การปฏิวัติตุรกีในช่วงต้นยุค 1900s เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสังคมที่ยุ่งเหยิงมากที่สุดในประวัติศาสตร์อิสลาม ในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่ปี อาณาจักรออตโตมานถูกดึงลงมาจากภายในแนวเส้นของประวัติศาสตร์อิสลาม และพัฒนาไปสู่การเป็นชาติโลกวิสัย (เซคคิวลาร์) ที่รู้จักกันในนามตุรกี ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังคงรู้สึกได้จนถึงปัจจุบันทั่วโลกมุสลิม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตุรกีที่แบ่งขั้วและแยกส่วนทางอุดมการณ์
อะไรเป็นสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่นี้ในรัฐบาลและสังคมของตุรกี? ศูนย์กลางของเรื่องทั้งหมดก็คือ “มุสตาฟา เคมาล” หรือที่รู้จักกันในนาม “อตาเติร์ก” ตุรกีแบบโลกวิสัยยุคใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นผ่านสมัยการเป็นผู้นำของเขาในยุค 1920s ถึง 1930s และอิสลามต้องเป็นฝ่ายตามหลังในสังคมตุรกี
ความรุ่งเรืองของอตาเติร์ก
การตัดสินใจเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ของอาณาจักรออตโตมานในปี 1914 กลับกลายเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ อาณาจักรนี้ถูกปกครองโดยผู้นำเผด็จการ “สามปาชา” ที่เข้าสู่สงครามในฝ่ายเยอรมันแต่ฝ่ายเดียว โดยต่อสู้กับอังกฤษ, ฝรั่งเศส และรัสเซีย อาณาจักรออตโตมานถูกบุกรุกจากทางใต้โดยอังกฤษ จากตะวันออกโดยรัสเซีย และทางตะวันตกโดยชาวกรีก ในปี 1918 เมื่อสงครามสิ้นสุดลง อาณาจักรนี้ถูกแบ่งแยกและถูกยึดครองโดยพันธมิตรผู้ชนะ โดยเหลือเพียงแค่ที่ราบสูงอานาโตเลียกลางเท่านั้นที่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของชาวตุรกีพื้นเมือง
ในอานาโตเลียกลางนี้เองที่ มุสตาฟา เคมาล ได้ปรากฏขึ้นมาเป็นวีรบุรุษแห่งชาติของชาวเติร์ก ในฐานะเจ้าหน้าที่กองทัพออตโตมานคนหนึ่ง เขาแสดงความเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในสมรภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กัลลิโปลี ที่ซึ่งชาวออตโตมานจัดการขับไล่การบุกรุกของอังกฤษที่หมายจะมาถึงอิสตันบูลเมืองหลวงไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังสงคราม เคมาลได้ทำให้ลำดับความสำคัญของเขาเป็นที่ชัดเจนขึ้น เป้าหมายหลักของเขาคือการสถาปนาความเป็นชาติของตุรกีให้เป็นกองกำลังที่รวมเป็นหนึ่งของประชาชนชาวตุรกี ไม่เหมือนกับอาณาจักรออตโตมานที่แตกต่างและหลากหลายทางเชื้อชาติ เคมาลมีเป้าหมายที่จะสร้างรัฐขนาดใหญ่ที่มีอัตลักษณ์ของตุรกี
ในคำพูดของมุสตาฟา เคมาลเอง เขากล่าวถึงความสำคัญของอัตลักษณ์ของตุรกี และความไม่สำคัญของอิสลามที่เขามอง
