ข้อดี ของการเป็นนักวิชาการมีมากมาย ยิ่งได้มาอยู่ที่สถาบันการศึกษาด้วยแล้วยิ่งทำให้ได้มีโอกาสมากเป็นทวีคูณ หลายสิบสิบเท่า หนึ่งในโอกาสที่ว่านั้นคือการได้พบเจอพูดคุยและทำความรู้จักกับบรรดานัก วิชาการทั้งระดับชั้นแนวหน้าและทั่วไปที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนไม่หยุด บ้างก็ถูกเชิญมาเป็นองค์ปาฐกแสดงปฐกถา บ้างก็มานำเสนอบทความวิชาการในงานประชุมสัมมนาวิชาการ เป็นต้น
จะ อย่างไรก็ตาม ภายใต้บรรยากาศดังกล่าวส่งผลให้มวลประชาคมที่สังกัดในสถาบันพลอยได้รับ อานิสงส์ไปด้วย หนึ่งในนั้นคือตัวผมเอง การได้กระทบไหล่และแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์กับเหล่านักวิชาการเหล่านั้น เป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงโดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาสติปัญญาให้แหลมคมและได้ มีมิติมองใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการประกอบสร้างตัวตนความเป็นนักวิชาการต่อไป
จำนวน นักวิชาการที่เคยสัมผัสก็มีมากหน้าหลายตา แบบไม่ซ้ำกัน ซึ่งแต่ละท่านก็มีความรู้และเชี่ยวชาญเฉพาะตามที่ตนเองเรียนมา เรียกได้ว่าได้สัมผัสกับผู้ชำนาญจากหลากหลายสาขาด้วยกัน การไม่ซ้ำหน้านี้จะเป็นสิ่งที่ดีแก่พัฒนาการของแวดวงวิชาการและแก่สถาบันเอง ด้วย เพราะเป็นการเติมเต็มรูปลักษณ์มหาวิทยาลัยให้ดูดีขึ้นและเหมาะสมกับสถานภาพ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ควรต้องมีการบริการวิชาการในหลากหลายสาชาวิชาชีพ จึงถือว่าการมาเยือนของนักวิชาการเหล่านั้นมีแต่ได้กับได้อย่างเดียว หรือแทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีผลเสียใดๆ แม้แต่น้อย หรือหากมีความขัดแย้งและคิดต่างในเรื่องข้อมูลและเข้าใจเนื้อหาที่ไม่เหมือน กันจนทำให้เกิดข้อพิพาทกันระหว่างหมู่นักวิชาการด้วยกันก็ยังถือว่ายังอยู่ ในกรอบ เพราะการเห็นต่างกันในวัฒนธรรมวิชาการถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะความคิดเห็นที่ต่างกันนั่นแหละจะก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในที่สุด
ใน จำนวนบรรดานักวิชาการที่เคยแวะเวียนมาเยือนนั้น ก็มีอยู่จำนวนหนึ่งเป็นนักมานุษยวิทยา เป็นกลุ่มนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ น่าสนใจตรงที่พวกเขามักนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยเห็นและคุ้นเคยมากนัก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เราถึงกับตะลึงกับผลงานที่พวกเขานำเสนอไว้ เพราะขึ้นชื่อนักมานุษยวิทยาแล้วย่อมเเป็นนักวิชาการที่ต้องลงพื้นที่ไป สัมผัสกับชาวบ้านเป็นว่าเล่น กินกลางดินนอนกลางทราย พจนานุกรมฉบับมติชนได้นิยาม สาขามานุษยวิทยาว่า วิชาว่าด้วยเรื่องมนุษย์และสังคม ( หน้า ๖๘๐) ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มนักวิชาการสายนี้มักนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่เราเองในฐานะคนในพื้นที่อาจจะไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน
ใน บริบทของสังคมมุสลิมก็เช่นเดียวกัน เราเองก็พลอยตะลึงงันไปด้วยกับสิ่งที่นักมานุษยวิทยานำเสนอไว้ เพราะหลายๆ ครั้งคนมุสลิมเองก็ไม่เคยได้เห็นและรู้มาก่อนกับสิ่งที่พวกเขาจะนำเสนอ ซึ่งอาจจะดีในแง่ข้อมูลใหม่สำหรับมุสลิม แต่บางครั้งอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า สิ่งที่คุณนำเสนอนั้นมันไม่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามเลย แต่มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมของคนมุสลิม วัฒนธรรมและศาสนาเป็นคนละเรื่องกัน อย่ามาคละผสมผสานกันและตีรวมว่าเป็นอิสลาม วัฒนธรรมบางอย่างหากไม่ขัดกับหลักการอิสลามก็สามารถปฏิบัติได้ แต่หากวัฒนธรรมใดขัดกับหลักการอิสลามและต่อให้ดีเลิศงามวิไลเพียงใดก็ถือว่า ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์อิสลาม
แต่ ปัญหามีอยู่ว่ามีอยู่บ่อยครั้งที่เกิดการเข้าใจผิดในหมู่นักมานุษยวิทยาที่ ศึกษาเกี่ยวกับอิสลามและมุสลิมว่าเป็นสิ่งเดียวกัน กล่าวในอีกนัยหนึ่ง คือ สิ่งที่พวกเขาสนใจคือปรากฏการณ์มากกว่าจะสนใจในหลักการ
ผม นั่งฟังพวกเขาบรรยายด้วยความน่าสนใจทั้งในแง่การนำเสนอและข้อมูลใหม่ที่น่า สนใจ แต่ดูเหมือนว่าบางคนตีความรวมว่าสิ่งที่พวกเขานำเสนอนั้นเป็นเรื่องอิสลาม หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมอิสลาม ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องผิดถนัดอย่างมหันต์ เพราะพวกเขาไม่ได้แยกแยะระหว่างสองอย่าง คืออิสลามในฐานะศาสนากับมุสลิมในฐานะบุคคลหรือสังคม ซึ่งสองอย่างนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน แต่อันทีจริงแล้วเป็นคนละเรื่องกัน เหมือนที่ Al-Arabi Abu Hamzahได้กล่าวไว้ว่า “What Islam preaches is one thing and what so many Muslims nowadays practice is something else.” (อิสลามสอนอีกแบบหนึ่ง แต่มุสลิมส่วนใหญ่ปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง)
บางที สิ่งที่สังคมมุสลิมปฏิบัติอิสลามไม่ได้สอนไว้เลย แต่เกิดจากฝีมือของกลุ่มคนในแต่ละสังคม เพราะโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ย่อม มีศักยภาพพอที่จะเนรมิตสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ดังที่ประจักษ์ในทุกอารยธรรมของมนุษย์บนโลกนี้ บางสิ่งบางอย่างก็เป็นนวัตกรรมที่ดีที่มวลสมาชิกยอมรับกันจนกลายเป็นสิ่งที่ สมาชิกทุกคนเห็นพ้องว่าควรแก่การอนุกรักษ์ไว้ แต่บางสิ่งกลับเป็นนวัตกรรมที่ไม่น่าอภิรมย์นักเพราะขัดกับหลักจริยธรรมและ คุณธรรมของศาสนาที่ยึดมั่นถือมั่นมาแต่กำเนิด
