เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ปฏิบัติภารกิจร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อย แล้ว ประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างยาวนานที่สุดในประเทศไทย คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 รัฐบาลได้ประกาศวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 ผลการเลือกตั้งใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีดังนี้
จังหวัดปัตตานี ได้แก่
1. นายวิไล เบณจลักษณ์ พรรคประชาธิปัตย์
2. นายบันเทิง อับดุลบุตร พรรคสหประชาไทย
จังหวัดนราธิวาส
1. นายถาวร ไชยสุวรรณ พรรคสหประชาไทย
2. นายเรวัติ ราชมุกดา พรรคสหประชาไทย
จังหวัดยะลา
นายอดุลย์ ภูมิณรงค์ อิสระ
จังหวัดสตูล
นายชูสิน โคนันท์ อิสระ
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จังหวัดปัตตานีได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหน้าเดิม นายวิไล เบ็ญจลักษณ์ เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา แต่ครั้งนี้ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่บ้านเกิด นายบันเทิง อับดุลบุตร ทายาทอดีตเจ้าเมืองยะหริ่งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัย ที่สอง ได้ทิ้งคู่สมัครในพรรคเดียวกัน คือ นายอามีน โต๊ะมีนา ทายาทตวนกูรูหะยีสุหลง อับดุลกาเคร์ จนเกษียณตนเองจากวงการเมืองเข้าสู่วงการศาสนาผันตัวเองเป็นประธานคณะกรรมการ อิสลามจังหวัดปัตตานีตั้งแต่นั้นมา จังหวัดนราธิวาสได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ทั้งสองคน คือ นายถาวร ไชยสุวรรณ เป็นหลาน นายวงศ์ ไชยสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2489 และ นายเรวัติ ราชมุกดา ทายาทสืบเชื้อสายเจ้าเมืองสายบุรี จังหวัดยะลา คือ นายอดุลย์ ภูมิณรงค์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2500
การเลือกตั้งครั้งนี้ จังหวัดสตูล ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ เป็นคนไทยเชื้อสายจีนเป็นเจ้าของโรงเลื่อยไม้ มีฐานะร่ำรวยคนหนึ่งในจังหวัดสตูล ทำให้ชาวสตูลต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลทางการเมืองที่มีคุณภาพคนหนึ่ง ได้แก่นักการเมืองผู้อาวุโสผู้คร่ำหวอดทางการเมืองที่มีบทบาทสูงในการปกป้อง ศาสนาและอัตตลักษณ์มลายู คือ นายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ จนต้องยุติบทบาททางการเมืองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา สาเหตุของความพ่ายแพ้ครั้งนี้เกิดจากความแตกแยกของผู้นำศาสนาอิสลามใน จังหวัดสตูล อันเกิดจากความหวาดระแวงของคนกันเอง ทั้งนี้ ด้วยการใช้เล่ห์เพทุบายอันชาญฉลาดของ นายชูสินฯ กล่าวคือ ในช่วงเวลาหาเสียง นายชูสินฯได้ไปหาเสียงที่ปอเนาะแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นปอเนาะของโต๊ะครูที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านใน จังหวัดสตูล นายชูสินฯได้เชิญโต๊ะครูท่านนี้ขึ้นรถยนต์ของตนและตระเวณออกไปให้ชาวบ้าน เห็น ทำให้มีเสียงวพากษ์วิจารณ์ตามมาในหมู่ชาวมุสลิม พอได้ยินถึงนายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯเลยโกรธมาก จึงตำหนิติติงโต๊ะครูท่านนั้นอย่างแรง ด้วยพื้นฐานโต๊ะครูผู้นี้เป็นสายคณะเก่าและนายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯเป็นสายคณะ ใหม่ ทำให้เกิดความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายในหมู่มุสลิม โดยมุสลิมที่นิยมโต๊ะครูผู้นี้เทเสียงให้กับนายชูสินฯจนได้รับชัยชนะใน ที่สุด
ย้อนรอยการเมือง Di Selatan หากไม่เล่าถึงประวัติของนักการเมืองมลายูที่หยิ่งทรนงในชาติพันธุ์และศาสนา ที่ตนเองยึดมั่นเป็นชีวิตจิตใจแล้ว ท่านผู้นั้นคือ นายเจ๊ะอับด๊ลลาห์ หลังปูเต๊ะ ย่อมทำให้สาระในเนื้อหาเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองในรัฐสภาของนักการ เมืองมลายูขาดอรรถรสไปอย่างน่่าเสียดาย จึงจำเป็นต้องลงประวัติและเรื่องราวในผลงานของท่านผู้นี้เพื่อให้คนรุ่นหลัง ได้จดจำไว้อย่างไม่รู้ลืม
นายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ ( จากหนังสือประวัติศาสตร์เมืองสตูล ) เกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2433 ณ บ้านทำเนียบ ตำบลโกตา (กำแพง) อำเภอละงู บิดาชื่อ นายเจ๊ะมูฮำมัดสะอาด มารดาชื่อ นางเจ๊ะรอมะห์ นามสกุลเดิม หวันสู ในวัยเด็ก นายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯ ได้ศึกษาภาษามลายูจนสำเร็จชั้นปีที่ 3 บริบูรณ์ มีความรู้ภาษามลายูในขั้นดี นอกจากนั้น นายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯสนใจภาษาไทย ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจนมีความสามารถขั้นอ่านออกเขียนได้
นายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯ เข้ารับราชการเป็นเสมียนศาล แขวงละงู เมื่อปี 2448 ขณะมีอายุ 15 ปี แต่รับราชการเพียง 1 ปีเศษ ก็ลาออกเพื่อไปประกอบอาชีพค้าขายส่วนตัว ปี 2459 ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านศาสนา ประจำอำเภอทุ่งหว้า และกิ่งอำเภอละงู อยู่ที่บ้านปากบารา ปี 2463 เดินทางไปทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ประเทศอินโดนีเซียและมลายู จนกระทั่งปี 2469 จึงเดินทางกลับประเทศไทย พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ แต่งตั้งให้เป็นกอฎีทั่วไป ทำหน้าที่ด้านกฎหมายครอบครัวอิสลาม ล่วงมาปี 2473 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นดาโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดสตูล
นายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯ หันเหชีวิตสู่การเมืองเมื่อปี 2489 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูลเป็นครั้งแรก ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เกิดรัฐประหาร สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบปี 2491 นายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯ ได้รับเลือกตั้งเปึนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูลเป็นสมัยที่ 2 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ล่วงมาปี 2495 นายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯ ได้รับเลือกเปึนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูลเป็นสมัยที่ 3 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
กล่าวได้ว่า นายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯ ประสบความสำเร็จทางด้านการเมือง ประชาชนจังหวัดสตูลไว้วางใจเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถึง 3 ครั้ง เข้าร่วมรัฐบาลในฐานะรัฐมนตรี 2 ครั้ง เป็นนักการเมืองจากจังหวัดสตูล คนที่ 2 ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นักการเมืองคนแรกของจังหวัดสตูลที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ได้แก่ พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ทำให้คนทั้งประเทศรู้จักจังหวัดสตูลมากขึ้น
นายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯ มีผลงานอีกมากมาย เช่น เป็นกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการนิติบัญญัติประจำกระทรวงยุติธรรม มีส่วนร่วมพิจารณกฎหมายครอบครัว มรดก อิสลามที่ประกาศใช้ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯ ได้ชื่อว่าเป็นผู้รอบรู้ ขั้นปราชญ์คนหนึ่ง มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ศาสนาอิสลาม และภาษามลายู ได้แต่งหนังสือไว้หลายเล่ม คนรุ่นหลังได้ศึกษา อ้างอิง เป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษา เช่น ประวัติจังหวัดสตูล อาณาจักรศรีวิชัย กระจกไม่มีเง เป็นอาทิ
