“ไม่ต่อต้าน” – “ไม่ร่วมมือ” : 
ทางเลือกปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของประชาชนต่อรัฐเผด็จการ (ตอนจบ)

จากตอนที่แล้วที่ข้าพเจ้านำเสนอไป จะเห็นว่าหลักของ “การไม่ต่อต้าน” กับ “การไม่ให้ความร่วมมือ” นั้น มีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์และเหลื่อมซ้อน (overlap) กันอยู่ในที แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องเน้นให้ชัดในที่นี้ คือ บรรดาวิธีแห่งการไม่ให้ความร่วมมือตามแนวคิดของยีน ชาร์ปนั้น ครอบคลุมไปถึงสิ่งที่เรียกว่า “อารยะขัดขืน” (civil disobedience) อยู่ด้วย ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า ในบริบทที่เราพยายามเลือกวิธีการเผชิญรัฐเผด็จการ โดยไม่ถูกมันเล่นงานนั้น เห็นควรจะต้องแยกอารยะขัดขืนเอาไว้นอกกรอบของทางเลือกปฏิบัติการ

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเงื่อนไขหลักของอารยะขัดขืน มิได้อยู่ที่การแสดงสัญลักษณ์ของการไม่สยบยอมเชื่อฟังออกมาให้โลกรู้ แต่อยู่ที่การ “ยินยอม” ที่จะรับโทษทัณฑ์ตามที่ผู้มีอำนาจกำหนดด้วย เพื่อรุกเร้าให้สาธารณะได้คิด และตั้งคำถามต่อความเป็นธรรมในประเด็นที่เราต่อสู้

แก่นแกนของอารยะขัดขืน คือ การ “จงใจ” ละเมิดกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม เพื่อยืนยันความถูกต้องของหลักการอีกบางอย่างที่สูงส่งกว่ากฎและการใช้อำนาจ เหล่านั้นของจอมเผด็จการ แต่พร้อมกันนั้น ก็พร้อมจะยอมรับผลตามกฎหมายที่จะเกิดขึ้นเพื่อยืนยันความเป็นพลเมือง ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองแห่งนั้น

ในเงื่อนไขที่ต้อง ยอมรับบทลงโทษตามกฎหมาย อารยะขัดขืนจึงมิใช่ตัวเลือกที่น่าสนใจนักสำหรับปัจเจกบุคคลโดยทั่วๆ ไป ยิ่งในระบอบเผด็จการที่ไม่ได้ใกล้เคียงจะเป็นสังคมที่เป็นธรรม (not nearly just society) [1] เรายิ่งไม่อาจมั่นใจได้ว่า บทลงโทษและกระบวนการยุติธรรมที่จะเอามาใช้กับเรานั้น จะมีความเป็นธรรมอยู่จริง เพราะกฎหมายในมือเผด็จการนั้นเลยเถิดกรอบของหลักนิติรัฐไปอย่างเลอะเทอะได้ เสมอ

ตัวอย่างที่อาจยกขึ้น ให้เห็นความแตกต่างระหว่างปฏิบัติการที่ข้าพเจ้านำเสนอกับอารยะขัดขืน ก็อย่างเช่น การไม่ให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกรณีที่เกี่ยวกับภาษี

หากเป็นในกรอบอารยะขัดขืน ปฏิบัติการอาจจะเป็นเรื่องการปฏิเสธไม่เสียภาษีให้รัฐ แล้วยอมถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

แต่หากเป็นในกรอบ “ไม่ต่อต้าน – ไม่ร่วมมือ” ของข้าพเจ้า ก็จะเป็นเรื่อง การงดเว้นไม่เสียภาษีโดยหาช่องทางลดหย่อนให้ได้ทั้งหมด เพื่อยืนยันการไม่ให้ความร่วมมือต่อการที่รัฐเผด็จการนำเงินของผู้ปฏิบัติ การไปใช้ในเรื่องงี่เง่าอย่างทุจริตฉ้อฉล

ซึ่งจริงอยู่ว่า ผลลัพธ์สุดท้ายอาจทำให้ตัวเลข GDP เติบโตอยู่ดี จนรัฐเผด็จการอาจเอาไปอ้างได้ว่าเป็นผลงานพวกแม่มมมม แต่ GDP ที่อาจโตขึ้นนั้น ก็เป็นผลลัพธ์จากเม็ดเงินมูลค่าเศรษฐกิจของภาคส่วนเอกชน มิได้โตขึ้นมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ภายใต้ระบอบแบบเผด็จการ เป็นการใช้จ่ายอย่างตรวจสอบไม่ได้ ไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง และประวัติศาสตร์หลายๆ แห่งเตือนเราเสมอมาว่า นอกจากการดำเนินงานของรัฐเผด็จการหลายเรื่องมักจะเป็นเรื่องงี่เง่า ไม่ก่อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว ยังมักเต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่นอย่างมหาศาล

กล่าวโดยสรุปแล้ว การไม่ต่อต้าน และการไม่ให้ความร่วมมือ มิได้มุ่งจะโค่นระบอบเผด็จการอยุติธรรมโดยตรง หรือไม่ได้มุ่งหมายจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นในชั่วข้ามคืนวัน แต่เป้าประสงค์อยู่ที่ 2 อย่าง คือ