ยอมรับ ว่าสังคมมุสลิมเองก็มีความหลากหลายแตกต่างกันออกไปในเรื่องของประเพณี ปฏิบัติและความเชื่ออันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นๆ จะยอมสลัดทิ้งวัฒนธรรมเดิมได้หรือไม่หากพบว่าวัฒนธรรมดังกล่าวขัดกับหลักการ อิสลาม เท่าที่สังเกตเห็นโดยทั่วๆไปมีมุสลิมเพียงบางกลุ่มที่ยอมสลัดทิ้งวัฒนธรรม ดั้งเดิมที่ได้สืบทอดจากบรรพบุรุษ ทั้งนี้เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของอิสลามที่ไม่ต้องการให้มีสิ่งโสโครกมา เจือปนกัดเซาะหรือบดบังรัศมีแห่งอิสลามไป แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่กล้าทำเช่นนั้น เพราะยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามทุกวิธีทางที่จะปกป้องวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ไม่ค่อยตระหนักว่าประเพณีนิยมที่ตนปฏิบัติอยู่นั้นจะผิด หรือจะถูกอย่างไรที่สำคัญกว่าอื่นใดคือการได้รักษาในสิ่งที่ตนมีอยู่อย่าง ภาคภูมิใจ ต่อให้มันขัดกับหลักการอิสลามเพียงไหนก็ตาม หรือหากมีสมาชิกในกลุ่มตระหนักว่ามันผิดและขัดต่อหลักการอิสลามก็ทำไม่รู้ ไม่ชี้เพราะเห็นว่าการอนุรักษ์รักษาวัฒนธรรมหรือประเพณีนิยมนั้นเท่ากับ เป็นการรักษาอัตลักษณ์ตัวตนที่แท้จริง ฉะนั้น จงอย่าให้มันสูญหายไปจากบนหน้าแผ่นดินนี้เป็นอันขาด
ที่ ผมสาธยายมายาวยืดนั้นเพื่อต้องการชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างอิสลามและ มุสลิม การไปตีขลุมเหมารวมว่าทั้งหมดเป็นอิสลามออกจะไม่ยุติธรรมมากเกินไป เป็นการกล่าวหาที่ไม่ถูกต้อง ฉะนั้น การที่นักมานุษยวิทยาบางคนที่ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคนมุสลิม แล้วมานำเสนอผลการศึกษาและวิจัยว่าทั้งหมดว่านั้นเป็นภาพอิสลามจะยิ่งทำให้ มวลชนเข้าใจผิดตามไปด้วย และจะยิ่งทำให้สลับซับซ้อนมากขึ้นๆ ไปเรื่อย
อิสลาม นั้นมีหนึ่งเดียวก็จริง แต่อันเนื่องจากมีผู้นับถือศาสนาอิสลามกระจัดกระจายครอบคลุมทุกอาณาบริเวณ พื้นที่บนโลก ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีขนบประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่แตกต่างกันออกไป บางขนบประเพณีไม่ได้ขัดกับหลักการอิสลามก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่บางขนบประเพณีขัดกับหลักการอิสลามอย่างมากและเป็นที่ต้องห้ามด้วย แต่ด้วยอวิชชาจึงยังคงสืบปฏิบัติมาจนถึงบัดนี้ แล้วที่นี้เมื่อนักมานุษยวิทยาเข้าไปเก็บข้อมูลทำวิจัยก็จะเห็นภาพอยู่ เบื้องหน้าว่านั่นแหละอิสลาม ทั้งๆ ที่สิ่งที่พวกเขาแลเห็นนั้นอาจจะเป็นประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มสังคมมุสลิม กลุ่มหนึ่งซึ่งกลุ่มเหล่านี้เองก็เข้าใจผิดนึกว่าเป็นประเพณีอิสลามที่ถูก ต้องตามหลักการอิสลามจึงไม่ระแคะระคายแม้แต่สักนิดว่ามันผิดและขัดต่อหลัก การอิสลามอย่างไร
