เยเมน ภูมิรัฐศาสตร์ จุดเปลี่ยนที่โลกคาดไม่ถึง

ในช่วงเวลานี้ข่าวสารและสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ถูกจับตามองมากที่สุด คือ  การที่ซาอุดิอาระเบียและ ชาติพันธมิตรร่วมกันปฏิบัติการทางทหาร ใช้อาวุธหนักเข้าโจมตีประเทศเยเมนอย่างต่อเนื่อง  และไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้โดยง่าย  อีกทั้งยังมีการประท้วงของประชาชนต่อปฏิบัติการทางทหารของซาอุดิอาระเบีย และชาติพันธมิตรในหลายๆเมือง  จากการรายงานของสหประชาชาติ  มียอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก  ประชาชนต้องไร้ที่อยู่อาศัยและต้องอพยพหนีความรุนแรงกว่า 100,000 คน  ด้านนานาชาติยังคงเร่งอพยพพลเรือนของตนออกจากประเทศเยเมน  เนื่องจากขาดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ขณะที่ความเป็นอยู่ของประชาชนในเมืองเอเดนอยู่ในสถานการณ์ขั้นเลวร้ายและหายนะที่สุด 
ซึ่งโดยเหตุการณ์ก่อนหน้านี้กลุ่มฮูซี (Houthis) ที่ มีฐานที่มั่นอยู่ทางตอนเหนือ เข้าบุกยึดเมืองหลวงกรุงซานา ของประเทศเยเมนตั้งแต่ปลายปี 2014 และกักบริเวณประธานาธิบดี อับดุล ร็อบบิฮ์ มันซูร ฮาดี ( Abdo Rabbu Mansour Hadi )ไว้ ในบ้าน  จนกระทั่งประธานาธิบดีมันซูร ฮาดีสามารถหลบหนีไปยังเมืองท่าเอเดนได้สำเร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2015 ที่ผ่านมา  แต่กลุ่มฮูซีก็บุกโจมตีเมืองเอเดน  และยึดเมืองนี้ได้ในที่สุด  และได้ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมา ทำให้ประธานาธิบดีมันซูร ฮาดีต้องหลบหนีออกนอกประเทศไปยังซาอุดีอาระเบีย  จากนั้น  ซาอุดีอาระเบียและชาติพันธมิตรก็เริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่กลุ่มฮูซี โดยอ้างว่าทำเพื่อปกป้องการเปลี่ยนผ่านของระบอบประชาธิปไตยในเยเมนและ เป็นการให้ความช่วยเหลือรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายให้ได้อำนาจการปกครองคืน มา
 สิ่งที่เกิดขึ้นในเยเมน ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่า เหตุใดประเทศที่ได้ชื่อว่ายากจนที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างประเทศ เยเมนจึงอยู่ในความสนใจของเหล่าประเทศใหญ่ๆในภูมิภาค รวมทั้งพันธมิตรของซาอุดิอาระเบียอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา  ถึงขนาดต้องเข้าไปให้การสนับสนุนและการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเยเมน

ประวัติศาสตร์เยเมน

 หากจะมองจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ การเมืองแล้ว  เยเมน เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์การเมืองที่ไม่ราบรื่นมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ เยเมนเคยแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน (เยเมนเหนือและเยเมนใต้) เป็นระยะเวลานานกว่า 200 ปี โดยเยเมนเหนือตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมาน ส่วนเยเมนใต้นั้นเป็นอาณานิคมของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ทั้งเยเมนเหนือและเยเมนใต้ เพิ่งเข้ามาผนวกรวมเป็นชาติเดียวกันเมื่อปี 1990 (ประมาณ 25 ปีที่ผ่านมา) โดยมีกรุงซานาเป็นเมืองหลวง

แม้จะประสบความสำเร็จในการรวมชาติกันได้ แต่ปัญหาภายในประเทศเยเมนก็ยังไม่หมดไป  ด้วยความแตกต่างด้านแนวคิดความเชื่อทางการเมือง  ความหลากหลายของชนเผ่าต่างๆ  ความแตกต่างทางสำนักคิดความเชื่อทางศาสนา  กลุ่มการเมืองกลุ่มต่างๆที่มีอิทธิพลต่อเสถียรภาพทางการเมืองการปกครองใน เยเมน  เช่น กลุ่มฮูซีที่อยู่ทางตอนเหนือของเยเมน ที่มีบทบาททางการเมืองในเยเมนมายาวนาน  ด้านตอนใต้สุดในเมืองเอเดนและเขตโดยรอบตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มอัลฮิ รอก (al Hirak) ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ  ส่วน ทางตะวันออกของเมืองเอเดนมีกลุ่มอัลกออิดะฮ์แห่งคาบสมุทรอาหรับหรือเอคิวเอ พี (al Qaeda in the Arabian Peninsula: AQAP) ที่ทำการปลุกระดมด้วยการก่อการร้ายและความรุนแรง  รวม ทั้งยังมีปัญหาด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ที่ไม่เท่าเทียมกัน ย่อมส่งผลต่อความเป็นเอกภาพในประเทศเยเมนภายหลังการรวมชาติสำเร็จแล้ว

