ภาพจาก: Shannon Tiezzi. “China’s ‘New Silk Road’ Vision Revealed, in Diplomat Magazine, (online), http://thediplomat.com (access 24 March 2015)
เส้นทางสายไหมของจีนเป็นที่โด่งดังรับรู้กันอยู่แล้วว่าเป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศสายสำคัญในสมัยโบราณ ปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวกำลังถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งภายใต้การขับเคลื่อนของรัฐบาลจีนยุคสีจิ้นผิง โดยแยกออกเป็น 2 สาย คือ เส้นทางสายไหมทางบกกับเส้นทางสายไหมทางทะเล
อ้างอิงจากซีรี่ส์บทความของสำนักข่าวซินหัวที่ชื่อ “New Silk Road, New Dreams” เส้นทางสายไหมทางบก (land-based silk road) จะเริ่มต้นที่เมืองซีอาน เมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นเมืองหลวงของหลายราชวงศ์ในอดีต ณ ตอนกลางของประเทศจีน จากเมืองซีอาน มณฑลส่านซี เส้นทางสายไหมทางบกจะมุ่งหน้าไปทางตะวันตกเฉียงเหนือตัดผ่านเมืองหลานโจว มณฑลกานซู, เมืองอุรุมชี และคอร์กาส (Khorgas) เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ก่อนจะตัดเข้าสู่คาซัคสถาน
การเชื่อมโยงระหว่างกันในกรอบเส้นทางสายไหมทางบกดังกล่าว เมื่อพิจารณาร่วมกับการพัฒนาระบบคมนาคมทางถนนช่วงก่อนหน้าภายใต้โครงการทางด่วน G30 โดยเฉพาะทางด่วนซีอาน – เป่าจีที่มีความกว้าง 8 เลนและเส้นทางรถไฟขุยเป่ยแล้ว ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกก็จะเป็นตัวขับเน้นให้มณฑลส่านซีเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ฝั่งตะวันตกที่โดดเด่นมากขึ้น รวมทั้งหนุนเสริมให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจแคชการ์ (Kashgar) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจคอร์กาส (Khorgas) ในพื้นที่ซินเจียงอุยกูร์ กลายเป็นเมืองหน้าด่านชายแดนตะวันตกสุดที่มีความสำคัญยิ่งขึ้นสำหรับจีน
เลยออกมาจากซินเจียงและคาซัคสถาน เส้นทางสายไหมทางบกจะเบี่ยงลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ทอดผ่านแถบเอเชียกลางเข้าสู่ตอนเหนือของอิหร่านก่อนจะสวิงขึ้นมายังอิรัก ซีเรีย และตุรกี ซึ่งท่านผู้อ่านคงเห็นไม่ยากนะครับว่า อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของแผนการเส้นทางสายไหมทางบก หรือเรียกได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์เชื่อม “ระเบียงเศรษฐกิจออก-ตก” ของจีนนั้น ก็คือ วิกฤติการเมืองและความมั่นคงในตะวันออกกลาง ที่ ณ วันนี้ ยังคงร้อนแรงอยู่มาก
วิกฤติทั้งที่ซีเรีย อิรัก และบริเวณโดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวของขบวนการ IS ที่กอปรกับเกมการเมืองระหว่างมหาอำนาจภายนอกอันทำให้วิกฤตินี้ซับซ้อนมากขึ้น สถานการณ์นี้นอกจากจะนำไปสู่ความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินผู้คนจำนวนมากแล้ว ยังคั่นขวางโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกาะเกี่ยวอยู่กับเส้นทางสายไหมทางบกซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอยู่ในตอนนี้อีกด้วย
หลังจากเส้นทางสายไหมทางบกมาสุดลงตรงอิสตันบูล ตุรกีแล้ว ก็จะตัดข้ามช่องแคบบอสฟอรัสและมุ่งหน้าขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ยุโรป ผ่านหลายประเทศพอสมควร ทั้งบัลแกเรีย โรมาเนีย เชก และเยอรมนี และเมื่อไปถึงเมืองดุยส์บวร์กส์ เยอรมนีแล้ว เส้นทางนี้ก็จะสวิงขึ้นเหนือสู่รอตเทอร์ดาม เนเธอร์แลนด์ จากนั้นจึงวิ่งลงใต้เข้าสู่เวนิช อิตาลี ที่ซึ่งจะมาบรรจบกับเส้นทางสายไหมทางทะเลในที่สุด
