ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทย ต้องจับตาจริงๆ หลังจากนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย และขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ ในการส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ย หรือลดดอกเบี้ยลง พร้อมทั้งออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และให้ส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ยไปสู่ประชาชนด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาทิศทางนโยบายการเงินเป็นไปอย่างผ่อนคลาย ซึ่งเครื่องมือที่ธปท.มีอยู่ คือดอกเบี้ยนโยบาย ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อใช้เครื่องมือนี้ไปแล้ว ก็ต้องทำให้ส่งผ่านไปยังประชาชนได้
ที่ ผ่านมาธปท.ได้ขอความร่วมมือ 2 ประเด็น คือ ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ซึ่งทำให้เอสเอ็มอีบางส่วน ที่มีศักยภาพดีได้รับผลกระทบไปด้วย โดยให้ธนาคารพิจารณาหามาตการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินกู้ การปรับโครงสร้าง ผ่อนเกณฑ์เรื่องดอกเบี้ย ขึ้นกับความเหมาะสมของธนาคารพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
ล่าสุดผู้ว่าฯธปท. สั่งให้เจ้าหน้าที่ธปท.ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับความสามารถการชำระหนี้ของ ผู้บริโภคตามกลุ่มรายได้ หลังจากเห็นว่าระดับหนี้ครัวเรือนไตรมาส 4 ปี 2557 สูงถึง 85.9 % ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และศึกษาผลกระทบต่อการบริโภคโดยรวม
ประเด็นดังกล่าว ผู้ว่าฯธปท.ยอมรับว่าเป็นห่วงกลุ่มผู้ที่รายได้น้อยที่มีโอกาสก่อหนี้สูงและ ถูกกระทบได้ง่าย เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรต่ำลงและกระทบต่อความสามารถในการหารายได้ ส่งผลให้ภาระต่อหนี้ครัวเรือนเกิน 40 % จะส่งผลกระทบทำให้การกู้เงินจากสถาบันการเงินยากมากขึ้น
หากธปท.ศึกษามากกว่าที่เป็นอยู่นี้ จะได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินภาคครัวเรือนและดูแลสถานการณ์หนี้ได้ตรง จุด เพื่อจะช่วยให้ระดับหนี้ลดลงได้ เพราะปัจจุบันหลายฝ่ายมองภาพรวมของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้มีความวิตกกังวลต่อปัญหาจะตามมาในอนาคต
ทั้งนี้ธปท. เชื่อว่าหนี้ภาคครัวเรือนไตรมาส 1 ปี 2558 ที่จะประกาศเร็วๆนี้ น่าจะทรงตัว หรือมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง ดูได้จากภาพรวมการปล่อยสินเชื่อที่ขยายตัวต่ำและประชาชนระมัดระวังการก่อ หนี้มากขึ้น แต่ยอมรับว่าการบริโภคภาคเอกชนยังไม่ฟื้นเต็มที่ ซึ่งเป็นผลมาจากประชาชนที่มีรายได้ไม่จับจ่าย เพราะยังมีความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยธปท.ยังติดตามการลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าจะมีผลกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน
ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วสองรอบติดๆกันเหลือ 1.50% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัญหาคือ นาคารพาณิชย์ไม่ยอมลดตาม คำถามถึงขนาดที่ว่าผู้ว่าฯธปท.ต้องออกมาขอร้องให้ร่วมมือ
การที่ธนาคารไม่ยอมลดดอกเบี้ย ก็เพื่อรักษาผลกำไรในภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ธนาคารพาณิชย์คงจะคาดว่า เศรษฐกิจจะเลวร้ายต่อไปอีก “ลูกหนี้เน่า” ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น “อาจจะยิ่งเพิ่ม” ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะทำให้ธนาคารต้องกันเงินสำรองหนี้เสีย ซึ่งเป็นต้นทุนที่ เพิ่มขึ้น
