เส้นทางสู่สันติภาพ แม้นจะไกลหมื่นลี้ซ้ำยังวิบากก็ต้องทน

นับตั้งแต่ตัวแทนขบวนการ BRN โดย นายฮาซันตอยิบ กับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ตัวแทนรัฐไทย ได้ลงนามข้อตกลงเปิดเวทีพูดคุยเพื่อสันติภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นต้นมา คู่กรณีได้จัดพบพูดคุยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียมาแล้ว 2 ครั้ง คือ วันที่ 28 มีนาคม 2556 และ 29 เมษายน 2556 ผลการพูดคุยยังไม่ได้มีการตั้งประเด็นของการที่จะแสวงหาสันติภาพแต่อย่างใด เพียงแต่ทางฝ่ายไทยนำข้อเสนอให้ฝ่าย BRN สั่งการให้กองกำลังก่อเหตุในพื้นที่ลดความรุนแรง ส่วนฝ่ายตัวแทน BRN ก็นำข้อเสนอให้ฝ่ายไทยอำนวยความยุติธรรมกับผู้ต้องคดีความมั่นคงในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งข้อนำเสนอทั้งสองฝ่ายนี้คู่กรณีจะนำกลับไปหารือกับองค์กรทั้งสองฝ่าย

แต่ จู่ๆมาก่อนถึงนัดพูดคุยครั้งที่สามหนึ่งวัน นายฮาซัน ตอยิบ ได้ออกแถลงการณ์่ประกาศจุดยืนของ BRN และ นายอับดุลกาเร็ม คาลิบได้ประกาศข้อเสนอ 5 ข้อ ของ BRN ผ่านทาง youtube ทำให้เป็นที่ฮือฮาเกรียวกราวบนพื้นที่ข่าวทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ต่างๆอยู่หลายวัน และในวันพูดคุยครั้งล่าสุดที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ตัวแทน BRN ได้หยิบยกข้อเสนอ 5 ข้อ ใน youtube เป็นข้อเสนอบนโต๊ะพูดคุยตามความคาดหมาย ทำให้ตัวแทนรัฐไทยปรับตัวเสียแทบไม่ทัน

ข้อเสนอ 5 ข้อ ของ BRN สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศและผู้มีอำนาจในบ้านเมืองที่ยังขาดความรู้ความ เข้าใจอย่างลึกซึ้งในปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจรู้สึกว่าเป็นข้อเสนอที่แรงไป ทำให้ทางผู้นำกองทัพไทยประชุมด่วนปรึกษาหารือแล้วสรุปว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ 5 ข้อ ของ BRN ในส่วนของรัฐบาลยังไม่แสดงท่าทีใดๆกับข้อเสนอดังกล่าว

อันแท้จริงแล้ว ข้อเสนอ 5 ข้อ ดังกล่าวข้างต้น หากพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นปกติธรรมดาของข้อเรียกร้องของขบวนการทางการเมืองที่มี อุดมการณ์เป้าหมายในการเรียกร้องเอกราชไม่ว่าที่ใดในโลก การพูดคุยที่จะนำไปสู่การเจรจาต้องมีประเด็นที่จะต้องพูดคุย มิฉะนั้นจะหาข้อสรุปของการพูดคุยไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน และประเด็นที่จะพูดคุยต้องเป็นประเด็นที่จะนำาไปสู่ความสำเร็จที่ทุกฝ่ายพึง ประสงค์ แม้ว่าประเด็นที่จะพูดคุยนั้นจะเป็นเรื่องยากลำบากเพียงใดก็ตาม เปรียบเสมือนคนทุกคนต้องการสันติภาพ หากสันติภาพนั้นเป็นสินค้า แม้ราคาจะแพงเพียงใดก็ตาม เรายังอยากได้ ก็ต้องต่อรองราคาเอาไว้ก่อนเพื่อให้ได้ราคาที่เราสามารถซื้อได้ เฉกเช่นเดียวกันกับผู้ขาย เมื่อเขาอยากจะขายอย่างไรแล้วเขาย่อมยอมลดราคาให้ผู้ซื้อได้เท่าที่เขาไม่ ขาดทุน ที่ยกเป็นอุทาหรณ์นี้เพื่อต้องการให้สติเตือนใจผู้แทนเจรจาฝ่ายไทยอย่าไป วิตกกังวลกับข้อเสนอของ BRN เขาจะเสนอมาอย่างไรก็ต้องอยู่ในกรอบการลงนามข้อตกลงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2556

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 นายหะยีอาดำา มูฮัมหมัดนูร ตัวแทนอีกคนหนึ่งของ BRN ได้ออกแถลงการณ์ผ่าน youtube ขยายความข้อเสนอ 5 ข้อ ต่อตัวแทนรัฐไทย อันเป็นการตอกย้ำให้ทางรัฐไทยไม่ดูดายกับข้อเสนอดังกล่าว และได้เผยแพร่คำขยายความทาง youtube ลงในสื่อออนไลน์ทำให้ดูกันอย่างแพร่หลายเมื่่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ เอง

