รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 เป็นรัฐธรรมนูญที่ีใช้เวลาร่างนานที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญของประเทศไทยเท่า ที่เคยมีมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลักการพิเศษที่แยกฝ่ายบริหารออกจากฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างชัดเจน นั่นคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งไม่ได้ จะเป็นได้ต้องลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลจะควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติได้ไม่เต็มที่และสมาชิกสภาผู้ แทนราษฎรในซีกของรัฐบาลมักจะเรียกร้องความสนใจจากรัฐบาลอย่างไม่รู้จักจบ อีกทั้งรัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมบณรายจ่ายประจำปี พุทธศักราช 2513 และ 2514 เกิดความล่าช้าเป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากมีความขัดแย้งกันระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลกับสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านในเรื่องผลประโยชน์จากการแย่งชิงงบประมาณไปพัฒนา จังหวัดของตน เพื่อสร้างคะแนนนิยมในเขตเลือกตั้งถึงขนาดมีการต่อรองในการลงมติ จนเป็นเหตุให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของประเทศต้องล่าช้าไปกว่า กำหนดถึง 6 เดือนพฤติกรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้นำรัฐบาลที่มาจากทหารไม่ค่อยจะมีน้ำอดน้ำทนต่อ พฤติกรรมของผู้แทนปวงชนชาวไทยเท่าใดนัก จึงเป็นมูลเหตุสำคัญประการหนึ่งที่จอมพลถนอม กิตติขจร กับคณะทหารทำการรัฐประหารรัฐบาลของตนเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 แม้ใช้เวลาร่างนานถึง 9 ปีเศษ แต่มีอายุการใช้เพียง 3 ปีเศษเท่านั้น ประเทศไทยเข้าสู่การปกครองในระบอบเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง คณะปฏิวัติภายใต้การนำของ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 กำหนดให้มีสภาเดียว คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีสมาชิกจำนวน 229 คน มาจากการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2515
รัฐบาลคณะปฏิวัติภายใต้การนำของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้บริหารประเทศท่ามกลางการตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษา ภายในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง กิจกรรมของนิสิตนักศึกษาภายในรั้วมหาวิทยาลัยได้ทะลักออกสู่สังคมภายนอกเป็น ระลอกแล้วระลอกเล่า ชนิดไม่เกรงขามผู้นำเผด็จการแม้แต่น้อย ในยุคนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักศึกษาปัญญชนหัวก้าวหน้าเริ่มแสดงออกความ เห็นทางการเมือง กล้าวิพากษ์วิจารณ์การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลคณะปฏิวัติอย่างตรงไปตรงมา องค์กรนักศึกษา กลุ่มปัญญาชนภายใต้ชื่อกลุ่มต่างๆ ต่างจุดประกายความคิดและปลุกจิตสำนึกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแก่นิสิต นักศึกษาตลอดจนประชาชนทั่วไปอย่างเป็นระบบ การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาภายใต้การนำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่ง ประเทศไทย ได้รณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศทุนนิยมในเอเซียที่เอารัดเอาเปรียบประเทศไทยอย่างมาก ทั้งนี้โดยพิจารณาจากการขาดดุลการค้าของประเทศไทยในอัตราที่ไม่สมดุลเท่าที่ ควรจะเป็น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยรณรงค์ให้คนไทยโดยเฉพาะหนุ่มสาวให้นิยม ใช้ผ้าฝ้ายผ้าดิบภายในประเทศไทยแทนที่ผ้าจากญี่ปุ่น ในด้านการเมืองแล้ว สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงต่างก็ปลุกจิตสำนึกและเร่งเร้า ให้นักศึกษาเอาใจใส่เรื่องบ้านเมืองเป็นชีวิตจิตใจ