ปี 2517 นายศุภโยค พานิชวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล มีการรื้อถอนมัสยิดมำบังหลังเก่าหรือมัสยิดฮากีบี หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า มัสยิดเตองะห์ สร้างขึ้นสมัยตนกูมูฮำมัดอาเก็บเป็นเจ้าเมือง ถือเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดสตูล อายุนับปี 2517 กว่า 120 ปี เพื่อใช้ที่สำหรับก่อสร้างมัสยิดมำบังหลังใหม่ ซึ่งบางส่วนได้ปลูกสร้างทับไปบนกูบุร(สุสาน) นายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯ คัดค้านไม่ต้องการให้ราชการทำลายโบราณสถาณที่เป็นคู่บ้านคู่เมือง เจตนาให้หาที่ดินแปลงใหม่สำหรับก่อสร้างมัสยิดเพื่ออนุรักษ์มัสยิดหลังเก่า ไว้ นายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯ ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลจังหวัดสตูล แต่ปรากฎว่าศาลยกฟ้อง โดยอนุญาตให้ทางราชการดำเนินการก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่บนเนื้อที่ ที่ติดกับกุบูรต่อไปได้ ทั้งๆที่เป็นการขัดต่อต่อหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของจังหวัดสตูล ที่ควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และท่านยังเป็นผู้หนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายอิสลามที่บังคับใช้ ในหลายๆจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย
อีกวีรกรรมหนึ่งของ นายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯ ที่น่าจดจำไว้และสมควรยกย่องสรรเสริญ คือ แสดงความกล้าหาญคัดค้านความคิดโง่ๆของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทยระดับปลัด กระทรวงมหาดไทย คือ พระยารามราชภักดี เสนอในที่ประชุมที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นประธานในที่ประชุมว่า ” จะจำลองกะบะฮ.ขึ้นในประเทศไทย โดยการไปอัญเชิญทรายจากมักกะฮ.มาก่อสร้างกะบะฮ.ในประเทศไทย เพราะจะได้ลดภาระการใช้จ่ายออกสู่ต่างประเทศของบรรดาผู้เดินทางไปแสวงบุญ ณ นครมักกะฮ. ซึ่งทุกๆ ปีเงินไหลออกไปสู่ต่างประเทศในช่วงเทศกาลฮัจญ์มากมาย ” ในที่ประชุมเห็นด้วย แต่ นายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯอยู่ในที่ประชุมด้วย ได้คัดค้านอย่างแข็งขัน โดย ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ” บัยตุลลอฮ.นั้นจำลองไม่ได้ ซึ่งที่นั่นศาสนาบัญญัติให้มุสลิมที่มีความสามารถจะต้องเดินทางไปแสวงบุญ หนึ่งครั้งในชีวิต หากไม่มีความสามารถก็ไม่ต้องไป ” ท่านก็อธิบายกุรอ่านในซูเราะห์ ” อัลฟีล ” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอับรอฮะฮ.ที่จะมาตีเอาบัยตุลลอฮ.ไปตั้งที่อื่นให้ ฟัง เมื่อจอมพล ป. ฟังเสร็จแล้วก็เข้าใจและพูดขึ้นว่า ” ดีแล้วที่คุณเจ๊ะเล่าดีมาก ” ท่านเจ๊ะอับดุลลาห์บอกอีกว่า ” เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่ได้บัญญัติในคัมภีร์อัลกุรอ่าน ” ในที่ประชุมพอใจ ข้อเสนอของปลัดกระทรวงมหาดไทยจึงตกไป(จากการบอกเล่าของ นายเฟาซัน หลังปูเต๊ะ ผู้เป็นหลานปู่)
บทบาทและวีรกรรมของ นายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ บนเวทีการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นสิ่งมุสลิมไทยจะต้องจดจำไว้ให้ขึ้นใจ เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้น หากชาวมุสลิมในประเทศไทยที่มีจำนวนประมาณ 5-6 ล้านคน มีจิตสำนึก ตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ควรจะเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเช่นใดที่จะปกป้อง สิทธิ เสรีภาพ และ ศาสนาของตนเองได้ และสมกับคำว่า มุสลิมนั้นเป็นพี่น้องและ ” ภราดรภาพ ” เดียวกัน
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์