“แม้แต่ก่อนที่จะมีการยอมรับศาสนาของชาวอาหรับ (อิสลาม) ชาวเติร์กก็เป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ หลังการยอมรับศาสนาของชาวอาหรับ ศาสนานี้ไม่ได้ส่งผลในการประสานชาวอาหรับ ชาวเปอร์เซีย และชาวอียิปต์กับชาวเติร์กเพื่อประกอบขึ้นเป็นชาติเลย (ศาสนานี้) กลับปลดเปลื้องแก่นสารสำคัญของชาติเติร์กไป ทำให้หมดความรู้สึกความเร่าร้อนเกี่ยวกับชาติไป นี่เป็นเรื่องปกติธรรมดามาก เพราะจุดประสงค์ของศาสนาที่ก่อตั้งโดยมุฮัมมัด ต่อทุกประชาชาติก็คือ เพื่อดึงไปสู่การเมืองแห่งชาติอาหรับ”
ทัศนคติที่บิดเบี้ยว(ค่อนข้างตรงแต่ไม่ถูกต้อง) เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อิสลามของ มุสตาฟา เคมาล ได้ช่วยผลักดันให้ความเป็นชาตินิยมของเขาได้รับความสนใจ ด้วยการใช้อัตลักษณ์ของตุรกีมาเป็นจุดระดมกำลัง เขาสามารถรวบรวมอดีตนายทหารออตโตมานให้มาอยู่ใต้บังคับบัญชาของเขาได้ในการทำสงครามแห่งเอกราชของตุรกีในช่วงต้นยุค 1920s และขับไล่กองกำลังยึดครองของกรีก, อังกฤษ และฝรั่ง ที่ได้ล่วงล้ำเข้ามาบนแผ่นดินตุรกีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อถึงปี 1922 เคมาลสามารถปลดปล่อยชาวเติร์กจากการยึดครองของต่างชาติได้หมดสิ้น และใช้โอกาสนี้ในการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกียุคใหม่ขึ้นมา นำโดยสภาแห่งชาติ (Grand National Assembly – GNA) ในอังการ่า หัวหน้ารัฐบาลชุดใหม่ของตุรกีนี้เป็นประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งโดย GNA และตัวเลือกโดยธรรมชาติก็คือ มุสตาฟา เคมาล วีรบุรุษจากสงครามแห่งเอกราช ผู้ซึ่งได้รับฉายาในขณะนั้นว่า “อตาเติร์ก” ซึ่งแปลว่า “บิดาแห่งชาวเติร์ก”
การล้มเลิกระบอบสุลต่านแห่งออตโตมาน และระบอบคอลีฟะฮ์
แรกเริ่ม ดูเหมือนว่ารัฐบาลใหม่ของตุรกีจะสืบทอดบทบาทของรัฐบาลออตโตมานในฐานะผู้ทำนุบำรุงศาสนาอิสลาม รัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างขึ้นโดย GNA ได้ประกาศให้อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติของตุรกี และกฎหมายทุกข้อจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอิสลาม เพื่อให้แน่ใจว่ากฎหมายเหล่านั้นจะไม่ขัดแย้งกับกฎหมายชาริอะฮ์
อย่างไรก็ตาม ระบบรัฐบาลใหม่นี้ก็ไม่สามารถทำงานได้นานนัก เพราะยังคงมีรัฐบาลคู่แข่งอยู่ในอิสตันบูล ที่นำโดยสุลต่านแห่งออตโตมาน ทั้งรัฐบาลอังการ่าและอิสตันบูลต่างก็อ้างสิทธิ์อธิปไตยเหนือตุรกีด้วยกันทั้งคู่ และต่างก็มีเป้าหมายที่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจน อตาเติร์กได้กำจัดปัญหานี้ไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1922 เมื่อเขาได้ล้มเลิกระบอบสุลต่านแห่งออตโตมานซึ่งเคยดำรงอยู่มาตั้งแต่ปี 1299 และได้ถ่ายโอนอำนาจให้แก่ GNA อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ล้มเลิกระบอบคอลีฟะฮ์ในทันที แม้จะไม่มีระบอบสุลต่านอีกต่อไป แต่เขาก็ยังยอมให้ระบอบคอลีฟะฮ์ออตโตมานยังคงอยู่ต่อไป แม้จะไม่มีอำนาจอย่างเป็นทางการใดๆ เป็นเพียงแค่หุ่นเชิดที่เป็นสัญลักษณ์เท่านั้น
