ความรัก-สันติภาพ ในอิสลามและพุทธศาสนา

อิสลาม คือ ศาสนาแห่งสันติภาพและเรียกร้องไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียว เรียกร้องไปสู่ความเป็นเอกภาพและความสมานฉันท์ และต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ อิสลามเป็นศาสนาที่สร้างความสมดุลภาพทั้งทางเอกบุคคลและทางสังคม

อิสลามเรียกร้องมนุษยชาติสู่การยอมจำนนต่อความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า เอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ.) เพราะว่าพระองค์อัลลอฮ คือ ปฐมเหตุแรก เป็นผู้สร้าง เป็นผู้ปกครอง และเป็นผู้ปกป้อง และเป้าหมายการยอมรับอิสลาม คือการนำมาซึ่งความผาสุก ความสงบสุขของชีวิต ทั้งโลกนี้ และชีวิตโลกหน้า

การบัญญัติทางศาสนาทุกประการและทุกเรื่อง ไม่ว่าหลักปฎิบัติที่เป็นเรื่องเล็กสุด จนไปถึงสิ่งใหญ่สุดได้รับการบัญชาใช้หรือบัญชาห้ามมาจากเอกองค์อัลลอฮซ.บ. และปรัชญาของการบัญญัติหลักปฎิบัติเหล่านั้น ทั้งหมดคือความโปรดปรานจากพระองค์อัลลอฮซ.บ. โดยที่ประโยชน์ของการยึดปฎิบัติตามคำสั่งใช้หรือละเว้นจากคำสั่งห้ามนั้น เป็นของมนุษย์โดยแท้ และบางบทบัญญัติมีประโยชน์ในมิติทางปัจเจกบุคคล และบางบทบัญญัติมีมิติทางสังคม

แท้จริงมนุษย์นั้นถือว่าเป็นส่วนย่อยหนึ่งของเอกภพและการเกิดขึ้นของมนุษย์มีความแตกต่างกับสรรพสิ่งอื่นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นคุณลักษณะของมนุษย์คือการอยู่ร่วมกัน เป็นการอยู่กันอย่างเป็นหมู่คณะ อีกทั้งมนุษย์นั้นยังมีการปฎิสัมพันธ์ต่อกัน ดังนั้นในแต่ละแห่งของมนุษย์ก็ย่อมมีการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน โดยการอยู่ร่วมกันนั้นอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ถึงแม้ว่ามีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน เราเรียกว่าเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ และมนุษย์ยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสองเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน และจากการที่มนุษย์มีปฎิสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม เป็นบ่อเกิดของการรู้จักกันและเข้าใจกันและกัน พร้อมที่จะเกื้อกูลและสนับสนุนกันและกันและสร้างความสันติในการอยู่ร่วมกัน.

อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องของความสัมพันธภาพของมนุษย์ ดังนี้

“โอ้มนุษย์เอ๋ย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้ามาจากชายหนึ่งและหญิงหนึ่ง และเราได้ทำให้พวกเจ้าเกิดเป็นเผ่าพันธุ์ต่างๆ เพื่อที่จะได้รู้จักกันและมีปฎิสัมพันธ์ต่อกัน  แท้จริงผู้มีเกียรติที่สุด ณ องค์อัลลอฮ คือผู้มีความยำเกรงและสำรวมตนที่สุด”(บทอัลฮุจรอต/๑๓) 

หลักปรัชญาและทฤษฎีทางเทววิทยาได้กล่าวไว้ว่า แท้จริงพระเจ้าอยู่ในฐานะของผู้ทรงวิทยปัญญาขั้นสูง (ทรงฮะกีม) อันหมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกระทำหรือพระองค์ทรงบัญชา สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์ และประโยชน์นั้นจะยังถึงผู้ปฏิบัติและผู้กระทำ ดังนั้นหลักการเรื่องหนึ่งและข้อบัญญัติหนึ่งของมุสลิม คือการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างมุสลิมด้วยกันและจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน รวมไปถึงคนต่างศาสนิก ดังที่อิมามอะลี (อ) ได้กล่าวกับท่านมาลิก อัชตัร ว่า..

“จงนำคำขวัญเป็นคติต่อตัวเองเสมอว่า ในการปกครองพวกเขานั้น ต้องมีความเมตตาและความรัก และจะต้องมีความโอบอ้อมอารี และอย่าได้เป็นดั่งสัตว์ดุร้าย ที่คอยจะกัดกินพวกเขา  เพราะว่าประชาชนนั้น มีสองกลุ่ม หนึ่งพวกเขานั้นเป็นพี่น้องร่วมศาสนากับเจ้า หรือถ้าไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเจ้า”

และอัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องหลักเอกภาพและการสร้างความสมานฉันท์ไว้ว่า

“และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของ อัลลอฮฺโดยพร้อมเพรียงกันทั้งหมด และจงอย่าแตกแยกกัน และจงรำลึกถึงความเมตตาของอัลลอฮฺที่มีแด่พวกเจ้า ขณะที่พวกเจ้าเป็นศัตรูกัน แล้วพระองค์ได้ทรงทำให้สนิทสนมกันระหว่างหัวใจของพวกเจ้า แล้วพวกเจ้าก็กลายเป็นพี่น้องกันด้วยความเมตตาของพระองค์” <อาลิ อิมรอน : 103>

 

อิสลามยอมรับในความต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่สอนให้รักสันติและเรียกร้องไปสู่สันติภาพ ดังนั้นเมื่อโลกใบนี้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย  ก็จะต้องยอมรับสิ่งสำคัญลำดับต่อมาคือ การศึกษาเรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ความแตกต่างและหลากทางวัฒนธรรมที่อยู่ในแต่ละประเทศต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของกลุ่มชนที่ต่างกัน นอกจากจะสร้างความรัก ความผูกพัน ทำความรู้จักต่อกันแล้ว ยังก่อให้เกิดการเรียนรู้ ตระหนักและพัฒนาความเป็น ชาติ ศาสนา ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งยังสามารถเกิดการพัฒนาในระดับบุคคล คือ การพัฒนา ความรู้ สติปัญญา ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการหล่อหลอมให้เกิดการใช้ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม เพื่อ “เข้าใจผู้อื่น” เข้าใจความเป็นอยู่ของคนในที่ต่างกัน ทั้งที่อยู่ห่างไกลและอยู่ใกล้ชุมชนรอบตัว รวมทั้งรู้ “วิธีการ” ที่เราจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของผู้อื่น/กลุ่มชน ศาสนิกอื่น มีประโยชน์และกำไรสำหรับผู้ที่รู้ เป็นผู้รู้กาละเทศะ การปรับตัวเพื่อการเข้าใจกันสามารถลดความขัดแย้ง สร้างสันติสุขในการอยูร่วมกัน นอกจากนั้นการรู้วัฒนธรรม ยังทำให้เรารู้อีกว่า อะไรที่ควรทำหรืออะไรที่ไม่ควรทำ เรื่องใดที่เขายึดถือ เคารพ ห้ามละเมิดและยอมได้หรือยอมไม่ได้ ในบางเรื่องผู้ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมจะเป็นคนบอกเองว่า อะไร ที่เป็นข้อผ่อนปรนได้ อะไรที่ผ่อนปรนไม่ได้ อะไรคือเรื่องหลัก อะไรคือเรื่องรอง และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือการเข้าถึงปรัชญาการสร้างมนุษย์บนความหลากหลาย ซึ่งเป้าหมายเพื่อให้มนุษย์เรียนรู้กันและกันและให้เกียรติต่อกัน ไม่ละเมิดสิทธิกันและกัน

การสานเสวนาเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้บุคคลหรือกลุ่มต่างๆ ที่มีความคิด ความเชื่อ จุดยืนต่างกัน มีโอกาสพบปะพูดคุยแสดงความรู้สึก ฟังเงื่อนไขปัจจัยของกันและกันอย่างลึกซึ้งเพื่อเข้าใจกันอย่างเห็นอกเห็นใจมากขึ้น โดยที่สองหรือหลายฝ่ายยังมีจุดยืนที่ต่างกันได้ แต่การฟังเพื่อเห็นอกเห็นใจและเข้าใจกันนั้น ต้องมองข้าม เพื่อเปิดการเปิดโอกาสทางด้านการสานเสวนาจะทำให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจสถานการณ์ของเพื่อนมนุษย์ที่เชื่อต่างจากตน กระทั่งอาจเปลี่ยนแปลงความเข้าใจผิดความขัดแย้ง ไปเป็นความเข้าใจและเห็นใจกันมากขึ้นด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการสานเสวนาที่จะเป็นทางเลือกหนึ่งของการเสริมสร้างความเข้าใจ ป้องกันและลดปัญหาความขัดแย้ง และจากกรอบแนวคิดที่ได้กล่าวมานั้น แน่นอนอัลกุรอานและบทรายงานจากวจนะของศาสดามุฮัมมัด (ศ) และทายาทของศาสดา (อ) รวมไปถึงบรรดาสาวกอันทรงธรรมทั้งหลายต่างก็ได้ใช้หลักการและแนวทางในการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาก่อนแล้ว ซึ่งนั่นคือแบบอย่างที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรมของมุสลิม

ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า..

“จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมมัด) ว่า โอ้บรรดาผู้ได้รับคัมภีร์ จงมายังถ้อยคำหนึ่งซึ่งเท่าเทียมกัน ระหว่างเราและพวกท่าน คือว่าเราจะไม่เคารพสักการะสิ่งใด นอกจากพระองค์เท่านั้น และเราจะไม่ให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีกับพระองค์ และพวกเราบางคนก็จะไม่ยึดถืออีกบางคนเป็นพระเจ้าอื่นจากอัลลอฮ แล้วหากพวกเขาผินหลังให้ ก็จงกล่าวเถิดว่า พวกท่านจงเป็นพยานด้วยว่า แท้จริงพวกเราเป็นผู้น้อมตาม”(อาลิอิมรอน/๖๔)

ส่วนในพระพุทธศาสนายอมรับธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนเป็นอันดับที่หนึ่งก่อน แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น คือ มีการพิจารณาต่อไปว่าในกรณีที่ธรรมชาติของปุถุชนนั้นมีข้อบกพร่องหรือมีโทษ ก็จะสอนถึงการปรับปรุงแก้ไข หรือทำให้ดียิ่งขึ้น เรียกว่า การศึกษา หรือ การพัฒนาชีวิต อันนี้ก็ไปสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์อีกประการหนึ่งที่ว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรือพัฒนาได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าต้องพัฒนา และศักยภาพสูงสุดที่จะพัฒนาได้จนเป็นผู้ที่ประเสริฐอย่างยิ่ง

คุณธรรมเป็นรากฐานของจริยธรรม เมื่อสามีมีคุณธรรมคือความรักภรรยาอยู่ในหัวใจ เขาก็จะปฏิบัติหน้าที่ของสามีต่อภรรยาโดยไม่ต้องฝืนใจ ความรักทำให้สามียอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อครอบครัวของเขา ดังนั้น ความรักจึงเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตการแต่งงาน คู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันด้วยความรักจะสามารถปรับตัวเข้าหากันได้ดีกว่าคู่ที่แต่งงานกันโดยไม่มีความรัก เพราะความรักจะทำให้คู่รักยอมลงให้กันและทนกันได้

คำว่า ความรัก ในพระพุทธศาสนามี ๒ ประเภท ดังนี้ 

๑. เปมะ ได้แก่ ความรักใคร่หรือความรักแบบโรแมนติกซึ่งเกิดจากสาเหตุ ๒ ประการ คือ (๑) บุพสันนิวาส หญิงชายเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน เมื่อเกิดใหม่มาพบกันในชาตินี้จึงเป็นเนื้อคู่กันและรักกัน (๒) การดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชาติปัจจุบันก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของความรัก แม้หญิงชายจะไม่เคยอยู่ร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ทั้งคู่ก็รักกันได้เพราะความมีน้ำใจของอีกฝ่ายหนึ่งที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

๒. เมตตา ได้แก่ ความปรารถนาดีหรือความหวังดีที่จะให้คนอื่นมีความสุข ซึ่งเกิดจากการมองเห็นความดีงามหรือความน่ารักของคนอื่นแล้วเกิดความประทับใจจนถึงกับคิดส่งเสริมให้เขามีความดีงามหรือความน่ารักยิ่งๆขึ้นไป

ในทรรศนะของพระพุทธศาสนา ความรักเป็นเรื่องของอารมณ์ เป็นเรื่องในระดับโลกียวิสัย ความเมตตาก็เป็นเรื่องของอารมณ์และเป็นเรื่องในระดับโลกียวิสัยเช่นกัน แต่ความรักมีปริมณฑลแคบกว่าความเมตตา เพราะความรักนั้นมักเกิดขึ้นจำเพาะเจาะจงกับคนที่เรามีความเสน่หาเท่านั้น ส่วนความเมตตาสามารถขยายปริมณฑลจากคนที่เรารักไปจนถึงคนที่เราเกี่ยวข้อง ไปจนถึงคนที่ร่วมชาติ ร่วมศาสนา ร่วมโลก ร่วมสกลจักรวาลก็ได้ ฉะนั้นความรักและความเมตตาจึงต่างกันในด้านคุณภาพ และปริมาณ ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ความเมตตาสามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีขีดจำกัด แต่ความรักนั้นเมื่อเรารักใครสักคนหนึ่ง เรามักหยุดอยู่ที่คนๆ นั้น จนกระทั้งบางครั้งเราคิดว่าถ้าขาดคนที่เรารัก เราก็พร้อมจบชีวิตลงไป ความรักในเชิงชู้สาวมาพร้อมกับความคับแคบ คือรักปุ๊บ หวงปั๊บ ใครมายุ่งปุ๊บ พร้อมจะฆ่าพร้อมจะปกป้อง

” ส่วนเมตตานั้น พอมีเมตตา และยิ่งฝึกเมตตาให้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งขยายอาณาบริเวณแห่งเมตตากว้างขวางออกไป จนถึงขนาดที่ว่า สามารถเมตตาได้กระทั่งตัวเองไปจนถึงขอบปากของจักรวาลก็ยังได้” ฉะนั้นในทางพระพุทธศาสนาจึงมีลักษณะจิตของพระอรหันต์อยู่อย่างหนึ่งว่า พระอรหันต์เป็นผู้ที่มี ” วิมริยาทิกตจิต ” แปลว่ามีจิตใจได้พรมแดน เพราะท่านได้พัฒนาเมตตาให้สมบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว จึงกลายเป็นผู้มีจิตใจไร้พรมแดน เมตตาจึงกว้างขวางกว่าความรักอย่างไม่มีทางที่จะเทียบได้