สมาชิกรัฐสภาชุดนี้เป็นชุดที่ 15 มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 100 คน พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2518 นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่ชาวมลายูปาตานีได้รับโปรดเกล้าเป็นสมาชิก วุฒิสภาจำนวน 1 คน ได้แก่ นายเหม สุไลมาน เป็นชาวจังหวัดปัตตานี จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบอาชีพทนายความ ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้อยู่ในตำแหน่งจนถึงวันที่ 12 มกราคม 2519 เพราะ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร อันสาเหตุมาจากพรรคร่วมรัฐบาลขาดเอภาพทำให้เกิดปัญหาและเป็นอุปสรรคในการ บริหารประเทศ และกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปในวันที่ 4 เมษายน 2519
ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ วันที่ 26 มกราคม 2518 ถึงวันที่ 12 มกราคม 2519 เป็นเวลา 346 วัน นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ชาวมลายูปาตานีได้ประสบการณ์ซึมซับการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยเป็นอย่างดี และถือเป็นบทเรียนทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง นั่นคือ สามัคคีเป็นพลังสำคัญใน การต่อรองทางการเมืองครั้งแรกของชาวมลายูปาตานีในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในระบอบประชาธิปไตย
เนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองไทยช่วงนี้อยู่ในบรรยากาศประชาธิปไตยเบ่งบาน เพราะได้ผ่านพ้นวิกฤตการเมืองยุคเผด็จการมาหมาดๆ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ที่ประกาศใช้เป็นกติกาปกครองประเทศก็จัดได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็น ประชาธิปไตยที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมาในขณะนั้น ทหารที่เคยมีบทบาทสูงในทางการเมืองไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ต่างก็กลับไปสู่กรมกองกันอย่างเรียบร้อย ปล่อยให้การเมืองเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยเยี่ยงนานาอารยะประเทศ ตามยุคสมัย หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 18 ที่นั่งในสภาได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม
สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้สถานกรณ์การเมืองและบรรยากาศการเมืองในภาพรวมของประเทศจะอิ่มเอิบไปด้วย กลิ่นอายของระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีหลักประกันใน สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค อย่างเท่าเทียมกัน แต่ประชาชนชาวมลายูปาตานีก็ไม่ได้รับอานิสงค์จากบรรยากาศดังกล่าวแม้แต่น้อย เจ้าหน้าที่รัฐไทย โดยเฉพาะสายความมั่นคงยังมองชาวมลายูปาตานีด้วยสายตาที่มีอคติ ไม่น่าไว้วางใจ สถาบันศาสนา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ตาดีกา และ ปอเนาะ ยังตกเป็นจำเลยในมุมมองของสายความมั่นคงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา การปฏิบัติต่อชาวมลายูปาตานีที่ต้องสงสัยในพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับขบวนการ แบ่งแยกดินแดน มักถูกปฏิบัติโดยใช้วิธีการแบบศาลเตี้ย ไม่ดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ศพคนตายอันเกิดจากฆาตกรรมโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผยของผู้กระทำความผิดศพแล้ว ศพเล่ามีให้เห็นเป็นประจำ ทั้งๆที่ในพื้นที่แห่งนี้มีผู้แทนของปวงชนที่เรียกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันทรงเกียรติทุกจังหวัดแล้วก็ตาม ก็ยังไม่มีพลังเพียงพอที่จะแบกภาระอันหนักอึ้งนี้ได้ ทั้งนี้เพราะผู้แทนของปวงชนชาวมลายูปาตานียังขาดเอกภาพในการรวมตัวเพื่อ สร้างพลังต่อรองกับอำนาจรัฐในการปกป้องชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาได้ อีกทั้งยังไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดที่พอจะเป็นหลักพึ่งพิงในคราวที่ไม่ได้ รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นประชาชนชาวมลายูปาตานีจึงตกอยู่ในสภาพของความสะพึงกลัว หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ เจ้าหน้าที่รัฐตลอดมา
ในสถานการณ์ความหวาดระแวงชาวมลายูปาตานีจากเจ้าหน้าที่รัฐไทยในหลายๆ เหตุการณ์ มีเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งสำคัญ มีผลทำให้ชาวมลายูปาตานีได้รับตำแหน่งสำคัญๆทางการเมืองถึง 3 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เหตุการณ์นั้นได้แก่ เกิดคดีวิสามัญฆาตกรรมสะพานกอตอ ทหารนาวิกโยธินสังหารชาวมลายูปาตานีตาย 5 คน และ บาดเจ็บสาหัส 1 คน แล้วโยนทิ้งลงในแม่น้ำสายบุรีที่สะพานกอตอ สะพานเชื่อมระหว่างอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส และ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2518 นับว่าเป็นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่ชาวมลายูปาตานีเพิ่งตื่นจาก หลับในสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชน มีความกล้าหาญชาญชัยที่จะเรียกร้องสิทธิ์ในความเป็นธรรม อย่างสงบสันติ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ โดยใช้วิธีชุมนุมประท้วงรัฐบาลเรียกร้องให้กับผู้ตายและผู้บาดเจ็บ
กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับผู้ตายและบาด เจ็บดังกล่าวได้แก่นักศึกษากลุ่มสลาตัน ซึ่งเป็นนักศึกษาลูกหลานชาวมลายูปาตานีที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆในกรุเทพ มหานครและได้รวบรวมนิสิตนักศึกษามาตั้งชุมนุมนักศึกษาไทยมุสลิมสลาตันในปี 2515 ได้ทำกิจกรรมเผยแพร่ประชาธิปไตยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ภายหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 เป็นที่รู้จักในหน้าสื่อหนังสือพิมพ์เป็นอย่างดี ต่อมาจนเรียกกันติดปากว่า ” นักศึกษากลุ่มสลาตัน ”
นักศึกษากลุ่มสลาตันได้รับการร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากผู้เสียหายและญาติๆ ผู้ตาย จึงได้นำตัว เด็กชายสือแม ดือราเซะ ที่รอดชีวิตเพียงคนเดียว อายุ 14 ปี เป็นคนบ้านฮูแตบราแง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ขึ้นกรุงเทพมหานคร เพื่อร้องเรียนต่อศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงปรึกษาหารือว่าควรกลับไปเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ปัตตานี เมื่อนักศึกษากลุ่มสลาตันกลับลงไปปัตตานีแล้วได้วางแผนปรึกษาหารือกับชาว บ้านบางกลุ่มว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนอย่างไร จึงได้สรุปว่าต้องตั้งเวที่ชุมนุมประท้วงภายในบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ปัตตานี แต่เพื่อต้องการให้เป็นภาพของการต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรมในนามของ ประชาชนร่วมด้วย จึงตั้งชื่อองค์กรนำขึ้นมาใหม่ชื่อว่า ” ศูนย์พิทักษ์ประชาชน ”
ศูนย์พิทักษ์ประชาชนได้ตั้งเวทีชุมนุมปราศรัยหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานีใน วันที่ 11 ธันวาคม 2518 เริ่มปราศรัยเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมในเวลากลางคืน ประชาชนที่ทราบข่าวได้มาร่วมชุมนุมฟังการปราศรัยโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น เป็นลำดับ จนถึงกลางคืนวันที่ 13 ธันวาคม 2518 มีมือมืดจากข้างในอาคารศาลากลางจังหวัดขว้างลูกระเบิดเข้าใส่เวทีปราศรัย เสียงดังสนั่นหวั่นไหว ผู้คนตกใจแตกตื่นกันจ้าละหวั่น มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 12 ศพ และบาดเจ็บอีกหลายสิบคน
ผลวิบากกรรมซ้ำสองของชาวมลายูปาตาครั้งนี้ สร้างความเดือดแค้นให้กับผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลายในวงกว้างมากขึ้น แทนที่แกนนำศูนย์พิทักษ์ประชาชนจะเกรงกลัวภยันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง ตามมา กลับเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิมแกร่งกล้าที่จะต่อสู้ต่อไป จึงได้ย้ายทำเลการต่อสู้เข้าไปตั้งชุมนุมพลภายในบริเวณมัสยิดกลางจังหวัด ปัตตานี ความทราบได้ยินข่าวไปสู่ประชาชนทั่วไป ทำให้การชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมมีจำนวนประชาชนเข้ามาร่วมชุมนุม มากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นจากร้อยเป็นพัน เป็นหมื่น และบางวันเป็นแสนตามลำดับ จนในที่สุดรัฐบาลภายใต้การนำของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ส่ง นายปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกลงไปเจรจากับศูนย์พิทักษ์ประชานจนเป็นที่พอใจ และสลายการชุมนุมประท้วงในวันที่ 24 มกราคม 2519 เป็นการชุมนุมประท้วงมาราธอนนานถึง 44 วัน นับเป็นการชุมนุมประท้วงที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียก ร้องขอความเป็นธรรมของชาวมลายูปาตานี
ในระหว่างการชุมนุมประท้วงกรณีคดีวิสามัญฆาตกรรม 5 ศพ บนสะพานกอตอ และ 12 ศพ ภายในบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานีนั้น นักการเมืองที่ได้รับอนุญาตจากแกนนำของศูนย์พิทักษ์ประชาชนให้ขึ้นเวที ปราศรัยได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยเท่านั้น เช่น อัรมารฮุม อาจารย์ไรน่น อรุณรังษี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพัทลุง นายชำนิ ศักดิเศรษฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช และมี อัรมารฮุม ท่านแช่ม พรหมยงค์ อดีตจุฬาราชมนตรี สายสุหนี่คนแรกของประเทศไทย และยังเป็นอดีตผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย 24 มิถุนายน 2475 ยังได้มาร่วมสนับสนุนการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ด้วย ผู้เขียนจดจำถ้อยคำปราศรัยบนเวทีของท่านแช่ม ฯ ตอนหนึ่งว่า “… การเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับรัฐบาลที่ไม่มีหัวใจของความเป็นธรรม แม้เราจะไม่ได้รับในสิ่งที่เราเรียกร้อง เราจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ก็ตาม นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ เปรียบเสมือนการต่อสู้ของอาหรับกับอิสราเอล อาหรับแพ้รบ แต่อาหรับชนะสงคราม…) วาทะกรรมของท่านแช่มฯครั้งนี้ ประทับใจผู้เขียนมาก จึงเก็บจดจำไว้ในหัวใจจนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของนักการเมืองในพื้นที่ ทั้งที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บางคน นักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาและบรรดาหัวคะแนนของแต่ละคนต่างสนับสนุนผู้ชุมนุมประท้วงอย่าง เปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองที่อยู่ซีกฝ่ายค้าน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงหนึ่งเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำคนสำคัญของพรรคได้ลงไปในพื้นที่ชุมนุมประท้วงหลายครั้ง
ทั้งนี้ เพื่อวางแผนยึดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในคราวเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 4 เมษายน 2519
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์