ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (10)

สถานการณ์การเมืองไทยหลังเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2495 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังได้เป็นนายกรัฐมนตรี และยุคนี้เป็นยุคทมิฬของบรรดานักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์สื่อสารมาลชนที่ วิพากษ์วิจารณ์การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสถาปนารัฐตำรวจ คำขวัญของตำรวจที่ว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” ตำรวจไทยยุคนี้ใหญ่คับฟ้า มีการเลี้ยงดูนักเลงอันธพาลไว้เป็นบริวารคอยรังควาญบรรดานักหนังสือพิมพ์และ สื่อสารมวลชนที่วิพากษ์วิจารย์รัฐบาลที่เผ็ดร้อนอย่างตรงไปตรงมา วันดีคืนดีแท่นพิมพ์โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์บางฉบับถูกนักเลงอันธพาลบุกเข้าไป ทุบตีแท่นพิมพ์จนพังพินาศเป็นว่าเล่น บรรดาหนังสือพิมพ์ทั้งหลายเรียกยุคนี้ว่า “ยุคอันธพาลครองเมือง”

ส่วนเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเล่าก็ไม่เบาเสียทีเดียว เหตุการณ์ใหญ่ๆที่สะเทือนขวัญชาวมลายูปาตานีมี 2 เหตุการณ์ ได้แก่ การหายสาปสูญโดยปราศจากร่องรอยของตวนกูรูหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ในวันที่ 13 สิงหาคม 2497 และ การลอบสังหารนายสมรรถ เอี่ยมวิโรจน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส หน้าบ้านพักเขตเทศบาลเมืองนราธิวาสในยามวิกาลในปี 2498  เหตุการณ์ทั้งสองนี้สร้างความคับแค้นใจแก่ชาวมลายูปาตานียิ่งนัก ขนาดเป็นบุคคลชนชั้นนำมีชื่อเสียงในทางการเมืองและศาสนายังต้องประสบกับชะตากรรมอันเลวร้ายและน่าสยดสยองขนาดนี้แล้ว นับประสาอะไรกับชาวบ้านตาดำๆ จะมีหลักประกันอะไรจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพความ ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขาเหล่านั้นได้

ในช่วงบั้นปลายการครองอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้นำปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาศึกษาอย่างจริงจังและวางแนวทางจะกำหนดกรอบ รูปแบบการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางสังคม การเมืองเศรษฐกิจและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ แต่ยังไม่ทันจะดำเนินการสภาครบวาระเสียก่อนและกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงสมัครในนามพรรพการเมือง ผลการเลือกตั้งใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีดังนี้

จังหวัดปัตตานี
1. นายอามีน โต๊ะมีนา พรรคเสรีมนังคศิลา
2. นายบรรเทิง อับดุลบุตร พรรคเสรีมนังคศิลา
จังหวัดนราธิวาส
1. นายโสภณ เอี่ยมอิทธิพล พรรคธรรมาธิปัตย์
2. ร้อยตำรวจโท สุริยน ไรวา พรรคเสรีมนังคศิลา
จังหวัดยะลา
นายประสาท ไชยโท พรรคเสรีมนังคศิลา
จังหวัดสตูล
นายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ พรรคเสรีมนังคศิลา