และ จากทิศทางนโยบายทางการเมืองรัฐบาลเยเมน ของอดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลลอฮ์ ซอและฮ์ ( Ali Abdullah Saleh ) ประธานาธิบดีเยเมนในขณะนั้น  ได้ ใช้อำนาจเข้ากดดันและปราบปรามกลุ่มฮูซีด้วยเหตุผลที่ต้องการลดอิทธิพลทางการ เมืองของกลุ่มฮูซี  ซึ่งเป็นชนเผ่าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า 1,000 ปี  และต้องการโดดเดี่ยวกลุ่มฮูซีออกจากเส้นทางทางการเมือง  จากการที่ถูกกดดันและถูกปราบปรามมาโดยตลอด กลุ่มดังกล่าวนี้จึงได้จัดตั้งตัวเองขึ้นเป็นกองทหารอาสาเพื่อปฏิบัติการ ตอบโต้รัฐบาลเยเมน ภายใต้การผลักดันของเชคฮุเซน บัดรุดดีน อัล-ฮูซี

กลุ่มฮูซี(Houthis)คือใคร???

ก่อนหน้านี้กลุ่มฮูซีเป็นเพียงกลุ่มชนส่วนน้อยที่มีแนวคิดเชิงอุดมการณ์อยู่ใน เยเมน (กลุ่มฮูซีคือมุสลิมชีอะฮ์ซัยดียะฮ์ที่ยึดอยู่ในแนวทางของท่านเซด บุตรของอาลีอิบนุล ฮุเซน โดยเชื่อในอิมามอาลีว่าเป็นผู้นำต่อจากท่านศาสดาอย่างแท้จริง  แต่ไม่ปฏิเสธกาหลิบทั้ง 3 ท่านแรก และเชื่อว่าผู้ที่จะเป็นอิมามต่อไปจะต้องมีคุณสมบัติสำคัญอยู่ 2 ประการคือ 1. จะต้องเป็นลูกหลานท่านศาสดาที่สืบเชื้อสายมาจากท่านหญิงฟาติมะฮ์ (บุตรีของ ท่านศาสดามูฮัมหมัด) 2. จะต้องมีคุณสมบัติเป็นนักสู้ เป็นนักรบ กล้าเผชิญหน้ากับผู้ปกครองที่อธรรม )

และเนื่องด้วยเหตุว่า แนวความคิดทางด้านศาสนาของกลุ่มฮูซีที่มีความคล้ายคลึงกันกับแนวความคิดของมุสลิมชีอะฮ์ในอิหร่านซึ่งเป็นคู่ปฏิปักษ์กับซาอุดิอาระเบียมาตลอดหลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน  (เพราะซาอุดิอาระเบียไม่ต้องการให้อิทธิพลแนวความคิดทางศาสนาและอิทธิพล ด้านอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศของอิหร่านขยายตัวออกไปเป็นวงกว้างและมี อิทธิพลเข้าครอบงำภูมิภาคตะวันออกกลาง)  กลุ่มฮูซีจึงถูกกดดันและปราบปรามมาโดยตลอดทั้งในประเทศจากรัฐบาลเยเมนซึ่งนำ โดยประธานาธิบดีซอและฮ์ในขณะนั้น  รวมไปถึงกลุ่มอัลกออิดะฮ์ที่ปฏิบัติการอยู่ในเยเมน และถูกกดดันจากนอกประเทศคือซาอุดิอาระเบีย

นับเนื่องมาจากปี 2004 จนถึงเหตุการณ์อาหรับสปริงปี 2011 ที่ประธานาธิบดีอาลี อับดุลลอฮ์ ซอและฮ์ ถูกโค่นอำนาจลงหลังปกครองเยเมนมายาวนานถึง 33 ปี  กลุ่มฮูซีได้มีการต่อสู้ทำสงครามกับทหารเยเมนมาแล้ว หลายครั้งด้วยกัน   และในทุกๆครั้งที่ผ่านมา  ซาอุดิอาระเบียก็เข้าแทรกแซงทุกครั้ง   ผลจากประสบการณ์ด้านการสงครามที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มฮูซีมีอำนาจและมีความแข็งแกร่งมากขึ้น  เนื่องจากมีการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ  ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า “อัลซอรุลลอฮ์”  โดยร่วมมือกันอย่างหลวมๆกับกลุ่มทหารที่ให้การสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีซอ และฮ์ จนทำการยึดอำนาจการปกครองในเยเมนได้ในที่สุด

 