ข้อเสนอ 5 ข้อ ของ BRN แน่นอนในการพูดคุยครั้งต่อไปในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 นี้ คงจะได้มีหยิบยกทวงถามหารือจากตัวแทน BRN อย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนตัวแทนรัฐไทยจะเตรียมตัวตอบอย่างไรนั้นยังไม่อาจคาดการณ์ได้ เพราะเท่าที่สังเกตุดูท่าทีของฝ่ายความมั่นคงไทยโดยเฉพาะทหาร ไม่สนุกและสบอารมณ์เท่าใดนัก ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของคนที่มีความเชื่อและมั่นใจในพละกำลังของตนว่าเข้มแข็ง และแข็งแรงเหนือกว่าคู่กรณี อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่อยากให้ทางตัวแทนฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายความมั่นคงมีความ วิตกจนเกินไปสำหรับข้อเสนอเบื้องต้น 5 ข้อ ดังกล่าว เพราะหากพินิจวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบด้านแล้ว ล้วนแต่ยังอยู่ในกรอบของข้อตกลงที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ลงนามทำข้อตกลงทั้ง สิ้น ดังที่ผู้เขียนจะได้ถอดความชี้แจงเป็นข้อๆดังนี้

ข้อ 1. ให้ BRN เป็นตัวแทนหลักแทนชาวมลายูปาตานีเป็นผู้พูดคุยหรือเจรจากับรัฐไทยเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่ BRN จะอ้างได้ เพราะเป็นที่รู้กันโดยเปิดเผยแล้วว่า การก่อตั้งขบวนการปลดปล่อยชาวมลายูปาตานีหลายขบวนการในช่วงเวลานานไม่น้อย กว่า 50 ปี มานี้ ยังคงเหลือขบวนการ BRN ขบวนการเดียวที่ยังยืนหยัดต่อสู้กับรัฐไทยอย่างรุนแรงจนก่อให้เกิดความสูญ เสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินทั้งสองฝ่ายตลอดจนทำให้ผืนแผ่นดินปาตานีเกิดการ ถดถอยทางด้านการพัฒนาแทบทุกๆด้าน หากจะยุติการต่อสู้และจะทำให้เกิดสันติภาพขึ้นมาได้ ต้องขึ้นอยู่กับคู่กรณีที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักอันหมายถึงรัฐไทยกับ BRNเท่านั้นจะเป็นผู้กำหนด

ข้อ 2. ให้มาเลเซียทำหน้าที่เป็นคนกลางในการพูดคุยเจรจาระหว่างรัฐไทยกับBRN ไม่ใช่แค่เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกอย่างเดียว ข้อเสนอนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนที่ทะเลาะวิวาทกันหากจะพูดคุยหรือเจรจา ตกลงยุติข้อขัดแย้งก็ต้องมีคนกลางที่ได้รับความเชื่อถือและยอมรับของทั้งสอง ฝ่าย มาเลเซียแม้จะเป็นรัฐบาลที่มีศาสนาและชาติพันธุ์เดียวกันกับชาวปาตานี แต่ก็ไม่เคยมีประวัติขัดแย้งกับรัฐไทย และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียตั้งแต่คนแรกจนถึงคนปัจจุบันไม่เคยมีนโยบายหรือแสดง ท่าทีใดๆส่อในทางสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนใดๆมาก่อน บางทีเมื่อมีหลักฐานชัดเจนในการกระทำความผิดตามกฎหมายไทยของกลุ่มขบวนการใด แม้รัฐไทยกับมาเลเซียไม่มีสนธิสัญญาส่งคนร้ายข้ามแดน ทางมาเลเซียยังใช้วิธิการนอกกฎหมายจับกุมสมาชิกกลุ่มขบวนการที่กระทำความผิด ในราชอณาจักรไทยส่งตัวให้กับเจ้าหน้าที่รัฐไทยมาแล้ว เช่น ปี 2542 ได้จับตัวสมาชิกระดับนำของขบวนการพูโลที่พำนักอยู่ในมาเลเซีย คือ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ หะยีบือโด ฯ ส่งตัวให้ทางการไทยและถูกดำเนินคดีศาลพิพากษาลงโทษจำคุกคนละหลายสิบปี อีกทั้งสมาชิกแกนนำฝ่ายการเมืองระดับสูงยังอาศัยผืนแผ่นดินของมาเลเซียเป็น ที่อยู่อาศัย ย่อมง่ายและสะดวกที่มาเลเซียจะให้คุณและโทษได้

