ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (17)

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ตอบกระทู้ถามด่วนของ นายเปรม มาลากุล ณ อยุธยา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ กรณีจอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายและชีวิตของนักศึกษาและพนักงานการไฟฟ้า แล้วนำศพไปแขวนคอที่จังหวัดนครปฐมและได้กล่าวหารัฐบาลมีส่วนรู้เห็นเป็นใจ ให้เกิดเหตุการณ์อันน่าสลดใจนี้ และได้เสนอให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบ และเสนอให้รัฐบาลรับร่างพระราชบัญญัติจำกัดถิ่นที่อยู่ของบุคคลบางประเภท เพื่อให้จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร อาศัยอยู่ในประเทศตามที่รัฐบาลจัดสถานที่อยู่ให้ แต่นายกรัฐมนตรีตอบกระทู้ถามนี้ว่า ไม่สามารถรับร่างพระราชบัญญัติจำกัดถิ่นที่อยู่ของบุคคลบางประเภทได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติให้คนไทยมีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกภูมิลำเนาและถิ่นที่อยู่ได้ นายวีระ มุสิกพงศ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ได้อภิปรายตำหนิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อย่างรุนแรงที่ไม่รับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงเป็นเหตุให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ฯ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตามพรรคร่วมรัฐบาล 4 พรรค มีมติให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2519 และวันที่ 5 ตุลาคม 2519 โปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รัฐมนตรีส่วนมากเป็นชุดเดิมยกเว้นรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ 2 คน คือ นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมบุญ ศิริธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พลเอกทวิช เสนีวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกมีผลทำให้นายเด่น โต๊ะมีนา หลุดไปจากตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย

เนื่องจากสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนั้นอยู่ในภาวะตึงเครียดมาก การปลุกระดมมวลชนของกลุ่มขวาจัดทั้งในภาคการเมือง ทหาร กลุ่มจัดตั้งลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มกระทิงแดง โหมกระหน่ำโจมตีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยอย่างรุนแรงว่าเป็น คอมมิวนิสต์คิดจะล้มล้างสถาบัน การปลุกระดมมวลชนให้เกิดความโกรธแค้นและเกลียดชังขบวนการนิสิตนักศึกษาจน รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ มวลชนจัดตั้งจากฝ่ายขวาจัดเกิดอาการคลั่งอย่างไร้สติจนไม่สามารถควบคุม อารมณ์ได้ จึงเกิดเหตุการณ์ปิดล้อมมหาวิทยาลัธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยยังมีนักศึกษาอีกนับพันคนกลายเป็นเหยื่ออันโอชะให้ กับฝูงชนที่คลุ้มคลั่งและเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจสายขวาจัด ได้บุกรุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยใช้อาวุธปืนผาหน้าไม้ทั้งยิงทุบตีทำร้าย ร่างกายนักศึกษาที่อยู่ในวงล้อมอย่างไร้ความปราณีจนตายและบาดเจ็บนับร้อยคน ในสถานการณ์ที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในความสงบได้ ในช่วงเวลาเย็นวันเดียวกันนั้นเอง คณะทหารภายใต้การนำของ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล และตั้งเป็นคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นขึ้นมา เป็นอันสิ้นสุดของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในค่ำวันเดียวกัน นั้นเอง ในส่วนจำนวนนักศึกษาและประชาชนที่เสียชีวิตนั้นมีนักศึกษาจากจังหวัดชายแดน ภาคใต้ 1 คน คือ นายอิบราฮิม สาตา นักศึกษาที่มีบทบาทคนหนึ่งในนักศึกษา ” กลุ่มสลาตัน ” เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคนบ้านบลูกา ตำบลริโก๋ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ศพของเขา ผู้เขียน นายมุข สุไลมาน และ นายสะอูดี ละบายดีมัญ ได้ไปรับที่โรงพยาบาลและนำไปทำพิธีฝังศพที่กุโบร์ซอยสุเหร่าพญาไท

จะสังเกตเห็นได้ว่า แม้คณะรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จะมีนักการเมือง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยกทีมอยู่ในซีกรัฐบาลและมีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการคลัง อันเป็นที่คาดหวังของพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะได้มีโอกาสทำ ประโยชน์ให้กับสังคมมุสลิมได้บ้าง แต่ความหวังได้พังทลายลงไปพร้อมๆกับการจากไปของรัฐบาล เป็นอันว่ารัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลท่ามกลางนำนาวาล่องอยู่ในทะเลเดือดในเวลาเพียงแค่ 6 เดือน ยังไม่ทันจะได้ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันแม้แต่น้อย

เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเป็นองค์รัฐถาธิปัตย์แล้ว จึงได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 มีผลให้ยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกคณะรัฐมนตรี และในวันที่ 8 ตุลาคม 2519 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นนายกรัฐมนตรี และโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีในวันที่ 22 ตุลาคม 2519 รัฐบาลภายใต้การนำของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ประกาศแผนการบริหารประเทศเพื่อก้าวไปสู่ประชาธิปไตยแบบบรรไดขั้นตอนมี 3 ขั้นตอนๆละ 4 ปี รวมเวลาเบ็ดเสร็จที่ตนเองจะเป็นนายกรัฐมนตรีนานถึง 12 ปี ทำให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อและนักประชาธิปไตยว่าเป็นการบริหารประเทศแบบ เผด็จการถอยหลังเข้าคลองเสียมากกว่าการเดินทางไปสู่ประชาธิปไตยที่ทันสมัย และความรู้สึกไม่พอใจในหมู่ประชาชนได้ขยายกว้างไปเรื่อยๆ

ในส่วนบรรดานักการเมืองอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เคยมีอาชีพเป็นข้าราชการครู บางคนเป็นนักธุรกิจประกอบอาชีพส่วนตัวฐานะทางครอบครัวไม่ค่อยจะดีเท่าใดนัก การลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ละครั้งจนถึงกับขายทรัพย์สมบัติเก่าและแต่ละคนยัง เป็นหนี้เป็นสินที่จะต้องแบกภาระอีกมาก เมื่ออยู่ในภาวะตกงานและระยะเวลาจะเลือกตั้งใหม่ยาวนานถึง 12 ปี ก็อยู่ในอาการอึดอัดใจและเครียดไม่ใช่น้อย ยิ่งในสถานการณ์ที่ไร้ประชาธิปไตยอันเป็นหลักประกันในสิทธิเสรีภาพที่มีอยู่ น้อยนิดอยู่แล้วในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งทำให้ต้องคิดหนักลำพังตนเองยังตกเป็นเป้าสายตาของฝ่ายความมั่นคงอยู่ แล้ว ประชาชนใหนเลยจะพึ่งพาได้ แถมจะต้องทำมาหากินเลี้ยงดูครอบครัวอีกด้วยต่างหาก จึงทำให้บางคนที่เคยเป็นครูก็ขอกลับเข้าไปรับราชการใหม่ เช่น นายอุสมาน อูเซ็ง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา นายสมศักดิ์ เส็นดาโอ๊ะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสตูล บางคนที่เป็นนักธุรกิจด้านบัญชีกลับไปประกอบอาชีพเดิมที่กรุงเทพฯ เช่น นายวชิระ มะโรหบุตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส บางคนเลิกเล่นการเมืองระดับชาติลงไปเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น เช่น นายศิริ อับดุลสาและ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส นายสุรพงค์ ราชมุกดา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี ส่วนนายสิดดิก สารีฟ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส เป็นคนชอบทำอาหารก็เปิดขายข้าวแกงและสะเต๊ะหน้าบ้านในยามเช้าตามปกติ

สำหรับนายเด่น โต๊ะมีนา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี ได้เดินทางไปเรียนภาษาอังกฤษที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ  และอาจต่อเรียนไปถึงปริญญาโทเป็นการหาความรู้เพิ่มเติมในช่วงเวลาที่รัฐบาล ที่ได้อำนาจจากการรัฐประหารบริหารประเทศ

ทางด้านสถานการณ์บ้านเมืองและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาค ใต้ก็อยู่ในสภาวะที่อึมครึม เงียบเหงา หดหู่ วิตกกังวล เพราะในยามที่ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่พึ่งพาแล้ว อำนาจของข้าราชการประจำย่อมมีมากขึ้นโดยเฉพาะทหารตำรวจมีกฎอัยการศึกเป็น เครื่องมือในการทำงานเพื่อสร้างความสันติสุขในพื้นที่ บางครั้งการใช้กฎหมายที่เป็นยาแรงในสถานการณ์ด้านความมั่นคงย่อมกระทบถึง วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเฉพาะชาวมุสลิมในพื้นที่ชนบทเป็น อย่างมาก เช่น การออกไปละหมาดในมัสยิดในยามวิกาลเวลามักริบ การละหมาดในยามรุ่งสางเวลาซุบฮี แม้การประกอบอาชีพกรีดยางในยามเช้ามืด ต่างก็เป็นปัญหาสำหรับชาวบ้านมุสลิมที่มีพื้นฐานความรู้สึกหวาดระแวงเจ้า หน้าที่ทหารตำรวจ จึงไม่มั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทางด้านผู้นำศาสนาและอุสตัสครูสอนศาสนาบางคนที่ทางการมีบัญชีดำในแฟ้ม ประวัติ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายการข่าวติดตามพฤติกรรมทุกระยะ สร้างความอึดอัดใจและเดือดร้อนรำคาญให้กับคนเหล่านั้นไม่ใช่น้อย

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศภายใต้ความคุ้มครองของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ประมาณ 1 ปี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 คณะรัฐประหารเรียกตัวเองว่า ” คณะปฏิวัติ ” มีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลนายธารินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี โดยมีคณะผู้ก่อการคือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นเลขาธิการคณะปฏิวัติ และต่อมา พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในฐานะประธานสภานโยบายแห่งชาติตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520 ได้เสนอชื่อ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เลขาธิการคณะปฏิวัติให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2520 และ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2520 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว รัฐบาลจึงประกาศจะให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปในวันที่ 22 เมษายน 2522

เมื่อรัฐบาลใหม่ โดยการนำของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี ให้คำมั่นสัญญาประชาคมกำหนดวันคืนอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชนชาวไทยอย่างแน่นอน แล้ว การเมืองไทยเริ่มผ่อนคลายความตึงเครียดบรรยากาศเริ่มมีชีวิตชีวา บรรดานิสิตนักศึกษาพรรคการเมือง นักการเมือง และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย ต่างคึกคัก ลิงโลด ยินดีกันถ้วนหน้า ทำให้ท้องฟ้าเมืองไทยกลายเป็น ” ท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ” อีกครั้งหนึ่ง