ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (11)

นับตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจากรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงครม เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 และแต่งตั้งรัฐบาลให้พล.อ.ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้คณะปฏิวัติที่มี จอมพลสฤษดิ์ฯเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ประมาณหนึ่งเดือนเศษ จอมพลสฤษดิ์ฯได้กระทำรัฐประหารรัฐบาลตนเองเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 และต่อมาได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2502 กำหนดให้มีสภาเดียวคือแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2502 จำนวน 240 คน โดยไม่กำหนดระยะเวลาจนได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 ในระหว่างช่วงเผด็จการครองอำนาจนี้ สิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยอยู่ในอุ้งมือของเผด็จการเบ็ดเสร็จ กฎหมายภัยสังคมเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการที่มีพฤติกรรม ชั่วร้ายใช้สำหรับแสวงหาประโยชน์ให้กับตนและใส่ร้ายป้ายสีประชาชนที่ไม่ยอม ก้มหัวให้กับมัน บางคนไม่สามารถทนต่อความอยุติธรรมและจิตสำนึกของการต่อสู้ไม่เข้มแข็งพอก็ ขายทรัพย์สินบ้านอยู่อาศัยและที่ดินทำกินไปในราคาถูกๆแล้วนำทรัพย์สินติดตัว และครอบครัวไปตายเอาดาบหน้าในประเทศเพื่อนบ้าน แต่สำหรับบางคนที่มีความหวงแหนผืนแผ่นดินเกิดและมีจิตใจสู้ ได้ขายทรัพย์สมบัติเท่าที่มีแล้วนำเงินไปซื้ออาวุธปืน เอ็ม 16 , อาร์ก้า , หรือ คาร์บิน แล้วแต่ตามกำลังซื้อเท่าที่มีอยู่ รวมพลพรรคพวกที่มีหัวอกหัวใจเดียวกันมุ่งสู่ขุนเขาแต่ละท้องที่เพื่อฝึกปรือ วิทยายุทธและอุดมการณ์จากนักรบของขบวนการต่างๆที่เตรียมพร้อมอ้าแขนต้อนรับ สมาชิกใหม่ๆที่นับจะเพิ่มจำนวขึ้นเรื่อยๆ

ภูเขาบูโด (Bukit Budo) อยู่ในเขตอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นภูเขายาวเหยียดขนานกับถนนเพชรเกษมจากอำเภอยี่งอจรดอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นภูเขาที่มีตำนานอันเป็นสถานที่ชุมนุมพลของเหล่าบรรดานักสู้ชาวมลายูปา ตานีที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับความอยุติธรรมของผู้ปกครองรัฐไทย เมื่อพูดถึงเขาบูโดก็ต้องพูดถึงนายเปาะเยะ(Bapa Idris)หัวหน้าจรยุทธของขบวนการ BNPP ดั้งเดิมเป็นชาวบ้านในตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส พื้นฐานเดิมเป็นชาวบ้านธรรมดาๆและมีใจรักความเป็นธรรมและสำนึกในความเป็น มลายูสูง แม้พื้นฐานการศึกษาน้อยแต่ด้วยจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักในชาติพันธ์ุ ถิ่นกำเนิดรักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ปุถุชนไม่สามารถทนต่อความอยุติธรรมที่ เจ้าหน้าที่รัฐหยิบยื่นให้แก่ชาวมลายูปาตานีได้ จึงละทิ้งครอบครัวและสมบัตินอกกาย พกแต่สมบัติภายในจิตใจที่เป็นอารมณ์และความรู้สึกจนต่อมากลายเป็นอุดมการณ์ ที่ต้องการอิสระภาพทวงคืนผืนแผ่นดินอันเป็นของบรรพบุรุษที่สร้างมาแต่ปาง ก่อน เมื่อกล่าวถึงเปาะเยะแล้วหากไม่กล่าวถึงสมุนคู่ใจที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน จรยุทธภายในพื้นที่ต่างๆภายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วดูออกจะไม่สมบูรณ์เท่าใดนัก เช่น นายมะอีซอ แห่งมายอเป็นอดีตทหารเกณฑ์ได้ผันชีวิตเข้าเป็นหน่วยจรยุทธของขบวนกาน BNPP ภายใต้การบัญชาการของนายเปาะเยะ นายซอมะเด็ง นายเซ็ง ลูกไม้ไผ่  นายเซ็ง ท่าน้ำ  แห่งปะนาเระ กองกำลังและหน่วยจรยุทธขบวนการ PULO ได้แก่ โต๊ะครูบาบอหะยียะโก๊ะแห่งยามูแรแน บาบอแมน้องชายชายบาบอโก๊ะ  นายเจ๊ะหลง อาลีมะ อดีตกำนันแห่งตำบลตะปอเยาะ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ แห่งปะนาเระ นายบาฮารี โคกนิบง และ กองกำลังหน่วยจรยุทธของ BRN ได้แก่ นายบุสตามัน(นายมะปีเยาะ สดาวา) นายอาแว บูเกะหรือแกแระ (โต๊ะกาฮง) นายเจ๊ะกูดิง อาแด นายอาลียะห์ โต๊ะบาลา นายเปาะมะ สุไหงบาตู นายแวฮามะ วายีเกา แห่งบันนังสตาร์