แต่ ก็มีประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มสังคมที่ไม่ได้ขัดกับหลักการอิสลามเลย แม้แต่นิดและไม่ได้เป็นที่ต้องห้ามแต่ประการใด ซึ่งก็ไม่มีปัญหาใดๆ แต่มีวัฒนธรรมจำนวนไม่น้อยที่ไม่เพียงขัดกับหลักการอิสลามเท่านั้น หากยังนำไปสู่การเข้าใจผิดต่อคนต่างศาสนิก อีกด้วยว่าเป็นอันเดียวกัน พร้อมๆ กับมีคำถามที่ชวนปวดเศียรเวียนเกล้ามากมายหลายข้อ เช่น ทำไมมุสลิมกลุ่มโน้นปฏิบัติได้และทำไมมุสลิมกลุ่มนี้ปฏิบัติไม่ได้ หรือทำไมคุณปฏิบัติไม่เหมือนกลุ่มอื่น อะไรทำนองนี้เป็นต้น และสุดท้ายภาระอันหนักอึ้งก็จะตกแก่กลุ่มคนที่พยายามปฏิบัติตามหลักการ อิสลามว่าเป็นบุคคลเคร่งครัด คนแปลกหน้าในสังคม ไม่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย ฯลฯ
ความ ไม่เข้าใจเหล่านี้จะยิ่งทำให้เกิดข้อคำถามมากมายแก่คนอื่น และจะยิ่งทำให้อิสลามถูกเข้าใจแบบผิดๆ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าขาดการเข้าใจในเชิงหลักการของอิสลามอย่างถ่องแท้
แต่ นักมานุษยวิทยาไม่มีหน้าที่ในการไปทำความเข้าใจกับเนื้อหาและหลักการอิสลาม และไม่ใช่วิสัยของวิชาชีพกลุ่มนี้อีกด้วยที่ต้องทำความรู้จักตัวบทเหมือนที่ นักวิชาการสายศาสนากระทำไว้ แต่ประเด็นที่สำคัญแก่นักมานุษยวิทยาก็คือภาพปรากฏการณ์ที่อยู่เบื้องหน้า แล้วก็พยายามตีความตามแนวคิดทฤษฎีของนักมานุษยวิทยาที่พึงปฏิบัติ
อัน ที่จริงข้อปฏิบัติเช่นที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเฉพาะนักวิชาการสาย มานุษยวิทยาเท่านั้น หากแต่จะเกิดขึ้นกับนักวิชาการทุกแขนงสาขา เพราะแต่ละแขนงสาขาย่อมมีแนวคิด ปรัชญา ทัศนะ และหมุดหมายของตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งโดยหลักปฏิบัติแล้ว นักวิชาการเหล่านี้ก็ไม่มีหน้าที่ต้องทำเหมือนกับนักวิชาการศาสนาที่ต้อง อธิบายโดยยึดตัวบทเป็นหลัก กล่าวในอีกในแง่หนึ่ง ก็คือ ไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเลยหากเกิดการตีความแบบผิดเพี้ยนไป เพราะพวกเขาก็อาศัยภาพที่ปรากฎอยู่เบื้องหน้ากับข้อมูลที่มีอยู่มาทำการ วิเคราะห์
แต่ ก็นั่นแหละผลงานที่ออกมาสู่สาธารณะ มีอยู่หลายครั้ง(และเกือบทุกครั้ง)สร้างความไม่สบายใจแก่พี่น้องมุสลิมผู้ รู้ดีว่า อันไหนควรและอันไหนไม่ควร สิ่งใดผิดและสิ่งใดไม่ผิด ตรงไหนขัดและตรงไหนเป็นที่ต้องห้าม
เรื่อง ของเรื่องก็เพราะขาดความเข้าใจที่ดี ลึกซึ้ง และด้วยความไม่ตระหนักในความรู้สึกของคนอื่น (มุสลิม) ตลอดจนไม่รู้จักขีดเส้นตีกรอบแยกแยะระหว่างอิสลามและมุสลิมของบรรดานัก วิชาการที่เรียกว่า”นักมานุษยวิทยา”นั่นแหละ ซึ่งส่งผลให้ภาพลักษณ์มุสลิมพิลึก ภาพลักษณ์อิสลามพิกล แต่หากว่านักมานุษยวิทยาเข้าใจในหลักการอิสลามอย่างดีพร้อมกับไม่มีอคติ การนำเสนอสิ่งใดๆ เกี่ยวกับมุสลิมย่อมไม่มีปัญหาแน่นอน หนำซ้ำจะบังเกิดผลดีแก่สังคมมุสลิมโดยถ้วนหน้ากัน
สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์