บทเรียนการต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน ของเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ และข้อเสนอแนะ

ภาพจากเฟสบุ้ก Shukur Dina

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ข่าวการแถลงข่าวของสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2562 ฟ้องช่อง 7 สีและกดดันให้ย้ายรองแม่ทัพภาคที่ 4 กำลังเป็นที่กล่าวขวัญในพื้นที่ความขัดแย้งชายแดนใต้สะท้อนอะไรบ้าง?? (โปรดดู https://siamrath.co.th/n/73690)

การฟ้องร้องครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก

ความเป็นจริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เครือข่ายโรงเรียนเอกชนภาคใต้ออกแถลงการณ์ฟ้องรัฐโดยเฉพาะหน่วยความมั่นคง กล่าวคือ หากนับหลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่ ชายแดนใต้ ปี 2547 พบว่า ประสบการณ์การต่อสู้ของเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม (ภายใต้กรอบของกฎหมายไทย) ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดจากรัฐ เช่น การซ้อมทรมาน นายอามีนุดดีน กะจิ ครูสอนศาสนาอิสลามโรงเรียนรุ่งโรจน์ วิทยา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (โปรดดูรายละเอียดย้อนหลัง https://prachatai.com/journal/2008/02/15689)  , ตัวแทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จชต. ในนามคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเสริมสร้างความยุติธรรม กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีข้อเสนอ 9 ข้อ โปรดดูรายละเอียดย้อนหลัง https://www.matichonweekly.com/special-report/article_97393)   กรณีตรวจค้นโรงเรียนโรงเรียนอนุสรณ์เตรียมปัญญา ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาโดยปราศจากหมายค้น (โปรดดูรายละเอียดย้อนหลัง https://www.matichonweekly.com/special-report/article_120491) การออกมาปราบหน่วยความมั่นโดยประธานชมรมสถาบันปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อกรณีจับนักเรียนกัมพูชาในปอเนาะที่ชายแดนใต้(โปรดดูรายละเอียดย้อนหลัง https://www.innnews.co.th/regional-news/news_306964/, https://www.matichonweekly.com/special-report/article_172964)  

ต้องมีองค์ประกอบสำคัญในการหนุนการต่อสู้

จากการเคลื่อนไหวทั้งหมดพบว่าแกนนำเครือข่ายโรงเรียนเหล่านี้มาจากจังหวัดสงขลา ที่ไม่ใช่สามจังหวัด ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าอันเนื่องมาจากสงขลา มีความง่ายมากกว่าคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เคลื่อนไหวแต่อย่างไรก็แล้วแต่ บทเรียนที่ได้พบว่า การต่อสู้กับหน่วยความมั่นคงกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ  3 ประการ เพื่อความชอบธรรมและปัจจัยหลักของการจะถูกตอบรับคือทำงานเป็นทีม มีที่ปรึกษาด้านกฎหมายและต้องต่อสู้ภายใต้กฎหมาย ซึ่งได้รับการยอมรับจากเครือข่ายสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เช่น กลุ่มด้วยใจและนอกพื้นที่เช่นมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พร้อมได้รับกำลังใจจากคนทำงานภาคประชาสังคมชายแดนใต้หลายองค์กร (โปรดดู1.ชมเวทีเสวนาการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน   : สิทธิมนุษยชนและสันติภาพในปาตานี คลิ๊ก​ https://www.facebook.com/PeninsularVoice/videos/2231895360396965/ 2. ดูบทสัมภาษณ์พิเศษผู้เขียนใน Media Selatan  ประเด็น : แถลงการณ์สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ กรณีมีรายงานข่าวกล่าวหาว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุจริตเงินอุดหนุนที่รัฐ และบางส่วนถูกใช้สนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ https://www.facebook.com/1245604111/posts/10219134089283520?sfns=mo)