การเลือกตั้งครั้งนี้จะสังเกตุได้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งหมด 6 คน มีผู้นับถือศาสนาพุทธมีเพียง 2 คน ในจังหวัดนราธิวาส 1 คน และ จังหวัดยะลา 1 คน นอกนั้นเป็นมุสลิม แต่สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลาที่มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค จำนวน 5 คน และการเลือกตั้งครั้งนี้ทายาทของตวนกูรูหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ และ นายสมรรถ เอี่ยมวิโรจน์ ได้แก่ นายอามีน โต๊ะมีนา บุตรชายคนที่สองของตวนกูรูหะยีสุหลงฯ และ นายโสภณ(หะยียูโซ๊ป) เอี่ยมอิทธิพล น้องชายนายสมรรถฯ ซึ่งทั้งสองคนนี้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียง ท่วมท้น ทั้งนี้เพราะได้รับความสงสารและเห็นอกเห็นใจจากราษฎรกรณีตวนกูรูหะยีสุหลงฯ และนายสมรรถฯได้ถูกกระทำอธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐนั่นเอง ผลการเลือกตั้งทั่วไปพรรคเสรีมนังคศิลาได้เสียงข้างมากในสภาและได้เป็นแกนนำ ในการจัดตั้งรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะหัวหน้าพรรคได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ในฐานะเลขาธิการพรรคได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นายอามีน โต๊ะมีนา ได้รับตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนแรกของชาวมลายูปาตานี

แต่เนื่องจากการเลือกตั้งในภาพรวมไม่เป็นไปอย่างยุติธรรม มีการโกงเลือกตั้งในบางจังหวัด โดยเฉพาะกรุุงเทพฯ ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหัวหอกประท้วงการเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างแรง ถึงขั้นเดินขบวนไปประท้วงกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนทำให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกกลายเป็นขวัญใจของนักศึกษาและกลุ่มผู้ชุนุมประท้วง เพราะได้ออกมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างรัฐบาลและผู้ชุมนุมประท้วง จนยุติและสลายการชุมนุมประท้วงได้อย่างสันติวิธี

รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม บริหารประเทศจนถึงวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจล้มรัฐบาลจอมพล ป. สำเร็จแล้ว แต่งตั้งพลเอกถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว จอมพล สฤษดิ์ฯ ได้รวบรวมบรรดานักการเมืองผู้มีชื่อเสียงในจังหวัดต่างๆมาก่อตั้ง พรรคการเมืองภายใต้การดูแลของตนเพื่อรองรับการเลือกตั้งชื่อ พรรคสหภูมิ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 15 ธันวาคม 2500 ผลการเลือกตั้งใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีดังนี้

จังหวัดปัตตานี
1. นายอามีน โต๊ะมีนา ไม่สังกัดพรรค
2. นายเจริญ สืบแสง ไม่สังกัดพรรค
จังหวัดนราธิวาส
1. นายโสภณ เอี่ยมอิทธิพล พรรคสหภูมิ
2. นายเอิบ อิสสระ พรรคสหภูมิ
จังหวัดยะลา
นายอดุลย์ ภูมิณรงค์ พรรคสหภูมิ
จังหวัดสตูล
นายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ พรรคสหภูมิ

แต่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้และรัฐบาลพลเอกถนอม กิตติขจร อยู่ได้ไม่นานจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเอกถนอมฯ ซึ่งเป็นรัฐบาลในอาณัติของตนเองในวันที่ 20 ตุลาคม 2501แล้วสถาปนาตนเองเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติและแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมี จำนวนสมาชิก 240 คน มาจากการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2502 ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่กำหนดระยะเวลาให้แล้วเสร็จ และได้แต่งตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรียุคนี้เป็นยุคเผด็จการสมบูรณ์แบบ บรรดานักเลงอันธพาลลูกน้องของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ถูกขังข้อหาอันธพาลกันระนาว

เป็นที่น่าสังเกตุอยู่ประการหนึ่งการเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 และ วันที่ 15 ธันวาคม 2500 นักการเมืองที่มีชื่อเสียงดีและมีโอกาสได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรส่วนใหญ่จะสังกัดพรรคของทหาร แม้บุคคลที่มีตำแหน่งสำคัญๆในพรรคนั้นจะกระทำเรื่องที่ไม่ดีไม่งามต่อชาว มลายูปาตานีอย่างเจ็บปวดก็ตาม ดังเช่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ใช้นโยบายที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพของชาวมลายูปาตานีที่จะคงไว้ความเป็นอัต ตลักษณ์ของตนไม่ได้ หรือกรณีตวนกูรู หะยีสุหลง ที่ถูกจับตัวไปแล้วหายสาปสูญอันเกิดจากการสั่งการของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ และหลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพพล ป.ฯ แล้วก่อตั้งพรรคการเมืองของตนซึ่งเป็นพรรคของทหาร นักการเมืองที่มีชื่อเสียงใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ก็ยังไปสังกัดพรรคดังกล่าวเสียส่วนใหญ่