มุมมองจากบริบททางภูมิศาสตร์

ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศเยเมน  เป็นประเทศในคาบสมุทรอาหรับ มีชายฝั่งจรดทะเลอาหรับ(Arabian Sea) และอ่าวเอเดน(Gulf of Aden)ทาง ทิศใต้  จรดทะเลแดง(Red Sea)ทางทิศตะวันตก มีพรมแดนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับโอมานส่วนพรมแดนด้านอื่น ๆ ติดกับซาอุดิอาระเบีย  ประเทศเยเมน เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะเป็นดินแดนที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลแดงกับมหาสมุทรอินเดีย มีเมืองท่าเอเดนที่มีบทบาทสำคัญต่อการขนส่งสินค้าและน้ำมันของโลก  หลังจากที่มีการเปิดคลองสุเอซ (Suez Canal) ในอียิปต์อีกครั้งในปี 1975

หาก วิเคราะห์จากแผนที่โลกในเรื่องของเส้นทางการขนส่งสินค้าและน้ำมันในภูมิภาค ตะวันออกกลาง  เส้นทางที่สำคัญมีอยู่ 2 เส้นทาง  คือเส้นทางจากยุโรปจะใช้เส้นทางการเดินเรือจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน(Mediterranean Sea) ผ่านคลองสุเอซในประเทศอียิปต์  ผ่านทะเลแดงลงมาทางใต้  ผ่านช่องแคบมันเดบ(Bab-el-Mandeb) และ อ่าวเอเดนในเยเมนออกสู่ทะเลอาหรับและมหาสมุทรอินเดียผ่านไปจนถึงทวีปเอเชีย  การเปิดเส้นทางนี้จะช่วยทำให้การเดินเรือสะดวกสบายยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องเดินทางอ้อมแหลมกู้ดโฮปในทวีปแอฟริกา  อีกทั้งเส้นทางนี้ยังสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางจากเป็นเดือนให้ลดลงมา เหลือไม่กี่สิบชั่วโมงได้อีกด้วย

อีกหนึ่งเส้นทาง คือ เส้นทางอ่าวเปอร์เซียที่เป็นแหล่งน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในโลก  เส้นทางการขนส่งน้ำมันหลักจะใช้เส้นทางผ่าน ช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ระหว่างอ่าวโอมาน(Gulf of Oman) กับอ่าวเปอร์เซีย(Gulf of Persian) ฝั่งตะวันออกเป็นประเทศอิหร่าน  ฝั่งตะวันตกเป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรต  ช่อง แคบฮอร์มุซเป็นทางออกทางมหาสมุทรทางเดียวของประเทศส่วนใหญ่ในอ่าวเปอร์เซีย ที่ส่งออกปิโตรเลียม น้ำมันดิบส่วนใหญ่ในโลกจะถูกส่งผ่านเส้นทางนี้ ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของเส้นทางการขนส่งน้ำมัน ซึ่งทำให้ช่องแคบฮอร์มุซเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในโลก

หากกางแผนที่แล้ววิเคราะห์ตามสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งของเส้นทางการขนส่งน้ำมัน ที่สำคัญของโลกดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่านอกเหนือจากช่องแคบฮอร์มุซที่มีตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับประเทศ อิหร่าน ซึ่งเป็นคู่ปฏิปักษ์กับประเทศซาอุดิอาระเบียแล้วนั้น ทางซาอุดิอาระเบียยังเหลือเส้นทางการขนส่งสินค้าและน้ำมันทางทะเล ผ่านทางช่องแคบมันเดบและอ่าวเอเดนในประเทศเยเมนอีกหนึ่งเส้นทางที่ไม่ต้อง กังวลเรื่องสภาพทางภูมิศาสตร์และอิทธิพลของอิหร่าน

และจากการที่กลุ่มฮูซีในเยเมน (ที่มีแนวความคิดทางศาสนาบางส่วนคล้ายคลึงกับแนวความคิดของอิหร่าน) ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากประธานาธิบดีฮาดี  ที่มีซาอุดิอาระเบียให้การสนับสนุนอยู่นั้น  เป็นการส่งสัญญานเตือนในเรื่องของเสถียรภาพทางอำนาจและความมั่นคงของ ซาอุดิอาระเบียในภูมิภาคตะวันออกกลาง  จนทำให้ซาอุดิอาระเบียเกิดความวิตกกังวลทั้งด้านของการเผยแพร่และการขยาย ตัวของแนวความคิดทางศาสนา และความวิตกกังวลในเรื่องของเส้นทางยุทธศาสตร์หลักในการขนส่งน้ำมันใน ภูมิภาคตะวันออกกลาง ไปพร้อมๆกัน