ข้อเสนอแนะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

นักวิชาการมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า No Justice No Peace ซึ่งสะท้อนว่าความอยุติธรรมจะเป็นน้ำมันเครื่องล่อเลี้ยงอย่างดีในการสุ้มไฟใต้ให้เกิดกองใหม่ตลอด เมื่อดับไฟกองหนึ่ง ก็จะเกิดไฟอีกกอง ความอยุติธรรมดังกล่าวนั้นเกิดจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้มาตรฐานสากล หากจะดูข้อเสนอแนะต่อเรื่องนี้ที่ครบวงจรที่สุดคือข้อเสนอของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีดังนี้

 1. เคารพยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านความยุติธรรมได้ ทั้งในทางแพ่ง อาญา และปกครอง ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษหรือกฎหมายอื่นใด เช่น สิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวในการที่จะได้รับการเยี่ยมเยียนจากญาติพี่น้อง ปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว ไม่ถูกทรมาน บังคับขู่เข็ญ  สิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกตรวจดีเอ็นเอ โดยไม่เต็มใจ หรือกระทำการด้วยประการใดใด  ในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทั้งให้ศาลสามารถตรวจสอบการกระทำของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลตามหลักนิติธรรม

2. หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษในขณะที่ยังไม่มีการยกเลิก ทั้งในเรื่องการตั้งด่าน ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ และยกเลิก การใช้ “กรรมวิธี” ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษเสี่ยงต่อการถูกทรมาน โดยประชาชนที่เป็นชาวมุสลิมมักตกเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติงานดังกล่าวของเจ้าหน้าที่

3.  ยุติการดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้ต้องหา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม หรือ Fair Trial ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และมาตรฐานระหว่างประเทศเช่น ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ จับและคุมขังผู้ต้องสงสัยไว้ก่อน แล้วหาพยานหลักฐานทีหลัง ใช้คำซัดทอดของผู้ถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ ใช้เป็นพยานหลักฐานในการตัดสินลงโทษจำเลย สืบพยานล่วงหน้าโดยไม่มีเหตุอันสมควรเพื่อปรักปรำผู้ต้องหาและตัดโอกาสผู้ต้องหาในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ นำพยานหลักฐาน ทั้งพยานวัตถุและบันทึกถ้อยคำของบุคคล ที่เจ้าหน้าที่ได้มาจากการปิดล้อม ตรวจค้น ยึด จับกุม คุมขัง หรือซักถาม ตาม “กรรมวิธี” คลิป ทั้งที่ตัดตอนและบันทึกหรือจัดทำขึ้นโดยไม่โปร่งใส ภายใต้การใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ มาใช้ในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา)  อันเป็นกระบวนการได้มา ส่งต่อ เก็บรักษา ตรวจสอบ และเสนอพยานหลักฐานต่อศาล ที่ไม่สอดคล้องกับหลักของการดำเนินคดีที่เป็นธรรม

4. ยกเลิกการออกหมายจับและหมายขังซ้ำซ้อน ทั้งการออกหมายจับและหมายขังตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ (หมาย ฉฉ.)  ที่ศาลได้ออกให้แก่เจ้าหน้าที่ แม้บุคคลตามหมายต้องหมายจับตามป.วิอาญาอยู่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การเอาตัวผู้ต้องหาที่ต้องหมายจับตามป.วิอาญา ไปคุมขังไว้ตามหมาย ฉฉ. ทำให้ผู้ต้องหาในคดีอาญาถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นสิทธิในการพบและปรึกษาทนายความ สิทธิในการที่จะให้การหรือไม่ให้การอย่างใดก็ได้เป็นต้น  หรือการออกหมายจับตาม ป.วิอาญาที่ศาลออกให้แก่เจ้าหน้าที่อีกคดีหนึ่ง แม้บุคคลตามหมายจับต้องหมายจับ    ตาม ป.วิอาญาในคดีอื่นอยู่แล้ว ทำให้พนักงานสอบสวนสามารถอายัดตัวผู้ต้องหาหลังจากศาลมีคำพิพากษาคดีหนึ่งแล้ว โดยอ้างว่ายังมีหมายจับอีกคดีหนึ่งเป็นการรอายัดตัวซ้ำซาก ทำให้ผู้ต้องหาถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีต่างๆต่อๆไปไม่มีสิ้นสุด

5. ให้ศาลปกครองมีอำนาจที่จะพิจารณาคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษ และคดีละเมิดทางปกครอง ก่อนที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจะวินิจฉัยให้ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาคดีละเมิดที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อพลเมืองใน จชต.  ผู้เสียหายมีความรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมและการเยียวยาจากศาลปกครองมากกว่า เนื่องจากแนวคิดและการไต่สวนในระบบการพิจารณาคดีของศาลปกครองสามารถตรวจสอบการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ดีกว่า ดังนั้นศาลปกครองควรจะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีละเมิดทางปกครองเช่นเดิม และคดีที่เกี่ยวกับการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นแต่หากเป็นไปได้ ต้องนำหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice – TJ) มาใช้โดยให้นำมาใช้ทั้งกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้งจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อลดความขัดแย้ง เกลียดชังโดยประสานกับหลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restroative Justice -RJ) โดยจะต้องยึดหลักการตรวจสอบค้นหาความจริง จากคณะกรรมการอิสระที่เป็นอิสระ เช่นนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคมที่ได้รับความเคารพเชื่อถือ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเหยื่อของความรุนแรงและสังคมรับทราบความจริง เข้าใจปัญหาและรากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในแง่มุมต่างๆ อย่างเป็นภาวะวิสัยพร้อมทั้ง การชดเชย ฟื้นฟู แก้ไข เยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเช่นเดิม รวมทั้งการเยียวยาทางด้านจิตใจ ซึ่งที่ผ่านมาบุคคลดังกล่าวยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐเท่าที่ควร ความคับแค้นใจที่ยังคงดำรงอยู่ไม่เป็นดีอย่างยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพและการสร้างความปรองดองใน จชต. อีกทั้งการนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะผู้มีอำนาจไม่ว่าจะฝ่ายใด ที่สั่งการ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจในการก่ออาชญากรรมร้ายแรง โดยอาจนำหลักการของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice-RJ) มาใช้สำหรับการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาของทั้งสองฝ่ายด้วย

สิ่งสำคัญไม่ควรมองข้ามคือการปฏิรูปเชิงสถาบัน ทั้งในทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ จชต. โดยกระบวนการของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่สันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยท้ายสุดคือการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเยียวยาโดยพัฒนากลไกในการรับเรื่องร้องเรียน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่สามารถเข้าถึงชุมชนและผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและได้รับผลกระทบมากกว่ากลไกของรัฐ โดยรัฐจะต้องประกันความปลอดภัยและความเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ร้องเรียนมีความมั่นใจและกล้าร้องเรียน การร้องเรียนเป็นการเปิดเผยความจริงของความขัดแย้งและปัญหาต่อรัฐต่อสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาและกระบวนการสันติภาพและพัฒนากลไกการร้องเรียนและตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อป้องปราม ค้นหาความจริงและให้มีการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างได้ผล ทั้งการตรวจสอบโดยกลไกในท้องถิ่น กลไกประเทศและกลไกระหว่างประเทศ ที่เป็นอิสระ โดยกลไกเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงต่างๆ และข้อเสนอแนะได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานของรัฐและรัฐบาล

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมิใช่เพียงการชดใช้เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจ การทำให้กลับสู่สถานะเดิมเท่าที่จะทำได้ การช่วยเหลือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเหยื่อและครอบครัว ฯลฯ การเยียวยาเป็นการบรรเทาความขัดแย้งที่ได้ผลระดับหนึ่ง ในขณะที่กระบวนการสันติภาพยังไม่ได้รับความสำเร็จ