บรรดานักสู้ชาวมลายูปาตานีที่เอ่ยนามมาข้างต้น บางคนได้เสียชีวิตไปแล้ว บางคนเสียชีวิตเพราะโรคชรา โรคภัยไข้เจ็บ บางคนเสียชีวิตจากการต่อสู้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ บางคนยังมีชีวิตอยู่ แต่อยู่ในวัยแก่ชรามากแล้ว มีทั้งที่อยู่ในบ้านเกิดแห่งเมืองบิดร บางคนอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง ตำนานและประวัติของนักสู้เหล่านี้ในสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐเพียงแค่เป็นขุน โจรผู้ร้าย แต่ในสายตาของชาวมลายูปาตานีส่วนใหญ่เขาเหล่านั้นเป็นนักสู้เพื่อชาติ มาตุภูมิมลายูปาตานี

สำหรับบุคคลชั้นนำของชาวมลายูปาตานีทั้งที่เป็นนักการเมือง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีชื่อเสียง และปัญญาชนมลายูปาตานีหลายคนที่ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพโดยถูกดำเนินคดีใน ข้อหาบ่อนทำลาย ทำให้เกิดความเกรงกลัวแบ่งแยกดินแดน และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เช่น ในปี 2504 อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา 2 คน คือ นายอามีน โต๊ะมีนา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี 2 สมัย และ นายวิไล เบญจลักษณ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา ถูกจับกุมดำนินคดีอาญาศาลทหารจังหวัดปัตตานี ฐานความผิด มีการกระทำอันเป็นกบฎแบ่งแยกดินแดน และคดีได้โอนไปยังศาลทหารกรุงเทพฯ มีการต่อสู้คดีใช้เวลานาน 4 ปี จนถึงปี 2508 ก่อนศาลจะพิพากษาคดี 1 วัน คณะรัฐมนตรีมีมติให้อัยการศาลทหารรถอนฟ้องคดีเสีย ทั้งนี้โดยรัฐบาลหวังผลทางการเมืองบางประการนั่นเอง

นายเปาะสู วาแมดิซา อดีตเป็นครูประชาบาลอยู่บ้านจะรังตาดงตาดง ตำบลท่าธง จังหวัดยะลา เป็นปัญญาชนมลายูปาตานีในยุคสมัยนั้น ด้วยความมีอาชีพครูอยู่ในท้องถิ่นห่างไกลปืนเที่ยง จึงเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่พึ่งที่เรียกว่าเป็นพ่อพระในชุมชนของชาวมลายูปาตานีที่ขาดความ รู้ภาษาไทยมักถูกกลั่นแกล้งและเอารัดเอาเปรียบจากข้าราชการที่แสวงหาผล ประโยชน์จากประชาชนผู้ด้อยโอกาสที่ไปติดต่อสถานที่ราชการ โดยเฉพาะผู้ได้ชื่อว่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ จากการที่เป็นคนปกป้องชาวบ้านให้พ้นจากการถูกคุกคามข่มเหมรังแกจากเจ้า หน้าที่บ่อยครั้งนี้เอง พิษภัยจากกฎหมายภัยสังคมผลผลิตของเผด็จการจึงเล่นงานท่านอย่างไร้มนุษยธรรม กล่าวคือ เมื่อประมาณปลายปี 2508 ท่านถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายภัยสังคมร่วมกับชาวมลายูปาตานีที่ประสบชะตา กรรมเดียวกันจากจังหวัดยะลารวมกันจำนวน 10 คน จากจังหวัดปัตตานี 9 คน และจังหวัดนราธิวาส 9 คน รวมทั้งหมด 28 คน ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกขังที่สถานีตำรวจภูธรของแต่ละอำเภอไม่น้อยกว่า 1 ปี และถูกฟ้องเป็นคดีอาญาศาลทหารในข้อหาร่วมกระทำความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ กบฎภายในราชอาณาจักร เป็นคดีอาญาศาลทหารปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ต่อมาได้โอนไปยังคดีอาญาศาลทหารกรุงเทพฯเป็นคดีเดียวกัน รวมจำเลย 28 คน โดยมี นายเปาะสู วาแมดีซา เป็นจำเลยที่ 1 และ นายสิดดิก สารีฟ เป็นจำเลยที่ 28

