ภาพรวมการถือศีลอดในศาสนาอิสลาม

การถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนเป็นหนึ่งในเสาหลักของคำสอนแห่งศาสนาอิสลาม

อัลเลาะห์ (ซบ.) ทรงกล่าวไว้ว่า:

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกบัญญัติแก่พวกสูเจ้า เสมือนกับที่ได้ถูกบัญญัติแก่ชนรุ่นก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้ว เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” (บากอเราะห์ : 183)

ตามโองการนี้ ประเพณีในการถือศีลอดจึงไม่ได้เป็นเอกลักษณ์ของศาสนาอิสลาม แม้แต่ชาวคริสต์และชาวยิวก็คุ้นเคยกับประเพณีนี้ ตัวอย่างเช่น คนยิวจะมีการอดอาหารที่เกี่ยวข้องกับวันแห่งการชดใช้ (Day of Atonement หรือ Yom Kippur) และในเทศกาลเทศกาลมหาพรตหรือเทศกาลเข้าสู่ธรรม (Lent) ของชาวคริสต์ ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาสี่สิบวัน เริ่มต้นจากวันพุธรับเถ้าและสิ้นสุดวันอีสเตอร์ ซึ่งจากในอดีตมาจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้พบว่า ทุกปีเป็นฤดูแห่งการอดอาหาร

ชาวมุสลิมถือศีลอดอย่างไร?

การถือศีลอดสำหรับชาวมุสลิมหมายความว่า ชาวมุสลิมที่มีร่างกายสมบูรณ์และเป็นผู้ใหญ่ต้องงดอาหาร การดื่ม การสูบบุหรี่ และกิจกรรมทางเพศทั้งหมด การงดเว้นนี้จะต้องปฏิบัติทุกวันตั้งแต่รุ่งอรุณไปจรดค่ำ

อัลกุรอ่านกล่าวไว้ว่า “จงกิน และดื่ม จนกระทั่งเส้นสีขาวเป็นที่แจ่มชัดแก่พวกเจ้าแยกจากเส้นสีดำยามรุ่งอรุณ แล้วพวกเจ้าจงทำการถือศีลอดให้ครบถ้วนจนถึงพลบค่ำ” (บากอเราะห์ : 187)

ดังนั้นในช่วงเดือนรอมฎอนตารางประจำวันของครอบครัวมุสลิมจึงเปลี่ยนไป พวกเขาตื่นขึ้นมาในขณะที่ยังเป็นเวลากลางคืนเพื่อทานอาหารก่อนรุ่งสาง และจากนั้นก็จะอยู่ไปโดยปราศจากอาหาร เครื่องดื่ม หรือสูบบุหรี่ ตลอดทั้งวันจนถึงกลางคืน 

ความสั้นยาวของกลางวันในเดือนรอมฎอนขึ้นอยู่กับฤดูกาลในแต่ละปี ปฏิทินอิสลามวางอยู่บนพื้นฐานของระบบจันทรคติ ซึ่งในแต่ละปีสั้นกว่าปฏิทินทั่วไปสิบวัน เดือนอิสลามเริ่มต้นด้วยการมองเห็นดวงจันทร์ใหม่และสิ้นสุดลงเมื่อเห็นดวงจันทร์ใหม่ดวงถัดไป เมื่อรอมฎอนตรงกับฤดูหนาว กลางวันจะสั้นลง และง่ายต่อการอดอาหาร แต่เมื่อรอมฎอนตรงกับฤดูร้อนกลางวันจะยาวนานขึ้นและไม่ง่ายที่จะถือศีลอด นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความยุติธรรมและเป็นธรรมของอัลเลาะห์ เพื่อให้ทุกคนสามารถอดอาหารผ่านฤดูกาลต่างๆ ที่หลากหลาย และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมระบบปฏิทินของจันทรคติจึงเป็นที่นิยมสำหรับพิธีกรรมทางศาสนา

มีใครได้รับการยกเว้นจากการถือศีลอด??

แน่นอนศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ใช้งานได้จริง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้ที่กำลังเดินทาง หญิงตั้งครรภ์ และผู้ให้นมบุตร – ผู้คนเหล่านี้ทั้งหมดได้รับการยกเว้นไม่ต้องถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน 

ในกลุ่มคนเหล่านั้น เมื่อสถานการณ์ของพวกเขากลับมาเป็นปกติ บางคนต้องชดใช้ศีลอดที่พวกเขาไม่ได้ปฏิบัติ ในขณะที่บางคนได้รับการยกเว้นโดยสิ้นเชิง ตามที่พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า

“อัลเลาะห์์ทรงประสงค์ให้เกิดความสะดวกแก่พวกเจ้า พระองค์ไม่ทรงปราถนาให้เกิดความลำบากแก่พวกเจ้า” (บากอเราะห์ : 185)

ปรัชญาของการถือศีลอด?

