ย้อนร้อยการเมือง Di Selatan (20)

สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่อำเภอเบตงไม่มีท่าทีว่าจะลดลงแต่อย่างใด แนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ดังเช่น เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2524 เวลา 18.30 น. เกิดเหตุการณ์สังหารคนไทยจำนวน 4 ศพ บนถนนสายเบตง-โกร๊ะ ห่างจากด่านตรวจคนเข้าเมืองเข้ามาในเขตไทยประมาณ 10 เมตร ผู้ตายอยู่ในรถเก๋งยี่ห้อกาแลนท์สีแดง ทะเบียน 1ง. 9940 เบตง มีศพ นายประเวทย์ นาคแก้วนายธรรมรัตน์ วุฒิจันทร์ ข้างเก๋งมีรถจักรยานยนต์ ซูซูกิ ไม่มีทะเบียน ล้มคว่ำอยู่มีศพ นายอรุณ งามขำ และ นายสมศักดิ์ แซ่ตัน ตายอยู่บนพื้น สภาพศพถูกยิงด้วยอาวุธร้ายแรง

เช้าวันที่ 18 พฤษภาคม 2524 นายชาติสง่า โมฬีชาติ นายอำเภอเบตงเปิดเผยว่า ” ผมเคยได้รับจดหมายข่มขู่จากเขา ให้อพยพคนไทยออกจากเบตงให้หมด เพราะผืนแผ่นดินนี้เป็นของสาธารณรัฐปัตตานี ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะระเบิดกงศุลไทยทั้งหมดในมาเลเซีย….นายอำเภอเบตงเปิดเผย อีกว่า ล่าสุดมีชาวไทยมุสลิมจากเบตงอพยพไปอยู่ กิ่งอำเภอโกร๊ะ 400 คน และอีก 130 คน อพยพไปอยู่ที่อำเภอบาริง รัฐเคดะห์ เหตุอพยพยังไม่แน่ชัด แต่เมื่อทางการไทยติดต่อให้กลับมา ผู้อพยพเหล่านั้นอ้างว่า ต้องการให้ทางการไทยปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์(จคม.)ให้หมดเสียก่อน

ความเดือดร้อนของประชาชนในอำเภอเบตงอันเกิดจากการก่อเหตุของขบวนการแบ่งแยก ดินแดนและกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์มลายา มีผลทำให้ประชาชนชนผู้นับถือศาสนาอิสลามและนับถือศาสนาพุทธในพื้นที่อำเภอ เบตงเกิดการกระทบกระทั่งต่อกันและมีความหวาดระแวงไม่รักใคร่สามัคคีเหมือน ดังแต่ก่อน ทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีไม่อาจนิ่งนอนใจได้ จึงต้องเดินทางไปพบประชาชนเพื่อแสดงความรับผิดชอบและเป็นห่วงพี่น้องประชาชน ที่อยู่สุดปลายด้ามขวานของประเทศไทยในเวลาตอนเช้าของวันที่ 7 มิถุนายน 2524 โดยเฮลีคอปเตอร์ของทหารจากหาดใหญ่ไปลงทีอำเภอเบตง มีบุคคลสำคัญๆร่วมคณะไปด้วยได้แก่ พล.ท.จวน วรรณรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 4 นายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทย นาวาตรี ประสงค์ สุ่นศิริ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ฯ

แต่ก่อนที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีกับคณะจะเดินทางไปอำเภอเบตง 1 วัน คือวันที่ 6 มิถุนายน 2524 เวลา 13.40 น. เกิดเหตุการณ์วางระเบิดห้างดังในกรุงเทพฯ 3 จุด ได้แก่ห้างสรรพสินค้าพาต้า ศูนย์การค้าสยาม และ ศูนย์การค้าราชดำริอาเขต มีผลทำให้ประชาชนที่กำลังซื้อสินค้าได้รับบาดเจ็บหลายคน การปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆนานา บางคำวิจารณ์สรุปว่าเป็นการกระทำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนเปิดเกมต้อนรับนายก รัฐมนตรีจะเดินทางไปอำเภอเบตงในวันรุ่งขึ้น แต่บางคำวิจารณ์มุ่งไปยังกลุ่มทหารหนุ่มคณะหนึ่งที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ นายกรัฐมนตรีสร้างสถานการณ์หวังข่มบารมีและลดความเชื่อถือในการบริหารราชการ แผ่นดินของนายกรัฐมนตรี ดังคำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อสารมวลชนของ พล.ท.จวน วรรณรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 4 ไม่เชื่อว่าเป็นการกระทำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ว่า ” พวก ขจก.พูโล ทำสิ่งที่ใหญ่ที่สุดคือการวางระเบิดที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จะไปวางระเบิดที่ กทม. ไปไม่ได้หรอก ไปก็หลงทางไปไม่ถูก….”