เป็นคำถามที่น่าคิดว่า ธนาคารพยายามป้องกันตัวเองจากลูกหนี้เน่า แต่การไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ย จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายต่อไป และอาจจะทำให้ลูกหนี้เน่าพุ่งไม่หยุด แต่สิ่งที่ธนาคารพาณิชย์กลัวที่สุดคือถ้ายอมลดดอกเบี้ย ลงมา แล้วลูกหนี้เน่าไม่ชะลอ จะทำอย่างไร
ที่ผ่านมา”บริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง” ได้ระบุในรายงานเรื่องAsia-Pacific Banks Chart of the Month ว่าหนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ที่อยู่ในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ทำให้ต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศจีน อาจส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจอื่นในภูมิภาคเอเชียต้องชะลอตาม
อัตราส่วน หนี้สินภาคครัวเรือนต่อจีดีพี ของทั้งประเทศไทยและประเทศมาเลเซียยังคงอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในกลุ่ม ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ 86% และ 87% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2557 แม้ว่าระดับการเติบโตของหนี้สินภาคครัวเรือนของทั้งสองประเทศจะมีการชะลอตัว ลงในช่วงสองปีที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
ระดับหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น ต่อภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งได้ส่งผลให้มีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นบ้างแล้วสำหรับธนาคารพาณิชย์ บางแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ทั้งนี้ระดับของการปรับตัวแย่ลงของคุณภาพสินทรัพย์น่าจะขึ้นอยู่กับแนวโน้ม การเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราการว่างงาน และกลุ่มลูกหนี้ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจะมีความเสี่ยงมากขึ้นทั้งในประเทศ มาเลเซียและประเทศไทย
แต่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในทั้งสองประเทศ น่าจะสามารถรับมือกับแรงกดดันจากคุณภาพสินทรัพย์ที่อาจปรับตัวแย่ลงได้ดี กว่า เนื่องจากฐานลูกค้ามีฐานะทางการเงินที่ดีกว่า อีกทั้งยังมีฐานะเงินกองทุนและคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมอยู่ในระดับที่สมเหตุสม ผล และน่าจะสามารถรองรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับประเทศไทยการเติบโตของเศรษฐกิจที่อ่อนแอ การผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงในด้านสินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้ารายได้ต่ำของธนาคารบางแห่ง ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้แนวโน้มของภาคการธนาคารยังคงเป็นลบต่อไป อีกทั้งยังจะส่งผลให้ความเสี่ยงปรับตัวเพิ่มมากขึ้นหากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ลงอย่างมากเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน คือการเพิ่มรายได้และสร้างวินัยการใช้เงินของประชาชน และไม่ควรมีมาตรการที่กระตุ้นการก่อหนี้เพิ่ม ที่ผ่านมาธปท.พยายามให้ความรู้ทางการเงินส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินการให้เข้มข้นมากขึ้น
“ธปท.อยู่ ระหว่างสำรวจเพื่อดูว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ของคนในประเทศ ณ ปัจจุบันอยู่ที่เท่าไร เพราะที่ผ่านมายังไม่มีข้อมูลลักษณะนี้ ทำให้ต้องมีการศึกษาในเชิงลึก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะสะท้อนว่า ระดับหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันมีผลกระทบต่อการบริโภคภาคครัวเรือนหรือไม่”
สำหรับหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี2557 มียอดคงค้างอยู่ที่ 10.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น85.9%ของจีดีพี แต่ขณะนี้การดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี อาจตอบได้ไม่ชัดว่า มีผลกระทบต่อการบริโภคหรือไม่ ทำให้ ธปท. ต้องสำรวจข้อมูลหนี้ต่อรายได้เพิ่มเติม โดยแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในภาพรวมค่อนข้างทรงตัวจากยอดสินเชื่อใหม่ที่เริ่ม ชะลอลง
ด้านนางประณยา นิถานานนท์ ผู้อำนวยการ ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ”เคทีซี”กล่าวว่า บริษัทได้หันมามุ่งเน้นลูกค้าระดับบนหรือมีรายได้มากกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือน เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจหรือเป็นหนี้เสีย โดยช่วงที่เหลือของปีจะเน้นกระตุ้นการใช้จ่ายในหมวดร้านอาหารและท่องเที่ยว มากขึ้น เพราะเป็นหมวดที่กระทบน้อยแม้เศรษฐกิจชะลอ โดยช่วง 5 เดือนแรกของปียอดรวมการใช้จ่ายร้านอาหาร โต 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกลุ่มลูกค้าระดับบนจะมีกำลังในการใช้จ่ายต่อครั้งในระดับสูงหรือประมาณ 13,000 บาท
สำหรับกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีแนวคิดที่จะแก้กฎหมายให้ธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลรวมดอกเบี้ยและ ค่าธรรมเนียมทุกประเภทไว้ด้วยกันให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 15%นั้น โดยหลักการแล้วบริษัทดำเนินธุรกิจใต้กฏระเบียบของธปท. ที่ผ่านมา ไม่ว่าธปท.จะมีกฏเกณฑ์ใดๆ ออกมาบริษัทก็ปฏิบัติตาม ในส่วนของดอกเบี้ย
จากบัตรเครดิตบริษัทก็จัดเก็บในอัตราไม่เกิน 20% อยู่แล้ว แต่ข่าวที่ออกมาในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน คงต้องติดตามอีกครั้งว่า จะมีผลกระทบอะไรบ้าง อย่างไรก็ตามการจัดเก็บดอกเบี้ยบัตรเครดิตรวมค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้วไม่เกิน 15% นั้นยอมรับว่าย่อมจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการอย่างแน่นอน
“การทำธุรกิจของเราก็อยู่ในกฎหมายพิเศษของธปท.อยู่แล้ว ซึ่งก็กำหนดดอกเบี้ยไว้ไม่เกิน 20% เราอยากให้ดีเอสไอไปคุยกับธปท.ก่อน ค่อยมาบอกผู้ประกอบการ เพราะตอนนี้เรายังไม่ได้รับข้อมูลอะไรจากดีเอสไอ”
นายฐากร ปิยะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องการปรับลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ตามแนวคิดดีเอสไอได้ เพราะกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน และเชื่อว่าจะต้องมีการหารืออีกหลายครั้ง รวมถึงการสอบถามความเห็นจากผู้ประกอบการด้วย เพราะต้องมองประเด็นเรื่องความอยู่รอดของธุรกิจด้วย
อย่างไร ก็ตามที่ผ่านมาบริษัทปฏิบัติตามกฏของธปท.และกระทรวงการคลังอยู่แล้ว ดังนั้นหากจะมีกฎหมายออกมาเพิ่มเติม ทางการควรมีการหารือกับผู้กำกับธนาคาร ซึ่งเชื่อว่าธปท.จะมีความเข้าใจภาคธุรกิจเป็นอย่างดี
ขณะที่นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การจัดเก็บดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลไม่เกิน 15% ในปัจจุบันยังคงเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ซึ่งหากจะมีการนำไปปฏิบัติจริง เชื่อว่าทางหน่วยงานราชการจะต้องปรึกษาหารือกันก่อน และที่สำคัญคงจะต้องมีการขอความคิดเห็นจากภาคธุรกิจเพิ่มเติมด้วยก่อนจะออก กฎหมายมาบังคับใช้
“การจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดอย่างตายตัวเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นการนำเสนอหรือสอบถามมายังภาคธุรกิจ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ”
ยังต้องติดตามกันต่อว่า”หนี้ครัวเรือน”ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเท่าไรต่อจีดีพี แต่นี่คือปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ที่ยังกดดันการขยายตัว เพราะการจับจ่ายใช้สอยออกมาน้อยแน่ ยิ่งเศรษฐกิจยังเผชิญหนี้อยู่