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมเพื่อนบ้านชาวมุสลิม เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานของคุณต้องอดอาหารตลอดเดือนรอมฎอน? มีหลายเหตุผลและประโยชน์ในการถือศีลอดนี้ บ้างเป็นเรื่องวิญญาณ และบ้างเป็นเรื่องธรรมชาติทางสังคมบางอย่าง

(ก) มิติทางวิญญาณ

การอดอาหารในช่วงเดือนรอมฎอนไม่ได้มีไว้สำหรับการชดใช้หรือกลับใจ มันไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงบวก ในโองการ อัลกุรอานที่กล่าวก่อนหน้านี้ซึ่งบัญญัติให้การถือศีลอดเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมนั้น อัลเลาะห์กล่าวไว้ว่า “เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” ซึ่งแปลว่า คุณอาจกลายเป็นคนเคร่งศาสนาหรือรู้จักพระเจ้ามากขึ้น” ซึ่งนี่คือการชี้ไปที่จุดประสงค์ทางจิตวิญญาณในการถือศีลอดนี้

มิติทางวิญญาณของการถือศีลอดนั้น ตามที่เราทุกคนรู้ว่าพระเจ้าได้สร้างพลังต่างๆ ภายในตัวเรา ด้านหนึ่งเรามีจิตวิญญาณ (Soul) มโนธรรม มิติทางวิญญาณ  (Spirit) และในทางกลับกันพระเจ้าก็ทรงสร้างองค์ประกอบของ “ความโกรธ” (anger) และ “ความปรารถนา” (desire) ไว้ในตัวเรา 

“ความโกรธ” คือพลังที่ผลักไสไล่ส่งสิ่งที่เราคิดว่าเป็นอันตรายต่อตัวเราเอง และ “ความปรารถนา” เป็นองค์ประกอบภายในตัวเราซึ่งดึงดูดสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อเรา 

มันมีการต่อสู้อย่างต่อเนื่องระหว่างจิตวิญญาณ, มโนธรรม และเหตุผล ในด้านหนึ่ง, กับพลังแห่งความโกรธและความปรารถนาทางกายในอีกด้านหนึ่ง 

อารมณ์และความต้องการทางร่างกายทั้งหมดของเราสามารถจำแนกได้ภายใต้ “ความโกรธ” และ “ความปรารถนา” 

แม้มิติของชีวิตมนุษย์เหล่านี้มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของเราในโลกนี้ กระนั้นศาสนาอิสลามบอกว่ามนุษย์ที่ประสบความสำเร็จคือบุคคลที่ควบคุมพลังของ “ความโกรธ” และ “ความปรารถนา” ด้วยวิธีการของการใช้้จิตวิญญาณ มโนธรรม หรือเหตุผล 

และโดยการควบคุม (ไม่ใช่การยับยั้งโดยสิ้นเชิง) ต่อความโกรธและความปรารถนาเท่านั้น ที่บุคคลสามารถบรรลุถึงบุคลิกที่สมดุลได้ 

อิสลามต้องการให้ศาสนิกชนควบคุมชีวิตของพวกเขา และไม่กลายเป็นทาสของความปรารถนาของตน ในความเป็นจริงนี่คือญิฮาดที่สำคัญในศาสนาอิสลาม โดย “ ญิฮาดสำคัญ” หมายถึงการต่อสู้ทางวิญญาณที่อยู่ภายในตัวเราแต่ละคนนั่นเอง

เดือนรอมฎอนจึงเป็นโครงการฝึกอบรมประจำปีสำหรับชาวมุสลิม เพื่อเสริมสร้างจิตและวิญญาณ (soul and spirit) ของพวกเขา เพื่อเติมพลังตนเองทางวิญญาณโดยเสริมสร้างพลังใจของพวกเขา การถือศีลอดเป็นโปรแกรมทางจิตวิญญาณที่คนสามารถนำพลังแห่งความโกรธและความปรารถนาให้มาอยู่ในการควบคุมของจิตวิญญาณและเหตุผล