การต่อสู้คดีของจำเลยทั้ง 28 คน ได้ต่อสู้ด้วยความทุกข์ยากลำบากมาก เพราะในจำเลย 28 คนนี้ มีนายเปาะสู และ นายสิดดิก เท่านั้นสามารถพูดและเข้าใจภาษาไทยได้ นอกนั้นแม้แต่ฟังภาษาไทยก็ยังไม่เข้าใจ อีกทั้งยังเป็นคดีอาญาศาลทหาร จำเลยต้องต่อสู้แก้ต่างตามลำพัง ไม่มีสิทธิ์ใช้ทนายความมาแก้ต่าง และเมื่อศาลทหารพิพากษาคดีแล้ว คู่ความไม่มีสิทธิ์อุทรณ์และฎีกาเหมือนคดีทั่วไป ภาระหนักจึงตกแก่ นายเปาะสู และ นายสิดดิก ต้องช่วยกันเป็นผู้แก้ต่างและเป็นล่ามให้กับจำเลยอีก 26 คน

ศาลอาญาทหารกรุงเทพฯได้พิจารณาคดีเป็นเวลานาน 2 ปีเศษ ในที่สุดอัยการโจทก์ได้ถอนฟ้องคดีปล่อยให้จำเลยเป็นอิสระ โดยอ้างเหตุผลเพื่อประโยชน์ทางการการเมือง แต่แท้จริงแล้วพยานหลักฐานของโจทก์ล้วนแต่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีจำนวนนับ ร้อยปาก และเบิกความปรักปรำจำเลยโดยขาดพยานหลักฐานอันเป็นการเบิกความที่เป็นเท็จ ทั้งสิ้น หากปล่อยให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้ว บรรดาพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหลายอาจถูกจำเลยฟ้องกลับฐานเป็นพยาน เบิกความเท็จได้ ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลจึงมีคำสั่งให้อัยการถอนฟ้องคดีเสีย นับว่าเป็นเวรกรรมของจำเลยซึ่งเป็นชาวมลายูปาตานี ที่มักจะถูกข่มเหงรังแกเพียงแค่เป็นคนหัวแข็งไม่ยอมศิโรราบต่ออำนาจที่ไม่ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นอันว่าจำเลย 28 คน ถูกจำคุกฟรีตั้งแต่ที่จังหวัดจนถึงกรุงเทพฯเป็นเวลานานเกือบ 4 ปี

ขณะที่จำเลย 28 คน ถูกกักขังในเรือนจำกลางคลองเปรมตั้งแต่ปี 2510 ผู้เขียนกำลังเรียนหนังสือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา บางซื่อ กรุงเทพฯ ทุกๆวันศุกร์ผู้เขียนได้ขออนุญาตจากโรงเรียนออกไปซื้อข้าวจากบางลำพูนำไปส่ง ให้จำเลย 28 คน ที่ไร้อิสรภาพอยู่ในเรือนจำได้รับประทานอาหารเป็นมื้อเที่ยง ทั้งนี้เพราะ นายสิดดิก สารีฟ ที่เป็นหนึ่งในจำเลย 28 คนนี้เป็นน้องชายของแม่มีศักดิ์เป็นน้าชายของผู้เขียนนั้นเอง จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับเรือนจำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และ ได้สัมผัสกับศาลที่พิจารณาคดีจำเลยข้อหากบฎภายในราชอาณาจักร ได้เห็นสภาพความทุกข์ยากลำบากของจำเลยแต่ละคนที่ไม่มีความรู้ทั้งด้านกฎหมาย และการสื่อสารทางภาษานี้เอง เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนมุ่งมั่นเรียนหนังสือให้จบเร็วๆ เป้าหมายเพื่อมุ่งไปสู่การเรียนกฎหมายในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และตลอดระยะเวลา 4 ปี อยู่ในในสถาบันแห่งนี้ ผู้เขียนจึงรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ผู้เขียนรักประชาชน