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้สถานการณ์ความไม่สงบเริ่มเปลี่ยนไปจากการต่อสู้อย่าง สันติวิธีไปเป็นการใช้กำลังอาวุธ มีการก่อตั้งขบวนการต่อสู้ที่เป็นระบบมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ปี 2503 – 2510 เกิดขบวนการต่อสู้เรียกร้องเอกราชหลายขบวนการ เช่น BNPP ( Barisan Nasunal Pembebassan Patani – ขบวนการแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติปาตานี ) ขบวนการ BRN ( Barisan Revulusi Nasunal Patani – ขบวนการแนวร่วมแห่งชาติปาตานี ) และ PULO ( Patani Unitede Liberation Organization – องค์การปลดแอกแห่งชาติปาตานี)

ในยุคปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นักการเมืองชาวมลายูปาตานีที่มีชื่อเสียงในจังหวัดปัตตานี 2 คน ถูกจับดำเนินคดีในข้อหาความมั่นคงและเป็นกบฎแบ่งแยกดินแดนในปี 2504 ได้แก่ นายอามีน โต๊ะมีนา และ นายวิไล เบญจลักษณ์ ( นายแวและ เบญอาบัซ ) การต่อสู้คดีเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะคดีต้องโอนไปยังศาลอาญากรุงเทพฯ และเป็นคดีศาลทหารสิ้นสุดเพียงแค่ศาลชั้นต้น ไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา การดำเนินคดีใช้เวลานาน 4 ปี ในที่สุดอัยการศาลทหารกรุงเทพฯได้ถอนฟ้องตามนโยบายของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี 2506

และในปี 2508 มีการจับกุมดำเนินคดีผู้มีชื่อเสียงและบทบาทในสังคมมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 24 คน ในข้อหาความผิดต่อความมั่นคงและกบฎแบ่งแยกดินแดน คดีได้โอนไปพิจารณาที่ศาลอาญาทหารกรุงเทพฯ ในจำนวนนี้มีนายสิดดิก สารีฟ เป็นชาวอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ซึ่งต่อมาหลังจากพ้นคดีแล้ว ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส 2 สมัย คือ ปั 2518 และ 2519 และยังได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2519 อีกคนหนึ่ง นายเปาะสู วาแมดิซา อดีตครูประชาบาลบ้านจารังตาดง ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา บุคคลผู้นี้หลังจากพ้นคดีกลับไปอยู่บ้านเกิดอยู่ไม่นานก็มีปัญหากับเจ้า หน้าที่ตำรวจ เพราะนายเปาะสูฯเป็นผู้มีความรู้ในหมู่บ้าน จึงเป็นที่พึ่งของชาวบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลั่นแกล้งข่มเหงรังแก สร้างความไม่พอใจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เป็นอย่างมาก จนไม่สามารถอยู่ในหมู่บ้านได้อย่างปกติสุขได้

ดังนั้น ครูเปาะสูจึงได้นำพรรคพวกที่รักใคร่ชอบพอหนีออกไปจากหมู่บ้านและทิ้งข้อความ ที่ฝาผนังบ้านว่า ” พร้อมแล้ว เอาไงเชิญ ” แล้วไปร่วมกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มนายเปาะเยะ ที่มีอิทธิพลและมีชื่อเสียงโด่งดังบนเทือกเขาบูโดที่เป็นเทือกเขาบรรดานักสู้ (Bukit Budo Bukit Pahlawan) ในสมัยนั้น