โดยที่รู้ว่าความเคลื่อนไหวนี้จะไม่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนตุรกี อตาเติร์กได้ให้เหตุผลโดยอ้างว่าเขากำลังจะย้อนกลับไปใช้รูปแบบการปกครองแบบอิสลามดั้งเดิมเท่านั้น ตั้งแต่ยุค 900s มาจนถึงยุค 1500s คอลีฟะฮ์ราชวงศ์อับบาสิดส่วนใหญ่เป็นเพียงหุ่นเชิด โดยอำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือของขุนนางชั้นผู้ใหญ่และบรรดาผู้นำทหาร อตาเติร์กใช้ตัวอย่างนี้เพื่อให้เหตุผลแก่การสร้างระบอบคอลีฟะฮ์ที่ไร้อำนาจขึ้นมา
ระบอบคอลีฟะฮ์มีมาตั้งแต่สมัยหลังการเสียชีวิตของศาสดามุฮัมมัด(ศ.) เมื่ออบูบักร์ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้นำคนแรกของโลกมุสลิม สำหรับชาวมุสลิมนอกตุรกี การกระทำของอตาเติร์กได้ทำให้ตำแหน่งคอลีฟะฮ์ตกอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดีย ชาวมุสลิมแสดงความโกรธแค้นต่อการกระทำของอตาเติร์ก และจัดตั้งขบวนการคอลีฟะฮ์ขึ้นมาเพื่อหาทางปกป้องระบอบคอลีฟะฮ์ให้พ้นจากอันตราย ไม่ว่าจะโดยชาวต่างชาติหรือโดยรัฐบาลตุรกีเองก็ตาม
สำหรับอตาเติร์ก เขาเห็นว่าการแสดงความสนับสนุนต่อระบอบคอลีฟะฮ์จากมุสลิมภายนอกตุรกีเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศของตุรกี ด้วยการอ้างว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นการแทรกแซงของนานาชาติ ในวันที่ 3 มีนาคม 1924 อตาเติร์ก และสภาแห่งชาติก็ได้ล้มเลิกระบอบคอลีฟะฮ์ และเนรเทศสมาชิกที่เหลือของราชวงศ์ออตโตมานออกจากประเทศ
การโจมตีอิสลาม
เมื่อกำจัดระบอบคอลีฟะฮ์ไปพ้นทางแล้ว รัฐบาลตุรกีก็มีอิสระมากขึ้นในการกำหนดนโยบายที่โจมตีสถาบันต่างๆ ของอิสลาม ภายใต้ท่าที่ของ “การชำระอิสลามให้พ้นจากการแทรกแซงทางการเมือง” ระบบการศึกษาจึงถูกปรับปรุงใหม่ทั้งหมด การศึกษาศาสนาอิสลามถูกสั่งห้ามเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของโรงเรียนสายโลกวิสัยที่ไม่อิงความเชื่อทางศาสนา โครงสร้างพื้นฐานทางศาสนาในแง่มุมอื่นๆ ก็ถูกทำลายลงเช่นกัน สภาชารีอะฮ์ที่ GNA ตั้งขึ้นเพื่ออนุมัติกฎหมายเมื่อสองปีก่อนหน้านี้ถูกล้มเลิกไป เงินบริจาคเพื่อศาสนาถูกยึดให้ไปอยู่ในการควบคุมของรัฐบาล ที่พักของชาวซูฟีถูกบังคับให้ปิดตัวลง ผู้พิพากษากฎหมายอิสลามทั้งหมดในประเทศถูกไล่ออกทันทีเมื่อศาลชารีอะฮ์ทั้งหมดถูกปิด
การโจมตีอิสลามของอตาเติร์กไม่ได้จำกัดอยู่ในบทบาทของรัฐบาล ชีวิตประจำวันของชาวเติร์กก็ถูกบงการโดยอุดมการณ์โลกวิสัยของอตาเติร์ก
-เครื่องสวมศีรษะแบบดั้งเดิมของอิสลามเช่น ผ้าโพกศีรษะและหมวกแบบมุสลิม เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และให้ใช้หมวกแบบตะวันตก
-ฮิญาบของผู้หญิงถูกเย้ยหยันว่าเป็น “สิ่งตลก” และห้ามสวมในตึกอาคารของรัฐ
-ปฏิทินก็ถูกเปลี่ยนไปอย่างเป็นทางการ จากที่เคยใช้ปฏิทินอิสลาม ที่นับตามปีฮิจเราะฮ์ ปีที่ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) อพยพไปมะดีนะฮ์ เปลี่ยนไปใช้ปฏิทินเกรกอเรียน ที่นับตามปีประสูติของพระเยซูคริสต์
-ในปี 1932 การอะซาน หรือการป่าวร้องให้มุสลิมทำละหมาด ด้วยภาษาอาหรับเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ให้เขียนขึ้นมาใหม่โดยใช้ภาษาตุรกี และบังคับให้ใช้ในมัสยิดหลายพันแห่งทั่วประเทศ
-วันศุกร์ ไม่ถือว่าเป็นหนึ่งในวันหยุดสุดสัปดาห์อีกต่อไป แต่ตุรกีบังคับให้ปฏิบัติตามธรรมเนียมของชาวยุโรปที่ถือวันเสาร์และวันอาทิตย์เป็นวันหยุดทำงาน
หลังจากการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ในปี 1928 GNA ได้ลบประโยคในรัฐธรรมนูญที่ประกาศให้อิสลามเป็นศาสนาอย่างเป็นทางการของรัฐออกไป และศาสนาอิสลามถูกแทนที่ด้วยอุดมการณ์โลกวิสัยของอตาเติร์ก
การปฏิรูปภาษา
อตาเติร์กรู้ว่าการปฏิรูปทางโลกวิสัยเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์อะไรถ้าหากชาวตุรกียังสามารถร่วมกันชุมนุมต่อต้านได้ อันตรายใหญ่ที่สุดต่อระเบียบใหม่นี้ก็คือประวัติศาสตร์ของชาวเติร์ก ที่ได้ผสานเข้ากับศาสนาอิสลามมาตั้งแต่สมัย 900s เพื่อทำให้คนรุ่นใหม่ของชาวเติร์กห่างไกลจากอดีตของพวกเขา อตาเติร์กจึงได้ทำให้อดีตเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถอ่านได้
ด้วยข้ออ้างว่าเป็นการเพิ่มพูนการรู้หนังสือในหมู่ชาวเติร์ก (ซึ่งมีต่ำมากในยุค 1920s) อตาเติร์กได้ให้การสนับสนุนการใช้ตัวอักษรละตินแทนอักษรอาหรับ ภาษาตุรกีก็เช่นเดียวกันกับภาษาเปอร์เซีย ที่เขียนด้วยตัวอักษรอาหรับมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้วหลังจากชาวเติร์กเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามในยุค 900s เนื่องจากภาษาตุรกีเขียนด้วยตัวอักษรอาหรับ ชาวเติร์กจึงสามารถอ่านคัมภีร์กุรอานและตำราเกี่ยวกับศาสนาอิสลามอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย ทำให้พวกเขามีความสัมพันธ์กับอัตลักษณ์ของอิสลาม ซึ่งอตาเติร์กมองว่าเป็นภัยคุกคาม
นอกเหนือจากการเริ่มต้นนำตัวอักษรละตินมาใช้แล้ว อตาเติร์กยังสร้างคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาที่ทำหน้าที่แทนคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียด้วยภาษาตุรกี เพื่อรักษาวาระแห่งความเป็นชาตินิยมของเขาเอาไว้ อตาเติร์กต้องการภาษาหนึ่งที่เป็นตุรกีล้วนๆ ซึ่งหมายถึงคำศัพท์เก่าแก่ของตุรกีที่เลิกใช้ไปในยุคของออตโตมาน ให้นำกลับมาใช้แทนคำศัพท์ภาษาอาหรับ ยกตัวอย่างเช่น สงครามเพื่อเอกราชของตุรกี ก่อนหน้านี้เรียกว่า “อิสติคลาล ฮัรบี” แต่ปัจจุบันใช้คำว่า “Kurtuluş Savaşı” เพราะคำว่า “อิสติคลาล” และ “ฮัรบ์” เป็นคำที่ยืมจากภาษาอาหรับ