เนื่องจากความสำคัญทางด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งของเยเมนนี่เอง ทำให้ประเทศที่ได้ชื่อว่ายากจนที่สุดในตะวันออกกลางถึงได้รับความสนใจจาก ซาอุดิอาระเบีย  ด้วยเหตุที่ซาอุดิอาระเบียต้องการเข้าไปมีบทบาทและมีส่วนในการจัดสรรอำนาจ เพื่อความสะดวกในการแสวงหาผลประโยชน์ หาใช่มีความต้องการในการสร้างเสรีภาพให้กับประชาชนในประเทศหรือปกป้องระบอบ ประชาธิปไตยมิให้ถูกทำลายตามที่ได้กล่าวอ้าง  สิ่งที่ซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรได้กล่าวอ้างถึงว่าต้องการคืนอำนาจ ให้กับประธานาธิบดีมันซูร ฮาดีและต้องการคืนอำนาจให้กับรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฏหมายนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเพียงฉากหน้าที่ใช้เป็นข้ออ้างในการปกป้องผลประโยชน์ของตน หาใช่ผลประโยชน์ของประชาชนชาวเยเมนไม่….

ด้านสถานการณ์การสงครามในปัจจุบันจากมุมมองของผู้นำในประเทศต่างๆ มีการลงความเห็นกันไปในทิศทางตรงกันว่าซาอุดิอาระเบียเดินเกมผิดพลาด และจะประสบกับความพ่ายแพ้ในที่สุด เช่น ซัยยิดฮะซัน นัศรุลลอฮ์  เลขาธิการฮิซบุลลอฮ์แห่งเลบานอน ชี้ถึง ” ความล้มเหลวของฝ่ายต่างๆ ในต่างประเทศที่จะทำให้ อับดุล ร็อบบิฮ์ มันซูร ฮาดีประธานาธิบดีของเยเมนที่ลาออกกลับคืนมาสู่อำนาจนั้น แสดงให้เห็นถึง ความล้มเหลวของการแทรกแซงทางทหารของซาอุดิอาระเบียต่อประเทศนี้ ”

ท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน กล่าวว่า   “เรา เคยพูดอยู่เสมอมาว่าซาอุดิอาระเบียมีความสุขุมและสงบเสงี่ยมในนโยบายต่าง ประเทศของตน แต่มาตอนนี้พวกเขาได้สูญเสียความสุขุมและสงบเสงี่ยมนี้ไปหมดแล้ว เด็กหนุ่มที่ไร้ประสบการณ์ไม่กี่คนได้เข้ามาควบคุมกิจการต่างๆ ของประเทศนั้น  กำลังทำให้ด้านแห่งความป่าเถื่อน (ของซาอุฯ) พิชิตเหนือด้านแห่งความสงบเสงี่ยมและการรักษาภาพลักษณ์ สิ่งนี้จะเป็นภัยต่อตัวพวกเขาเอง  ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นก็คือ พวกเขาควรจะยุติอาชญากรรมและความหายนะเหล่านี้โดยเร็วที่สุด ประเทศเยเมนเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ เป็นประเทศที่เก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี ชนชาตินี้มีศักยภาพ มีความสามารถที่จะกำหนดภารกิจของรัฐบาลของตนเองได้ ซาอุดิอาระเบียกำลังต่อสู้อยู่กับประชาชนชาวเยเมนหลายสิบล้านคน  ชัยชนะของรัฐบาลซาอุฯ มีโอกาสเป็นไปได้แค่ศูนย์ และขณะนี้มีโอกาสเป็นไปได้ต่ำกว่าศูนย์ “

ด้านประธานาธิบดีอียิปต์ อับดุลฟัตตาฮ์อัลซีซี  ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า  เราจะไม่เข้าร่วมในการทำสงครามภาคพื้นดินกับเยเมน  ด้าน ตุรกีและปากีสถานก็ปฏิเสธการส่งกองกำลังทหารในการเข้าร่วมสงครามในเยเมน และเห็นด้วยกับวิธีการทางการเมืองในการแก้ไขวิกฤตการณ์มากกว่า (ในขณะที่ก่อนหน้านี้  อียิปต์ ตุรกี และปากีสถานได้ประกาศยืนเคียงข้างซาอุดิอาระเบีย) ยิ่งเป็นการโดดเดี่ยวซาอุดิอาระเบียจากสถานการณ์ในเยเมนยิ่งมากขึ้น

กล่าว โดยสรุปเบื้องต้นได้ว่า เมื่อเยเมนมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สามารถสร้างดุลอำนาจในตะวันออกกลางรวม ไปถึงเป็นยังอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถควบคุมทิศทางด้านพลังงานของโลก ให้เป็นไปตามความต้องการได้   คงต้องติดตามคอยดูสถานการณ์กันต่อไปว่า จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้   สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเยเมน จะสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับโลกได้มากแค่ไหนและจะสามารถเปลี่ยนแปลง ดุลอำนาจของซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรไปในทิศทางใด โปรดติดตาม