เมื่อไปถึงอำเภอเบตงมีประชาชนทั้งที่เป็นคนไทยพุทธและมุสลิมไปร่วมต้อนรับ หลายพันคน พล.อ.เปรม ฯ ได้ปราศรัยท่ามกลางประชาชนที่ไปต้อนรับอย่างหนาแน่นและอบอุ่นโดยมีใจความว่า มีความรู้สึกเสียใจที่เกิดเหตุการณ์ร้าวฉานระหว่างพี่น้องประชาชนทั้ง 2 ศาสนา ทำให้คนไทยขาดความสามัคคีเรียกร้องให้คนในพื้นที่นี้รักกันเหมือนเดิม และจะนำชาวบ้านที่หลบหนีภัยไปอยู่ในเขตมาเลเซียกลับมาสู่ประเทศไทยในเร็ววัน ขอให้่ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลของท่านจะนำสันติสุขกลับคืนสู่แผ่นดินแห่งนี้ โดยเร็ว นอกจากนี้แล้วผู่้เขียนขอคัดลอกการปราศรัยของนายกรัฐมนตรีบางช่วงบางตอนและ บางข้อความจากหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยฉบับรายวันของวันที่ 8 มิถุนายน 2524 ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ” รัฐบาลยอมรับว่า รัฐบาลมีข้อบกพร่องในปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลความสงบสุขของประชาชน แต่ทำไม่ได้ครบถ้วน แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะไม่ปล่อยปะละเลยปัญหานี้แน่นอน จะทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือให้พี่น้องได้รับความปลอดภัยในชีวิต แต่ความสำเร็จไม่ใช่เพราะรัฐบาลฝ่ายเดียว ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย แม้แต่มาเลเซียก็มีส่วนร่วมด้วย เพราะมีชายแดนติดต่อกัน ”

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ” รัฐบาลไทยและมาเลเซียเหมือนพี่น้องกัน มีปัญหาอะไรก็พูดจากันได้เสมอ ไม่มีข้อแย้งใดๆ แต่ระหว่างท้องถิ่นแน่นอนเหลือเกินมีปัญหาบ้าง เราก็ดูอยู่ว่าใครเป็นผู้ก่อปัญหา ใครผู้ทำ เราต้องช่วยกันแก้ไขต่อไป รัฐบาลไทยและมาเลเซียต้องยอมรับว่าเป็นการดีที่สุดที่รัฐบาลทั้งสองจะต้อง หมั่นพูดจาแก้ปัญหากัน ปัญหาที่เกิดไม่ใช่เราฝ่ายเดียว…..”

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่าปัญหาเบตงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เป็นปัญหาเรื้อรัง ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนนี้ได้ทำความบอบช้ำให้ความทุกข์แก่เรามานาน ตนเองไม่อยากให้ปัญหานี้ยืดเยื้อต่อไป จึงได้พยายามช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านี้ การแก้ปัญหาทุกอย่างต้องมีเวลาบ้าง แต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ตนเองคิดว่าหากเริ่มต้นด้วยความเข้าใจปัญหาทุกอย่างต้องแก้ไขได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการนับถือศาสนาแตกต่างกัน แต่สิ่งจะวิงวอนขอให้เกิดความสงบสุขขึ้น ” ปัญหาที่พี่น้องนับถือศาสนาแตกต่างกันทะเลาะกัน ไม่ใช่เป็นปัญหาของรัฐ แต่เป็นปัญหาของพี่น้องเอง ผมอยากชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ก็เป็นคนไทยเท่าเทียมกัน มีพระมหากษัตริย์องค์เดียวกัน ไม่น่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น แต่แน่ละก็เหมือนคนบ้านเดียวกัน ย่อมมีการทะเลาะเบาะแว้งกันได้ ผมอยากเห็นการแก้ปัญหาด้วยหันหน้าเข้าหากันด้วยความรัก แม้ยังรักไม่มากอีกหน่อยก็เพิ่มได้ ” นายกรัฐมนตรีย้ำอย่างจริงจัง

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงปัญหาข้าราชการว่า ” ปัญหาเจ้าหน้าที่ที่ก่อให้เกิดปัญหาก็มีจริง เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเป็นต้น ทุกฝ่ายก่อให้เกิดปัญหาทั้งสิ้น และทุกคนก็ยอมรับ แม้แต่ผู้ทำไม่ดีเองก็ยอมรับ ก็ต้องช่วยกันทำให้เจ้าหน้าที่ของเราให้ดีขึ้น มีใจเป็นธรรม มีความสำนึกในหน้าที่ของตน ไม่โหก ไม่เอาเปรียบราษฎร ไม่ข่มเหงราษฎร ซึ่งเราจะมีการพิจารณาลงโทษลงทัณฑ์ด้วย ”

ในตอนท้ายของการปราศรัย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัญหาเรื่องการเจรจากับทางมาเลเซียเป็นหน้าที่ของตนจะไปเจรจา คงจะไม่มีปัญหาในการพูดจา และว่าตนเองเมื่อได้รับมอบหมายมาแล้วก็จะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซึ่งในการปราศรัยครั้งนี้ปรากฎว่ามีพี่น้องชาวเบตงต่างก็ซาบซึ้ง ผู้หญิงบางคนถึงกับน้ำตาซึมทีเดียว หลังจากปราศรัยเสร็จสิ้นก็มีผู้หญิงชาวไทยมุสลิมมอบพวงมาลัยให้กับนายก รัฐมนตรีและมีประชาชนหลายคนยื่นคำร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรี

ในส่วนบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นยุคที่นักการเมืองมีคุณภาพหลายคนเป็นผู้ที่มีระดับการศึกษาดี มีความรู้ความสามารถและประสบการดี จึงใช้บทบาทในหน้าที่ของตนให้เป็นประโยชน์และเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมทำงาน เป็นระบบมากกว่านักการเมืองสมัยก่อนๆ เช่น ได้ยื่นญัตติขอให้สภาแต่งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ของสภาผู้แทนราษฎรและสะท้อนปัญหาของพื้นที่ออกไปในทาง สื่อจนกลายเป็นที่สนใจของบรรดาสื่อต่างๆ บางครั้งการให้ข่าวที่สะท้อนถึงปัญหาทำให้มีการถกเถียงตอบโต้ระหว่าง รัฐมนตรีที่ดูแลความรับผิดชอบด้านความสงบสุขในบ้านเมืองกับสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรก็ปรากฎให้เห็นบ่อยครั้ง ดังเช่นข้อโต้แย้งในเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกับ(พล.อ.สิทธิ์ จิรโรจน์) กับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้คำสัมภาษณ์สื่อว่า สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น่ากลัวดังที่เป็นข่าวแต่อย่าง ใด นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จึงตอบโต้ทางสื่อท้าให้อธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั่งซ้อนท้ายแล้วขับวิ่งเข้าไปในหมู่บ้านดูจะ กล้าหรือไม่ กลายเป็นข่าวที่ฮือฮาพาดหัวข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ นับเป็นข่าวที่พูดคุยกันอย่างสนุกสนานของคอการเมืองตามร้านน้ำชากาแฟใน พื้นที่หลายวันทีเดียว

นอกจากนั้นแล้ว ในสมัยนี้เองผลงานด้านสภาของนักการเมืองจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เห็นเป็นรูป ธรรมชัดเจนได้แก่ การคลอดพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์เสนอโดย นายเด่น โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และผลพวงจากการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร เรื่องการเปิดสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้( จังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลา และ สตูล ) จึงได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้บรรจุหลักสูตรวิชาอิสลามศึกษาขึ้นในโรงเรียนของรัฐ โดยให้บุคคลากรผู้สอนอิสลามศึกษาเป็นครูในอัตราจ้างได้รับค่าจ้างเป็นราย ชั่วโมงๆละ 50 บาท

ในขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นข่าวใหญ่ตกอยู่ใน สภาวะอึกทึกครึกโครมอยู่นั้น จู่ๆมีข่าวใหญ่ที่ไม่ด้อยไปกว่า คือ ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับและวิทยุโทรทัศน์ทุกช่องลงข่าวอย่างใหญ่โต ” นายกำธร ลาชโรชน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานีถูกสังหารอย่างโหดเหั้ยม “