ข้อ 3. ให้มีสมาชิกอาเซี่ยน OIC ( องค์การประชุมโลกมุสลิม ) และ NGO ( องค์กรกลุ่มภาคประชาสังคม ) มาร่วมเป็นสักขีพยาน ข้อเสนอข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายรัฐไทยเสียมากกว่า ทั้งนี้เพราะสมาชิกประเทศอาเซี่ยน OIC และ องค์กรกลุ่มภาคประชาสังคม ไม่สนับสนุนที่เป็นประเด็นส่อไปในทางแบ่งแยกดินแดนอย่างแน่นอนและเป็นการ แสดงความจริงใจของรัฐไทยที่ต้องการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี ทำให้การพูดคุยเจรจาอยู่ในกรอบของข้อตกลงทุกประการ

ข้อ 4. ให้ปลดปล่อยสมาชิกของขบวนการที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคงและให้เพิกถอนหมายจับคดีเกี่ยวกับความมั่นคงอย่าง ไม่มีเงื่อนไข ข้อเสนอนี้หากดูอย่างผิวเผินแล้วมีความรู้สึกว่าเป็นข้อเสนอที่แข็งกร้าว เกินไป แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ไม่สามารถปฏิบัติได้ทั้งหมด จำเป็นต้องแยกแยะออกเป็นคดีๆไป เพราะบางคดีนั้นผู้กระทำความผิดได้กระทำต่อผู้บริสุทธิ์กลุ่มเป้าหมายที่ อ่อนแอ ซึ่งผู้ถูกกระทำเหล่านั้นย่อมได้รับการคุ้มครองของกฎหมายไทยและกฎหมายสากล

ข้อ 5. ให้ยอมรับว่า BRN เป็นขบวนการปลดปล่อยชาวมลายูปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ข้อเสนอนี้ต้องทำความเข้าใจตรงกันว่า การปลดปล่อยชาวมลายูปาตานีมีความหมายอย่างไร แน่นอนมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดขบวนการต่างๆขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐไทยถึง ขั้นต้องการเอกราชนั้น ถ้าดูตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงเวลาตั้งแต่จอมพล.ป พิบูลสงคราม ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศแบบเผด็จการชาตินิยมไทย ทำให้วิถีชีวิตและความเป็นอัตตลักษณ์ของชาวมลายูปาตานีเปลี่ยนไป อีกทั้งการกดขี่ข่มเหงของเจ้าหน้าที่รัฐไทยต่อชาวมลายูปาตานีรุนแรงมากขึ้น เป็นลำดับ ดังเช่น เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจเผาบ้านชาวบ้านที่บ้านบลูกาสาเมาะ 29 หลัง ในปี 2490 การจับกุมดำเนินคดีตวนกูรูหะยีสุหลงฯฐานกบฎในราชอาณาจักรในปี 2491 และยังจับตัวหายสาบสูญไปอีกในปี 2497 การจับกุมนายหะยีมูฮำหมัดตอเฮร์(โต๊ะครูดูกู)จนเสียชีวิตในห้องขังในปี 2491 และ การปราบปรามชาวบ้านดุซงญอตายนับร้อยอพยพหลบหนีเข้าฝั่งประเทศเพื่อนบ้านนับ จำนวนพันคนในปี 2491 การสังหาร นายสมรรถ เอี่ยมวิโรจน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส โดย ตำรวจ 2 นาย เป็นมือปืน เกิดเหตุในยามวิกาล ตรงหน้าบ้านพักในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ในปี 2498  เหตุการณ์สำคัญๆที่สะเทือนขวัญเหล่านี้จารึกจดจำอยู่ในหัวใจของชาวมลายูปา ตานีมาตลอด อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง ความล้าหลังด้านการศึกษา ซึ่งตวนกูรูหะยีสุหลงฯเคยพูดในปี 2490 ว่า ” ปาตานีตกอยู่ในการปกครองของไทย 40 ปี โรงเรียนในปาตานีเปรียบเสมือนเล้าไก่ ” ปรากฎการต่างๆที่เกิดขึ้นในยุคนั้น เป็นที่มาของขบวนการที่ต้องการปลดปล่อยชาวมลายูปาตานีนั่นเอง

การพูดคุยเพื่อนำไปสู่สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ หากไม่มีการเสนอและการสนองเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงแค่มีอำนาจแต่มีจิตใจที่คับแคบ ไม่รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่จริงใจต่อกัน อีกทั้งเส้นทางสู่ถนนสันติภาพบนผืนแผ่นดินแห่งนี้มันไม่ได้โปรยด้วยกลีบ กุหลาบ มันเป็นเส้นทางที่ยาวไกลแถมยังเป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวเป็นหลุมเป็นบ่อ อันได้ชื่อว่าเส้นทางวิบาก แต่สามารถเดินทางไปถึงได้ หากทั้งสองฝ่ายมีความอดทนสูงพอ