ถ้าถามว่าทำไมตุรกีจึงปฏิบัติการดุเดือดในเขตพื้นที่ครอบครองของกลุ่มติดอาวุธเคิร์ดทางเหนือของซีเรียหลังสหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากพื้นที่ คำตอบหรือคำอธิบายก็น่าจะมีอยู่หลากหลาย เช่น เหตุผลด้านความมั่นคง การจัดการกับกลุ่มที่ตุรกีเรียกว่ากลุ่มก่อการร้าย YPG ที่เชื่อมโยงกับ PKK หรือเหตุผลการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อลำเลียงผู้ลี้ภัยซีเรียเข้าไปในนั้น
อะไรทำให้ตุรกี “ตัดสินใจเปิดปฏิบัติการทางทหาร Operation Peace Spring” ทั้งที่เดิมพันครั้งนี้สูงมากและหากพลาดท่า อาจทำให้ตุรกีและภูมิภาคนี้ไร้เสถียรภาพเอาได้ ทำไมการตัดใจใช้กำลังอย่างเด็ดขาดถึงจำเป็นในมุมของตุรกี
ผมลองมองในมิติความมั่นคงแห่งชาติของตุรกีเป็นหลัก หรือมองผ่านเลนส์แว่นของตุรกี ทำให้นึกถึงกรณีที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากอิรักในปี 2011
ในช่วงนั้น กลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านการยึดครองของสหรัฐฯ ได้เข้าไปในซีเรียแล้ว (ซึ่งต่อมากลายเป็นกลุ่ม IS ที่เข้มแข็งอย่างที่เห็น) สหรัฐฯ ทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากไว้ให้กับทหารอิรัก โดยเฉพาะทหารสุนนี่ทางเหนือ ซึ่งต่อมาทหารเหล่านี้เกิดความไม่พอใจนโยบายของรัฐบาลชีอะห์
จนกระทั่งเมื่อเกิดกลุ่ม IS ขึ้นมาในปี 2014 กองกำลัง IS ได้บุกจากซีเรียข้ามเข้ามายึดครองทางเหนือของอิรักได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์ เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะทหารอิรักดังกล่าวแปรพักตร์มาเข้าร่วมกับกลุ่ม IS ซึ่งทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของสหรัฐฯ มากมายตกไปอยู่ในมือของ IS จนทำให้ IS มีศักยภาพ สามารถสร้างกองกำลังและขยายพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วทั้งในอิรักและซีเรีย
ทั้งหมดนี้ทำให้อเมริกาใช้เป็นข้ออ้างหนึ่งในการส่งกำลังเข้ามาในซีเรีย และใช้กลุ่มเคิร์ดเป็นแนวร่วมสำคัญในการต่อสู้กับกลุ่ม IS ในซีเรีย อีกแนวรบหนึ่งก็ร่วมกับตุรกีในการสนับสนุนกลุ่ม FSA ทหารซีเรียแปรพักตร์เพื่อโค่นระบอบอัสซาด แต่ตอนหลังขัดแย้งกับตุรกีเพราะตุรกีไม่พอใจที่สหรัฐฯ สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธเคิร์ด YPG ที่ตุรกีมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งของตุรกี
แน่นอนว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ สนับสนุนทั้งเงินทั้งอาวุธให้กับเคิร์ด มาวันนี้สหรัฐฯ บอก ปราบ IS สำเร็จแล้ว สมาชิก IS นับหมื่นอยู่ในค่ายควบคุมในพื้นที่ของเคิร์ด ซึ่งที่ผ่านมาหลายประเทศแสดงความกังวลว่าค่ายกักกันที่ว่านี้มีความเปราะบางมาก IS อาจแหกค่ายออกมาได้ง่าย ๆ อเมริกาก็น่าจะรู้ดี
ดังนั้น เมื่ออเมริกาประกาศถอนกำลังออกจากพื้นที่ ในมุมมองของตุรกีคือ อาวุธต่างๆที่อเมริกาทิ้งให้เคิร์ดย่อมทำให้เคิร์ดเข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิม และอาจเป็นภัยต่อตุรกี หรือไม่อย่างนั้นหาก IS พลิกสถานการณ์กลับมารวมตัวกันได้แล้วยึดอาวุธต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ที่อยู่ในมือเคิร์ด ก็จะยิ่งเป็นภัยคุกคามต่อตุรกี
พูดง่าย ๆ คือ อาวุธของอเมริกาจะถูกส่งต่อวนเวียนอีก จากที่เคยอยู่ในมือทหารอิรัก มาตกอยู่ในมือของกลุ่ม IS ถึงตอนนี้อยู่ในมือของเคิร์ดแล้ว และอาจจะกลับไปอยู่ในมือของ IS อีกได้
แต่ไม่ว่าอยู่กับใครก็เป็นภัยคุกคามสำหรับตุรกี จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญเบื้องหลังการตัดสินใจปฏิบัติการ Peace Spring ครั้งนี้ เพื่อพยายามเข้าไปคุมทั้งเคิร์ด YPG กลุ่ม IS และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็สร้างพื้นที่ปลอดภัย/พื้นที่กันชนเพื่อพร่องถ่ายผู้ลี้ภัยกลับซีเรีย
ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