มูฮัมหมัด มุรซี : ชีวิต การเมือง และความตาย

มูฮัมหมัด มุรซี อดีตประธานาธิบดีอียิปต์ (Photo credit: Middleeasteye.net)

นายมูฮัมหมัด มุรซี อดีตประธานาธิบดีอียิปต์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2019 จากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันขณะขึ้นศาล ภายหลังจากถูกจำคุกมาหกปีนับตั้งแต่ถูกรัฐประหารในปี 2013 การตายของเขานั้นคือโศกนาฏกรรม นายมุรซีคือใคร มีความสำคัญอย่างไร เหตุใดเขาถึงถูกรัฐประหาร ทำไมถึงติดคุก เขาตายอย่างไร แล้วเราเรียนรู้อะไรจากการเสียชีวิตของนายมุรซี เหล่านี้คือคำถามที่เราไม่อาจปล่อยผ่าน ในฐานะอดีตประธานาธิบดีอียิปต์ผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญของโลกอาหรับในปรากฏการณ์อาหรับสปริง ที่คลื่นมหาชนรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เรียกร้องให้เปลี่ยนระบบทางการเมืองซึ่งประเทศอาหรับแทบทั้งหมดอยู่ภายใต้การปกครองของระบบอำนาจนิยมหลายรูปแบบนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1

ชีวิตดั่งความฝัน จากเด็กบ้านนอก นักเรียนศาสนา นิสิตวิศวะฯ สู่อาจารย์มหาวิทยาลัย

นายมูฮัมหมัด มุรซี เกิดที่จังหวัดชารกียา (Sharqiya) ทางตอนเหนือของอียิปต์ ในปี 1951ในครอบครัวเกษตรกร ในวัยเด็กของมุรซี เขาเดินทางไปโรงเรียนโดยมีลาเป็นพาหนะ แม้ฐานะจะลำบากแต่มุรซีไม่เคยย่อท้อ เขาสอบเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยไคโรได้และเรียนจบด้วยคะแนนเกียรตินิยม ภายหลังจากเข้าเป็นทหารอยู่หนึ่งปี มุรซีกลับมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมโลหะการ ผลการเรียนที่โดดเด่นทำให้เขาได้รับทุนรัฐบาลอียิปต์ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกาในสาขาวิศวกรรมวัสดุศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Southern California เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี 1982 ดร.มุรซีเริ่มงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย California State University เมือง Northridge ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุโลหะทำให้เขาได้ร่วมทำงานกับองค์การนาซ่าในโครงการพัฒนาเครื่องยนต์กระสวยอวกาศ ต่อมาในปี 1985 ดร.มุรซีตัดสินใจเดินทางกลับอียิปต์เพื่อรับใช้มาตุภูมิ ในชีวิตทางโลกที่ไม่ได้ละทิ้งวิถีทางธรรมนั้น นายมุรซี ภรรยาและลูกๆ ทุกคนล้วนเป็นผู้ท่องจำพระมหาคัมภีร์อัลกรุอาน [1] ซึ่งมีชาวมุสลิมจำนวนน้อยเท่านั้นที่สามารถทำได้

นับหนึ่งทางการเมือง

ฉากชีวิตในอียิปต์เริ่มต้นอีกครั้งในฐานะอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยซากาซิก (Zagazig) ในปี 1985 ต่อจากนั้นอีกสิบห้าปี มุรซีตัดสินใจเข้าสู่ถนนการเมือง เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี2000 โดยไม่สังกัดพรรค เนื่องจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่เขาเป็นสมาชิกถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองในยุคสมัยประธานาธิบดีฮุสนี มูบาร็อก กลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นกลุ่มอิสลามนิยม ที่ต้องการนำกรอบทางศาสนาอิสลามมากำหนดเป็นกรอบทางการเมือง และต้องการเล่นการเมืองในระบบประชาธิปไตย วิถีของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมขัดแย้งกับสถาบันทางการเมืองที่มีทหารเป็นแกนกลางของอียิปต์ ทำให้ทหารมองกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองนับตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มในปี1928 แม้จะเคยร่วมกับทหารในการปฏิวัติโค่นล้มระบอบกษัตริย์ที่มีอังกฤษที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษในปี1952ก็ตาม

ปรากฏการณ์อาหรับสปริงที่เริ่มต้นในตูนิเซียปลายปี 2010 นำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่อียิปต์ และชีวิตของนายมุรซี

วันที่ 25 มกราคม 2011 คลื่นมวลชนจากทุกหมู่เหล่ารวมตัวกันประท้วงเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีฮุสนี มุบาร็อก ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมาสามสิบปี เป็นสามสิบปีที่ทำให้อียิปต์แคระแกร็นทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ ข้าวยากหมากแพง ค่าจ้างต่ำ ตัวเลขการว่างงานที่พุ่งสูง ผู้คนเลยออกมารวมตัวเพื่อแสวงหาความเปลี่ยนแปลง กลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นกลุ่มหนึ่งที่ออกมาประท้วงขับไล่มุบาร็อก ฐานมวลชนที่เข้มแข็งของกลุ่มแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับระบบทหารอย่างทรงพลัง

แต่เพียงสามวันหลังการประท้วง นายมูฮัมหมัด มุรซี และแกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ถูกจับกุมตัว ความวุ่นวายทางการเมืองนอกเรือนจำนำความวุ่นวายมาสู่ในเรือนจำ นายมุรซีและนักโทษคนอื่นๆ แหกคุกออกมาได้สำเร็จหลังจำคุกได้เพียงสองวัน

คำประกาศเคอร์ฟิวของมุบาร็อกไม่ได้ช่วยอะไร การจัดตั้งม็อบมาชนม็อบยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ ยอดผู้เสียชีวิตทะลุแปดร้อยคน

11 กุมภาพันธ์ 2011 ประธานาธิบดีมุบาร็อกประกาศลาออก และเปลี่ยนผ่านอำนาจให้แก่สภากองทัพสูงสุด พลเอกมูฮัมหมัด ฮุสเซ็น ตอนตอวี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดประกาศพักการใช้รัฐธรรมนูญและประกาศให้มีการเลือกตั้งในเร็ววัน แม้ผู้ประท้วงจะดีใจที่ขับไล่มุบาร็อกได้สำเร็จแต่ก็ยังกังวลว่าทหารจะปกครองบ้านเมืองไปอีกนานแค่ไหน จะมีการสืบทอดอำนาจหรือไม่ จากเหตุการณ์นี้พบว่า แม้มุบาร็อกจะออกไปแต่ระบอบทหารยังคงอยู่ รัฐพันลึก (Deep State) ซึ่งมีทหารเป็นแกนกลางยังคงมีอำนาจ

ไม่ว่าจะอย่างไร เสรีภาพทางการเมืองได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว บรรยากาศบ้านเมืองกำลังอยู่ในโหมดขับเคลื่อนไปสู่การเลือกตั้ง

ประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยเสรี

พรรคเสรีภาพและความยุติธรรม (FJP) ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมถูกจัดตั้งขึ้นปลายเดือนเมษายน 2011 นายมุรซีดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ประกาศนำพรรคเข้าสู่สนามเลือกตั้งและพร้อมชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดี

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2011 ถึง 11 มกราคม 2012 พรรคเสรีภาพและความยุติธรรมและพันธมิตรชนะการเลือกตั้งท่วมท้นได้จำนวนที่นั่งร้อยละ 46 ของสภา และในการเลือกตั้งประธานาธิบดีกลางปี 2012 นายมูฮัมหมัด มุรซี ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนร้อยละ 51.73 สร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์อียิปต์ที่มาจากการเลือกตั้งโดยเสรี [2]

สาเหตุสำคัญของชัยชนะก็คือ ในช่วงเวลาแห่งความยุ่งเหยิงในเหตุการณ์อาหรับสปริงนั้น พรรคเสรีภาพและยุติธรรมของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมคือพรรคที่พร้อมที่สุดในเลือกตั้ง นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่นายมุบาร็อกเป็นประธานาธิบดีนั้น แม้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมจะถูกแบนในทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่ แต่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมยังเคลื่อนไหวใต้ดินมาโดยตลอด และใช้วิธีส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรแบบอิสระ ไม่สังกัดพรรค

ในทางตรงกันข้าม สาเหตุที่ทำให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมไม่สามารถยืนระยะในทางการเมืองภายหลังเลือกตั้งได้นั้นมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้

1) การดำรงอยู่ของรัฐพันลึกที่มีทหารเป็นศูนย์กลาง แม้พลเอกมุบาร็อกจะลงจากอำนาจ แต่ผู้สืบทอดอำนาจต่อคือพลเอกตันตอวี เมื่อได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง รัฐบาลพลเรือนต้องประสบปัญหาจากการแทรกแซงของรัฐพันลึก รัฐธรรมนูญปี 2012 สะท้อนการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของมุรซีที่ต้องการลดอำนาจทหาร ลดกระทั่งอำนาจประธานาธิบดี เพิ่มอำนาจรัฐสภา เน้นการปกป้องสิทธิมนุษยชน เพิ่มเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน [3]

2) การถูกท้าทายจากกลุ่มเซคคิวลาร์ที่หวาดกลัวกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ชัยชนะของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมทั้งในระดับสภาผู้แทนราษฎรและประธานาธิบดี สร้างความกังวลให้กับกลุ่มนิยมทางโลกหลายกลุ่มในอียิปต์ จึงรวมตัวกันเป็น “ขบวนการตามาร็อด” (Tamamrod) หรือ ขบวนการขบถ โดยเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมุรซีลงจากตำแหน่งอันเนื่องมาจากนำกรอบทางศาสนามาเป็นกรอบทางการเมือง การสนับสนุนกลุ่มภารดรภาพมุสลิมอย่างชัดแจ้งและการถูกแทรกแซงโดยกาตาร์และกลุ่มฮามาส และการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2012 แม้กลุ่มตามาร็อดจะมีอุดมการณ์เสรีนิยม แต่กลับสนับสนุนทหารให้โค่นล้มอำนาจอดีตประธานาธิบดีมุรซี

3) การสนับสนุนของต่างชาติเพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลมุรซี ปรากฏการณ์อาหรับสปริงและการขึ้นมามีอำนาจของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมกระทบต่อความมั่นคงของหลายชาติ ที่ผู้นำมีลักษณะอำนาจนิยมที่ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย ผู้นำเหล่านี้มองปรากฏการณ์อาหรับสปริงที่มีลักษณะลุกลามเป็นโดมิโนเพื่อโค่นล้มระบอบเดิมว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของตน จึงพยายามสกัด หากปรากฏการณ์อาหรับสปริงลุกลามเข้ามาในประเทศตนและทำให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมหรือองค์กรที่มีกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นต้นแบบซึ่งมีอยู่ในแทบทุกประเทศลุกฮืออาจทำให้มวลชนรวมตัวกันโค่นล้มระบอบอำนาจนิยมเดิมได้ดังเช่นอียิปต์ ดังนั้นจึงปรากฏข่าวว่าซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และอิสราเอลคือผู้สนับสนุนการทำรัฐประหารในวันที่3กรกฎาคม 2013 [4] กลุ่มภราดรภาพมุสลิมถูกประกาศว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายจากรัฐบาลอียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา

สังหารอย่างช้าๆ

แรงกระพือของสื่อมวลชน แรงกดดันจากสถาบันตุลาการ และปฏิบัติการของหน่วยราชการลับ เป็นปัจจัยหนุนให้ทหารนำโดยพลเอกอัลดุล ฟัตตะฮฺ อัล-ซีซี ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจประธานาธิบดีมุรซีได้สำเร็จในวันที่ 3 กรกฎาคม 2013 [5]

นายมุรซีถูกควบคุมตัวทันที ศาลใช้เวลา 23 วันในการสรุปหาข้อกล่าวหาและเริ่มดำเนินคดี มุรซีถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหา สังหารผู้ชุมนม ให้การสนับสนุนการจารกรรมข้อมูลโดยประเทศกาตาร์ อิหร่านและกลุ่มฮามาสและฮิซบุลลอฮฺ และแหกคุกในปี 2011

ภายนอกเรือนจำ วันที่ 14 สิงหาคม 2013 เกิดการสังหารหมู่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ณ จัตุรัสเราะบา กลางกรุงไคโร มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 800 คน ผู้ออกคำสั่งคือพลเอก อัลซีซี ผู้ทำการรัฐประหาร [6]

นายมุรซีถูกนำตัวขึ้นศาลครั้งแรกสี่เดือนหลังจากถูกยึดอำนาจ เขาถูกควบคุมตัวในกรงไร้เสียง โดยไม่รับอนุญาตให้มีทนาย เขาถูกจำคุกโดยตัดขาดออกจากโลกภายนอกสามปีต่อจากนั้น ตลอดสี่ปีแรกที่ถูกจำคุกศาลอนุญาตให้เขาพบครอบครัวเพียงสองครั้ง ครั้งแรกในปี 2013 เดือนพฤศจิกายน ครั้งที่สองในปี 2017 เดือนมิถุนายน โดยอนุญาตให้เฉพาะภรรยาและบุตรสาวเท่านั้นเข้าเยี่ยม ไม่อนุญาตแก่บุตรชายทั้งสี่คน สถานะของนักโทษการเมืองในอียิปต์นั้นถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด มีการประมาณการณ์ว่าปัจจุบันคุกอียิปต์ขังนักโทษการเมืองกว่า 60,000 คน

นายมุรซีมีโรคประตัวคือเบาหวาน แต่คาดว่าเขาไม่ได้รับการรักษาตัวอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาเสียชีวิต การไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาไม่ต่างจากการสังหารผู้ป่วยนั่นเอง เป็นการสังหารให้ตายอย่างช้าๆ

คำถามที่ไม่อาจปล่อยผ่านก็คือ กระบวนการยุติธรรมที่ปฏิบัติต่อนายมุรซีนั้นแตกต่างจากที่ปฏิบัติต่อนาย มุบาร็อกหรือไม่

ในขณะอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในข้อหาทุจริตและใช้อำนาจโดยมิชอบ มุบาร็อกซึ่งมีปัญหาสุขภาพเช่นเดียวกันกับมุรซี ได้รับอนุญาตให้รักษาตัวในโรงพยาบาลทหาร โดยรับการรักษาอย่างดีที่สุด ได้รับอนุญาตให้เจอกับครอบครัว มุบาร็อกจะได้รับการปล่อยตัวในปี 2017

ทิ้งไว้เพียงตำนาน

นายมุฮัมหมัด มุรซี อดีตประธานาธิบดีอียิปต์คนแรกที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรี เสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ระหว่างพักจากการไต่สวนขณะขึ้นศาล เขาเป็นลมล้มไปกว่า 20นาทีโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือ การชำระล้างศพของเขาและการละหมาดญานาซะฮฺกระทำที่โรงพยาบาล ศพถูกนำไปฝังที่สุสานแห่งหนึ่งในกรุงไคโร โดยดำเนินการอย่างเงียบๆ มีแต่ครอบครัวของนายมุรซีที่เข้าร่วม นอกจากนี้ทางการยังปฏิเสธคำขอของครอบครัวนายมุรซีที่จะนำร่างไร้ลมหายใจไปฝังที่บ้านเกิด

แม้พิธีศพจะดำเนินอย่างเงียบๆ ไร้ซึ่งคำสรรเสริญ ไร้ซึ่งการประดับประดา ไร้การกล่าวคำเกียรติยศในฐานะอดีตประธานาธิบดี แต่ชื่อของนายมุรซีนั้นเสียงดังกว่าพิธีเกียรติยศใดๆ ในฐานะประธานาธิบดีคนแรกของอียิปต์ที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้กล้าท้าทายเผด็จการ ผู้ไม่เคยก้มหัวต่อความอยุติธรรม ดังคำพูดของเขาที่เคยกล่าวไว้ว่า “หากการปกป้องความชอบธรรมต้องแลกด้วยเลือดของฉัน ฉันก็ยอม และพร้อมเสมอ”

การเสียชีวิตของมุรซี ได้ทิ้งคำถามสำคัญต่ออนาคตของประชาธิปไตยในประเทศอียิปต์ ภาพที่ปรากฏชัดก็คือ กลุ่มอำนาจนิยมทหารสามารถทวงอำนาจที่สูญเสียไปในช่วงเวลาสั้นๆอันเป็นผลจากปรากฏการณ์อาหรับสปริง นายมุรซีถูกยึดอำนาจโดยพลเอกอัล-ซีซี พลเอกอัล-ซีซีสืบทอดอำนาจต่อโดยลงเลือกตั้งและชนะเป็นประธานาธิบดีอียิปต์คนปัจจุบัน ระบอบทหารในอียิปต์เชื่อมโยงและได้รับการสนับสนุนของชาติมหาอำนาจและต่างชาติเป็นสำคัญทำให้ระบอบดำรงอยู่ได้ การดำรงอยู่ของรัฐพันลึกในอียิปต์ตอบสนองต่อผลประโยชน์ต่อชาติมหาอำนาจอย่างแท้จริง

อ้างอิง

[1] Muslim Obsession. (2019). Morsi, Presiden Penghafal Al-Quran. สืบค้นเมื่อ19 มิถุนายน2019, จาก https://muslimobsession.com/morsi-presiden-penghafal-al-quran/

[2] แม้อียิปต์ในระบอบอำนาจนิยมทหารก่อนหน้าจะมีการลงคะแนนเสียงของประชาชนในการเลือกประธานาธิบดี โดยจัดขึ้น 10ครั้งนับตั้งแต่ปฏิวัติปี 1952 แต่แทบทั้งหมดเป็นการลงประชามติเพื่อรับรองการอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดี มีเพียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2005สมัยมุบาร็อกเท่านั้นที่เป็นการเลือกตั้งอย่างมีคู่แข่ง แต่เป็นคู่แข่งที่ได้รับการรับรองจากระบอบทหารและเป็นการเลือกตั้งที่ในบรรยากาศที่ไร้เสรีภาพทางเมือง กลุ่มภราดรภาพมุสลิมก็ถูกแบนไม่ให้ลงเลือกตั้ง ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยกามาล อับดุล นัซเซอร์ (1956-1970) และ อันวาร์ ซาดัต (1970-1981) แทบทั้งหมดเป็นการเลือกตั้งโดยมีพรรคการเมืองเดียว ผู้สมัครทุกคนต้องเป็นสมาชิกพรรคสหภาพสังคมนิยมอาหรับ (The Arab Socialist Union) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยฮอสนี มุบาร็อก (1981-2001) เป็นการเลือกตั้งที่อนุญาตให้มีการแข่งขันจากหลายพรรคแต่ยังคงอยู่ในบรรยากาศทางการเมืองที่ทหารเป็นแกนนำและเป็นประธานาธิบดี

[3] The New York Times. (2012). Egyptian Islamists Approve Draft Constitution Despite Objections. สืบค้นเมื่อ 19มิถุนายน 2019,จาก  https://www.nytimes.com/2012/11/30/world/middleeast/panel-drafting-egypts-constitution-prepares-quick-vote.html?ref=world&pagewanted=all

[4] TRT World. (2019). Syrians mourn the death of Mohamed Morsi, a supporter of their revolution. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2019,จากจาก https://www.trtworld.com/middle-east/syrians-mourn-the-death-of-mohamed-morsi-a-supporter-of-their-revolution-27574

และ MEMO. (2019). Israel general: Israel was behind coup against Egypt’s Morsi. สืบค้นเมื่อ 18มิถุนายน 2019, จาก https://www.middleeastmonitor.com/20190403-israel-general-israel-was-behind-coup-against-egypts-morsi/

[5] Middle East Eye. (2019). Mohamed Morsi’s death: The last nail in the coffin of Egypt’s revolution. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2019,จาก https://www.middleeasteye.net/opinion/mohammed-morsis-death-last-nail-coffin-egypts-revolution

[6] The Guardian. (2014). Egypt’s Rabaa massacre: one year on. สืบค้นเมื่อ 18มิถุนายน 2019, จาก https://www.theguardian.com/world/2014/aug/16/rabaa-massacre-egypt-human-rights-watch