การอดอาหารของเดือนรอมฎอนช่วยเราด้วยวิธีนี้อย่างไร? โดยการงดอาหาร เครื่องดื่ม และกิจกรรมทางเพศโดยสิ้นเชิง (อันเป็นความปรารถนาแรงกล้าที่สุดที่พระเจ้าสร้างไว้ภายในตัวเรา) เป็นเวลา 29 หรือ 30 วัน จะเสริมสร้างวิญญาณและจิตวิญญาณของเราอย่างแน่นอน เราจะได้รับพละกำลังมากขึ้นและควบคุมตนเองมากกว่าการตกเป็นทาสของความปรารถนาของเรา

และเมื่อสิ้นสุดเดือนรอมฎอน มุสลิมถูกคาดหวังว่าจะเป็นคนเข้มแข็งทางจิตวิญญาณในการควบคุมชีวิตของเขาเอง ในแง่นี้แน่นอนว่าถือเป็นเป็นพรสำหรับเราที่พระเจ้ากำหนดการถือศีลอดเดือนรอมฎอนในทุกปี

(ข) มิติทางสังคม

เดือนรอมฎอนยังมีมิติทางสังคมที่แตกต่าง เมื่อชาวมุสลิมอดอาหารในช่วงกลางวันของเดือนนั้นพวกเขาจะหิวและกระหายน้ำ และในช่วงเวลาของความหิวโหยและความกระหายนั้นพวกเขาสามารถเชื่อมโยงกับความทุกข์ทรมานของผู้หิวโหยและคนจนในชุมชนและทั่วโลกได้มากขึ้น ผู้ที่อดอาหารในเวลากลางวันรู้ว่าหลังจากพระอาทิตย์ตกดินจะมีอาหารบนโต๊ะอาหารของพวกเขา แต่พวกเขาก็ตระหนักหรือควรตระหนักว่ามีคนจำนวนมากที่อดอาหารแม้ว่ามันจะไม่ใช่เดือนรอมฎอน และพวกเขาก็อดอาหารโดยไม่มั่นใจว่าจะมีอาหารบนโต๊ะในตอนท้ายของวันหรือไม่! พวกเขาอดอาหารเพียงเพราะพวกเขาไม่มีอะไรกิน!

การรับรู้เช่นนี้จะช่วยกระตุ้นองค์ประกอบของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และการแบ่งปันในตัวเรา ในแง่นี้เดือนรอมฎอนก็เป็นเดือนแห่งการแบ่งปันและการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เช่นกัน ในตอนปลายเดือนหลังสิ้นสุดการถือศีลอดชาวมุสลิมมีงานเลี้ยงใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อ “อีดฟิตริ”  พวกเขารวมตัวกันในสุเหร่าเพื่อละหมาดและเฉลิมฉลองพิเศษ อย่างไรก็ตามก่อนที่ชาวมุสลิมจะไปละหมาดพิเศษนี้พวกเขาจะต้องจ่ายเงิน ‘ซากาต’  ซึ่งเป็นการทำทานพิเศษ นี่เป็นขั้นตอนแรกที่พระเจ้าช่วยให้เราดำเนินอยู่ในเส้นทางของการกุศลและแบ่งปัน ด้วยความหวังว่าชาวมุสลิมจะยังคงแบ่งปันสิ่งที่พระเจ้ามอบให้พวกเขากับสมาชิกผู้ด้อยโอกาสของสังคม

สรุป

การถือศีลอดไม่ได้เป็นเพียงการงดอาหาร เครื่องดื่ม การสูบบุหรี่ และกิจกรรมทางเพศเพียงเท่านั้น ในขณะที่เราอดอาหารเราควรพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของเราต่อผู้อื่น มีหลายสิ่งที่ในทางเทคนิคไม่ได้ทำให้การอดอาหารของเราเป็นโมฆะ แต่แน่นอนว่ามันขัดต่อจิตวิญญาณและวัตถุประสงค์ของการถือศีีลอด ตัวอย่างเช่น ท่านศาสดากล่าวว่า การโกหก การทำร้ายผู้อื่นลับหลัง และสายตาที่มีตัณหาก็ทำลายวิญญาณของการถือศีลอด ดังนั้นความหิวโหยและความกระหายไม่ควรเป็นข้ออ้างที่จะโกรธและไม่สุภาพในพฤติกรรมของเรา – สิ่งนี้ขัดกับวัตถุประสงค์ของการอดอาหารอย่างสมบูรณ์ 

อย่าให้เราเป็นคนที่ไม่ได้อะไรจากการถือศีลอดนี้ เว้นแต่ความหิวและกระหายเพียงเท่านั้น!

อ้างอิง Fasting in Islam: An Overview / www.al-islam.org