขอให้เราร่วมกันเพื่อให้มั่นใจว่าศาสนาเป็นที่มาของการเยียวยาและสิริมงคลมากกว่าความขัดแย้งและการทำลายล้าง”

“การแสดงให้เห็นถึงความมีดุลยภาพ เราสามารถมั่นใจได้ว่าไม่มีใครเป็นผู้ที่อยู่นอกสังคม การแสดงออกถึงความดุลยภาพในศาสนา เราสามารถทำให้ความสุดโต่งลดลงเหลือน้อยที่สุด เราสามารถแสดงให้เห็นว่าโลกเห็นถึงเจตจำนงที่จะต่อสู้กับความสุดโต่ง ไม่เพียงกับการปฏิบัติการทางทหารในระยะสั้นเท่านั้น แต่ด้วยกับแผนในระยะยาว” พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว

11053550_1046675905349190_8193127986721382464_o

ด้าน รศ. ดร.ชูศักดิ์ ลิ้มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวในรายงานเปิดการประชุมว่า “การสัมมนาวิชาการครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการอภิปรายในหัวข้อที่ เกี่ยวข้องกับค่านิยมอิสลามและกลั่นกรองเอาประสบการณ์การนำค่านิยมเหล่านี้ ไปใช้ในชุมชนมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมที่แตกต่างกันทั่วโลก”

“การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนมุมมอง เกี่ยวกับสันติภาพและความสงบสุขในชุมชนที่หลากหลาย พร้อมทั้งหลักกฎหมายอิสลามด้านดุลยภาพ ความเป็นเลิศและความพอดี (สายกลาง) ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง และสิทธิมนุษยชนกลุ่มน้อยในสังคม” ดร.ชูศักดิ์ กล่าวและว่า

“ทั้งหมดนี้ล้วนนำไปสู่การความร่วมมือกันอย่างดีและ จริงจังระหว่างรัฐบาล สถาบันการศึกษา ปัญญาชน องค์กรการกุศล นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์และนักคิดทุกท่าน ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุก คนในปัจจุบัน”

อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุถึงเป้าหมายการสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ว่า “เพื่อนำเสนอความสำคัญของค่านิยมอิสลามและวิธีการประยุกต์ใช้แนวคิดสู่การสร้าง สันติภาพและความสมานฉันท์ในสังคม, เพื่อค้นหาค่านิยมร่วมทางจริยธรรมของอารยธรรมที่หลากหลายและส่งเสริมคุณค่า เหล่านี้เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ, เพื่อศึกษาคุณค่าลักษณะของความเป็นดุลยภาพ ความเป็นเลิศและความเป็นอิสลามสายกลางและบทบาทในการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม แห่งสันติภาพ, เพื่อค้นหาสิทธิของชนกลุ่มน้อยในสังคมพหุวัฒนธรรม และแบ่งปันประสบการณ์การอยู่ร่วมกันของผู้คนในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก”

“หัวข้อของการสัมมนาวิชาการในครั้งที่ 3 นี้ ประกอบด้วย หลักพื้นฐานของค่านิยมอิสลามและการนำไปใช้, ค่านิยมร่วมทางจริยธรรมของอารยธรรมต่างๆ, ดุลยภาพ ความเป็นเลิศและความสมดุล ในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง, วัฒนธรรมของการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างสังคม, สังคมมนุษย์และสิทธิของชนกลุ่มน้อย” รศ. ดร.ชูศักดิ์ กล่าว

อนึ่งสำหรับการสัมมนานานาชาติในครั้งที่ 3 นี้ จัดขึ้นโดยวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นการต่อยอดของการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติสองครั้งก่อนหน้านี้ นั่นคือ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “บทบาทของอิสลามศึกษาในยุคหลังโลกาภิวัฒน์ 2010” (The Role of Islamic Studies in the Post-Globalization 2010) และ ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “อิสลามศึกษาในการโลกที่เปลี่ยนแปลง: ความท้าทายและโอกาส 2013” (Islamic Studies in a Changing World: Challenges and Opportunities 2013) การประชุมที่ 3 นี้เป็นผลจากการประชุมคณะกรรมการประสานงานอิสลามศึกษา (Islamic Studies Coordinating Committee) ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2013 ซึ่งเป็นการนำเสนอความสำคัญของค่านิยมอิสลามเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดและรูปแบบพฤติกรรมของบุคคลและชุมชน และเพื่อสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชนภายใต้ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง