ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (5)

หนังสือฉันทานุมัติที่มอบอำนาจให้เต็งกูมะห์มุด มูไฮยิดดิน เป็นตัวแทนเจรจาข้อเรียกร้อง 7 ข้อกับรัฐบาลไทยที่ตวนกูรูหะยีสุหลงฯและคณะเสนอต่อรัฐบาลไทยตั้งแต่สมัยพล เรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เสมือนหนึ่งเป็นการเติมเชื้อเพลิงลงในกองไฟที่กำลังลุกโชนขึ้นไปอีก เพราะเนื้อหาในหนังสือเป็นข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐไทยและรัฐบาลไทยด้วย ถ้อยคำที่รุนแรง มีทั้งข่มเหง รังแก ริดรอนสิทธิเสรีภาพ และละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวมลายูปาตานี

พระยารัตนภักดี ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลกลางให้แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งจะขจัดต้นตอของปัญหาคือตวนกูรูหะยีสุหลงฯ จึงได้โอกาสที่จะจัดการดำเนินคดีกับตวนกูรูหะยีสุหลงฯ เพราะหนังสือฉันทานุมัติที่ล่ารายชื่อให้ชาวมลายูปาตานีเซ็นชื่อนั้นบางฉบับ ได้ตกอยู่ในกำมือของพระยารัตนภักดี ทำให้สามารถนำไปเป็นหลักฐานที่จะดำเนินคดีเอาผิดกับตวนกูรูหะยีสุหลงฯได้ ดังนั้น พระยารัตนภักดีจึงได้รายงานพฤติกรรมของตวนกูรูหะยีสุหลงฯให้กับหลวงสินาด โยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบ และคำสั่งจากส่วนกลางอนุมัติให้จับกุมดำเนินคดีกับตวนกูรูหะยีสุหลงฯกับพวก ทันที.

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2491 ตำรวจอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ได้จับกุม นายหะยีแวอูเซ็ง แวเด็ง พร้อมกับหนังสือฉันทานุมัติ ซึ่งนายหะยีแวอูเซ็งฯ ได้ให้การซัดทอดว่าหนังสือฉันทานุมัติได้รับมาจากตวนกูรูหะยีสุหลงฯ ในเย็นวันนั้นเองพระยารัตนภักดีได้เรียกประชุมคณะกรมการจังหวัดปัตตานี วางแผนดำเนินการจับกุมตวนกูรูหะยีสุหลงฯ และพรรกพวก จึงมีมติสั่งการให้ พันตำรวจตรี สม สุนทรรัตน์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ไปจับกุมตวนกูรูหะยีสุหลงฯที่บ้านพักในตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ตวนกูรูหะยีสุหลงฯ กล่าวใเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

” ผู้กำกับการตำรวจมาที่บ้านข้าพเจ้าพร้อมตำรวจอีกหลายคน เมื่อเวลาห้าโมงเย็นของวันศุกร์ ที่ 5 ของเดือน รอบิอุลอาวัล ฮ.ศ. 1367 ตรงกับวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 โดยได้รับคำสั่งจากพระยารัตนภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี มาให้จับข้าพเจ้าและตรวจค้นในบ้านของข้าพเจ้า เพราะทำหนังสือร้องเรียนไปยังตนกูมะไฮยิดดิน บิน ตนกูอับดุลกาเดร์ เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ของราษฎปัตตานีต่อรัฐบาลไทย….” ( บางตอนจากวิทยานิพนธ์ของ นายเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร )

เมื่อตวนกูรูหะยีสุหลง โต๊ะมีนา กับ พวก ถูกจับกุมแล้ว ชาวมลายูปาตานีในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และ ยะลา ได้แสดงปฏิกริยาไม่พอใจอย่างมาก และบางกลุ่มได้รวมกลุ่มประท้วงตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2491 และเรียกร้องให้ทางการชี้แจงเหตุผลในการจับกุมครั้งนี้และขอให้ทางการอนุญาต ให้ประกันตัวตวนกูรูหะยีสุหลงฯกับพวก ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2491 บรรดาผู้นำศาสนาระดับโต๊ะครูและอิหม่ามรวมตัวกันได้ประมาณ 200 คน ได้ชุมนุมที่สำนักงานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานีประท้วงพระยารัตนภักดี ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี  ในฐานะเป็นผู้สั่งการจับกุมและเดินทางไปเยี่ยมตวนกูรูหะยีสุหลงฯและพวกที่ เรือนจำ หลังจากนั้นจะเดินทางไปพบพระยารัตนภักดีที่จวนข้าหลวง แต่ไม่สามารถไปพบได้ เพราะทางการได้ใช้ตำรวจจำนวนมากสกัดกั้นมิให้เดินทางไปได้ จึงได้สลายตัวการชุมนุมในที่สุด.

จากการแสดงปฏิกริยาไม่พอใจของชาวมลายูปาตานีกรณีทางการจับกุมตวนกูรูหะยีสุ หลงฯดังกล่าวข้างต้น ทำให้ทางการได้ทราบถึงอิทธิพลและบารมีของตวนกูรูหะยีสุหลงฯที่มีอยู่ในจิตใจ ของชาวมลายูปาตานีอย่างมากมายเช่นนี้ เป็นที่น่าเป็นห่วงว่าหากมีการฟ้องร้องและมีการดำเนินคดีที่ศาลจังหวัด ปัตตานีแล้ว จะทำให้ไม่สะดวกในการพิจารณาคดี เพราะจะมีชาวมลายูปาตานีรวมตัวกันมาที่ศาลทุกครั้งที่มีการพิจารณาคดี อาจมีการใช้กำลังยื้อแย่งตัวตวนกูรูหะยีสุหลงฯ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ และอาจนำไปสู่การจลาจลได้ ด้วยเหตุนี้ พระยารัตนภักดี จึงสั่งการให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนคดีอย่างรีบเร่ง เพื่อสรุปสำนวนส่งอัยการโดยเร็ว เมื่ออัยการจังหวัดปัตตานีได้รับสำนวนแล้ว ได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี พร้อมกับยื่นคำร้งต่อศาลฎีกาผ่านศาลจังหวัดปัตตานี เพื่อขอโอนคดีไปยังศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้อนุญาตตามคำร้องขอของอัยการ ซึ่งได้ให้เหตุผลประกอบในการขอโอนคดีไปยังศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชดังนี้.

” …..ด้วยฐานะของจำเลยคือ นายหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี มีอิสลามเป็นพรรคพวกและสานุศิษย์จำนวนมากในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดใกล้ เคียงตลอดถึงจังหวัดสงขลา…..เพียงในขณะที่พนักงานสอบสวนนำจำเลยทั้ง 4 มาขอให้ศาลชั้นต้นฝากขังระหว่างสอบสวน ก็ได้มีพรรคพวกชาวอิสลามส่วนมากแห่งท้องถิ่นชุมนุมเป็นจำนวนมากและปรากฎว่า ได้เป็นเหตุกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนส่วนมากแห่งท้องถิ่นหวาดเกรง การปะทะ และน่ากลัวว่าจะเกิดความไม่สงบในระหว่างกระทำการพิจารณาสอบพยานบุคคล ซึ่งส่วนมากเป็นชาวอิสลาม และเจ้าหน้าที่ อาจเป็นการขัดขวางความเรียบร้อยแก่การพิจารณาของศาลจังหวัดปัตตานี ” ( บางตอนจากวิทยานิพนธ์ของ นายเฉลิมเกัยรติ ขุนทองเพชร ).

อย่างไรก็ตามก่อนที่ศาลฎีกาจะอนุญาตตามคำร้องขอของพนักงานอัยการจังหวัด ปัตตานีนั้น ทนายของตวนกูรูหะยีสุหลงฯ คือ นายสำราญ อิมะชัย ได้เดินทางขึ้นกรุงเทพฯเพื่อยื่นคำร้องคัดค้านการขอโอนคดีนี้ไปพิจารณาที่ ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชต่อประธานศาลฎีกา แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะประธานศาลฎีฟังเหตุผลของอัยการจังหวัดปัตตานีมากกว่า.