การเมืองภายหลัง 14 ตุลาคม 2516 ถือได้ว่าเป็นการเมืองยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ความตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิิปไตยของประชาชนชาวไทยเป็นไปอย่าง กว้างขวางและแพร่หลายไปทั่วทุกระดับชั้นของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปัญญาชนหัวก้าวหน้า พรรคการเมืองใหม่ๆเกิดขึ้นหลายพรรค มีทั้งพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม สังคมนิยม เสรีนิยม และตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนชาวไทย เมื่อรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปในวันที่ 26 มกราคม 2518 บรรดาพรรคการเมืองต่างๆได้เลือกเฟ้นผู้สมัครในเขตเลือกตั้งต่างๆทั่วประเทศ เพื่อส่งสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคการเมืองของตนอย่างคึกคัก
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อันหมายถึง จังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล มีผู้สมัครรับเลือกตั้งอาสาเป็นตัวแทนประชาชนในพรรคการเมืองต่างๆมีทั้ง นักการเมืองหน้าเก่าและหน้าใหม่ลงสมัครแข่งขัน และการเลือกตั้งครั้งนี้มีปัญญาชนมลายูมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลงสมัครเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นายเด่น โต๊ะมีนา และ นายสุดิน ภูยุทธานท์ ทั้ง 2 คนนี้ลงสมัครในเขตเลือกตั้งจังหวัดปัตตานีในนามพรรคเกษตรสังคม ซึ่งมี นายเสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นหัวหน้าพรรค
นายเด่น โต๊ะมีนา เป็นบุตรชายตวนกูรูหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ และเป็นน้องชาย นายอามีน โต๊ะมีนา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี 2 สมัย มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดได้ว่าเป็นปัญญาชนชาวมลายูที่โดดเด่นคนหนึ่ง มีฐานเสียงสนับสนุนหลักจากสายผู้นำศาสนาโดยอาศัยบารมีคุณพ่อที่ล่วงลับไป แล้วอันเกิดจากน้ำมือของตำรวจยุคอัศวินผยองและพี่ชายซึ่งเปลี่ยนเส้นทางเดิน จากการเมืองมาเป็นทางศาสนาเจริญรอยตามผู้เป็นบิดาในตำแหน่งประธานคณะกรรมการ อิสลามจังหวัดปัตตานี
นายสุดิน ภูยุทธานนท์ ปัญญาชนมลายูปาตานี บ้านปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีความรู้ระดับปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีฐานเสียงจากผู้ปกครองหนุ่มสาวที่เรียนหนังสือในจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นบุคคลที่นักเรียนนักศึกษาได้พึ่งพาอาศัยในหลายๆด้านในขณะศึกษาเล่า เรียนในกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้นแล้วยังมีฐานเสียงจากบรรดาผู้เดินทางไปแสวงบุญ ณ นครมักกะฮ.ที่ได้รับการบริการเป็นอย่างดีในคราวที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ ระหว่างรอขึ้นเครื่องบินไปนครมักกะฮ.ประเทศซาอุดิอารเบีย
ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 มีดังนี้
จังหวัดปัตตานี ได้แก่
1. นายทวีศักดิ์ อับดุลบุตร พรรคชาติไทย
2. นายกำธร ลาชโรจน์ พรรคชาติไทย
3. นายสุดิน ภูยุทธานนท์ พรรคเกษตรสังคม
จังหวัดนราธิวส
1. นายสิดสิก สารีฟ พรรคประชาธิปัตย์
2. นายถาวร ไชยสุวรรณ พรรคธรรมสังคม
จังหวัดยะลา นายประสาท ไชยะโท พรรคธรรมสังคม