จากมุมมองของอตาเติร์ก การปฏิรูปภาษาประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง ภายในไม่กี่ทศวรรษ ชาวเติร์กออตโตมานรุ่นเก่าได้สูญสิ้นไปอย่างแท้จริง ชาวเติร์กรุ่นใหม่ถูกตัดขาดจากคนรุ่นเก่าโดยสิ้นเชิง ด้วยการสนทนาปกติธรรมดาเป็นเรื่องยากลำบากไป เนื่องจากประชาชนชาวเติร์กอ่านอดีตของพวกเขาไม่ออก รัฐบาลตุรกีจึงสามารถป้อนข้อมูลประวัติศาสตร์ชุดใหม่ให้ซึ่งพวกเขาเห็นว่ายอมรับได้ เป็นประวัติศาสตร์ที่ส่งเสริมอุดมการณ์ชาตินิยมของอตาเติร์กนั่นเอง
ตุรกีรัฐโลกวิสัย
การปฏิรูปทั้งหมดนี้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลบล้างศาสนาอิสลามออกไปจากชีวิตประจำวันของชาวเติร์ก ถึงแม้จะมีความพยายามอย่างดีที่สุดของชาวเติร์กที่มีใจยึดมั่นต่อศาสนา (เช่นซาอิด นูรซี) เพื่อรักษามรดก, ภาษา และศาสนาของพวกเขาเอาไว้ แต่ความกดดันของรัฐบาลที่จะให้ยอมรับอุดมคติโลกวิสัยก็มีมากเหลือเกิน ตลอดเวลากว่า 80 ปี รัฐบาลตุรกียังคงความเป็นโลกวิสัยอย่างแรงกล้า ความพยายามที่จะนำค่านิยมอิสลามกลับมาสู่รัฐบาลต้องพบกับการต่อต้านจากกองทัพ ซึ่งมองว่าตัวเองเป็นผู้ปกป้องแนวคิดโลกวิสัยของอตาเติร์ก
ในปี 1950 อัดนาน เมนเดอเรส ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยให้เป็นนายกรัฐมนตรีของตุรกี ด้วยการหาเสียงว่าจะนำการอาซานภาษาอาหรับกลับมาใช้ ถึงแม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จ แต่เขาก็ถูกโค่นล้มด้วยการทำรัฐประหารของกองทัพในปี 1960 และถูกประหารชีวิตหลังการสอบสวนอย่างรีบเร่ง ในปี 1996 เนคเมทติน เออร์บากัน ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เขาประกาศตัวอย่างเปิดเผยว่าเป็น “มุสลิมที่เคร่งครัด” แล้วกองทัพก็ได้ก้าวเข้ามาอีกครั้ง และโค่นล้มเขาออกจากอำนาจหลังจากได้รับตำแหน่งเพียงหนึ่งปี
ความสัมพันธ์ของตุรกียุคใหม่กับศาสนาอิสลามและประวัติศาสตร์ของมันเองเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน หลายส่วนในสังคมให้การสนับสนุนอุดมการณ์ของอตาเติร์กอย่างเข้มแข็ง และเชื่อว่าศาสนาอิสลามไม่ควรจะมีบทบาทในชีวิตของประชาชน อีกหลายส่วนในสังคมวาดหวังที่จะกลับไปสู่สังคมและรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อศาสนาอิสลามมากยิ่งขึ้น มีและความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโลกมุสลิมอื่นๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดก็คือ ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างสองกลุ่มนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาเบาบางลงเลยในเวลาอันใกล้นี้
—–
แปลจาก http://lostislamichistory.com/how-ataturk-made-turkey-secular/
บรรณานุกรม:
Hiro, Dilip. Inside Central Asia: A Political and Cultural History of Uzbekistan, Turkmenistan, Kazakhstan, Kyrgyzstan, Tajikistan, Turkey, and Iran. 9. New York: Overlook Duckworth, 2011. Print.
Ochsenwald, William, and Sydney Fisher. The Middle East: A History. 6th. New York: McGraw-Hill, 2003. Print.
นักแปล, โต๊ะข่าวต่างประเทศ