1. บั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานของระบอบให้เกิดอาการฝืด ค่อยๆ กัดเซาะบ่อนทำลายความชอบธรรมในอำนาจของระบอบที่ไม่อาจดำเนินบริการสาธารณะ หรือผลักดันสังคมไปสู่การเติบโตก้าวหน้าได้ด้วยการปราศจากความร่วมมือของ ผู้คนตัวเล็กตัวน้อยจำนวนมากที่ไม่ยอมรับการได้มาซึ่งอำนาจและวิธีใช้อำนาจ ของจอมเผด็จการ กับ

2. ตอบโจทย์จิตใจของผู้ปฏิบัติการเอง ที่ไม่เข้าไปเกลือกกลั้วกับอำนาจสกปรก ชั่วร้าย และดำเนินชีวิตบนวิถีที่มีศักดิ์ศรี ด้วยไม่ได้เข้าไปมีส่วนส่งเสริมให้ระบอบเผด็จการดำรงอยู่

ข้าพเจ้าขอเรียนว่า ข้อพึงระลึก คือ ยุทธวิธีของการไม่ต่อต้าน บวกกับ การไม่ให้ความร่วมมือนี้ อาจไม่ได้มีพลังมากมายนัก ถ้านับมันว่าเป็นปฏิบัติการไร้ความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง

ลักษณะของมันเป็นใน เชิงของ “การเพิกเฉย” เสียมากกว่า เป็นการเพิกเฉยเพื่อปฏิเสธการดำรงอยู่/ มองข้าม/ สร้างสภาวะไร้ตัวตนโดยไม่ให้ราคากับสิ่งที่ระบอบเผด็จการได้ดำเนินการ โดยเฉพาะบรรดาบริการสาธารณะต่างๆ  เพราะมันสกปรกสามานย์เกินกว่าจะทนมองไหว

คงไม่มีประโยคใดที่ เหมาะสมจะทิ้งท้ายและสะท้อนเจตนารมณ์ของข้าพเจ้าต่อการนำเสนอทางเลือก ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงในบทความนี้มากไปกว่าประโยคในซีรี่ส์ดังเรื่อง Game of Throne ซึ่งตัวแสดงขันทีคนหนึ่งผู้ใกล้ชิดราชบัลลังก์ชื่อ ลอร์ด วาริส (Lord Varys) ได้กล่าวไว้ว่า

“When I see what desire does to people 
– what it’s done to this country 
– I’m very glad to have no part in it”

แปลว่า:

“แค่ข้าพเจ้า เห็นว่า แรงปรารถนาแบบไหนที่(ท่าน)กระทำต่อประชาชน 
– เห็นว่าทำอะไรต่อประเทศนี้ 
– ข้าพเจ้าก็รู้สึกปีติยิ่งนักที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในเรื่องเหล่านั้น

 

——

[1]

ในเชิงทฤษฎี นักคิดคนสำคัญซึ่งกำลังจะมีงานวิชาการเกี่ยวกับประวัติและแนวคิดของเขาเป็น ภาษาไทยให้อ่านในเร็วๆ นี้ ก็คือ John Rawls เสนอว่า เงื่อนไขที่เหมาะสมต่อการใช้อารยะขัดขืน คือ สังคมการเมืองที่ “ใกล้จะเป็นธรรม” (nearly just society) โดยผู้ปฏิบัติการมุ่งกดดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนในระดับของกฎหมาย และ/หรือ นโยบายแห่งรัฐ มิได้หมายมุ่งโค่นล้มเปลี่ยนระบอบ ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่า เช่นนี้แล้ว ปฏิบัติการไม่ให้ความร่วมมือที่มีความ “เข้มข้นน้อยกว่า” อารยะขัดขืน จะสั่นคลอนระบอบเผด็จการได้จริงหรือไม่ ข้าพเจ้าขอกราบเรียนตอบอย่างรวบรัดว่า เป็นไปได้ว่า อาจจะทำอะไรมันไม่ได้มากมายนัก แต่ผลลัพธ์ที่คาดหวังได้แน่ คือ การ “ก่อกวน” หรือสร้างสภาวะรบกวนมิให้ระบอบเผด็จการทำงานได้อย่างหน้าชื่นตาบาน พร้อมกันนั้น เป้าที่หมายใจไว้มากกว่า คือ สำหรับปัจเจกบุคคลโดยทั่วไปที่กลัวเปลืองตัวกับการต่อสู้ทัดทานความไม่ถูก ต้อง แต่ก็อดรนทนอยู่นิ่งเฉยไม่ไหว ก็สามารถมีวิถีทางที่ช่วยให้สบายใจขึ้นมาได้บ้างว่า “เราก็ยังได้ทำอะไรไปบ้าง” มิได้นิ่งนอนใจอยู่เฉยๆ ยิ่งโดยเฉพาะจอมเผด็จการที่ขี้หงุดหงิด โมโหง่าย เราคงได้ความสะใจเล็กๆ ให้พอยิ้มได้หลายๆ รอบ เวลาเห็นมันทำหน้านิ่วคิ้วขมวดเหมือนปวดขี้ตลอดเวลา และอาจค่อยๆ มีอาการผมหงอก หน้าเหี่ยว ตาเหล่ และป่วยบ่อย เมื่อเจอการ “รบกวน” การทำงาน ที่มันเอาผิดอัลไลไม่ได้ ไม่งั้นก็จะเสียภาพพระเอกสุภาพบุรุษขี่ม้าขาวที่อุตสาหะปั้นแต่งอยู่ทุก วี่วัน