จังหวัดสตูล นายชูสิน โคนันทน์ พรรคธรรมสังคม
การเลือกตั้งครั้งนี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ 4 คน คือ จังหวัดปัตตานี 3 คน จังหวัดนราธิวาส 1 คน ส่วนจังหวัดยะลา จังหวัดสตูล และ จังหวัดนราธิวาส อีก 1 คน ยังได้แก่นักการเมืองคนหน้าเก่า สำหรับจังหวัดปัตตานีนั้น นายเด่น โต๊ะมีนา ผู้สมัครที่มีเสียงขานรับเป็นอย่างดีจากประชาชนทั่วไปพลาดไปอย่างน่าเสียดาย คนที่ได้รับเลือก 3 คน เป็นคนหน้าใหม่นอกจาก นายสุดิน ภูยุทธนนท์ แล้วยังมี นายทวีศักดิ์ อับดุลบุตร มีอายุยังไม่ถึง 30 ปี เป็นบุตร นายบันเทิง อับดุลบุตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี 2 สมัย เป็นทายาทสืบสกุลจากเจ้าเมืองยะหริ่ง จึงได้ฐานเสียงสนับสนุนจากผู้นำท้องถิ่นและผู้กว้างขวางในพื้นที่เป็นส่วน ใหญ่ ส่วนนายกำธร ลาชโรจน์ เป็นคนไทยนับถือศาสนาพุทธ เป็นผู้กว้างขวางในหมู่ผู้มีอิทธิพลบารมี เพราะมีญาติผู้ใหญ่เป็นนายตำรวจใหญ่ในจังหวังสงขลา เป็นคนใจนักเลงชอบเล่นแข่งขันวัวชน จึงเป็นที่พึ่งของบรรดานักเลงหัวไม้ในพื้นที่ทั้งหลาย ชาวมลายูเรียกชื่อว่า โต๊ะนาเเหละ ( นายกำธรฯมีชื่อเล่นว่า เล็ก ชาวมลายูออกเสียงเพี้ยนเป็น เเหละ ส่วนคำว่า โต๊ะนา นั้น เป็นคำเรียกนำหน้าของคนเป็นระดับเจ้านาย โต๊ะ มาจากคำว่า ดาโต๊ะ นา มาจากคำว่า นาย นั่นเอง )
สำหรับจังหวัดนราธิวาส ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ 1 คน ได้แก่ นายสิดดิก สารีฟ พื้นเพเป็นคนอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส จัดได้ว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ลงสมัครครั้งแรกคว้าชัยชนะมาเป็นอันดับหนึ่ง แซงหน้าคนเก่า ( นายถาวร ไชยสุวรรณ ) ด้วยคะแนนนเสียง 33,113 คะแนน ต่อ 24,328 คะแนน แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ชาวนราธิวาสเทคะแนนเสียงแก่ นายสิดดิกฯอย่างท่วมท้ม เพราะคะแนนสงสารที่นายสิดดิกฯถูกจับกุมดำเนินคดีความมั่นคงฐานกบฎแบ่งแยกดิน แดนตั้งแต่สมัยรัฐบาลเผด็จการ ” ถนอม-ประภาส ” อยู่หลายปี ต่อมาอัยการศาลทหารได้ถอนฟ้อง นายสิดดิกฯและคณะรวม 29 คน ก่อนจะมีวันเลือกตั้ง 4 ปี มูลเหตุที่ นายสิดดิกฯถูกตำรวจจับกุมและฟ้องคดีต่อศาล เนื่องจาก นายสิดดิกฯเป็นบุคคลรักความเป็นธรรมไม่ชอบข้าราชการที่มีพฤติกรรมแสวงหา ประโยชน์บนกองทุกข์ของประชาชน เช่น ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสมีเขตแดนติดต่อกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และมีหลายด่าน ซึ่งเป็นช่องทางที่พ่อค้าอิทธิพลในจังหวัดได้ลักลอบลำเลียงข้าวสารซึ่งเป็น สินค้าควบคุมออกจำหน่ายไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยผิดกฎหมาย ทั้งนี้โดยอาศัยบารมีและความร่วมมือของข้าราชการระดับชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัด ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ไม่มีข้าวสารในพื้นที่เพียงพอแก่การบริโภค นายสิดดิกฯได้ทำหนังสือร้องเรียนไ่ปยังส่วนกลาง แต่หนังสือฉบับนั้นกลับตกไปอยู่ในมือของข้าราชการผู้นั้น แต่แทนที่ข้าราชการผู้นั้นจะเอาใจใส่กับการร้องเรียนดังกล่าว กลับส่งคนมาเจรจาจะเสนอประโยชน์แก่ นายสิดดิกฯโดยจะให้ค่าปิดปากกระสอบละ 5 บาท แต่นายสิดดิกฯไม่รับข้อเสนอดังกล่าว
จึงเป็นที่มาของการจับกุมดำเนินคดีกับ นายสิดดิกฯในข้อหาความผิดด้านความมั่นคงฐานกบฎแบ่งแยกดินแดน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกจากราชอาณาจักรไทย
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์