ส่วนเส้นทางสายไหมทางทะเล (sea-based silk road/ maritime silk road) เริ่มต้นจากเมืองฉวนโจว มณฑลฝูเจี้ยน ทางตะวันออกของจีน เมืองนี้เป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุครุ่งเรืองของเส้นทางสายไหมทางทะเลสมัยโบราณ การที่เส้นทางนี้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งโดยเริ่มต้นที่เมืองฉวนโจว จึงมีนัยความหมายที่งดงามอันเชื่อมย้อนกลับไปสู่ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัย
การค้าระหว่างประเทศที่รุ่งเรืองในยุคโบราณส่งผลให้พ่อค้าวาณิชย์ชาวต่างชาติมากมายเข้ามาตั้งรกรากชุมชนในบริเวณเมืองท่าฉวนโจว พ่อค้าชาวต่างชาติเหล่านี้ส่วนมากแล้วจะเป็นพี่น้องมุสลิมจากอาหรับและเปอร์เซีย ซึ่งยังผลให้ปัจจุบัน เมืองฉวนโจวเป็นเมืองท่าที่มีประชากรมุสลิมอยู่จำนวนไม่น้อย ที่ ณ วันนี้ยังคงปรากฏหลุมศพโบราณที่สลักทั้งชื่อภาษาจีนและอาหรับให้เห็น รวมทั้งมีมัสยิดเก่าแก่งดงามที่สร้างขึ้นตั้งแต่ราวๆ ค.ศ.1000 ชื่อมัสยิดฉิงจิง (Qingjing) เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญ ดังนั้น นอกจากฉวนโจวจะเป็นเมืองท่าสำคัญบนเส้นทางสายไหมทางทะเลในอดีต และปัจจุบันแล้ว ฉวนโจวยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอีกด้วย
เส้นทางสายไหมทางทะเลเริ่มต้นขึ้นที่ฉวนโจว เชื่อมมายังเมืองเป่ยไห่ เขตปกครองตนเองกวางสี ซึ่งนอกจากจะเป็นเมืองท่าสำคัญอีกแห่งแล้ว ยังมีชื่อเสียงในเรื่องของการเป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลอีกด้วย หาดทรายเงินเป่ยไห่นับว่าเป็นชายหาดที่งดงามที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจีน และได้รับสมญานามว่าเป็น “ฮาวายแห่งบูรพาทิศ”
ต่อจากเมืองเป่ยไห่ เส้นทางสายไหมทางทะเลก็จะลากผ่านเมืองไหโข่ว มณฑลไหหนาน หรือที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่า มณฑลไหหลำ ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะอยู่ทางตอนใต้สุดของจีน ก่อนที่เส้นทางสายนี้จะมุ่งใต้เข้าสู่ช่องแคบมะละกา ผ่านกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย และไปยังโกลกัตตา อินเดีย โดยผ่านศรีลังกา จากนั้นจึงตัดข้ามมหาสมุทรอินเดียไปยังเมืองไนรูบี เคนย่า แล้วเคลื่อนขึ้นเหนือวนรอบจะงอยแอฟริกาหรือเรียกอีกชื่อว่า คาบสมุทรโซมาลี ตัดผ่านทะเลแดงเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งมีจุดพักอยู่ที่เอเธนส์ ประเทศกรีซ ก่อนที่จะไปสิ้นสุดลงตรงจุดบรรจบกับเส้นทางสายไหมทางบกที่เวนิช อิตาลี
ก่อนหน้าที่เราจะไปถึงรายละเอียดในเรื่องอื่น รวมถึงมองกันว่า โปรเจกต์รื้อฟื้นเส้นทางสายไหมขึ้นใหม่ของพี่จีนนี้ ใครจะได้ ใครจะเสีย ใครจะครอบงำ ใครจะต้องเดินตาม ก่อนหน้านั้นอย่างน้อยที่สุด ผมอยากชี้ให้เห็นในเบื้องต้นว่า เอเชียนั้นเชื่อมโยงร้อยรัดกันมานับแต่ยุคโบราณ โดยเฉพาะบรรดาเมือง และอาณาจักรที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าตะวันออก-ตะวันตกของจีนในสมัยก่อน พวกเขาไม่เพียงติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขาย แต่ยังมีการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมและอพยพย้ายถิ่น ก่อนหน้าที่สายลมแห่งการผูกขาดเส้นทางการค้า และตามมาด้วยการล่าอาณานิคมจะพัดมาจากตะวันตก อันเป็นปัจจัยหยุดยั้งพลวัตทางอารยธรรมและความมั่งคั่งที่ขับเคลื่อนอยู่ในเอเชียช่วงก่อนหน้า
ส่วนในสภาวะปัจจุบัน เหตุการณ์ทางการเมืองความมั่นคง และทางเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือภายในภูมิภาคอันใดอันหนึ่งที่เกาะเกี่ยวอยู่บนเส้นทางสายไหม ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในโครงข่ายเชื่อมโยงเดียวกันไม่มากก็น้อย
ในภาพกว้างๆ นี้ คงไม่มากเกินไปที่จะกล่าวว่า แม้เอเชียจะไพศาลและแตกต่างหลากหลายกันมากพอดู แต่ก็นับได้ว่า เอเชียเป็นประชาคมเดียวกัน
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช