เสียงครวญเสียงร่ำไห้ระงมทั่ว กัรบาลา
72 ร่างเลือดนองพื้นพสุธา แตกพ่าย
มลายลับดับสิ้นแล้วซึ่งแสง แห่งตะวัน
ทัพเรือนหมื่นล้อมฆ่าดับชีวัน ลูกหลานศาสดา
หากในประวัติศาสตร์มีการจดบันทึกถึงอิสตรีที่ยืนหยัดต่อสู้กับผู้มีอำนาจอย่างกล้าหาญ สร้างวีรกรรมให้ผู้คนระลึกถึงได้อย่างยิ่งใหญ่ มีบทบาทสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมในยุคสมัยตน และมีอิทธิพลต่อผู้คนในยุคต่อๆมา หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของท่านหญิงซัยนับหลานสาวของท่านศาสดามุฮัมมัดอย่างแน่นอน เพราะท่านคือสตรีที่กล้าเผชิญหน้าต่อกรอย่างกล้าหาญกับผู้ปกครองจักรวรรดิที่ทรงอิทธิพลที่สุดยุคหนึ่งของโลกอิสลามอย่างยะซีดแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ The Umayyad Dynasty) มีอำนาจการปกครองแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่ปีค.ศ.661-750 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ดินแดนชามหรือดินแดนเลแวนด์ (Levant ครอบคลุมพื้นที่ประเทศซีเรีย จอร์แดน เลบานอน อิสราเอล ปาเลสไตน์ มีเมืองหลวงคือดามัสกัส ประเทศซีเรียในปัจจุบัน) และช่วงที่ 2 ระหว่างปีค.ศ.756 – ค.ศ.1031) ปกครองคาบสมุทรไอบีเรีย (Iberian Peninsula ครอบคลุมพื้นที่ประเทศสเปน โปรตุเกสและทางตอนใต้ของฝรั่งเศสในปัจจุบัน) ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองคอร์โดบาในประเทศสเปน ตลอดระยะเวลาที่ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ปกครอง สามารถขยายดินแดนครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางได้ถึง 3 ทวีป คือตั้งแต่ประเทศจีนและอัฟกานิสถานในทวีปเอเชีย ประเทศอียิปต์และโมร็อกโคในแอฟริกาเหนือ ประเทศสเปน โปรตุเกส และทางตอนใต้ของฝรั่งเศสในทวีปยุโรป
ซัยนับคือใคร?
ท่านหญิงซัยนับ (ประมาณ ฮ.ศ.5-6 / ค.ศ.626-627 – ฮ.ศ. 62 / ค.ศ. 681) เป็นหลานตาของท่านศาสดามุฮัมมัดศาสดาในศาสนาอิสลาม (ค.ศ. 570 – ค.ศ.632) บุตรีของท่านอาลีกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์เป็นน้องสาวของท่านฮะซันและท่านฮุเซน ท่านหญิงซัยนับเป็นสตรีที่มีคุณสมบัติที่สูงส่ง ทั้งสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด ความรอบรู้ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เป็นสตรีที่มีบุคลิกภาพเพียบพร้อม วิถีปฏิบัติประจำวันของนางถือเป็นผู้ดำรงตนอยู่ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเคร่งครัด และยังเป็นผู้อรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอานให้กับบรรดาสตรีในเมืองกูฟะฮ์ (ประเทศอิรักในปัจจุบัน) ในยุคสมัยที่ท่านอาลีเป็นคอลิฟะฮ์ปกครองอยู่
เรื่องราวความผูกพันระหว่างท่านฮุเซนกับท่านหญิงซัยนับที่มีการกล่าวถึงกันนั้น มีตั้งแต่ในช่วงเวลาที่นางยังเป็นทารกน้อย นางจะยินดีมากถ้าหากท่านฮุเซนวิ่งเล่นอยู่ใกล้ๆ แต่ถ้านางไม่เห็นหรือไม่ได้ยินเสียงนางจะร่ำไห้จนต้องให้ผู้เป็นพี่ชายเข้ามาอุ้มปลอบประโลมนางถึงจะหยุดร้อง และดังจะเห็นได้จากเงื่อนไขการแต่งงานของนางกับท่านอับดุลลอฮ์อิบนุญะฟัร ที่มีเงื่อนไขว่าต้องอนุญาตให้นางไปพบกับพี่ชายเมื่อนางระลึกถึง และต้องอนุญาตให้นางเดินทางร่วมไปกับท่านฮุเซนในทุกๆสถานที่
โศกนาฏกรรมกัรบาลา
การต่อสู้ของท่านฮุเซนมีขึ้นเพื่อปกป้องพิทักษ์ศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์และต้องการให้ประชาชาติอิสลามที่หลงทางกลับมาอยู่ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ท่านสละตัวตนสละทุกสิ่งที่ท่านมีอยู่ในครอบครองเพื่อรักษาเกียรติยศของอิสลาม ดังจะได้เห็นจากการที่ท่านปฏิเสธ
การให้สัตยาบันต่อยะซีด เพราะยะซีดไม่เหมาะสมกับตำแหน่งคอลิฟะฮ์ (คอลิฟะฮ์ คือ ตำแหน่งที่สืบทอดต่อจากท่านศาสดามุฮัมมัด โดยทำหน้าที่ปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักร) เนื่องจากยะซีดเป็นคนที่ละเมิดศาสนา ชอบดื่มสุรา และออกกฎอนุญาตในสิ่งต้องห้ามทางศาสนา ด้วยเหตุนี้ท่านฮุเซนจึงได้กล่าวสั่งเสียกับมุฮัมมัด ฮะนีฟะฮ์ น้องชายต่างมารดาของท่านในขณะที่เดินทางออกจากเมืองมะดินะฮ์ว่า “แท้จริงฉันมิได้ออกไปในฐานะผู้ก่อความเสียหายและผู้อธรรม หากแต่ฉันออกไปเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปรับปรุงในประชาชาติแห่งท่านตาของฉัน ฉันต้องการสั่งสอนในเรื่องคุณธรรมและยับยั้งห้ามปรามจากสิ่งชั่วร้าย ฉันต้องการเดินตามแนวทางของท่านตาและบิดาของฉัน” หลังจากนั้นท่านฮุเซน ครอบครัว ญาติพี่น้อง และบรรดาผู้ศรัทธาจึงร่วมกันออกเดินทางจากเมืองมะดินะฮ์ไปสู่เมืองมักกะฮ์ แต่ถูกสถานการณ์บีบคั้นให้ออกจากเมืองมักกะฮ์ในขณะที่ยังมิได้ทำพิธีฮัญจ์เสร็จสมบูรณ์ ผนวกกับในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นได้มีจดหมายเชิญชวนจากประชาชนชาวเมืองกูฟะฮ์จำนวนมากให้ท่านไปเป็นผู้ชี้นำทางศาสนา ท่านจึงได้เดินทางไปยังเมืองกูฟะฮ์
ในระหว่างการเดินทางกองคาราวานของท่านฮุเซนพร้อมสมาชิกในครอบครัว ทั้งเด็กๆ ญาติพี่น้อง และบรรดาผู้ศรัทธาที่ติดตามได้ถูกกองทัพทหารของยะซีดกดดันให้เปลี่ยนเส้นทางมายังแผ่นดินกัรบาลา และถูกกองทัพของยะซีดจำนวนเรือนหมื่นเข้าปิดล้อม และปิดทางน้ำเพื่อให้กองคาราวานที่มีเด็กเล็กสตรี และผู้ที่ร่วมขบวนมาด้วยได้รับความทุกข์ทรมานจากความหิวกระหายท่ามกลางทะเลทรายที่ร้อนระอุเป็นระยะเวลากว่า10วัน บรรดาบุรุษต้องออกไปรบกับกองทัพของยะซีดอย่างกล้าหาญ แต่ด้วยจำนวนที่ต่างกันมากมาย ด้วยความหิวกระหาย ด้วยความอ่อนล้าจากการเดินทาง และจากการถูกโจมตีอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ฟากฝั่งของท่านฮุเซนถูกสังหารคนแล้วคนเล่า ไม่เว้นแม้แต่เด็กน้อยอาลี อัสกัร บุตรชายของท่านฮุเซนวัยเพียงหกเดือน ที่ถูกธนูจากกองทัพฝ่ายตรงข้ามยิงที่ต้นคอจนเสียชีวิต
ในท้ายที่สุดหลังจากที่กองทัพของยะซีดสังหารและตัดศีรษะของท่านฮุเซนแล้ว ท่านหญิงซัยนับมารดาที่เพิ่งสูญเสียลูกชายทั้งสองของนางในสมรภูมิรบ ได้เดินออกไปค้นหาร่างไร้วิญญานของท่านฮุเซนผู้เป็นพี่ชายอย่างกล้าหาญ ท่านได้วางมือลงที่ร่างของท่านฮุเซนแล้วแหงนหน้าขึ้นสู่ฟ้า แล้วกล่าวว่า”โอ้ พระผู้เป็นเจ้า ได้โปรดรับการอุทิศพลีนี้จากเราด้วยเถิด” ต่อจากนั้นเมื่อทหารของยะซีดได้บุกเข้ามาที่กระโจมที่พักเพื่อสังหารท่านซัยนุลอาบิดีนบุตรชายท่านฮุเซน(ผู้ที่จะเป็นตัวแทนท่านต่อไป)ที่กำลังป่วยหนัก ท่านหญิงซัยนับก็ได้เข้าขัดขวางไว้อย่างกล้าหาญเพื่อรักษาชีวิตของหลานชายเนื่องจากนางทำตามที่ท่านฮุเซนเคยร้องขอไว้ว่า ”จงห้ามเขาไว้มิให้ออกไปรบ อย่าให้สายเลือดของคนในตระกูลท่านศาสดาต้องขาดหายไป” หลังจากนั้นกองทัพของยะซีดได้ทำการเผากระโจม ปล้มสะดมภ์ของมีค่า ทำทารุณกรรมต่อเด็กและสตรีที่เหลือและกวาดต้อนเป็นเชลยไปยังเมืองกูฟะฮ์ โดยมีศีรษะของท่านฮุเซนและบรรดาผู้เสียชีวิตถูกเสียบประจานอยู่หน้าขบวน แล้วให้บรรดาเชลยนำโดยท่านหญิงซัยนับ ท่านซัยนุลอาบิดีน เด็กๆและสตรีที่รอดชีวิตเดินตามโดยมีโซ่ตรวนล่ามที่มือและเท้าตลอดการเดินทาง
อดทนต่อการดูถูกเหยียดหยาม
หลังจากบรรดาเชลยในเหตุการณ์กัรบาลาเดินทางมาถึงที่เมืองกูฟะฮ์ อิบนุ ซิยาดเจ้าเมืองกูฟะฮ์ได้ทำการเย้ยหยันท่านหญิงซัยนับด้วยการนำศีรษะท่านฮุเซนมาหยอกล้อเล่นต่อหน้าท่านหญิงเพื่อให้ท่านหญิงแสดงความระทมทุกข์ขมขื่นใจออกมา แต่ท่านหญิงตอบกลับไปอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวว่า “ฉันไม่เห็นอื่นใดเลยนอกเสียจากความสวยงาม” อิบนุ ซิยาดได้ฟังก็เดือดดาลยิ่งนักจึงสั่งให้สังหารท่านซัยนุลอาบิดีนแต่ท่านหญิงซัยนับก็เข้าขวางไว้ จากนั้นเชลยทั้งหมดได้ถูกส่งตัวต่อไปยังดินแดนชามในสภาพที่น่าเวทนาทั้งจากโซ่ตรวนที่ล่ามทั้งมือและเท้า และร่องรอยของการถูกเฆี่ยนตี ถูกหินและสิ่งของต่างๆจากชาวเมืองปาใส่ ถูกรุมประนามด่าทอ เนื่องจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนชามถูกมุอาวิยะฮ์พ่อของยะซีดหลอกลวงและสร้างภาพบิดเบือนในเรื่องราวที่เกี่ยวกับบรรดาลูกหลานของท่านอาลีมาอย่างยาวนาน
ทางด้านฝั่งยะซีดได้สั่งประดับประดาเมืองหลวงอย่างสวยงามและมีพิธีแสดงความยินดีในโอกาสที่ได้สังหารท่านฮุเซน เมื่อท่านหญิงซัยนับและบรรดาเชลยถูกพาไปยังท้องพระโรง ยะซีดได้ใช้ไม้เขี่ยศีรษะของท่านฮุเซนเล่น และกล่าวคำพูดเย้ยหยันต่อบรรดาลูกหลานศาสดา จนท่านหญิงซัยนับทนไม่ไหวจึงกล่าวโต้ตอบยะซีดไปอย่างเด็ดเดี่ยวโดยอ้างจากคัมภีร์อัลกุรอานว่า “เจ้าจงอย่าได้คิดเป็นอันขาดว่าที่เราประวิงเวลาให้แก่พวกเจ้านั้นเป็นการดีแก่ตัวของพวกเจ้า แท้จริงที่เราประวิงเวลาให้แก่พวกเจ้านั้นก็เพื่อให้พวกเจัาได้เพิ่มพูนบาปกรรมเท่านั้น และสำหรับพวกเจ้านั่นคือการลงโทษอันต่ำช้า และเจ้าจงอย่าได้คิดเป็นอันขาดว่าบรรดาผู้ที่ถูกฆ่าในทางของพระผู้เป็นเจ้านั้นตายลง หามิได้พวกเขายังมีชีวิตอยู่กับพระเจ้าของพวกเขาในสภาพที่ได้รับปัจจัยยังชีพที่สมบูรณ์”
อ่อนนอกแข็งใน
บทบาทของสตรีไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน ส่วนใหญ่มักจะถูกรู้จักในมุมของความเป็นหลังบ้าน เป็นช้างเท้าหลัง ดูแลบ้าน ดูแลบุตร ดูแลสามี จิตใจของอิสสตรีมักจะถูกดูแคลนว่าไม่เข้มแข็งเท่ากับบุรุษ ไม่สามารถทนต่อแรงกดดันกับเรื่องเลวร้ายได้เท่ากับบุรุษ ไม่สามารถมีบทบาทและเปลี่ยนแปลงสังคมได้เท่ากับบุรุษ คำกล่าวเหล่านี้อาจจะเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกเสียทั้งหมดเพราะในประวัติศาสตร์อิสลาม ท่านหญิงซัยนับคือแบบอย่างของสตรีที่มีความเข้มแข็ง คือสตรีที่ดำรงตนยึดมั่นอยู่ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้าเสมอมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งสิ้นอายุขัย แม้จะได้รับบททดสอบอันแสนหนักหน่วงมากมายตั้งแต่วัยเยาว์ เริ่มจากการสูญเสียท่านศาสดามุฮัมหมัดผู้เป็นตาในวัย4ขวบ สูญเสียท่านหญิงฟาฏิมะฮ์มารดาในวัย 7ขวบ สูญเสียท่านอาลีผู้เป็นบิดา สูญเสียท่านฮะซันพี่ชายคนโต และสูญเสียท่านฮุเซนพี่ชายคนรองและลูกชายทั้ง2คนของนางในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมกัรบาลา
เชื่อว่าใครก็ตามหากลูกชาย หลานชาย พี่ชาย และญาติพี่น้องถูกสังหารต่อหน้าต่อตา ได้เห็นความโหดร้ายป่าเถื่อนของกองทัพทหารยะซีดถูกทารุณกรรมทั้งร่างกายและจิตใจ ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยโดยปราศจากบุรุษคอยปกป้อง คงหวาดกลัว จมอยู่แต่ในห้วงแห่งความทุกข์โศก ไม่มีจิตใจจะทำการสิ่งใดหรืออาจจะสิ้นสติไปแล้ว แต่สตรีที่ชื่อซัยนับที่เพิ่งผ่านความสูญเสียอย่างหนักกลับต้องเก็บซ่อนน้ำตา ทนเก็บความระทมขมขื่นไว้ภายใน แล้วแสดงความหาญกล้าเผชิญหน้ากับแม่ทัพใหญ่อย่างอิบนุ ซิยาด ดูแลปกป้องเด็กๆและสตรีที่เหลือรวมไปถึงหลานชายที่กำลังป่วยหนักอย่างท่านซัยนุลอาบิดีนไม่ให้ถูกสังหาร เป็นผู้นำคอยให้กำลังใจบรรดาเชลยระหว่างทางที่ถูกกวาดต้อนไปยังดินแดนชาม ซ้ำนางยังเผชิญหน้ากับผู้ปกครองจักรวรรดิอย่างยะซีดได้อย่างเข้มแข็ง คำปราศรัยของนางในเรื่องราวของเหตุการณ์กัรบาลาในโอกาสและสถานที่ต่างๆสร้างความสั่นสะเทือนต่อประชาชนในสังคมและอำนาจการปกครองของยะซีดในดินแดนชาม จนในที่สุดยะซีดต้องส่งตัวนางและบรรดาเชลยกลับไปยังเมืองมะดินะฮ์
ภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการพิทักษ์สาส์นของสตรีที่มีนามว่าซัยนับ
ท่านหญิงซัยนับคือผู้ที่ได้ทำให้ขบวนการต่อสู้ของท่านฮุเซนเกิดความสมบูรณ์ คำกล่าวปราศรัยต่างๆของท่านหญิงในเมืองกูฟะฮ์ และดินแดนชามได้ปลุกจิตสำนึกที่หลับใหลของประชาชาติอิสลามให้ตื่นจากความหลงผิดจากวิถีชีวิตที่ออกนอกกรอบศาสนาที่ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ได้บ่มเพาะไว้มาอย่างยาวนาน ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ารากฐานของราชวงศ์อุมัยยะฮ์เริ่มมีบทบาทและอิทธิพลตั้งแต่ปลายสมัยท่านอบูบักรคอลิฟะฮ์ท่านที่1ของอิสลาม(ปกครอง ฮ.ศ. 11 – 13 / ค.ศ. 632 – 634) กล่าวได้ว่าภารกิจของท่านหญิงชัยนับจึงมิใช่เรื่องง่ายดาย กับการที่จะต้องรักษาสาส์นและอุดมการณ์อันบริสุทธิ์ของท่านฮุเซนภายใต้อำนาจการปกครองของยะซีดผู้ครองจักรววรรดิที่ยิ่งใหญ่ ท่านหญิงใช้เพียงการปราศรัยในโอกาสต่างๆเท่านั้น ซึ่งต้องใช้ความมานะพยายามอย่างมาก กว่าที่เรื่องราวของโศกนาฏกรรมกัรบาลาและเป้าหมายอุดมการณ์ของท่านฮุเซนจะเป็นที่รับรู้อย่างทั่วถึงในสังคมและจำเป็นต้องรักษาสาส์นนั้นมิให้ถูกบิดเบือนจากผู้ปกครอง เพราะมิได้มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยเพื่อเผยแพร่ข่าวสารได้อย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่วินาทีเช่นในยุคปัจจุบัน
หากท่านอับบาส อิบนุอาลี น้องชายต่างมารดาของท่านฮุเซนเป็นผู้ถือธงนำในการออกรบให้กับท่านฮุเซนในสมรภูมิกัรบาลา ท่านหญิงซัยนับก็เปรียบเสมือนผู้ถือธงรบให้ท่านซัยนุลอาบิดีนหลานชายหลังเหตุการณ์กัรบาลาเพื่อสานต่ออุดมการณ์ของท่านฮุเซนที่ต้องการปลุกให้ประชาชาติอิสลามตื่นจากความหลงผิด เตือนสติให้ตื่นรู้แล้วกลับมาเดินตามแนวทางของท่านศาสดามุฮัมมัดผู้เป็นตา หากวันนั้นท่านหญิงซัยนับเป็นสตรีที่อ่อนแอ ยอมแพ้ต่อการดูถูกเหยียดหยาม หวาดกลัว มัวแต่โศกเศร้าเสียใจจมอยู่กับน้ำตา เหตุการณ์โศกนาฏกรรมกัรบาลาคงถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา ความตายของบรรดาผู้กล้าในสมรภูมิรบคงไร้ค่า อุดมการณ์ชำระล้างประชาชาติอิสลามให้บริสุทธิ์ตามแนวทางของท่านศาสดามุฮัมมัดของท่านฮุเซนคงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับประชาชาติอิสลามในยุคนั้น และคงไม่สามารถส่งผลต่อศาสนาอิสลามในยุคต่อๆมา
“แม้เวลาจะผ่านมานานกว่า1,400ปี เรื่องราวในโศกนาฏกรรมกัรบาลายังปลุกเร้าจิตใจคนที่รักท่านฮุเซน รักในอุดมการณ์ของท่าน และเจริญรอยตามอุดมการณ์อันบริสุทธิ์นี้ ความรัก ความศรัทธาเหล่านี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาหลายยุคสมัย จนกระทั่งอยาตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี (Ayatollah Ruhollah Khomeini ค.ศ.1902 – ค.ศ.1989) นักการศาสนาระดับสูงในประเทศอิหร่านคือผู้ที่ถอดรหัสเชื่อมโยงอุดมการณ์ของท่านฮุเซนกับสถานการณ์การเมือง ความเสื่อมโทรมทางสังคมและวัฒนธรรมในประเทศอิหร่านในยุคนั้น จนนำไปสู่การปฏิวัติอิสลาม( Islamic Revolution )ในปีค.