เมื่อคดีต้องพิจารณที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคแก่ผู้ตกเป็นจำเลยเป็นอย่างมาก เพราะคดีเกี่ยวกับความมั่งคงแบ่งแยกดินแดนเป็นคดีใหญ่ จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว อาหารการกินในเรือนจำไม่ฮาลาล ทำให้ภรรยาตวนกูรูหะยีสุหลงฯต้องไปเช่าบ้านอยู่อาศัยในบริเวณใกล้ๆเรือนจำ เพื่อสะดวกในการปรุงอาหารส่งไปให้สามีที่เป็นจำเลยและเพื่อนๆที่ต้องคดีด้วย กันได้รับประทานทุกมื้อตลอดเวลาอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดี อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่อยู่กรุงเทพฯเป็นค่าเดินทางไปมาและ ค่าอาหาร จนทำให้ครอบครัวตวนกูรูหะยีสุหลงฯถึงกับต้องขายที่ดินเอาเงินมาใช้จ่ายในการ ต่อสู้คดีหมดไปจำนวนไม่น้อย และลูกๆที่เรียนหนังสืออยู่ต้องออกกลางคัน ภาระในครอบครัวทั้งหมดตกอยู่แก่ นายอะห์หมัด โต๊ะมีนา ลูกชายคนโต และ นายอามีน โต๊ะมีนา ลูกชายคนรอง ของตระกูลโต๊ะมีนา สำหรับ นายเด่น โต็ะมีนา ขณะนั้นต้องอยู่กับคุณแม่ที่บ้านเช่าในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ต้องทำหน้าที่ส่งอาหารของกินของใช้ให้กับบิดาและพวกที่ต้องคดีความมั่นคง แบ่งแยกดินแดนทุกมื้อเวลาอาหาร.

ระหว่างดำเนินคดีตวนกูรูหะยีสุหลงฯกับพวกที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 3 เดือน เกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่างตำรวจไทยกับชาวบ้านที่ตำบลดุซงญอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 25-27 เมษายน 2491 นับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวมลายูปาตานี ที่จารึกความทรงจำไว้อยู่ในหัวใจและถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังมาหลายทศวรรษ และเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผลทำให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต จำนวนนับเป็นจำนวนร้อยคน รัฐบาลสมัยนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีบุคคลที่เป็นกรรมการดังนี้

1. นายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสตูล ในฐานะรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นประธาน 2. พระยาอมรฤทธิ์ธำรง ข้าหลวงภาค 5 3. พันเอก เผ่าศรียานนท์ 4. พันตำรวจเอก หลวงพิชิตธุรการ 5. พันตำรวจเอก บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข 6. พันตำรวจเอก ชอุ่ม ฯ

คณะกรรมการชุดนี้ ได้ลงไปในพื้นที่สอบถามหาข้อมูลจากหลายๆฝ่าย ได้ผลสรุปว่า โศกนาฏกรรมดุซงญอนั้น สาเหตุเกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแทรกแซงการปฏิบัติกิจทางศาสนาอิสลามของชาว บ้านดุซงญอภายใต้การนำของโต๊ะเปรัค ซึ่งเป็นชาวมลายูในรัฐเปรัคเป็นคนที่มีคาถาอาคมแก่กล้า และเจ้าหน้าที่ได้กระทำเกินกว่าเหตุ ชาวบ้านโกรธแค้นจึงได้สู้รบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ.

ในส่วนมุมมองของชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าสู่กันว่า เหตุที่โต๊ะเปรัคได้ทำพิธีปลุกเสกน้ำมันเดือดชะโลมกายชาวบ้านดุซงญอนั้น เพื่อต้องการให้ชาวบ้านมีร่างกายที่อยู่ยงคงกระพัน ไว้ต่อสู้ป้องกันตัวจากการคุกคามของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาที่หลบหนีจากการ ปราบปรามไล่ล่าของทหารอังกฤษที่ปกครองมลายาในขณะนั้น วันดีคืนดีโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาลงจากเขามาปล้นสดมภ์ทรัพย์สินและอาหารชาว บ้าน บางครั้งถึงกับฉุดลูกเมียชาวบ้านขึ้นสู่เขา  ชาวบ้านได้ร้องเรียนแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการเอาใส่ใจดูแลและช่วยเหลือแต่อย่างใด ชาวบ้านจำเป็นต้องพึ่งพาตัวเอง จึงรวมตัวกันต่อสู้ป้องกันตนเอง โดยมีโต๊ะเปรัคมาอาสาเป็นผู้นำชาวบ้าน ขณะที่โต๊เปรัคกำลังทำพิธีปลุกเสกน้ำมันเดือดๆชะโลมกายชาวบ้านนับจำนวนร้อย คนอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงมือลอบยิงชาวบ้านก่อน ชาวบ้านจึงตอบโต้ต่อสู้ป้องกันตัว

เหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งนี้ ทางการอ้างว่า เป็นการกระทำกบฎของชาวดุซงญอ แต่ชาวมลายูปาตานีเรียกว่า ” ปือแฤ ดุซงญอ ( ยุทธภูมิ ดุซงญอ) “