ศ.1979 ก่อให้เกิดการตั้งรัฐอิสลามอิหร่าน(Islamic Republic of Iran)ในทึ่สุดและสามารถขยายฐานอำนาจมีบทบาทในตะวันออกกลางอย่างแข็งแกร่งมาจนถึงปัจจุบันจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลย ที่ปัจจุบันเราจะได้เห็นผู้คนจากทั่วโลกร่วมรำลึกถึงท่านฮุเซนทุกปีในเดือนมุฮัรรอม(Muharram เดือนแรกของปีฮิจเราะห์ศักราช) มีผู้คนจำนวนมหาศาลที่พร้อมจะถือธงของท่านฮุเซนทำหน้าที่ส่งสาส์นบอกเล่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมกัรบาลา สานต่ออุดมการณ์ของท่านฮุเซนต่อจากท่านหญิงซัยนับสตรีผู้มีหัวใจที่เด็ดเดี่ยว สตรีที่เปลี่ยนหยาดน้ำตาให้เป็นพลังเปลี่ยนแปลงสังคม สตรีผู้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อปกปักษ์รักษาศาสนาอิสลามให้อยู่ในแนวทางของท่านศาสดามุฮัมมัด
เรื่องราวกัรบาลาคือบทเรียนที่ให้แง่คิดหลากหลายมุมมองแก่ชนรุ่นหลังเช่นเรา ทั้งในมุมของความรัก ความผูกพัน ความเสียสละ ความเชื่อมั่นศรัทธา อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับนักต่อสู้ทั่วโลก นักต่อสู้ผู้ที่ไม่ยอมวางเฉยและลุกขึ้นมาปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมที่กำลังเสื่อมทราม แม้จะมีความพยายามจากหลายฝ่ายที่ต้องการจะกลบเสียงของพวกเรา แต่ยิ่งพวกเขาทำลายพวกเรามากเท่าไหร่ พวกเราก็ยิ่งเติบโตมากขึ้นเท่านั้น ดังจะได้เห็นจากการเดินขบวนอัรบาอีน(Arbaeen)ในทุกๆปีที่ผู้คนจำนวนมากกว่า20ล้านคนทั่วโลกทั้งเด็ก สตรี คนชรา คนหนุ่มสาว คนต่างเชื้อชาติต่างศาสนิก มุ่งสู่แผ่นดินกัรบาลาเพื่อร่วมรำลึกถึงเรื่องราวความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของท่านฮุเซนในการปกป้องรักษาศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์ของศาสดามุฮัมมัด และประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่องจนเห็นเป็นรูปธรรม เช่น การเดินขบวนอัรบาอีนในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากการรักษาสาส์นอันบริสุทธิ์ด้วยน้ำมือของท่านหญิงซัยนับ
“น้ำตาในเรื่องเศร้าคือสัญลักษณ์ แต่อุดมการณ์คือเชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนสังคม”
“ท่านฮุเซนคือผู้ที่ต้องการปฏิรูปสังคมที่เสื่อมทรามโดยการเดินตามแนวทางคำสั่งสอนของท่านศาสดามุฮัมมัดผู้เป็นตา โดยไม่ยอมก้มหัวให้กับผู้ปกครองที่อธรรม และลุกขึ้นต่อสู้อย่างกล้าหาญจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต”
“ท่านหญิงซัยนับคือสตรีผู้ที่เป็นลูก เป็นมารดา เป็นน้องสาว เป็นภรรยาที่อ่อนโยนภายในบ้าน ท่านหญิงซัยนับคือสตรีผู้ที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยวในสมรภูมิรบ ท่านหญิงซัยนับคือวีรสตรีผู้มีชีวิตอยู่เพื่อสั่นคลอนบัลลังก์ของคอลิฟะฮ์แห่งจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่จวบจนลมหายใจสุดท้าย”
“ ถ้าจะตายให้ตายอย่างมีเกียรติแบบฮุเซน ถ้าจะอยู่ให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีแบบซัยนับ “
“If dying, would die with honor like Husain. “If stay, live with prestige like Zainab.”